รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ขอเชิดชูเกียรติ “ครู” ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตศิษย์ จาก 11 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และติมอร์-เลสเต

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ขอเชิดชูเกียรติ “ครู” ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตศิษย์ จาก 11 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และติมอร์-เลสเต

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (PMCA) จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2558 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (PMCA) เป็นรางวัลเพื่อการเชิดชูเกียรติครูดีเด่นจาก 11 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และติมอร์-เลสเต ทุก 2 ปี หลักเกณฑ์ทั่วไปคือสรรหาและคัดเลือก “ครูที่เปลี่ยนแปลงชีวิตศิษย์ให้ดีขึ้น” โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

กสศ. ชวนทุกท่านร่วมทำความรู้จักกับครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ประจำปี 2565 – 2566

โดยมีจำนวน 11 รายชื่อ ดังต่อไปนี้

  1. ครูโมฮาหมัด อามีร์ เออร์วัน ฮาจี ม๊อกซิน : ประเทศบรูไนดารุสซาลาม
  2. ครูจักรียา เฮ : ราชอาณาจักรกัมพูชา
  3. ครูฮาริสดายานี : สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
  4. ครูกิมเฟือง เฮืองมะนี : สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
  5. ครูไซฟูนิซาน เช อิสมาเอล : ประเทศมาเลเซีย
  6. ครูดอ อาย ซู หวิ่น : สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
  7. ครูเจอร์วิน วาเลนเซีย : สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
  8. ครูชง ชิว หลวน เพนนี : สาธารณรัฐสิงคโปร์
  9. ครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข : ประเทศไทย
  10. ครูมา หุ่ง เหงียน : สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
  11. ครูฟิโลมินา ดา คอสต้า : สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต

1.ครูโมฮาหมัด อามีร์ เออร์วัน ฮาจี ม๊อกซิน (Mohamad Amir Irwan bin Haji Moksin)
ประเทศบรูไนดารุสซาลาม

โรงเรียนของผม บ้านหลังที่สองของผม

ครูเออร์วัน คือครูที่เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าเด็กนักเรียนทุกคนมีความสำคัญ ซึ่งความเชื่อมั่นดังกล่าวเกิดขึ้นจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่เจ้าตัวได้รับจากครูของตน ที่แสดงให้เห็นว่า เด็กทุกคนควรค่าแก่การใส่ใจ

ทั้งนี้ ในช่วงวัยเรียน ครูเออร์วันเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และด้วยความเป็นเด็กที่ขี้อาย ทำให้ครูมีปัญหาในการพูดและการอ่านอย่างมาก ถึงขนาดที่ครูเออร์วันไม่สามารถอ่านหนังสือได้เลยจนกระทั่งถึงเกรด 5 (เทียบเท่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 5)

อย่างไรก็ตาม ชีวิตการเรียนของครูเออร์วันก็มาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อเจ้าตัวได้พบกับครูซารินา ซึ่งรับเด็กชายเออร์วันในขณะนั้นเข้ามาอยู่ในการเรียน และค่อยๆ สอนวิธีการอ่านและการพูดอย่างมั่นใจมากขึ้น แต่ไม่นานหลังจากนั้น ครอบครัวของครูเออร์วันก็มีเหตุให้ต้องย้ายไปอยู่อีกเมืองหนึ่ง

ที่โรงเรียนแห่งใหม่ ครูเออร์วันได้พบกับครูสาวจีนอย่าง มิสหลิน ซึ่งสอนให้เขาคิดคำนวณได้อย่างคล่องแคล่ว เรียกได้ว่า ครูทั้งสองมีอิทธิพลต่อเขาอย่างยิ่งถึงขั้นพลิกเปลี่ยนชีวิตเขาเลยทีเดียว

ณ จุดนี้ ครูเออร์วันเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น รวมถึงทำให้ครูมุมานะอย่างหนักเพื่อยกระดับทักษะการอ่านของตนเอง

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ครูเออร์วันก็เปลี่ยนผ่านจากเด็กชายที่มีปัญหาในการอ่านไปสู่เด็กชายที่รักการอ่าน ถึงขั้นที่คุณแม่ของครูเออร์วันจะซื้อหนังสือให้เขาในทุกๆ โอกาสสำคัญ

จากประสบการณ์การเรียนที่ได้พบครูผู้อุทิศและให้ความสำคัญกับเด็กทุกคนในวัยเยาว์ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ครูเออร์วันอยากเป็นครูเพื่อที่ตนเองจะสามารถช่วยเหลือให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่อ่าน มอบโอกาสและเปิดเส้นทางที่เด็กๆ จะเข้าถึงความรู้และหนังสือมากมาย

ครูเออร์วันกล่าวว่า สิ่งที่เขาสอนคือ “ชีวิต” ไม่ใช่วิชา ด้วยความเชื่อว่าเด็กทุกๆ คนมีความสำคัญ มีคุณค่าควรแก่การใส่ใจ ดังนั้น ความเสมอภาคเท่าเทียมจึงมีน้ำหนักในใจของครูเออร์วันอย่างยิ่ง โดยครูกล่าวว่า ตนเองต้องการเข้าถึงเด็กนักเรียนทุกคนบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาสทั้งหลาย เพราะครูรู้สึกว่าสิ่งนี้คือหน้าที่ของครูในฐานะผู้ใหญ่ที่จะต้องคอยหล่อหลอมและปลูกฝังลูกหลานของบรูไน

นอกจากนี้ ครูเออร์วันต้องการปลดปล่อยนักเรียนเพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยครูเออร์วานเห็นว่า มี 2 สิ่งที่จำเป็นในชีวิตสำหรับความต้องการของคนๆ หนึ่ง  นั่นคือ การศึกษาและมารยาท ดังนั้นเขาจึงตั้งมั่นอุทิศตัวเป็นครูในการเตรียมนักเรียนรุ่นใหม่ของบรูไนดารุสซาลามด้วยสิ่งสำคัญ 2 ประการนี้

ยิ่งไปกว่านั้น ครูเออร์วันยังเป็นผู้ริเริ่มเทคนิคการสอนใหม่ๆ เพื่อสอนการรู้หนังสือและภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนของตน ตลอดจนจัดการฝึกอบรมครูคนอื่นๆ ในการนำวิธีการดังกล่าวไปใช้เพื่อเป็นหลักการพื้นฐานในการสอนวิชาต่างๆ โดยวิธีการของครูเออร์วัน รวมถึงกลยุทธ์การเขียนบรรยายภาษาอังกฤษด้วยการจัดองค์ประกอบภาพ 6 ภาพและการอธิบายความหมายที่มีสีสัน ( narrative writing strategy of six-picture composition and colorful semantics ) นอกจากนี้ ครูเออร์วันยังทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามผลการเรียนของนักเรียนเมื่อสิ้นสุดภาคเรียนหลังจากประยุกต์เทคนิคการสอนแล้ว เป็นการพิสูจน์ด้วยหลักฐานว่าวิธีการของตนได้ผลตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

ในแง่ชีวิตส่วนตัว ครูเออร์วันมีพี่น้อง 6 คน โดยเจ้าตัวเป็นลูกคนกลางของบ้าน คุณพ่อเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่คุณแม่เป็นแม่บ้าน

2.ครูจักรียา เฮ (Mrs. Chakriya Hay)
ราชอาณาจักรกัมพูชา

การสอนคือการแบ่งปันความรู้

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ครูจักรียา เฮ คือ ครูคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนมัธยมโสกอันสำโรง ( Sok An Samrong High School) ประเทศกัมพูชา จึงไม่เคยเหนื่อยล้าที่จะแบ่งปันความรู้ที่ตนเองมีให้แก่เด็กนักเรียนของตน ขณะเดียวกัน ด้วยตระหนักดีว่า คณิตศาสตร์มีความสำคัญอย่างมากต่อชีวิตในโลกอนาคตที่ให้น้ำหนักกับเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ครูจักรียา จึงไม่เคยหยุดที่จะสอนให้นักเรียนเห็นถึงความสำคัญของคณิตศาสตร์

