เดินหน้าสู่ “นักวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร” พลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยฐานทรัพยากรในพื้นที่

เดินหน้าสู่ “นักวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร” พลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยฐานทรัพยากรในพื้นที่

จากชีวิตที่เกิดและเติบโตท่ามกลางภูเขา สวนยางพาราและปาล์ม ห่างไกลความเจริญที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา รายได้หลักของครอบครัวมาจากการกรีดยาง และ มีรายได้เสริมจากการปลูกพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล อาทิ ทุเรียน มังคุด ลองกอง ฯลฯ   แต่ด้วยปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้สภาพเศรษฐกิจในครัวเรือนขัดสนส่งผลกระทบต่ออนาคตการศึกษา

ความเป็นอยู่ ของ “ซาการียา มะดือราวี” ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ​ที่ต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนและปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ สำหรับ “ซาการียา” เขาไม่คิดท้อแต่กลับมีความคิดอ่านก้าวหน้าเห็นความสำคัญของการศึกษาที่จะพาเขาหลุดพ้นไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมุ่งมั่นตั้งใจและเลือกเรียนในระดับปวส. สาขาวิชาแปรรูปสัตว์น้ำ วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมง จังหวัดปัตตานีได้สำเร็จ ด้วยการสนับสนุนผ่านทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร” คือ หมุดหมายที่ “ซาการียา” จะก้าวเดินไปให้ถึง ด้วยความหวังจะกลับมา “พัฒนาชุมชนบ้านเกิด” ด้วยการนำความรู้ความสามารถไปแก้ปัญหาสินค้าเกษตรที่ราคาตกต่ำให้ “มีมูลค่า” และ “เพิ่มรายได้” ให้กับพี่น้องเกษตรกรในบ้านเกิดตัวเอง เพียงหวังว่าอาจช่วยชะลอปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันให้ทุเลาเบาบางลงได้บ้าง

 

สะสมประสบการณ์ ตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าชุมชน​
แก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ


แม้บ้านเกิด “ซาการียา” ไม่ได้อยู่ติดทะเลหรือแม่น้ำ ตรงกันข้ามอยู่กลางหุบเขาไม่ตรงสาขาวิชาที่เขาเลือกเรียน (สาขาวิชาแปรรูปสัตว์น้ำ) แต่เพราะต้องการนำความรู้การวิจัยและพัฒนา (R&D) การประกันคุณภาพ (QA) และ การควบคุมคุณภาพ ( QC) การส่งเสริมการตลาดการส่งเสริมการขาย การแปรรูปผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยใช้ “ฐานทรัพยากร”ในชุมชนมาประยุกต์ใช้พัฒนาชุมชนตนเองที่ส่วนใหญ่ทำอาชีพชาวสวนฐานะทางเศรษฐกิจง่อนแง่นให้กลับมามีฐานะที่ดีขึ้น นี่คือแรงบันดาลใจสำคัญของ “ซาการียา” เลือกขอทุนจาก กสศ.

“หากว่าเรียนจบตั้งใจว่าจะกลับไปประกอบธุรกิจส่วนตัวเป้าหมายสูงสุด คือ เปิดโรงงานเล็ก ๆ แปรรูปสินค้าเกษตรในชุมชน เพราะต้องการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของพี่น้องเกษตรกรให้สามารถขายวัตถุดิบได้ในราคาดี อาทิ ทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ เพราะทุกปีชาวปักษ์ใต้ต้องเผชิญปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเรื่อยมา จึงอยากนำความรู้และโอกาสที่ได้รับจากทุน กสศ.มาพัฒนาชุมชนสร้างงานสร้างรายได้บ้านเกิดตัวเอง”

เบื้องต้น “ซาการียา” ตั้งใจว่าก่อนเรียนจบจะไปหาประสบการณ์การทำงานกับบริษัทใหญ่ด้านอาหารเสียก่อน เพื่อวางรากฐานการทำธุรกิจส่วนตัวปูทางไว้ในอนาคต จึงเลือกที่จะไปฝึกงานและทำงานกับ บริษัท แมน เอ โฟรสเซน ฟูดส์ จำกัด ที่จังหวัดสงขลา โรงงานผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง ลูกชิ้นปลา เต้าหู้ปลา หลากหลายยี่ห้อใช้โรงงานแห่งนี้เป็นแหล่งผลิต เมื่อมีประสบการณ์แกร่งกล้ามากพอจะกลับไปทำงานที่บ้านเกิดทันที

 

ประธานชมรมอุตสาหกรรมเกษตร
สู่ นายกองค์กรเกษตรกรอนาคตฯ

ความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานและหัวใจรักษ์ถิ่นของ “ซาการียา”​ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจได้ดำรงตำแหน่ง นายกองค์กรเกษตรกรอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ​ด้วยผลงานอย่าง​การทำงานทำกิจกรรมเพื่อสังคมและชุมชนอย่างหนัก เริ่มตั้งแต่เดินเข้ารั้ววิทยาลัย “ซาการียา” สมัครเข้า “ชมรมอุตสาหกรรมเกษตร” จุดสตาร์ทที่ได้เริ่มเรียนรู้การ “ทำงานเป็นทีม” และ “ทำงานเพื่อชุมชน” ด้วยการนำโครงการดีๆ ที่ทางคณะและอาจารย์ผู้สอนได้ประสานงานกับผู้นำชุมชนผู้นำท้องถิ่นเอาไว้เบื้องต้น

นักศึกษาแต่ละสาขาวิชาจะลงพื้นที่ไปปฏิบัติงานจริงกับชุมชน อาทิ งานฝึกอาชีพเสริม เช่น ขนมจีบ หรือ กะโป๊ะ ข้าวเกรียบปลา หรือ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน ในโครงการจิตอาสาถ่ายทอดอาชีพ พร้อมกับให้ความรู้ด้านการส่งเสริมการขายและกระตุ้นการตลาดด้วยการใช้โซเซียลมีเดียเป็นเครื่องมือสื่อสาร โดยมี “ซาการียา” เป็นพรีเซ็นเตอร์บนช่องยูทูบ จนสินค้าของชุมชนโด่งดังและขายดิบขายดีทางออนไลน์ นับเป็นงานที่เด็กรุ่นใหม่อย่าง “ซาการียา” และเพื่อนๆ ถนัด ผลงานจึงเข้าตาอาจารย์ในคณะ จึงได้รับการรับเลือกเป็นประธานชมรมอุตสาหกรรมเกษตรในเวลาต่อมา

 

มือประสานดึงวิทยาลัยทำงานช่วยชุมชน
สอนอาชีพเสริมซ่อมเครื่องจักรเกษตรกร

หลังจากทำงานจนคุ้นเคยชุมชนและ​เข้าใจลึกซึ้งกับปัญหาชุมชนเป็นอย่างดี ซาการียา ​ได้รับหน้าที่เป็น “มือประสาน​” ดึงความร่วมมือจากบุคลากรแต่ละสาขาวิชาที่อยู่ในวิทยาลัยให้เข้ามาช่วยเหลือดูแลชุมชน อาทิ ยามใดเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่  ก็จะประสานสาขาช่างกลเกษตร ดึงเพื่อน ๆ มาช่วยซ่อมเครื่องมือเครื่องจักรหรือรถจักรยานยนต์ของพี่น้องเกษตรกรที่จมน้ำได้รับความเสียหาย พร้อมกับเข้าไปฝึกอาชีพเสริมด้วยการดึงนักศึกษาสาขาแปรรูปสัตว์น้ำ มาช่วยเป็นวิทยากรสอนการทำอาหาร หรือ สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

พร้อมทั้งชักชวนเพื่อนๆ ที่มีหัวใจรักษ์บ้านเกิดมาช่วยสอนการเพาะเลี้ยงปลาเป็นอาชีพเสริมแก่พี่น้องเกษตรกรรุ่นพ่อรุ่นแม่ให้ได้มีความรู้ จนกลายเป็นผลงานโดนใจคนในชุมชนและถูกใจผู้บริหารสถาบันการศึกษา จึงได้รับเลือกเป็นนายกองค์กรเกษตรกรอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยความสามารถด้านการประสานงานและมีความถนัดการทำงานเป็นทีม

 

จิตอาสาวันหยุดพาเด็กช่างไปช่วยเหลือชุมชน

ช่วงวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ “ซาการียา” มิได้หยุดพักผ่อนเที่ยวเล่นเหมือนเยาวชนทั่วไป แต่มีจิตอาสาลงพื้นที่ไปดูแลชุมชน โรงเรียน วัด มัสยิด โดยเฉพาะคนแก่ และ ผู้ป่วยติดเตียงทำงานร่วมกับคนในชุมชน ด้วยการรับบทเป็นหัวหอกนำ “อาสาสมัครเด็กอาชีวะ” นำความรู้วิชาช่างไปช่วยเหลือชุมชน เช่น ผู้มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวจะให้เพื่อนนักศึกษาที่เก่งด้านเชื่อมประกอบประดิษฐ์รถเข็นให้บริการคนในชุมชน

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจาก กสศ. มิได้เพียงช่วยให้ “ซาการียา” เข้าถึงการศึกษา  แต่ยังเป็นเหมือนก้านไม้ขีดเล็กๆ ช่วยจุดประกายไฟการทำงานเพื่อชุมชนให้เกิดขึ้นในหัวใจดวงน้อยของเขาที่เต็มไปด้วยหัวใจรักษ์บ้านเกิด

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค