เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ประเทศจะยืนอยู่ได้ด้วยแรงงานฝีมือชุมชนเป็นฐาน

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ประเทศจะยืนอยู่ได้ด้วยแรงงานฝีมือชุมชนเป็นฐาน

“การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้แรงงานด้อยโอกาส ต้องออกจากงานและกลับถิ่นฐานถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่รับจ้างรายวัน หาเช้ากินค่ำตามหัวเมืองใหญ่  ส่วนแรงงานไทยในต่างประเทศ เดินทางกลับมาประเทศไทยหลายหมื่นคน”

คือ  การประเมินสถานการณ์ของ “ศาสตราจารย์ดร.สมพงษ์ จิตระดับ” ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือทุนพัฒนาทักษะอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน

“แรงงานด้อยโอกาส เป้าหมายแรกของการให้ความช่วยเหลือ”

ศ.ดร.สมพงษ์ ชี้ว่า แรงงานด้อยโอกาส แรงงานนอกระบบ จะมีปัญหาซับซ้อนมากกว่าแรงงานในระบบประมาณ 2-3 เท่า  องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รายงานว่ามี 5 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบถูกเลิก จ้าง  คือ1.) กลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้มีปัญหาสุขภาพ 2.) กลุ่มแรงงานเยาวชนที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ (การศึกษาม.ต้น- ม.ปลาย ) 3.) แรงงานหญิง  4.) แรงงานนอกระบบ  5.) แรงงานข้ามชาติ  ยังรวมไปถึงกลุ่มคนที่ตกงานใน  ชุมชนดั้งเดิม ซึ่งเป็นกลุ่มไร้การเหลียวแล และถูกสังคมมองว่า “เป็นภาระ”

แต่ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุว่า คนกลุ่มนี้ถือเป็น “Priority”  หรือ ผู้ที่ถูกจัดลำดับความสำคัญแรกสุด ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)

“เราเห็นความสำคัญของคนกลุ่มนี้ ว่าเป็นคนที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยา และจะต้องช่วย  ให้เขาได้ค้นหาตัวตนชีวิตและศักยภาพที่แท้จริงให้เจอให้ได้”

Back to community กลับมายืนหยัด ด้วยทุนของชุมชน

ทุนพัฒนาทักษะอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เป็นโครงการที่กสศ.ร่วมกับ หน่วยพัฒนา อาชีพ จำนวน 129 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 51 จังหวัด พัฒนาทักษะแรงงานขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยเฉพาะที่ไดรับผลกระทบจาก COVID-19 ให้ได้รับการยกระดับทักษะเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่และ แรงงานฝีมือ ซึ่งทำงานในพื้นที่ที่มีสัดส่วนความยากจน การว่างงานสูง โดยจะมีการวิเคราะห์ ศักยภาพและจัดทำแผนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดรูปแบบการพัฒนาทักษะอาชีพแบบครบวงจร โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน สามารถยกระดับฝีมือและทักษะ มีแผนประกอบอาชีพจนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยขณะนี้มีหลักสูตรการยกระดับการประกอบอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานจำนวน 50 หลักสูตร ที่ตอบ โจทย์ท้องถิ่น

“ชุมชนจะสามารถจัดการและดูแลคนกลุ่มนี้ได้ ทุนของชุมชนจะยังมีการส่งต่อ ยังมีการสร้างใหม่ และมีการประยุกต์ ในขณะนี้เป็นโอกาสในการใช้ชุมชนเป็นฐาน กลับไปสู่ Back to community ให้ชุมชนเป็นแหล่งการเรียนรู้ในการให้โอกาส เสริมสร้าง และพัฒนาชุมชนเป็นตัวซึมซับคนเหล่านี้อย่างมีคุณค่า รับเขาเข้ามาในชุมชน เราจะดูแลคุณบนความเท่าเทียมกันจากทุนของชุมชนที่มีอยู่” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ประเทศจะยืนอยู่ได้ด้วยแรงงานฝีมือชุมชนเป็นฐาน

“ชุมชนกำลังผลิตกำลังคนในภาคที่เชื่อมโยงระหว่างโลกของเศรษฐกิจกับสังคม เรากำลังผลิต Smart Farmer  ผลิตนักการตลาดออนไลน์ ผู้ประกอบการแบบ SME ซึ่งประเทศที่มีสัดส่วนคนกลุ่มนี้สูง ไม่ว่าคุณจะเผชิญกับปัญหา COVID-19 หรือ หรือเศรษฐกิจที่ล้มตัว หรือสถานการณ์โลกจะลำบากหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ประเทศไทยจะยืนได้ด้วยคนกลุ่มนี้  ถ้ารัฐบาลมองว่างานการใช้ชุมชนเป็นฐานตอบสนองให้แรงงานกลับมาในชุมชนของตัวเอง ให้เห็นถึงประโยชน์คุณค่าและรูปแบบของมัน ผมคิดว่ามันจะเป็นการพัฒนาครั้งใหญ่ของประเทศเรา” ศ.สมพงษ์ ทิ้งท้าย

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับทั้ง 129 หน่วยพัฒนาอาชีพ ได้ที่ เรื่องเล่าจากชุมชนสู่อาชีพ หรือค้นหาโครงการที่อยู่ใกล้ชุมชนของท่านเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้