ทั้งนี้ ด้วยความที่มีคุณพ่อเป็นครูสอนหนังสือ ดังนั้นครูจักรียาจึงมีแรงบันดาลใจ และทำให้อาชีพครูกลายเป็นความฝันของครูจักรียานับตั้งแต่เยาว์วัย อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เกิดมาในครอบครัวชาวนาฐานะยากจน ซึ่งมีพี่น้องรวมกันถึง 8 ชีวิต ทำให้พี่น้องทุกคนไม่ได้รับโอกาสไปเล่าเรียนหนังสือที่โรงเรียนอย่างเท่าเทียมกัน เพราะฐานะทางบ้านไม่เอื้ออำนวย กระนั้น บรรดาพี่ๆ ทั้งหลายต่างก็สนับสนุนให้น้องคนเล็กอย่าง ครูจักรียา ได้เรียนหนังสือ ขณะที่คุณพ่อเองก็เป็นกำลังใจสำคัญในการสนับสนุนให้ครูจักรียาได้เป็นครูตามฝัน

หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมปลาย ครูจักรียา ได้รับทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากครูมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำตามความฝันของตนเอง ครูจักรียาจึงสมัครเป็นครูแทนที่จะรับทุน อาชีพครูของเธอเริ่มต้นในปี ค.ศ. 2011 ในตำแหน่งครูโรงเรียนมัธยม ขณะเดียวกัน ก็ใช้เวลาว่างที่มีมุมานะ จนกระทั่งครูจักรียาสามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโทสาขาคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอังกอร์เขมรา (Angkor Khemara University) ประเทศกัมพูชา

ครูจักรียาเชื่อว่าการเป็นครูที่ดีควรพัฒนาความรู้ มีความยืดหยุ่น และมีนวัตกรรมในการสอน วิธีการสอนของเธอจึงเป็นแนวทางที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางโดยมุ่งเน้นที่การทำความเข้าใจสภาพของนักเรียน และให้การสนับสนุนพวกเขาในสิ่งที่เขาต้องการ

นอกจากนี้ ครูจักรียายังประยุกต์ใช้ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ในการสอนของตนเอง รวมถึงใช้เทคโนโลยีและสื่อการสอนที่หลากหลายเพื่อดึงดูดความสนใจของนักเรียน และปรับปรุงกระบวนการสอนของตนเองอยู่เสมอ

ยิ่งไปกว่านั้น ครูจักรียายังหมั่นมองหาแหล่งข้อมูลออนไลน์ใหม่ๆ มาโดยตลอดเพื่อช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ และยังเขียนและตีพิมพ์หนังสือวิชาคณิตศาสตร์หลายเล่ม กระทั่ง ในปี ค.ศ. 2022 ครูจักรียา ก็ได้รับรางวัล Samdach Techo Sen Award รางวัลที่มอบให้กับครูดีเด่น สาขาครูที่ดีที่สุดในกัมพูชา

ครูจักรียาย้ำว่า ครูสนุกกับการได้แบ่งปันความรู้ และไม่เคยเบื่อที่จะสอนใหนักเรียนเห็นความสำคัญของคณิตศาสตร์ ที่มีต่อเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และชีวิต

3.ครูฮาริสดายานี (Mrs. Harisdayani)
สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

สอนด้วยรักและศรัทธา

ครูฮาริสดายานี คือครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น SMP Negeri 2 Binjai ในเกาะสุมาตราเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย ครูฮาริสดายานีเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่กระตือรือร้น เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในปี ค.ศ. 2020 หลังจากเริ่มต้นเส้นทางการอาชีพครูมาได้ 10 ปี (ครูเริ่มสอนในปี ค.ศ.​2011) ครูฮาริสดายานีเริ่มรู้สึกว่าชีวิตของตนกลายเป็นกิจวัตรไปแล้ว ดังนั้นครูจึงได้จุดไฟในอาชีพครูให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อยกระดับการปฏิบัติงานของตนเอง ครูฮาริสดายานีลงทะเบียนในการฝึกอบรมทั้งออนไลน์และนอกสถานที่ในด้านไอทีและเทคนิคการสอน จากนั้นก็นำความรู้และทักษะจากการฝึกอบรมไปใช้กับห้องเรียน ประยุกต์ความรู้ที่ตนเองได้เล่าเรียนมาให้มีความเกี่ยวข้องกับนักเรียนของตนเอง

