เรื่องเล่าผ่านกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘ไอศกรีมโอกาสรวมมิตร’ แต่งเติมไอเดียการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต

เรื่องเล่าผ่านกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘ไอศกรีมโอกาสรวมมิตร’ แต่งเติมไอเดียการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต

“ถ้าคุณมีโอกาสออกแบบและแต่งเติมการศึกษาได้เหมือนกับการเลือกเติมหน้าไอศกรีม ไอศกรีมของคุณจะหน้าตาเป็นอย่างไร?” 

คำเชิญชวนของกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘ร้านไอศกรีมโอกาสรวมมิตร’ ที่ดึงดูดผู้คนเข้ามาร่วมเรียนรู้เรื่องการออกแบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิตของทุกคน ผ่านร้านไอศกรีมแห่งนี้ไปด้วยกัน 

ร้านไอศกรีมโอกาสรวมมิตร เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายในงาน ‘โอกาส Open House: สร้างโอกาสการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่’ ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มูลนิธิปัญญากัลป์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายการศึกษามากกว่า 20 องค์กร ร่วมกันจัดขึ้นที่ลิโด้ คอนเน็คท์ เมื่อวันที่ 8-10 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมได้แสดงศักยภาพ 

ผู้คนที่เดินขวักไขว่ภายในลานกิจกรรมต่างให้ความสนใจกับร้านไอศกรีมนี้อย่างคับคั่ง ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ชั่วขณะแรกนอกจากจะถูกดึงดูดด้วยสีสันสดใสของร้านไอศกรีมที่มีให้เลือกลิ้มลองหลากรส ยังมีท็อปปิงวางเรียงรายอีกหลายชนิดให้ผู้ร่วมงานสามารถเลือกแต่งเติมได้ด้วยตัวเอง

เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ก็ต้องสะดุดตากับป้ายขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าบูธร้านไอศกรีมแห่งนี้ พร้อมกับข้อความท้าทายจินตนาการว่า

แต่งเติมไอเดียการศึกษาในแบบของคุณผ่าน ‘ไอศกรีมโอกาสรวมมิตร’ ถ้วยพิเศษ
1) เลือกรสชาติไอศกรีมที่เหมาะกับตัวคุณ
2) เลือกเติมท็อปปิง ‘ทางเลือกการศึกษาที่คิดว่าตอบโจทย์กับชีวิตคุณ’
3) ถ่ายรูปไอศกรีมของคุณพร้อม #ไอศกรีมโอกาสรวมมิตร ที่เป็นตัวแทนของโอกาสทางการศึกษาที่คุณเลือกได้

ข้อความสั้นๆ จากผู้จัดกิจกรรมที่พยายามเชื้อเชิญให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมออกแบบการศึกษา โดยเปรียบเทียบกับไอศกรีมที่กำลังจะได้ลิ้มรสนี้เป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของการศึกษาที่เราสามารถออกแบบได้ด้วยตัวเอง

“ผมเลือกไอติมรสชาเขียว ผมคิดว่ามันสื่อถึงธรรมชาติ และตัวเราเองก็โตมาจากธรรมชาติ ดังนั้นเราก็ควรมีสิทธิที่จะเลือกอะไรได้อย่างอิสระ ไม่มีสิ่งไหนมาตีกรอบเราได้ เพราะเราทุกคนมีเป้าหมายในชีวิตที่แตกต่างกัน เราต้องสามารถเลือกแต่งเติมสีสันอะไรก็ได้ในชีวิต”

ผู้ร่วมกิจกรรมคนหนึ่งพูดคุยถึงการเลือกรสชาติไอศกรีมที่สื่อถึงตัวตนของเขา และคิดว่าเป็นรสชาติที่เหมาะกับตนเองมากที่สุด

“ระบบการศึกษาควรมีทางเลือกที่อิสระ เราต้องสามารถกำหนดได้เองว่า อยากจะเรียนอะไร และอยากให้การศึกษามีรูปแบบไหนที่สอดคล้องกับความชอบเราเอง ท็อปปิงที่เลือกใส่ในไอศกรีมถ้วยนี้จึงเป็นตัวแทนของการปรุงแต่งและปรับเปลี่ยนได้จากความชอบของเราเอง”

ผู้ร่วมกิจกรรมคนเดิมกล่าวต่อ เมื่อถูกถามถึงการเลือกเติมท็อปปิงในไอศกรีมถ้วยพิเศษนี้ ว่าสิ่งที่เลือกแต่งเติมลงไปนั้นเป็นตัวแทนทางเลือกการศึกษาของตนเองอย่างไร

เช่นเดียวกันกับผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่นๆ ที่แต่งเติมไอเดียการศึกษาในแบบของตนเองผ่านไอศกรีมถ้วยพิเศษ แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ท็อปปิงที่แต่ละคนเลือกใส่ลงไปนั้น สะท้อนถึงการมีทางเลือกทางการศึกษาที่เกิดจากความต้องการของแต่ละคน และเชื่อว่าเราทุกคนควรมีสิทธิเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบจริงๆ 

ร้านไอศกรีมโอกาสรวมมิตรแห่งนี้ ทำหน้าที่เป็นเสมือนพื้นที่ให้ผู้คนได้เข้ามาสำรวจความชอบของตนเอง และร่วมกันออกแบบการศึกษาที่คิดว่าตอบโจทย์กับตัวเองได้ 

กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์นี้ ทำให้หลายคนเรียนรู้และเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น มีทางเลือกที่หลากหลาย ตอบโจทย์ชีวิตของแต่ละคน การศึกษาควรสอดคล้องกับบริบท ตัวตน และศักยภาพที่แตกต่างหลากหลายของผู้เรียน เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสค้นพบคุณค่าของตัวเอง ดังที่ กสศ. เชื่อมั่นว่า ระบบการศึกษาที่เสมอภาคและเท่าเทียม ต้องสร้างโอกาสและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง