ฝ่ากำแพง ‘การศึกษาขั้นพื้นฐาน’ เส้นชัยที่ (ยัง) ไม่มีใครไปถึง
‘สร้างเกราะป้องกัน เสริมแรงบันดาลใจ’ ผลักดันการศึกษาทางเลือก เพื่อความเสมอภาคที่ปลายทาง

ฝ่ากำแพง ‘การศึกษาขั้นพื้นฐาน’ เส้นชัยที่ (ยัง) ไม่มีใครไปถึง

นับแต่ผ่านชั้น ม.1 เมื่อปีการศึกษา 2563 หรือราว 11 เดือนมาแล้ว ‘ฟาเดล’ วัย 14 ปี ก็ไม่ได้กลับไปโรงเรียนอีกเลย…

ถึงวันนี้เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของเทอม 2 ปีการศึกษา 2564 อดีตเพื่อนร่วมชั้นของเขากำลังเตรียมจะผ่านชั้น ม.2 ขึ้น ม.3 ขณะที่กิจวัตรทุกวันของฟาเดล คือการใช้เวลาเกือบทั้งหมดอยู่ในบ้านหลังเล็กทึมเทา สองคนกับพ่อที่อายุย่าง 64 ผู้สูญเสียการมองเห็น

“ตอนประถม ฟาเดลเป็นเด็กขยัน เรียนดี ไปโรงเรียนทุกวันแทบไม่เคยขาด แต่พอขึ้นชั้น ม.1 ก็เปลี่ยนไป” ลาติพะห์ มะแซตีเกานุง บัณฑิตอาสา ฯ หมู่ 1 ตำบลยะต๊ะ อำเภอรามัน จ.ยะลา ย้อนภาพของเด็กชายฟาเดล ที่เธอเห็นมาตั้งแต่ยังตัวเล็ก ๆ และคอยติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือครอบครัวของน้องมาตลอด

“ถ้าจะพูดว่าปัญหามาจากโควิด-19 ก็ส่วนหนึ่ง เพราะเด็กในละแวกนี้ส่วนใหญ่แทบไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ ส่วนผู้ปกครองก็ต้องดิ้นรนทำมาหากิน จนไม่มีเวลาเคี่ยวเข็ญลูกหลานให้มีสมาธิกับการเรียนหนังสือ พอโรงเรียนปิด ให้เด็กเรียนจากที่บ้าน หลายคนก็ขาดการติดต่อกับครูไปเลย”

‘การศึกษาขั้นพื้นฐาน’ เส้นชัยที่ (ยัง) ไม่มีใครไปถึง 

ลาติพะห์ กล่าวว่า หากจะให้มองถึงพื้นฐานของปัญหา อาจตั้งต้นได้ว่าความไม่พร้อมทั้งมวลเป็นผลจากความห่างไกล ความด้อยโอกาส ประชากรในพื้นที่มีรายได้ไม่มาก เด็กหลายคนจึงต้องทำงานก่อนวัยอันควร แต่เมื่อสำรวจลึกลงไปในกลุ่มเด็กเยาวชนที่เสี่ยงหลุดจากระบบ หรือรวมไปถึงคนที่หลุดจากระบบการศึกษามาแล้ว ก็ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า ‘ความยากไร้ขาดแคลน’ เป็นข้อเท็จจริงประการเดียว ที่ทำให้เด็กส่วนหนึ่งไปไม่ถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

เพราะหลังจากลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเด็กเยาวชนในพื้นที่ ตามโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งจังหวัดยะลาเป็น 1 ใน 20 จังหวัดนำร่อง จึงได้ข้อสังเกตว่า กรณีของฟาเดลที่อาศัยอยู่กับพ่อ ผู้มีรายได้จากเบี้ยผู้สูงอายุ ผู้พิการ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แน่นอนว่าน้องย่อมไม่มีความพร้อมเต็มที่ในการเรียน แต่เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงในฐานะ ‘ตัวแปร’ สำคัญ คือ เขาเป็นน้องคนสุดท้องในหมู่พี่น้อง 7 คน ที่ไม่มีใครจบการศึกษาที่ไม่มีใครจบการศึกษาชั้น ม.3 แม้แต่คนเดียว ยังไม่รวมถึงว่าในชุมชนคนรอบตัวของเขา มีสัดส่วนของเด็กที่จบการศึกษาภาคบังคับไม่มากพอ ที่จะจูงใจให้เห็นว่าการศึกษาคือฐานรากของการสร้างและพัฒนาชีวิต

อนาคตที่แขวนไว้บนความ ‘ไม่รู้’

“พอลงพื้นที่เก็บข้อมูลเด็ก ๆ ในชุมชน พบว่าเด็กจำนวนมากขาดแรงจูงใจ มองไม่เห็นเป้าหมายการศึกษาแน่ชัด ไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม จะไปต่อยังไง”

“ประเด็นคือไม่มีแบบอย่างให้เห็นเลย พ่อแม่พี่น้องในบ้านก็ไม่มีใครจบ ม.3 สักคน ยิ่งปีสองปีที่ผ่านมามีโควิด-19 ด้วย เด็กหลุดรอยต่อช่วงเปลี่ยนชั้นเยอะมาก หลายคนจบ ป.6 ก็เลิกเรียนแล้ว บางคนไม่ทันจบก็ไม่ไปเรียนเฉย ๆ ถามว่าทำไมไม่ไป เขาบอก ‘ไม่รู้’ แล้วพอออกมาก็อยู่บ้านไม่ทำอะไร ปล่อยเวลาผ่านไปจนหมดแรงกระตุ้น กลายเป็นขี้เกียจเรียน ไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่มีเป้าหมายชีวิต กลุ่มนี้เรามองว่าถ้าเขารู้ว่าการเรียนสำคัญยังไง เรียนแล้วไปทำอะไรต่อได้ ก็น่าจะทำให้มีแรงผลักมากขึ้น”

แต่กับฟาเดล เป็นกรณีที่ต่างออกไป เพราะเมื่อผ่านการพูดคุยสำรวจความต้องการลึก ๆ แล้ว น้องตอบว่า ‘อยากเรียน’ หากติดขัดที่ ‘ต้นทุน’ ที่แม้ว่าเมื่อโครงการ ฯ เข้ามาพบและพร้อมสนับสนุนแล้ว ก็ยังมีเรื่องราวความซับซ้อนของปัญหา ทั้งจากสภาพจิตใจของน้อง ที่ต้องปรับหลังห่างจากระบบการศึกษามาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยการสร้างเกราะป้องกันจากภายใน ร่วมกับส่งเสริมให้เห็นเป้าหมายปลายทาง และเข้าสู่กระบวนการค้นหาตนเอง เพื่อหลุดพ้นหล่มลึกที่ติดอยู่ออกไปให้ได้

ผลักดันการศึกษาทางเลือก สำหรับเด็กเยาวชน ‘ทุกคน’

รุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด/กรรมการสภาการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดยะลา กล่าวว่า เมื่อโครงการ ฯ มาพบฟาเดล ในเทอม 2 ของปีการศึกษา 2564 จึงได้เร่งสื่อสารหาทางช่วยเหลือตามกระบวนการ ‘ห้องเรียนฉุกเฉิน’ (Emergency Classroom) ซึ่งเป็นโมเดลรองรับกลุ่มเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาและมีความพร้อม ให้กลับเข้าเรียนได้ทันที รวมถึงมีระบบดูแลช่วยเหลือฟื้นฟูเพื่อช่วยในการปรับตัวเข้าสู่ระบบ อย่างไรก็ตาม สำหรับฟาเดล หลังจากที่ทางโรงเรียนรับกลับเข้าเรียน และนำเข้าสู่ช่วงปรับพื้นฐานในห้องเรียนออนไลน์ ซึ่งทางโครงการ ฯ ได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในเรื่องอุปกรณ์การเรียน พบว่า น้องยังมีอุปสรรคในการปรับตัวเข้าระบบ โดยเฉพาะการปะติดปะต่อเนื้อหาวิชาต่าง ๆ รวมถึงการเชื่อมโยงกับ ‘สังคมในโรงเรียน’ จึงจำเป็นต้องกลับมาทบทวน และให้เวลาฟาเดลในการตัดสินใจอีกครั้ง เพื่อมองหาแนวทางที่จะช่วยให้น้องได้รับการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสมต่อไป

“จากการพูดคุยทำให้ทราบว่า ฟาเดลมีความตั้งใจอยากเรียนด้วยตนเอง แต่พอกลับเข้าไปเรียนจริง ๆ ก็ต้องเจอกับอุปสรรคที่ทำให้รอยต่อยังไม่แนบสนิท ส่วนหนึ่งเขาต้องได้รับการเสริมเกราะป้องกันในตัวเอง และได้รับการชี้ให้เห็นภาพใหญ่ของอนาคตว่าการเรียนจะพาชีวิตไปได้ถึงไหน เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการเรียนมากขึ้น เพราะตอนนี้น้องมองแค่ว่าอยากจบ ม.3 เพื่อจะได้มีวุฒิทำงาน เขายังมองไม่เห็นว่ามีความจำเป็นใดต้องเรียนสูงไปกว่านั้น

“และนี่คือเป้าหมายสำคัญอีกประการของการไปสู่ ‘ยะลาเสมอภาค’ ที่เราต้องมีกระบวนการชี้แนะแนวทางให้เด็ก ๆ รู้ว่าการศึกษาสำคัญต่อชีวิตอย่างไร เราต้องเผยให้เขาเห็นแบบอย่างของคนที่ศึกษาเรียนรู้แล้วเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่ความสำเร็จได้ และการศึกษาในความหมายหนึ่งก็ไม่ได้หมายถึงโรงเรียนเพียงอย่างเดียว

“นอกจากนี้ โรงเรียนเองต้องมีการปรับหลักสูตรให้ดึงเด็กไว้ได้ ไม่ใช่พากลับเข้าไปแล้วหลุดออกมาอีก ทำอย่างไรให้เด็กเข้าไปเรียนแล้วตอบโจทย์ เห็นความเป็นไปได้ของชีวิตที่มากขึ้น แล้วจบมาก็สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้จริง ๆ”

รองปลัด อบจ. ยะลา กล่าวว่านับแต่พบน้อง ๆ ที่หลุดออกจากโรงเรียนจากการดำเนินงานโครงการ ฯ ส่วนใหญ่ที่นำกลับเข้าสู่ระบบได้ คือเด็กเยาวชนที่มีใจรักการเรียน มีความตั้งใจ แต่ด้วยความขัดสนทำให้ต้องออกไปทำงานก่อนวัยอันควร ส่วนกลุ่มที่ออกจากโรงเรียนไปเฉย ๆ เป็นพวกที่นำกลับมายาก หรือคนที่หลุดจากระบบไปแล้วเกิน 1 เทอมหรือ 1 ปีการศึกษา ก็มักจะไม่สะดวกกับการกลับไปเรียนในโรงเรียนอีกครั้ง เนื่องจากเคยชินกับวิถีชีวิตที่หลุดพ้นกรอบกฎเกณฑ์ของสถานศึกษาไปแล้ว  

“ดังนั้น การจัดตั้งสภาการศึกษาหรือกองทุนเพื่อการศึกษาเด็กจังหวัดยะลา เพื่อไปสู่ ‘ยะลาเสมอภาค’ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่การนำเด็กเข้าสู่ระบบ หรือประคองให้เรียนจบเท่านั้น แต่ปลายทางที่แท้จริงหมายถึง เราต้องมี ‘การศึกษาทางเลือก’ สำหรับเด็กทุกคน ทุกประเภท ไม่ว่าเป้าหมายของเขาเป็นอย่างไร เขาต้องได้เรียนรู้ ได้พัฒนากระบวนการคิด ที่จะช่วยยกระดับการทำงานและคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวได้”