Banner
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองบึงกาฬ
บึงกาฬ

กศน.บึงกาฬ เตรียมยกระดับมาตรฐานแรงงานฝีมือ เพื่อผลิตเสื่อจากต้นกกและต้นผือส่งออกสู่ตลาดสากล

จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลให้ ยางพารา ต้นไม้เศรษฐกิจของคนในชุมชนอำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ เริ่มราคาตกลงเรื่อยๆ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้รายได้ของคนในชุมชนลดลง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างภายในชุมชน

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองบึงกาฬ เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงเข้ามาจับมือกับภาคชุมชนเพื่อหาทางออกสำหรับปัญหาในระยะยาว โดยพบว่า นอกเหนือจากการปลูกยางพาราและทำนาแล้ว ยังมีอีกอาชีพหนึ่งที่คนในชุมชนส่วนใหญ่คุ้นเคย นั่นคือการผลิตเสื่อจากต้นกกและต้นผือ ซึ่งเคยเป็นอาชีพเสริมหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตหลักจากยางพาราและข้าวสำเร็จของชาวบ้าน จึงเกิดเป็น ‘โครงการยกระดับหัตถกรรมไทยสู่สากล’ ขึ้น โดยโครงการในปีนี้นับว่าเป็นโครงการต่อยอดจากปีก่อนคือ ‘โครงการพัฒนาอาชีพผลิตภัณฑ์จากกกและผือพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง’ ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วในระดับหนึ่ง โดยกลุ่มเป้าหมายเดิมมีการพัฒนาทักษะการทอมากขึ้น มีรายได้เพิ่ม รวมถึงมีการติดต่อขอรับซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปจัดจำหน่ายในต่างประเทศอีกด้วย

ในปีนี้โครงการจึงได้วางแผนในการยกระดับฝีมือของผู้เข้าร่วมเพิ่มเติม เพื่อสร้างมาตรฐานของชิ้นงานพร้อมๆ กับสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ให้พร้อมสำหรับการสร้างแบรนด์ การพัฒนาให้เป็นสินค้า OTOP และการจัดจำหน่ายในต่างประเทศต่อไป

กลุ่มเป้าหมายของโครงการในปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 83 คน จากพื้นที่อำเภอเมืองบึงกาฬจำนวน 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านโพธิ์ทองและหมู่บ้านทองสาย ประกอบไปด้วย แรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งทุกคนมีความพร้อมและทักษะเบื้องต้นด้านการทอเสื่อกกและผือมาอยู่แล้วในระดับปานกลาง จนถึง ดีมาก

การดำเนินงานของโครงการเน้นการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่าย โดยมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ผ่านศักยภาพของชุมชน ก่อนจะเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่น และเสริมสร้างความรู้เพื่อพัฒนากลุ่มเป้าหมายสู่การเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งก่อให้เกิดการแปรรูปงานหัตถกรรมจากต้นกกและต้นผือเป็นสินค้าที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่เสื่อเพียงอย่างเดียว อาทิ เบาะรองนั่ง เสื่อพับ แจกัน ที่รองจาน หมอนอิง กระเป๋า ฯลฯ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน และพัฒนาไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของชุมชนซึ่งมีลายขันหมากเบ็ง ลายประจำจังหวัดบึงกาฬ อยู่ในผลิตภัณฑ์ 

ซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่างปราชญ์ชาวบ้านและผู้มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในชุมชนได้ ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ก็ส่งผลให้หมู่บ้านโพธิ์ทองหนึ่งในพื้นที่ดำเนินงาน ได้รับรางวัลบ้านหนังสือชุมชนต้นแบบระดับดีเด่น เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และส่งผลให้คนในชุมชนเข้ามารวมกลุ่มกันมากขึ้น พร้อมนำไปสู่การก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนและศูนย์การเรียนรู้ที่จะกลายเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

 

โครงการเน้นการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่าย โดยมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ผ่านศักยภาพของชุมชน ก่อนจะเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่น และเสริมสร้างความรู้เพื่อพัฒนากลุ่มเป้าหมายสู่การเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งก่อให้เกิดการแปรรูปงานหัตถกรรมจากต้นกกและต้นผือเป็นสินค้าที่หลากหลาย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

ยกระดับหัตถกรรมไทยสู่สากล

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองบึงกาฬ

  • โทร: 083-3789393
  • ผู้ประสานงาน: นางรัศมี อืดผา

เป้าประสงค์

  1. มีทักษะฝีมือการแปรรูปกกที่มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น
  2. ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายและน่าสนใจ (มีเรื่องราว แบรนด์ และบรรจุภัณฑ์)
  3. เพิ่มยอดขายจากการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ มีศูนย์จำหน่าย ศูนย์เรียนรู้ผลิตภัณฑ์จากกกและผือที่เป็นต้นแบบและ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส