กทม.ต้องปลดล็อกออกแบบการศึกษาเอง
แนะใช้การบริหารจังหวัดปกครองพิเศษสร้างอิสระออกแบบการศึกษาของตนเอง สร้างลู่ทางชีวิตของเด็กที่หลากหลาย
โดย : ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหาร กสศ.

กทม.ต้องปลดล็อกออกแบบการศึกษาเอง

ระดมแนวคิดจาก 6 คนทำงานการศึกษา เพื่อเปลี่ยนกรุงเทพมหานครให้เป็นพื้นที่แห่งการศึกษาที่เข้าถึงเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ในเวทีระดมข้อเสนอแก้ปัญหาด้านการศึกษา ครั้งที่ 1 โดยสะท้อนปัญหาและเสนอนโยบายผ่านหัวข้อ  ปลดล็อกกรุงเทพ : เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, OKMD, ภาคีด้านการศึกษา และไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่าสภาพความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยขณะนี้เป็นอันดับ 1 ของโลก โดยในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพ ฯ จะพบครอบครัวเด็กยากจน 15 กลุ่ม ที่มีตั้งแต่แรงงานเด็ก เด็กในชุมชนแออัด แม่วัยใส หรือเด็กชาติพันธุ์ พวกเขาเหล่านี้มีภาวะเสี่ยงออกนอกระบบการศึกษา ยิ่งไปกว่านั้นระบบการศึกษาไทยที่มุ่งเน้นการสร้างเด็กให้มีความเป็นเลิศทางการศึกษา หรือการศึกษาที่ตรงตามคุณภาพมาตรฐานยิ่งทำให้เด็กเหล่านี้ไม่มีที่ยืนสำหรับการศึกษาในระบบ และเมื่ออกไปแล้วก็กลายเป็นแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ

“ไปคุยกับเด็กเล็ก ๆ ในชุมชนเขาบอกว่าโตขึ้นอยากเป็นโจร ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาไทยทำให้เกิดลู่การศึกษาสำหรับเด็กแค่กลุ่มหนึ่ง จนมีเด็กหลังห้อง เด็กผู้แพ้ และออกนอกระบบการศึกษาไป ซึ่งพบว่าเด็กที่ออกกลางคัน 50,000 คน มีกว่า 25,000 คน หรือครึ่งนึงที่ถูกดำเนินคดีและเข้าสถานพินิจ หนึ่งในสาเหตุคือการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการที่ไปครอบงำทั้งหมดในโรงเรียนของกทม.” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ทำให้ข้อเสนอของศ.ดร.สมพงษ์ จึงเห็นว่ากรุงเทพฯควรใช้ศักยภาพที่เป็นเมืองปกครองพิเศษออกแบบการศึกษาของตนเอง มีความเป็นอิสระและไม่ต้องยึดติดกับแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความเด็ดขาดของผู้ว่าราชการจังหวัดที่กำลังจะถูกเลือกตั้งเข้ามาในอนาคตด้วย 

ดังนั้นนี่ไม่ใช่แแค่ปลดล็อกแต่ต้องปลดแอกการศึกษา กทม.ให้ออกจากกระทรวงศึกษาให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น อีกทั้งต้องอาศัยผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีวิสัยทัศน์ทางการศึกษา 

“กทม. มีครูที่จบระดับปริญญาโท-เอกประมาณ 14,000 คน เราสามารถจัดการศึกษาของตนเองที่มีคุณภาพได้ ผู้ว่าจะต้องเด็ดขาดให้การศึกษาของกรุงเทพฯมีความเป็นอิสระ และให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นเพียงแนวทาง เด็กแต่ละพื้นที่ให้สะท้อนภาพปัญหาของตนเองได้”

โจทย์ของ ศ.ดร.สมพงษ์ คือทำให้เด็กแต่ละคนที่มีสภาพปัญหาแตกต่างหลากหลายได้รับการส่งเสริมให้มีศักยภาพตามลู่ทางของตัวเอง การศึกษาจึงต้องสร้างลู่เพื่อตอบรับเด็กเหล่านั้น โดยเฉพาะเด็กที่กำลังหลุดออกจากระบบ ก็ควรได้รับการส่งเสริมสิ่งที่มากกว่าในห้องเรียน อาจจะเป็นทักษะอาชีพ หรือสิ่งที่สอดคล้องกับชุมชน

“เด็กไม่มีความร่าเริง ไม่มีความแจ่มใส ไม่มีความสุข เพราะเขาไม่มีอนาคตไม่รู้จะมีอะไรกิน เด็กต่างจังหวัดยังมีชุมชนเป็นฐาน แต่ในกทม.เราอยากให้เด็กมีงานทำ เด็กตัดผมได้ เลี้ยงปลากัดในคลองเตยได้ เราให้เด็กเรียนไปสูง ๆ ท้ายที่สุดก็หลุดออกจากการศึกษาและเป็นแรงงานที่ไม่มีทักษะอะไรเลย ถ้าผู้ว่าเห็นความแข็งแรงของกทม.คือเรียนฟรีจริง มีอาหารเช้าให้ และต้องไม่ย้ำเพียงแค่ส่งเด็กสู่ความเป็นเลิศหรือคุณภาพมาตรฐาน” 

ทั้งนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ ยังย้ำถึงความสำคัญของการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ หรือ Eco System  ที่ต้องรองรับเด็กที่มีความหลากหลายแตกต่าง ซึ่งพื้นที่นี้จะเป็นเครื่องมือที่เข้าไปเยียวยาและส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กมีพัฒนาการตามวัย แต่พื้นที่เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ายังถูกกดทับด้วยระบบอำนาจหรือกฎระเบียบต่าง ๆ

“ปิดเทอมนี้จะมีเด็กหลุดออกจากการศึกษาเป็นจำนวนมาก เราต้องสร้างแต้มต่อให้เด็กที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ ดังนั้นการศึกษาของกรุงเทพฯต้องแตกต่างและมีลู่เป็นของตัวเอง ไม่ใช่ลู่เดียวแต่ต้องตอบโจทย์เด็กแต่ละคนได้ อาจจะตั้งโจทย์ให้เด็กมีงานทำ แต่ปัญหาคือเราก็ยังไม่กล้าออกจากวังวนการศึกษาของชาติ  ดังนั้นต้องปลดแอกโดยการแยกตนเองออกมาเป็นอิสระจากกระทรวงศึกษาธิการ”  ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย