Banner
องค์การบริหารส่วนตำบลพังเคน
อุบลราชธานี

อบต.พังเคนต่อยอดต้นทุนในพื้นที่ตำบลพังเคน จังหวัดอุบลราชธานี สร้างอาชีพจากภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย

แพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีประวัติศาสตร์และความเป็นมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ และยังคงสืบทอดต่อมาในยุคปัจจุบันทั้งยังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากแพทย์แผนไทยนั้นใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ มีค่าใช้จ่ายในการรักษาต่ำทั้งยังช่วยชะลอการเกิดโรคได้อีกด้วย

 จากกระแสความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตำบลพังเคน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ให้ความสนใจและอยากพัฒนาอาชีพแพทย์แผนไทยในพื้นที่ขึ้นอีกครั้ง เพราะเมื่อมองภาพรวมของชุมชนแล้ว ชุมชนนั้นมีศักยภาพและต้นทุนสูง 

ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนทางสังคม เนื่องจากตำบลพังเคนดำเนินชีวิตตามวิถีชนบท มีความเป็นเครือญาติพึ่งพาอาศัยกัน ทั้งยังมีความเชื่อและยึดมั่นในการรักษาโรคต่าง ๆ ด้วยสมุนไพร หรือ ต้นทุนทางความรู้ คนในตำบลยังมีหมอพื้นบ้านที่มีความรู้เรื่องสมุนไพร สามารถเลือกสมุนไหรในพื้นที่มาใช้จัดการกับโรคได้ถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้น ชุมชนยังมีทุนทางทรัพยากรชุมชน เช่น ปราชญ์ชาวบ้านที่มีองค์ความรู้ และที่ดินในชนบทมีพื้นที่ขนาดใหญ่ สามารถปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในการรักษาโรคโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มใด ๆ  

ด้วยเหตุนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลพังเคน จังหวัดอุบลราชธานี องค์กรท้องถิ่นที่มีบทบาทในการพัฒนาคนทุกช่วงวัยในพื้นที่ ให้มีความสุข กินดีอยู่ดีและเข้าถึงโอกาสทางอาชีพ จึงเล็งเห็นถึงปัญหาสำคัญที่จะเกิดขึ้นในชุมชน จึงได้จัดตั้ง ‘โครงการส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ด้วยภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย เพื่อสร้างแพทย์แผนไทยนำรายได้เข้าสู่ครัวเรือนและชุมชน 

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลมุ่งเป้าไปที่เกษตรกร ผู้ว่างงาน นักศึกษาจบใหม่และผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน เป็นหลัก เนื่องด้วยตำบลพังเคน มีจำนวน 19 หมู่บ้าน ห่างไกลจากตัวเมืองระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร ประกอบกับลักษณะวิถีชีวิตของคนในชุมชนเป็นชาวชนบทและได้รับอิทธิพลการดำเนินชีวิตจากคนในเมืองอยู่บ้าง เช่น กลุ่มวัยทำงานที่ไม่ได้รับราชการแต่จำเป็นต้องเดินทางไปกลับเพื่อทำงานในตัวเมืองหรือต่างจังหวัด จากนั้นก็ส่งเงินกลับมาให้คนทางบ้าน หรือ กลุ่มคนที่อยู่บ้านเป็นส่วนมาก เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก ผู้ว่างงาน เป็นกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพิงอาศัยใช้เงินจากกกลุ่มแรกในการดำเนินชีวิต ซึ่งบางส่วนก็ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรแต่รายได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ไม่มีรายได้เสริมเมื่อหมดฤดูทำนาทำให้เป็นหนี้สินก่อตัวมากมาย 

โดยหลังจากได้มีการศึกษาและสำรวจพื้นเพต่าง ๆ ของกลุ่มเป้าหมายแล้ว ทางโครงการฯ จึงได้ออกแบบหลักสูตรเพื่อยกระดับความรู้ของกลุ่มเป้าหมายให้เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือ หลักสูตร 210 ชั่วโมงเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการนวดเพื่อสุขภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น การผลิตสมุนไพรเองหรือการนวดเฉพาะจุดต่าง ๆ  เช่น การนวดเท้า เป็นต้น โดยหลังจากที่กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการจนครบหลักสูตร 210 ชั่วโมงแล้ว พวกเขาก็จะได้รับประกาศนียบัตรเพื่อรับรองว่ามีฝีมือถึงขั้นมาตรฐานพอที่จะสามารถรับงานเพื่อสร้างรายได้ได้นั่นเอง

จากการดำเนินงานของโครงการฯ ในครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่ให้คนในชุมชนมีรายได้เลี้ยงครัวเรือนได้เพียงพอเท่านั้น แต่ยังมุ่งหวังให้ชุมชนเกิดความหวงแหนทรัพยากรที่ตนเองมี รู้จักสานต่อภูมิปัญญาดั้งเดิมสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เกิดกลุ่มวิสาหกิจปลูกพืชสมุนไพรและกลุ่มแพทย์แผนไทยขึ้นในชุมชน เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้แม้โครงการฯ จะสิ้นสุดไปแล้วก็ตาม

 

จากการดำเนินงานของโครงการฯ ในครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่ให้คนในชุมชน มีรายได้เลี้ยงครัวเรือนได้เพียงพอเท่านั้น แต่ยังมุ่งหวังให้ชุมชนเกิดความหวงแหนทรัพยากรที่ตนเองมี รู้จักสานต่อภูมิปัญญาดั้งเดิมสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ด้วยภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย

องค์การบริหารส่วนตำบลพังเคน

  • โทร: 08 1967 6249
  • ผู้ประสานงาน: นายพินิจศักดิ์ คำวัน

เป้าประสงค์

1.ผู้ผ่านการอบรมให้ความรู้สามารถประกอบอาชีพด้านแพทย์แผนไทย(ใบรับรอง)
2.มีกลุ่มอนุรักษ์ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยตำบลพังเคน(อย่างน้อย 1 กลุ่ม)
3.ผู้ผ่านการอบรมสามารถสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพด้านแพทย์แผนไทย(ร้อยละ 50)

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส