The Lost Einstein หยุดวงจรสูญเสีย “เด็กช้างเผือก” เพราะความยากจน
เรียบเรียงจากรายงาน โดย น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ.

The Lost Einstein หยุดวงจรสูญเสีย “เด็กช้างเผือก” เพราะความยากจน

ในจำนวนเยาวชนที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย 25 เปอร์เซ็นต์ล่างสุดของประเทศ มีกลุ่มเด็กช้างเผือก (Resilient Student) อยู่ราว 3.3 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นจำนวนราว 6,111 คน โดยพวกเขามีความรู้ความสามารถที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเยาวชนหัวกะทิในกลุ่มที่มาจากครอบครัวรายได้สูง 25 เปอร์เซ็นต์สูงสุด 

จากผลสำรวจของ OECD ระบุว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเด็กช้างเผือกเหล่านี้ มีความประสงค์จะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา และหลายคนมองไปถึงการศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี

หากข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า เยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดในกลุ่ม 20 เปอร์เซ็นต์ล่างมีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่าชั้นมัธยมปลายเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ คิดสัดส่วนแล้วถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า ที่ 32 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงช่องว่างของโอกาสทางการศึกษาที่แตกต่างกันถึง 6 เท่า

แนวโน้มที่เยาวชนกลุ่มนี้ต้องออกจากระบบการศึกษา ก่อนได้รับการพัฒนาศักยภาพในตัวเองอย่างเต็มที่ หมายถึงความสูญเสียของชาติในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะเติบโตขึ้นมาช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต


การสูญเสียทรัพยากรมนุษย์
ที่มีคุณภาพ
(The Lost Einsteins)

ผลวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard, MIT และ Stanford ที่ติดตามศึกษาข้อมูลเชิงลึกของ ‘นวัตกร’ ในสหรัฐอเมริกามากกว่า 1,000,000 คน ได้อธิบายสาเหตุของปัญหาการสูญเสีย ‘เด็กช้างเผือก’ เพราะความยากจนไว้ว่า เด็กจากครัวเรือนที่มีรายได้สูงจะมี ‘โอกาส’ มากกว่าเด็กเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย 10 เท่า ในการเติบโตขึ้นเป็นนวัตกรผู้สามารถจดสิทธิบัตรได้สำเร็จ 

นอกจากนี้ผลวิจัยยังชี้ว่า เด็กช้างเผือก (Resilient Students) จากครัวเรือนยากจนที่สุดของประเทศ แม้พวกเขาจะมีพรสวรรค์หรือศักยภาพในตัวเพียงใด แต่เมื่อขาดแคลนโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาค รวมถึงระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมการพัฒนาทักษะหรือพรสวรรค์ในระยะยาว ความสามารถที่มีก็ไม่อาจงอกงามได้อย่างเต็มศักยภาพ ต้องหยุดไว้แค่ตรงกลางทาง นานวันเข้า ทักษะหรือพรสวรรค์ที่ไม่ได้รับการขัดเกลาเหล่านั้นก็อาจสูญหายไป


แก้ปัญหา ‘ศักยภาพที่ต้องหยุดไว้ตรงกลางทาง’กับ ‘ทุน’ ที่จะมาช่วยต่อเติมโอกาส (ของนักศึกษา) ความฝัน (ของครอบครัว) และความหวัง (ของประเทศ)

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ระบุว่า นักศึกษาสายอาชีพมีแนวโน้มศึกษาต่อในระดับสูงลดลงเรื่อยๆ โดยข้อมูลปี 2562 แสดงให้เห็นว่ามีนักศึกษาจบ ปวช. 656,981 คน จบ ปวส. 362,161 คน จบปริญญาตรี 9,819 คน และมีนักศึกษาที่ออกจากการศึกษากลางคัน 80,000 คนต่อปี 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มองถึงการสร้างต้นแบบของ ‘ทุน’ ที่จะมาช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ด้วยการสนับสนุนให้นักเรียนที่มีความสามารถ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ตามแต่ความต้องการและศักยภาพของแต่ละคน และได้ทำการมอบ ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ ให้กับเยาวชนช้างเผือกกลุ่มนี้ โดยได้ดำเนินมาถึงรุ่นที่ 3 ในปีการศึกษา 2564 นี้

เพราะการสร้างกำลังคนสายอาชีพที่มีคุณภาพ จะช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งมีผลตอบแทนสูงกว่าร้อยละ 10 และให้ผลตอบแทนทั้งในส่วนบุคคล ต่อสถานประกอบการ และต่อสังคมที่ผ่านมา การลงทุนลักษณะเช่นนี้มีการทำในหลายๆ ประเทศ โดยเน้นส่งเสริมทุนการศึกษอย่างเต็มที่ ในการศึกษาระดับที่สูงกว่าชั้นมัธยมปลาย ให้กับคนที่ในครอบครัวไม่มีใครเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยมาก่อน วิธีการนี้คือหนึ่งในแนวทางการเลื่อนระดับทางสังคม (Social Mobility) และจะส่งผลให้การขจัดความยากจนข้ามชั่วคน (Generations) มีความเป็นไปได้ในอนาคต

หนุนทักษะเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับสูง

ปัจจุบันระบบการศึกษาสายอาชีพ ยังสนับสนุนผู้เรียนด้านทักษะเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับสูง (ปริญญาตรี โท เอก) น้อยกว่าสายสามัญ ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ จึงมุ่งสนับสนุนผู้รับทุนในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศเป็นหลัก เป็นทุนแรกของรัฐบาลที่ส่งเสริมการศึกษาสายอาชีวศึกษาเป็นการเฉพาะ ในสาขาที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้ประเทศไทย 4.0 และนักศึกษาไม่ต้องใช้ทุนคืนหากเรียนจนจบการศึกษา

นอกจากนี้ ทุนยังส่งเสริมนักศึกษาในการคิดค้นนวัตกรรม โดยมีระบบหนุนเสริมนักศึกษารายบุคคล (Individual Development) ทั้งทักษะวิชาการที่เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ ทักษะในศตวรรษที่ 21 ทักษะชีวิต (Soft Skills and Life Skills) เป็นการพัฒนาต้นแบบเส้นทางการศึกษาสายอาชีพ (Pathway) ที่ต่อเนื่อง พัฒนาบุคลากรเฉพาะทาง ในทิศทางเดียวกับประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษาในระดับสูง เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์

ไม่ใช่แค่เรียนดี แต่ผลงานต้องโดดเด่น

คุณสมบัติของนักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ คือผู้มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ระหว่าง 3.00-3.99 แต่เท่านั้นไม่เพียงพอ เพราะทุกคนคือนักศึกษาผู้ได้รับการยอมรับแล้วว่ามีผลงานโดดเด่น อาทิ การคิดค้นโครงงาน สิ่งประดิษฐ์ เคยเข้าร่วมหรือมีผลงานประกวดนวัตกรรมอาชีวศึกษา ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศระดับภูมิภาคและระดับประเทศ เช่น การประกวดสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา การประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางเกษตรระดับภาค การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ระดับภาค

ด้วยผลงานอันโดดเด่น พวกเขาเหล่านี้จึงต่างวางเป้าหมายและความฝันในวิชาชีพไว้ที่การเป็นนักวิจัย นักวิชาการ วิศวกร โปรแกรมเมอร์ อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาต่างๆ หรือเป็นเจ้าของกิจการ พร้อมเติบโตเป็นต้นแบบบุคลากรสายอาชีพชั้นนำของประเทศ เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษารุ่นต่อไปได้กล้าฝัน กล้าตั้งเป้าหมายให้ชีวิต และไขว่คว้าโอกาสในการประสบความสำเร็จ และในแต่ละปี ประเทศไทยจะมีทรัพยากรคุณภาพในสายอาชีพ ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

ร่วมสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ในการก้าวเข้าสู่ประเทศรายได้สูงภายใน 20 ปี

การพยายามเชื่อมโยงการเพิ่มโอกาสและสร้างมาตรฐานด้านคุณภาพทางศึกษา คือเป้าหมายของทุนที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับประเทศไทยให้ก้าวพ้นจาก ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ ด้วยการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาค ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ในการก้าวเข้าสู่ประเทศรายได้สูงภายใน 20 ปี

ทั้งการยกระดับผลิตภาพ (Productivity) ของกำลังแรงงานรุ่นใหม่ ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานมาทดแทนแรงงานสูงวัย ผลิตแรงงานทักษะสูง (High Skilled Labor Force) ซึ่งประเทศจำเป็นต้องมีแรงงานกลุ่มนี้มากกว่าร้อยละ 50 และลดสัดส่วนแรงงานไร้ทักษะ (Unskilled Labor) ลง

และนี่คือหนึ่งในการทำงานปฏิรูประบบ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อจะนำไปสู่ปลายทาง คือการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย และส่งต่อนวัตกรรมต้นแบบ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทรัพยากรมากกว่า ได้นำไปขยายผลต่อไป