“ครู” โรงเรียนในพื้นที่พิเศษ ปรับตัวอย่างไร ช่วงโควิด-19

“ครู” โรงเรียนในพื้นที่พิเศษ ปรับตัวอย่างไร ช่วงโควิด-19

ด้วยสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่แตกต่าง ทั้งเงื่อนไขด้านสถานที่ตั้ง และความพร้อมของนักเรียนในพื้นที่ บทบาทของครูที่พยายามจัดการเรียนรู้ของนักเรียนให้สัมฤทธิ์ผลที่สุด ยังทุ่มเทดำเนินอยู่เสมอ เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา โดยเฉพาะช่วงภาวะโควิด-19 ที่ครู- ผู้ใกล้ชิดและเข้าใจสภาวะความเป็นจริงมากที่สุดต้องเผชิญความท้าทายอีกครั้ง เรามาดูกันว่า “ครู” ของโรงเรียนในพื้นที่พิเศษ ปรับตัวอย่างไรช่วงโควิด-19 จนได้ชื่อว่าประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง

1. ครูเคลื่อนที่

โรงเรียนบ้านห้วยนกกก
จังหวัดตาก

จากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีแนวโน้มเลื่อนวันเปิดภาคเรียนอย่างไม่มีกำหนด โรงเรียนบ้านห้วยนกกก ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลแม้จะไม่น่าห่วงเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ เนื่องจากต้องปิดการเข้าออกตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด

ถึงกระนั้นทางโรงเรียนจัดการศึกษาตามนโยบายในช่วงโควิด-19 แต่ก็ไม่ได้ผลดี ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูง มีหมู่บ้านกระจายเป็นหย่อม ครูโรงเรียนจึงได้คิดค้นวิธีแก้ปัญหาหลายรูปแบบ ทั้งให้เด็กพื้นที่ห่างไกลพักนอนและเรียนที่โรงเรียน จัดครูเคลื่อนที่สอนตามหมู่บ้าน รวมถึงคัดเลือกและมอบหมายให้ “พี่ครู” ทำหน้าที่สอนน้องในหมู่บ้าน

นายประหยัด อุสาห์รัมย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวว่า “โรงเรียนบ้านห้วยนกกก” จังหวัดตาก เราไม่ยอมให้การเรียนรู้ของเด็กต้องสะดุด จึงใช้แนวคิดการจัดการศึกษาแบบ ‘พี่สอนน้อง’ หรือเรียกระบบ ‘พี่ครู’ เพื่อเสริมสร้างทักษะภาษาไทยให้กับน้องซึ่งเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงนั้นมีพื้นฐานที่แน่นขึ้น รุ่นพี่ชั้น ม.ต้น ในหมู่บ้านที่คัดเลือกแล้วว่ามีทักษะภาษาไทยดีมาช่วยปูพื้นฐานให้น้อง ขณะเดียวกันรุ่นพี่ก็ได้ประโยชน์ในการทบทวนวิชาความรู้ไปด้วย

พื้นที่โรงเรียนบ้านห้วยนกกก รองรับนักเรียนจากหลายหมู่บ้านของชุมชนชาวกะเหรี่ยง แต่ละหมู่บ้านมีนักเรียนชั้น ป.1 – ป.4 ราว 10 – 20 คน และมีรุ่นพี่มัธยมต้นด้วย ฉะนั้นพอเกิดสถานการณ์โควิด-19 ต้นปี 2563 เมื่อปิดการเข้าออก จึงใช้วิธีการให้ครูคัดเลือกรุ่นพี่มาเป็นตัวแทนสอนน้องช่วงที่โรงเรียนเปิดไม่ได้ “อย่างแรก เราคัดเลือกรุ่นพี่ที่มีพื้นฐานการเรียนดีและมีความสามารถในการถ่ายทอดก่อนแล้วค่อยประสานผู้นำชุมชนช่วยจัดการพารุ่นพี่เหล่านั้นออกมาพบครูที่หน้าหมู่บ้าน จากนั้นครูอบรมซักซ้อมรูปแบบการสอนให้กับรุ่นพี่จนเป็นที่พอใจ แล้วรุ่นพี่ค่อยนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับน้อง” นายประหยัด อุสาห์รัมย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าว

“4 จ.” หัวใจขับเคลื่อนการเรียนการสอน

พอผ่านการอบรมจากพ่อครูแม่ครูแล้ว พี่ครูก็เปิดห้องเรียนซึ่งแวดล้อมด้วยหมู่ไม้ สายลม และทิวเขา เริ่มต้นขึ้นด้วยกิจกรรมสนุกสนานก่อนนำเข้าสู่บทเรียน สร้างบรรยากาศสบาย เป็นกันเอง ก่อนถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยนวัตกรรม “4 จ.”

  • จ.1 “จำจด” ให้น้องคัดคำลงสมุด
  • จ.2 “จำอ่าน” พี่ครูสอนน้องอ่านคำศัพท์
  • จ.3 “จำแจก” น้องฝึกแจกแจงลูกสะกดคำตามพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ตามลำดับ
  • จ.4 “จำเขียน” น้องเขียนตามคำบอก แต่งเรื่องราวจากคำที่กำหนดให้

หลังผ่านขั้นตอน 4 จ. แล้ว จะมีการทดสอบนักเรียน ผู้ที่ไม่ผ่านจะย้อนกลับไปที่ จ.1 ใหม่ในวันถัดไปจนกว่าจะแก้ไขจุดอ่อน มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ที่เข้าใจแล้วก็ขยับสู่บทเรียนที่ยากขึ้น และที่สำคัญต้องเรียนรู้เพื่อนำไปใช้จริงได้

“จากสถานการณ์โควิด-19 จนถึงตอนนี้ เบื้องต้นระบบพี่ครูคือสิ่งที่เรานำมาใช้เพื่อไม่ให้การเรียนของเด็กต้องหยุดโดยสิ้นเชิง อย่างน้อยให้พี่ครูช่วยปูพื้นฐานน้องไว้ก่อน พอเปิดเรียนก็มาเน้นจุดที่ยังไม่เข้าใจ ค่อยตามให้ทันจุดประสงค์การเรียนรู้รายวิชาอีกครั้ง ไม่เพียงน้องชั้นประถมที่ได้เติมเต็มวิชาความรู้ ผลพลอยได้จากระบบการสอนแบบพี่ครูคือ พี่ ๆ ก็ได้ทบทวนบทเรียนไปด้วย ขณะเดียวกันผู้บริหารโรงเรียนและครูก็ช่วยกันหาวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์มาใช้อย่างต่อเนื่อง พร้อมติดตามประเมินผลรวมถึงมีรับส่งใบงานกันทุกสัปดาห์

“เพราะถึงโรงเรียนจะยังเปิดไม่ได้ แต่ยังไงก็ตาม เด็กจะต้องไม่หยุดการเรียนรู้แม้แต่วันเดียว”

2. ครูหลังม้า

โรงเรียนล่องแพวิทยา
จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โรงเรียนกระจายอยู่ตามเขาสูงทุรกันดาร ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ประกอบกับคนในพื้นที่มีรายได้น้อย ทำให้เข้าไม่ถึงการเรียนรู้แบบออนไลน์ จึงเกิดโครงการครูหลังม้าขึ้น ซึ่งเป็นนวัตกรรมในอดีตของแม่ฮ่องสอน โดยเปลี่ยนจากพาหนะม้าเป็นมอเตอร์ไซค์เพื่อบรรทุกสื่อการสอนแบบคละชั้นไปตามพื้นที่

นายสยาม เรืองสุกใส ผู้อำนวยการโรงเรียนล่องแพวิทยา อธิบายถึงครูหลังม้า ว่า “ครูเดินทางโดยมอเตอร์ไซค์เข้าไปกินนอนกับคนในชุมชน นำสื่อการสอนแบบฝึกการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกับแบบเรียนปกติไปด้วย เพราะเด็กส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง จึงออกแบบเนื้อหาการเรียนรู้โดยเน้นเฉพาะวิชาสำคัญ เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ใช้สื่อการสอนที่จัดทำขึ้นมาเองเพื่อให้เหมาะกับสภาพของผู้เรียนแต่ละระดับชั้น

บางครั้งก็โหลดสื่อการสอนลงแฟลชไดรฟ์และใช้โน้ตบุ๊กของครูแทนจอทีวี ครูจะไปอยู่ตามหย่อมบ้านละ 1 สัปดาห์ พอครบกำหนดก็มีกลุ่มใหม่มาเปลี่ยนวน แต่ละหย่อมพื้นที่จนครบเนื้อหาที่เตรียมไว้”

ผู้อำนวยการโรงเรียนล่องแพวิทยากล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งสำคัญสุดคือความมุ่งมั่นในการสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้หน่วยงานต้นสังกัดพิจารณาปลดล็อกเรื่องระเบียบการจัดซื้อหนังสือ เพื่อให้สามารถจัดทำแบบฝึกให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษา รวมถึงออกแบบการเรียนรู้ที่วัดผลที่แตกต่างออกไป เน้นวัดผลตามสภาพจริง ไม่ยึดตามตัวชี้วัด แต่ยึดสาระที่คิดว่าสำคัญ โดยดูจากสภาพจริง ดูชิ้นงาน ดูพัฒนาการของผู้เรียน

และพิจารณาการเปิด-ปิดสถานศึกษาตามความพร้อม หากพื้นที่ไหนมีความพร้อมก็ให้เปิดออนไซต์ ซึ่งดีกว่าเรียนอยู่ที่บ้านเพราะเรียนได้เต็มที่และใช้มาตรการควบคุมการระบาด หากพื้นที่ไหนไม่พร้อมก็ให้เรียนในรูปแบบอื่น รวมทั้งอยากให้มีการสนับสนุนเรื่องเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น เบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมันสำหรับบุคลากรที่ลงพื้นที่

3. ครูอาสา

โรงเรียนบ้านตะโกล่าง
จังหวัดราชบุรี  

เนื่องจากพื้นที่ตั้งของโรงเรียนบ้านตะโกล่าง ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นพื้นที่ห่างไกลติดขอบชายแดน ทำให้การจัดการศึกษาในช่วงโควิดระบาดเป็นไปด้วยความยากลำบาก

เมื่อมีความไม่พร้อมในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกและความห่างไกล ผู้บริหารโรงเรียน ครู และชุมชนท้องถิ่นจึงต้องผนึกกำลังกันแก้ปัญหาโดยใช้รูปแบบการจัดการศึกษาแบบหย่อมบ้าน แบ่งออกเป็น 7 หย่อม ใช้พื้นที่ศาลาวัด โบสถ์คริสต์ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงหมู่บ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อแยกนักเรียนไม่ให้มารวมตัวกันมากเกินไป ลดการแพร่ระบาด

จากนั้นก็จัดอาสาสมัครด้านการศึกษา หรือครูอาสา ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน อบต. นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ผู้นำศาสนา อีกทั้งครูอาสาที่เป็นศิษย์เก่า ปราชญ์ชาวบ้าน คนในท้องถิ่นมาช่วยสอนเด็กๆ ซึ่งมีค่าตอบแทนตามความเหมาะสม

นายเฉลียว เถื่อนเภา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะโกล่าง จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า “จากเดิมเข้าใจกันว่าการศึกษาเป็นเรื่องของครูและโรงเรียน แต่เมื่อคนในชุมชนมาร่วมให้การศึกษากับเด็ก บางคนมาช่วยทำอาหารช่วยเลี้ยงเด็ก ช่วยคัดกรองวัดไข้ แจกหน้ากาก ทำให้คนในชุมชนได้มีโอกาสรู้จักกับเด็ก ๆ มากขึ้น เกิดการเชื่อมโยงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เกิดการต่อยอด สร้างการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ช่วยเติมเต็มในจุดที่ครูไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง โดยมีการฝึกอบรมให้กับเหล่าอาสาสมัครก่อนจะออกปฏิบัติหน้าที่”

อาสาสมัครหรือครูพี่เลี้ยงจะคอยช่วยสอนการบ้าน ช่วยตรวจการบ้าน โดยมีการแจกใบงาน พร้อมทั้งมีกิจกรรมสันทนาการบ้างเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ภารกิจเหล่านี้ดำเนินไปด้วยดีเพราะเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนทุกภาคส่วน