โรงเรียนศิริพงศ์วิทยา จังหวัดสงขลา มอบ “มือถือ” เสริม “ความรู้” ช่วงล็อกดาวน์

โรงเรียนศิริพงศ์วิทยา จังหวัดสงขลา มอบ “มือถือ” เสริม “ความรู้” ช่วงล็อกดาวน์

จากสำรวจนักเรียนยากจนพิเศษในพื้นที่ 29 จังหวัดที่ประสบปัญหาการเรียนช่วงโควิด-19 เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าและอุปกรณ์ พบว่ามีนักเรียนที่ประสบปัญหาถึง 87.94% หรือ 271,888 คน 

ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามเข้าไปช่วยเหลือจัดหาอุปกรณ์เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งพบว่าช่วยให้เด็กสามารถกลับมาเรียนรู้และมีความสุขในการเรียนมากขึ้น

จากเด็กตั้งใจเรียนส่งงานสม่ำเสมอ
หายไปเพราะไม่มีอุปกรณ์เรียนออนไลน์

โรงเรียนศิริพงศ์วิทยา จังหวัดสงขลา หนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ​ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  มีทีมโค้ชจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นพี่เลี้ยง นับเป็นอีกตัวอย่างโรงเรียนในพื้นที่ ที่มีเด็กประสบปัญหาเข้าไม่ถึงอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ จนนำมาสู่การช่วยเหลือผ่านโครงการกองทุนไอที พี่ ม.อ.ช่วยน้องเรียนออนไลน์ จัดสรรแท็บเล็ตให้กับนักเรียนที่ต้องการ

ครูวิชุตา กาญจนประโชติ ครูวิชาการจากโรงเรียนศิริพงศ์วิทยา เล่าให้ฟังว่า ที่โรงเรียนมีเด็กๆ ซึ่งไม่มีอุปกรณ์การเรียนออนไลน์หลายคน บางบ้านผู้ปกครองมีมือถืออยู่เครื่องเดียว พี่กับน้องต้องแบ่งกันเรียน บางครั้งพี่ก็ต้องเสียสละให้น้องเรียน บางครั้งพี่น้องเสียสละให้พี่เรียน ทำให้เรียนไม่ต่อเนื่อง จากเด็กที่ตั้งใจเรียน เคยส่งงานสม่ำเสมอ พอต้องมาเรียนออนไลน์บางทีก็หายไป ไม่ได้ส่งงานเหมือนเดิม ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก  

มากกว่า “บทเรียน” คือ​ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

น้องแพรวา-กวิสรา ปัญญาภรณ์ ชั้น ป.1 ซึ่งมีพี่เรียนอยู่ชั้น ป.4 ก่อนหน้านี้คุณครูจะจัดการเรียนช่วงค่ำ หลังจากที่ผู้ปกครองกลับมาจากทำงาน  เพราะน้องจะได้มีมือถือเรียนออนไลน์ได้ แต่เนื่องจากที่บ้านน้องแพรวามีมือถือเครื่องเดียว และทางผู้ปกครองเห็นว่าชั้น ป.4 เนื้อหายากกว่า จึงให้พี่ได้เรียนก่อน ขณะที่น้องแพรวาก็เปลี่ยนมาเรียนแบบออนแฮนด์แทน

แต่พอน้องแพรวาได้รับแท็บเล็ตมาเรียนออนไลน์ก็ทำให้กลับมาเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ได้อย่างมีความสุข จากที่สังเกตน้องกล้าพูดมากขึ้น กล้ายกมือตอบคำถาม กล้านำเสนองานของตัวเอง เป็นการเปิดโอกาสให้น้องได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

เสียสละให้น้องได้เรียนก่อน
เพราะยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

ไม่ต่างจากน้องเอเชีย-นภสร มณี ชั้น ป.3 ที่ต้องเสียสละให้น้อง ป.1 ใช้มือถือของผู้ปกครองเรียนออนไลน์ เพราะเห็นว่าน้องยังอ่านหนังสือไม่ออก จำเป็นที่จะต้องได้เรียนออไลน์มากกว่า แต่ก็อาศัยส่งงานในการเรียนออนแฮนด์ทดแทน  แต่ก็ส่งไม่สม่ำเสมอเพราะต้องรอให้น้องเรียนเสร็จแล้วถึงจะได้มาลอกโจทย์จากมือถือ

“น้องเอเชียเป็นเด็กที่อยู่ในกลุ่มเด็กเก่ง ผลการเรียนดีมาตลอด ผู้ปกครองอยากจะซื้อมือถือเพิ่มเพื่อให้พี่น้องได้เรียนพร้อมกัน แต่เงินก็ไม่พอ แต่ครูก็เห็นความเอาใจใส่ ทยอยทำงานส่ง ช่วงที่น้องเรียนออนไลน์ น้องเอเชียก็ไปช่วยผู้ปกครองทำขนมขาย เสียดายโอกาสที่เขาไม่ได้เรียน จนกระทั่งน้องได้แท็บเล็ต ที่ทำให้เขากลับมาเรียนออนไลน์ได้อีกครั้ง”

เรียนออนไลน์ทำให้ได้ซักถามในเรื่องที่ไม่เข้าใจ

ล่าสุดครูปรับเวลามาสอนออนไลน์ช่วงกลางวัน เพราะเด็กหลายคนเริ่มง่วงเวลาสอนช่วงกลางคืน 

น้องเจม-อภินัทธ์ ป่วนปั่น นักเรียนชั้น ป.1 หลังจากได้รับแท็บเล็ต ก็จะมาเรียนออนไลน์ที่โรงเรียน เพราะคุณแม่ไปทำงานต่างพื้นที่ คุณครูก็จะคอยช่วยดูเวลาเรียนออนไลน์ที่โรงเรียน ร่วมกับเพื่อนๆ ที่เรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน

ส่วนน้องไอซ์-กัญญาภัทร ส่งแสง นักเรียนชั้น ป.2 เป็นเด็กขยัน ตั้งใจเรียน อยู่กับคุณยาย ส่วนคุณแม่ไปทำงานต่างพื้นที่ เวลาคุณแม่กลับมาแต่ละครั้ง น้องไอซ์ก็จะได้โอกาสใช้มือถือส่งการบ้านทีเป็นเซตใหญ่ๆ พอตอนนี้ได้รับแท็บเล็ตก็สามารถเข้าเรียนออนไลน์ได้ทุกวัน มีความสุขกับการเรียนร่วมกับเพื่อนๆ และส่งงานสม่ำเสมอ​

“การที่เด็กๆ ได้รับอุปกรณ์ทำให้พวกเขากลับมาเรียนพร้อมกับเพื่อนๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ความรู้จากเนื้อหาในบทเรียน แต่ยังรวมถึงการได้พูดคุยมีปฏิสัมพันธ์ ได้โอกาสรับคำอธิบายจากครู เพราะการอ่านเองก็อาจไม่เพียงพอหรือเข้าใจผิดได้ อย่างวิชาคณิตศาสตร์ก็ต้องมีการทำความเข้าใจ ต้องอธิบาย ไม่เข้าใจก็ได้ซักถามว่าคิดแบบนี้ถูกต้องหรือเปล่า การเรียนก็จะดีขึ้น”​

ตัวอย่างการเรียนออนไลน์จากช่อง Siripong Wittaya School

ไม่เพียงแค่สนับสนุนอุปกรณ์
แต่ยังพัฒนาการสอนออนไลน์ให้น่าสนใจ

ครูวิชุตากล่าวเสริมว่า​ นอกจากอุปกรณ์แล้ว ทางโรงเรียนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบทเรียนออนไลน์​ ครูทุกคนจะออกแบบการเรียน โดยใช้ รูปแบบเกม  ช่วยดึงความสนใจ 

“จากภาคเรียนที่หนึ่งได้ค้นพบว่าวิธีการเปิดหนังสืออ่านให้นักเรียนฟังในออนไลน์นั้นไม่ได้ผล เด็กจะค่อยๆ หายไป ครูต้องพยายามหาสื่อที่น่าสนใจมาสอน เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วม ให้เขาบอกความคิดโดยไม่ต้องกังวล ไม่มีผิดไม่มีถูก ตอนนี้พอเราเปิดเรียนออนไลน์ เราเห็นเด็กตื่นเต้นมากที่เขาได้มาเจอเพื่อน เราเห็นเขามีความสุขที่ได้เรียนสม่ำเสมอ”

ปัจจุบันจากการสำรวจยังพบว่า มีนักเรียนบางคนที่แม้จะมีอุปกรณ์เรียน แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ 7-8 คน ​บางคนเครื่องเก่าแบตเสื่อม เรียนต่อเนื่องได้ไม่นาน บางคนใช้ไปนานๆ แล้วเครื่องร้อน สักพักผู้ปกครองต้องส่งข้อความกลับมาแจ้งว่าต้องขอพักเรียนสักครู่เพื่อให้เครื่องเย็นลงก่อน โดยระหว่างนี้ก็จะพยายามหาวิธีแก้ไขช่วยเหลือต่อไป