Waiting for the Sun: กสศ. และ Doc Club ชวนดูหนังตั้งวงคุย คืนความฝัน คืนความหวัง คืนชีวิตใหม่ให้เยาวชน

Waiting for the Sun: กสศ. และ Doc Club ชวนดูหนังตั้งวงคุย คืนความฝัน คืนความหวัง คืนชีวิตใหม่ให้เยาวชน

Waiting for the Sun เป็นภาพยนตร์สารคดีว่าด้วยเรื่องราวของเด็กชาวจีนที่มีพ่อแม่ถูกดำเนินคดี ทำให้เด็กเหล่านี้ขาดที่พึ่งพิง และต้องเข้ารับการอุปการะจากหมู่บ้านเด็กกำพร้าไท่หยางซุน ก่อตั้งโดย จาง หรือ ยายจาง อดีตเจ้าหน้าที่เรือนจำ 

สารคดีเรื่องนี้ฉายภาพชีวิตของเด็กๆ ที่ต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ของตนที่ถูกดำเนินคดีและต้องถูกส่งตัวไปรับโทษตามกระบวนการยุติธรรม เด็กเหล่านี้บ้างก็เป็นเด็กที่โตพอจะเข้าใจสภาพการณ์และความเป็นจริง บ้างก็เด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น

เด็กๆ ในไท่หยางซุนเหล่านี้ต่างก็มีบาดแผลภายในใจติดตัวด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกหวาดกลัวผู้เป็นมารดาที่เคยทำร้ายตัวเอง ความรู้สึกเว้าแหว่งจากการถูกทอดทิ้ง ซึ่งต่างสะท้อนออกมาผ่านพฤติกรรมต่างๆ ของเด็ก

ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อวันเวลาผ่านไป แม้เด็กๆ จะสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมและเพื่อนๆ ในไท่หยางซุนได้ แต่ที่แห่งนี้ก็ไม่อาจเป็นบ้านที่แท้จริงของพวกเขา ไท่หยางซุนอาจเป็นเพียงสถานที่ที่บรรดาเด็กๆ ต่างมาใช้เวลาเยียวยาบาดแผลในใจ และรอคอยวันเวลาที่พวกเขาจะได้กลับไปใช้ชีวิตกับพ่อแม่ของพวกเขาอีกครั้ง 

ประเด็นในภาพยนตร์สารคดีเรื่องดังกล่าว จึงนำมาสู่วงเสวนาว่าด้วยปัญหาของเด็กในกระบวนการยุติธรรม โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้บริหาร Life Education Thailand และวิทิต เติมผลบุญ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียน CYF 

วงเสวนานี้ นำข้อคิดและประเด็นที่น่าสนใจของหนังเพื่อเสนอเป็นแนวทางการฟื้นฟูเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยมุ่งที่จะเปิดพื้นที่ให้เด็กเหล่านี้มีความหวัง ความฝัน และสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติในสังคมได้อีกครั้ง

ในวันที่พวกเขาตกอับที่สุด เราจะพาพวกเขาขึ้นมาได้อย่างไร

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ชวนมองบทบาทและสถานะของสถานสงเคราะห์ในไทยสำหรับเด็กที่กระทำผิด เธอมองว่าแม้สถานสงเคราะห์จะสามารถดูแลเด็กที่กระทำผิดมากได้แค่ไหน แต่ก็ไม่อาจทดแทนบ้านที่แท้จริงได้ มีเพียงบ้านเท่านั้นที่จะเยียวยาบาดแผลที่ฝังในใจของเด็ก

ทิชามองว่า เด็กเหล่านี้ต่างรอคอยวันที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตปกติในสังคมอย่างมีความหวัง ดังนั้นคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กจะต้องทำให้ความหวังของพวกเขาได้รับการตอบสนอง สิ่งสำคัญคือเด็กทุกคนมาพร้อมกับบาดแผลในใจ คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กเหล่านี้จะต้องทำให้บาดแผลของพวกเขาหายดี และไม่ขยายไปมากกว่านี้

บาดแผลในใจของเด็กหากถูกปล่อยทิ้งไว้ อาจอักเสบและติดตัวเด็กไปจนโต คนที่ทำงานดูแลเด็กเหล่านี้ จึงต้องเข้าใจถึงบาดแผลของเด็กว่ามีต้นตอจากอะไร รุนแรงแค่ไหน เพื่อที่จะหาทางเยียวยาบาดแผลในใจของพวกเขาได้อย่างเหมาะสม 

ทิชากล่าวว่า ปัจจุบันสังคมมักตัดสินเด็กที่กระทำผิดจากสิ่งที่เขาทำ เธอจึงอยากชวนให้ปรับมุมมอง อย่าด่วนตัดสินตัวตนของเด็กเหล่านี้เพียงแค่นาทีที่เขาทำผิดพลาด ทั้งๆ ที่อีกร้อยพันหมื่นแสนล้านนาทีของพวกเขายังมีความดีอยู่ มนุษย์ร่วมสังคมต้องใช้ชีวิตร่วมกับนาทีที่เหลืออยู่เหล่านั้น และย้ำว่าพวกเราทุกคนไม่ใช่นักกฎหมาย แต่คือมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน

สิ่งสำคัญที่ทั้งคนทำงานและสังคมจะต้องคำนึงถึงร่วมกันคือ ในวันที่เด็กๆ เหล่านี้ตกอับที่สุด เราจะพาพวกเขาขึ้นมาได้อย่างไร

พื้นที่แห่งความหวัง สร้างคุณค่าให้เด็ก

อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้บริหาร Life Education Thailand กล่าวถึงความสำคัญของแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกว่า การมองเห็นอนาคตอย่างมีความหวังเป็นเรื่องสำคัญมากในการเยียวยาจิตใจและบาดแผลของเด็ก แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือ การที่เด็กๆ เหล่านี้มีความหวังว่าชีวิตของพวกเขาจะดีขึ้นได้ แต่มองไม่เห็นว่าใครจะสามารถช่วยพวกเขาได้ 

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สถานพินิจฯ หรือพื้นที่สำหรับเด็กที่กระทำผิดเหล่านี้จะต้องมีคือ กิจกรรมที่จะพัฒนาความหวังและคุณค่าในชีวิตให้กับเด็ก หากพื้นที่เหล่านี้ไม่มีกิจกรรมดังกล่าว อาจทำให้บาดแผลเหล่านี้ถูกกดทับและลุกลามได้

อรุณฉัตรมองว่า ปัจจุบันไทยมีพื้นที่สำหรับการรอคอย หรือ waiting แต่กลับไม่ใช่พื้นที่ที่ทำให้เด็กๆ ก้าวไปข้างหน้า หรือ walking ได้ สิ่งสำคัญของพื้นที่เหล่านี้คือ จะต้องทำให้เด็กใช้ชีวิตโดยมีความเชื่อว่า พวกเขามีความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น

‘โอกาส’ ต้องมาก่อน ‘คุณภาพ’

วิทิต เติมผลบุญ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียน CYF กล่าวถึงกรณีการให้การศึกษาแก่เด็กที่กระทำผิด ผ่านแนวคิด ‘ปิดประตูคุก เปิดประตูโรงเรียน’ ซึ่งเมื่อเด็กๆ ผ่านพ้นวันเวลาในสถานพินิจฯ หรือสถานสงเคราะห์แล้ว จะต้องออกมาพร้อมกับวุฒิการศึกษา เพื่อเป็นใบเบิกทางให้พวกเขากลับสู่ชีวิตปกติได้ 

ในการให้การศึกษาผ่านศูนย์การเรียนรู้นั้น สังคมมักมีคำถามและข้อกังขาในแง่คุณภาพการศึกษาว่ามีมากแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญที่สังคมต้องปรับมุมมองคือ ‘โอกาส’ ต้องมาก่อน ‘คุณภาพ’ สังคมอาจไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในชีวิตของพวกเขาได้ แต่สังคมสามารถให้โอกาส ให้ความรู้ และฝึกอาชีพ เพื่อให้พวกเขากลับสู่ชีวิตปกติได้

การให้คุณค่าชีวิตสำคัญกว่าการให้อาชีพ

ทิชา กล่าวเสริมเรื่องการฝึกทักษะอาชีพ ซึ่งเป็นหนึ่งในการฟื้นฟูในกระบวนการยุติธรรมไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นหนึ่งในนโยบายของสถานพินิจฯ ว่านอกจากการฝึกอาชีพแล้ว จะต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าชีวิตของตนมีคุณค่า และชวนตั้งคำถามว่า ในการฝึกอาชีพนั้นแม้จะมอบทักษะให้คนหลังจากพ้นโทษแล้ว แต่สามารถเยียวยาบาดแผลในใจได้จริงหรือ

นอกจากนี้ กระบวนการควบคุมเด็กด้วยวินัยอย่างเข้มงวด อาจเสี่ยงต่อการทำลายคุณค่าภายในตัวเด็กได้ โดยทิชาเสนอว่า ควรมองเห็นคุณค่าและยอมรับอัตลักษณ์ในตัวเด็ก และเสนอว่าในกระบวนการเยียวยานั้นต้องเป็นกระบวนการที่มีความยืดหยุ่นสูง ไม่ใช่เต็มไปด้วยกฎระเบียบที่เคร่งครัด

ความหวังคือทางรอดของเด็ก

อรุณฉัตรกล่าวถึงสิ่งสำคัญเมื่อพบว่าเด็กมีบาดแผล ผู้ใหญ่จะต้องช่วยให้เด็กรอดก่อน ด้วยการมอบความหวังให้กับเด็กๆ ไม่ใช่การให้เด็กไปฝึกฝนตนเอง หรือทำอะไรก็ตามที่อาจไม่ช่วยเยียวยาใดๆ 

วิทิตเสริมว่า เด็กในกระบวนการยุติธรรมนั้น เปรียบเสมือนเด็กที่กำลังจะจมน้ำ สังคมจะต้องช่วยเด็กขึ้นมาบนบกให้ได้ก่อน ไม่ใช่การไปสอนเด็กว่ายน้ำ ซึ่งเป็นการจัดลำดับความสำคัญที่ผิด

อรุณฉัตรให้แนวคิดว่า ในการจะทำให้เด็กมีความหวังกับชีวิตอีกครั้ง จะต้องมองเด็กเสมือนเป็นเด็กทารกหัดเดิน การล้ม การลุก ล้วนเป็นกระบวนการปกติ หากในระหว่างกระบวนการ พวกเขาล้ม พวกเขาจะต้องมีความหวังที่จะลุกขึ้นมาอีกครั้ง นี่คือการทำให้พวกเขารอดชีวิตได้ด้วยความหวัง

ผู้ใหญ่ต้องลดกฎเกณฑ์เข้มงวดและความคาดหวังต่อเด็ก

ในช่วงสุดท้าย ทิชาฝากประเด็นไปถึงผู้ใหญ่ว่า ต้องลดความเข้มงวดกับเด็กและลดความคาดหวังในตัวเด็กลง และชวนมองว่าทั้งๆ ที่ผู้ใหญ่สามารถประนีประนอมกับผู้ใหญ่ด้วยกันเองได้ และยืดหยุ่นให้กับความผิดพลาดของผู้ใหญ่ได้ แม้จะเป็นเรื่องความผิดและการทุจริตของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เมื่อเป็นความผิดของเด็กกลับไม่สามารถประนีประยอมและยืดหยุ่นได้ 

นอกจากนี้ ยังให้ความเห็นถึงการที่คนไทยยังมองว่า สิทธิเป็นเรื่องที่ผูกโยงกับหน้าที่ ซึ่งความคิดในลักษณะนี้เป็นการขัดขวางเด็กในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสิทธิในการได้รับการศึกษา โดยอ้างว่าเด็กไม่ทำหน้าที่หรือไม่กระทำตนเป็นตัวอย่างที่เหมาะสม

ทิชาให้ข้อคิดทิ้งท้ายว่า เด็กไม่เคยเป็นผู้ใหญ่มาก่อน แต่ผู้ใหญ่ทุกคนล้วนเคยเป็นเด็ก ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงต้องมีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจเด็ก แม้ว่าพวกเขาจะกระทำผิดหรือพลาดพลั้งมาก็ตาม

เด็กควรรู้สิทธิของตน

วิทิตชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการที่เด็กจะต้องรู้ถึงสิทธิของตนเอง โดยปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการออกกฎหมายให้เด็กไทยทุกคนต้องเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หากไม่จบการศึกษาภาคบังคับจะไม่ได้รับสวัสดิการบางประการ ซึ่งเป็นการปิดโอกาสของเด็กในหลายๆ เรื่อง แต่ที่ผ่านมาเด็กจำนวนไม่น้อยไม่ทราบถึงสิทธิและข้อจำกัดตรงนี้ จึงต้องมีการแจ้งกฎหมายที่เด็กควรรู้ แล้วหลังจากนั้นหากพวกเขาอยากจะเลือกเรียนแบบไหน ก็เป็นสิทธิที่พวกเขาจะเลือกเอง

ครูต้องเป็นที่พึ่งพาให้กับเด็ก

อรุณฉัตรมองว่า ในระบบโรงเรียน ครูมักเข้มงวดกับเด็กมากเกินไป โดยเลือกจะใช้อำนาจและความรุนแรงในการควบคุมเด็กนักเรียน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนให้เป็นไปในทางลบ ทำให้นักเรียนถอยห่างจากครู ขณะเดียวกัน ครูก็รู้สึกแย่กับบรรยากาศการทำงานในโรงเรียน

ครูจะต้องได้รับการอบรมว่า ในการดูแลเด็กยังมีวิธีอื่นนอกเหนือจากการใช้อำนาจและความรุนแรง สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ แต่กลับไม่มีสอนในวิทยาลัยครู คณะศึกษาศาสตร์ หรือครุศาสตร์ แต่อย่างใด ที่ผ่านมาสถาบันที่ผลิตครูไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลเด็กในทางบวก เมื่อครูในระบบถูกป้อนให้รู้จักแต่เพียงการใช้อำนาจในการควบคุมเด็ก ทำให้เด็กไม่มีใครให้พึ่งพาได้ เพราะคนที่ควรพึ่งพาได้กลับเป็นคนทำร้ายพวกเขาเสียเอง

อรุณฉัตรทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ต้องถูกยกขึ้นมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง ในด้านการพัฒนาครู ซึ่งจะต้องทำให้ครูเป็นมนุษย์ และเป็นที่พึ่งพาให้เด็กได้

‘เรียนผ่านหนัง: ชวนดูหนังตั้งวงคุยกับ กสศ. และ Doc Club’ คือส่วนหนึ่งของกิจกรรมอันหลากหลายที่จัดขึ้นภายในงาน ‘โอกาส Open House: สร้างโอกาสการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่’ ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มูลนิธิปัญญากัลป์ และเครือข่ายศูนย์การเรียน 

ในกิจกรรมนี้มีการจัดฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Waiting for the Sun โดยความร่วมมือกับ Documentary Club และปิดท้ายด้วยวงเสวนาว่าด้วยปัญหาของเด็กในกระบวนการยุติธรรมซึ่งต่อยอดมาจากประเด็นในสารคดีเรื่องดังกล่าว