หนึ่งในวิธีการดังกล่าวคือการประยุกต์ใช้ โซเชียลมีเดีย เช่น คลิปวิดีโอใน YouTube, TikTok และ EduGame ผ่านโทรศัพท์มือถือ, Facebook และ WhatsApp เป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการสอนของตนเอง ทำให้นักเรียนของครูรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้

ขณะเดียวกัน ครูฮาริสดายานียังจัดให้มีการฝึกสอนแก่เพื่อนครูคนอื่นๆ เกี่ยวกับการใช้ไอทีในการสอนในชั้นเรียน ส่งผลให้ครูฮาริสดายานีได้รับรางวัลระดับชาติหลายรางวัลจากกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม ประเทศอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ครูฮาริสดายานียังได้รับการยอมรับในฐานะทูตแห่งการเรียนรู้ที่ใช้เทคโนโลยี ครูที่สร้างแรงบันดาลใจที่ดีที่สุดระดับชาติสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น และครูผู้สร้างแรงบันดาลใจในงานวันครูในเมืองบินไจ อีกทั้งครูฮาริสดายานียังมีผลงานเขียนและตีพิมพ์หนังสือกวีนิพนธ์ด้วย

ทั้งนี้ สิ่งที่ครูฮาริสดายานียึดมั่นเสมอมา ก็คือ การสอนคือความสุข อันเป็นของขวัญที่ได้รับทั้งทางวาจา ความประพฤติ ความรัก ความศรัทธา และความบริสุทธิ์

ในแง่การศึกษา ครูฮาริสดายานีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการศึกษาภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 2010 และปริญญาโทสาขาการบริหารการศึกษาในปี ค.ศ. 2014 จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเมดาน

4.ครูกิมเฟือง เฮืองมะนี (Mrs. Kimfueang Heuangmany)
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

เป็นครูด้วยรักและศรัทธาในนักเรียน

ครูกิมเฟือง เฮืองมะนี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนระดับประถมศึกษา Pheermai Primary Schoolในจังหวัดเซกอง (Sekong) โดยครูมีความใฝ่ฝันอยากเป็นครูมาตั้งแต่ครั้งครูยังเป็นเพียงเด็กประถม และเพื่อที่จะบรรลุความฝันของตนเอง ครูกิมเฟือง จึงมุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่ จนกระทั่งสามารถสำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาขั้นพื้นฐานในปี ค.ศ. 1990 และได้เริ่มเส้นทางการสอนที่โรงเรียนประถมศึกษาโนนมีชัย ในจังหวัดเซกอง

ในขณะที่สอน ครูกิมเฟืองก็ไม่หยุดที่จะเดินหน้าพัฒนาทักษะทางวิชาชีพของตนเองอย่างต่อเนื่อง จากวุฒิเดิมครูกิมเฟืองก็เรียนเพิ่มจนสามารถสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาผ่านการศึกษานอกระบบและการฝึกอบรมสายอาชีพระดับกลาง (ระบบ 8+3) ในปี ค.ศ. 2012

เรียกได้ว่าครูกิมเฟือง เป็นแบบฉบับที่ยอดเยี่ยมและผลงานที่น่าภาคภูมิใจอย่างแท้จริงของระบบการศึกษาสายอาชีพนอกระบบและด้านอาชีวศึกษา

ด้วยเชื่อว่าการศึกษามีบทบาทสำคัญในชีวิตของทุกคน ครูกิมเฟืองจึงรักการเป็นครูอย่างยิ่ง เธอมีความกระตือรือร้นและห่วงใยเด็กนักเรียน ซึ่งเปรียบเสมือนลูกๆ ของเธอเป็นอย่างมาก ดังนั้น ครูกิมเฟืองจึงจัดเตรียมบทเรียนพิเศษให้กับนักเรียนอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้พวกเขาเอาชนะจุดอ่อนในด้านวิชาการ พร้อมตั้งเป้าที่จะพัฒนาคนรุ่นต่อไปของ สปป. ลาว ให้เป็นคนที่มีความสามารถรอบด้านจนกลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของ สปป. ลาว เพื่อช่วยพัฒนาประเทศต่อไป

ขณะเดียวกัน ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน ครูกิมเฟืองยังให้ความสำคัญกับนักเรียนและครูที่โรงเรียน ด้วยการเป็นผู้นำทีมพัฒนาสื่อการสอนและการจัดสวนในโรงเรียน รวมถึงยังสอน 3 วิชาหลัก ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาลาว ยิ่งไปกว่านั้น ครูกิมเฟืองยังได้เข้าร่วมเวิร์กชอปและหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ อย่างแข็งขันเพื่อพัฒนาทักษะการสอนของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

ความทุ่มเทและผลงานของครูกิมเฟืองทำให้เธอได้รับการยกย่องมากมาย รวมถึงได้รับจดหมายแสดงความขอบคุณ 29 ฉบับจากหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นและส่วนกลาง 

ทั้งนี้ สิ่งที่ครูกิมเฟืองกล่าวอยู่เสมอคือ ครูอยากเป็นครู รักในความเป็นครู รักในตัวนักเรียน และศรัทธาในแนวทางการบริหารของรัฐบาล

5.ครูไซฟูนิซาน เช อิสมาเอล (Mr. Saifulnizan Che Ismail)
ประเทศมาเลเซีย

ร่วมกันเขียนอนาคตของพวกเรา

ครูไซฟูนิซานเกิดและเติบโตในตากัง เมืองโกตาบารู เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐกลันตันในมาเลเซีย ครูได้ศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนในรัฐกลันตัน และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์-ไอทีจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมาเลเซียในรัฐยะโฮร์ ก่อนเรียนต่อปริญญาโทสาขาคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน

หลังจากสำเร็จการศึกษา ครูไซฟูนิซานทำงานเป็นพนักงานขายให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง ก่อนที่วันหนึ่งเจ้าตัวจะตระหนักว่างานของตนกลายเป็นกิจวัตรที่น่าเบื่อและไร้ชีวิตชีวา ครูไซฟูนิซานจึงสมัครเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านการศึกษาเพื่อรับใบรับรองการเป็นครู และเริ่มต้นเส้นทางสายอาชีพครูอย่างจริงจังในปี ค.ศ. 2012 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในตากัง (Takang) บ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง

ที่โรงเรียนแห่งนี้ ครูไซฟูนิซานได้สร้างการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมโรงเรียน ด้วยการเปลี่ยนห้องเรียนหนังสือให้เป็นห้องเรียนไอที ซึ่งรวมถึงการลงทุนซื้อคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปให้นักเรียนใช้ในห้องเรียน พร้อมดูแลให้นักเรียนของตนเองมีความรอบรู้ครบครันด้านไอที ยิ่งไปกว่านั้น ครูไซฟูนิซานยังใช้เงินของตัวเองเพื่อสร้าง “ศูนย์กลางนักสร้างดิจิทัล” หรือ “Digital Maker Hub” สำหรับนักเรียน โดยเปลี่ยนห้องเรียนปกติให้กลายเป็นเวทีการเรียนรู้ STEM และหุ่นยนต์

เมื่อถามว่าทำไมครูไซฟูนิซานถึงได้ลงทุนและมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งดังกล่าว ครูไซฟูนิซานตอบชัดด้วยความแน่วแน่ว่า ถ้าไม่ทำ เด็กนักเรียนของตนจะไม่สามารถแข่งขันกับนักเรียนคนอื่นในโรงเรียนอื่นได้อย่างทัดเทียม

นอกจากนี้ การสอนคือความสุขของครูไซฟูนิซาน โดยครูกล่าวว่าชอบสอนและสนุกกับการสอนมาก อีกทั้ง ผลตอบรับที่ตนเองได้รับจากนักเรียนทำให้มีกำลังใจและพลังที่จะทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น ครูไซฟูนิซาน กล่าวว่า ปรัชญาในการสอนของตนก็คือ ครูต้องไม่เพียงแต่ให้ความรู้เท่านั้น แต่ยังต้องชี้แนะนักเรียนให้มีทักษะสำหรับอนาคตด้วย

ขณะเดียวกัน ครูไซฟูนิซานมักจะคิดถึงแนวคิดใหม่ๆ และวิธีการสอนใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้คณิตศาสตร์ด้วยวิธีที่ง่ายและสนุกสนาน เทคนิคการสอนของเขาคือ FIDS ซึ่งย่อมาจาก F = Field หรือสังเกตกระบวนการ, I = จินตนาการ, D = หารือ และ S = แบ่งปัน โดยครูไซฟูนิซานยอมรับว่าตนเองชอบแบ่งปันและสร้างแรงบันดาลใจให้กับบรรดานักเรียนและครู

ยิ่งไปกว่านั้น ครูไซฟูนิซานเริ่มต้นนวัตกรรมด้วยการใช้คณิตศาสตร์เพื่อค้นหาวิธีแก้ปัญหาในปี ค.ศ. 2017 เพื่อเป็นโค้ชให้นักเรียนแข่งขันในโครงการด้านความยั่งยืนที่ iCan Global Children Summit และนักเรียนของครูได้รับรางวัลจากโครงการสวนสมุนไพร Safety Earth

เมื่อถามถึงผลงานของครูไซฟูนิซาน เจ้าตัวบอกว่าตนเองต้องการพัฒนานวัตกรรมทุกปี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในชีวิตนักเรียนของตนเอง ก่อนกล่าวปิดท้ายอย่างร่าเริงว่า ตนรู้สึกพึงพอใจและอิ่มเอมใจอย่างยิ่งเมื่อเห็นนักเรียนมีความสุข

6.ครูดอ อาย ซู หวิ่น (Daw Aye Su Win)
สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

บ่มเพาะปลูกฝังด้วยความเอาใจใส่
นำพานักเรียนสู่ความสำเร็จในชีวิต

ดอ อาย ซู หวิ่น เกิดในแคว้นอิระวดีในปี ค.ศ. 1985 โดยภายหลังสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัย Pathein เจ้าตัวได้เริ่มอาชีพครูในฐานะครูรุ่นน้องที่สอนคอมพิวเตอร์และมัลติมีเดียที่ โรงเรียนระดับมัธยม No. 2 Basic Education High School ใน Hlaing Tharyar เมื่อปี ค.ศ. 2008

ทั้งนี้ เส้นทางการสอนของครู ดอ อาย ซู หวิ่น เริ่มต้นขึ้นด้วยความต้องการช่วยเหลือนักเรียนที่อ่อนแอในภาษาอังกฤษ โดยครูมีความหลงใหลในการสอนและการเรียนรู้ภาษา ซึ่งในระหว่างทำงานเต็มเวลาที่ No. 2 Basic Education High School ใน Hlaing Tharyar ครูยังคงเดินหน้าพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่องด้วยการสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้งในหลักสูตรประกาศนียบัตรขั้นสูงกว่าปริญญาตรี ในสาขาศิลปะมัลติมีเดีย (การศึกษา) พ่วงด้วยหลักสูตรประกาศนียบัตรภาษาอังกฤษทั่วโลก ประกาศนียบัตรการสอนภาษาอังกฤษ ระเบียบวิธี และหลักสูตรปริญญาตรีสาขาภาษาอังกฤษ

ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาหลายปี ปัจจุบัน ครู ดอ อาย ซู หวิ่น รับหน้าที่ครูอาวุโส สอนวิชาภาษาอังกฤษและทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์โรงเรียน เธอสนุกกับการประยุกต์ใช้ห้องสมุด สุขอนามัยโรงเรียน และโครงการเกษตรกรรมของโรงเรียนมาผสานหลอมรวมกับนักเรียนของตนเอง

ทั้งนี้ เป้าหมายของครู ดอ อาย ซู หวิ่น คือการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยมสำหรับนักเรียนของตนเอง โดยครูได้ตกแต่งห้องสมุดด้วยภาพวาดฝาผนังสีสันสดใสเพื่อดึงดูดนักเรียนให้มาห้องสมุด เดินหน้าพัฒนากิจกรรมของโรงเรียนเพื่อช่วยให้นักเรียนอ่านหนังสือ ใช้หนังสือในห้องสมุดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนเรียนรู้และฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษของตนเอง

ครู ดอ อาย ซู หวิ่น กล่าวว่า การนำนักเรียนเข้าห้องสมุดช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ โดยครูจะใช้เวลาอยู่ในห้องสมุดเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้และฝึกฝนภาษาอังกฤษโดยใช้การ์ตูนและหนังสือนิทาน นอกจากนี้ ครูยังช่วยให้นักเรียนพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ทักษะการฟังผ่านวิดีโอ YouTube และทักษะการเขียนโดยช่วยให้พวกเขาพัฒนาแนวคิดและถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูด

ยิ่งไปกว่านั้น ครู ดอ อาย ซู หวิ่น ยังสอนให้นักเรียนปลูกผักและผลไม้ตามฤดูกาลเพื่อให้สามารถกินอาหารเพื่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี อีกทั้งครูยังดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาพในโรงเรียน เช่น การวัดน้ำหนักและส่วนสูงเพื่อตรวจสุขภาพของนักเรียน การให้ยาต้านปรสิตและอาหารเสริมธาตุเหล็ก และการสอนนักเรียนเกี่ยวกับสุขอนามัยส่วนบุคคล

ต่อมาในปี ค.ศ. 2017 ครู ดอ อาย ซู หวิ่น ยังทำหน้าที่ติวเข้มสอนนักเรียนเพื่อให้เด็กของเธอได้มีโอกาสเข้าร่วมค่ายอาเซียนไซเบอร์คิดส์ ( ASEAN Cyber Kids Camp) ซึ่งนักเรียนของครู ได้รับรางวัลที่ 3 จากการใช้โปรแกรมสแครช (Scratch)

ทั้งนี้ นอกเหนือจากงานของประจำแล้ว  ครู ดอ อาย ซู หวิ่น ยังสอนบทเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์หลังเลิกเรียนและวันหยุดสุดสัปดาห์ ควบคู่ไปกับการบริจาคเงินจากการสอนออนไลน์เพื่อซื้อหนังสือให้กับนักเรียนที่ยากจน ด้วยเชื่อมั่นว่า “ห้องสมุดคือสถานที่สร้างแรงบันดาลใจสำหรับนักเรียนของฉัน”

7.ครูเจอร์วิน วาเลนเซีย (Mr. Jerwin Valencia)
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

สอนเยาวชนให้เต็มศักยภาพ
เปี่ยมด้วยคุณธรรมรับใช้เพื่อนมนุษย์

ปัจจุบัน ครูเจอร์วิน รับหน้าที่เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนมัธยม Dingras National High School ในจังหวัด Dingras แคว้น Illocos Norte โดยเจ้าตัวสอนในระดับมัธยมศึกษาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 หลังสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการศึกษาครูแห่งมหาวิทยาลัย Mariano Marcos State ระดับปริญญาตรีสาขามัธยมศึกษา เอกวิชาคณิตศาสตร์

ทั้งนี้ ครูเจอร์วิน คือครูที่เปี่ยมด้วยพลังความกระตือรือร้นและเป็นนักปฎิบัติที่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ โดยเจ้าตัวได้ริเริ่มโครงการมากมายเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนและชุมชน รวมถึงทำให้การเรียนคณิตศาสตร์ในชั้นเรียนเป็นเรื่องสนุก ด้วยการบูรณาการคณิตศาสตร์เข้ากับกิจกรรมในบ้านของนักเรียนผ่าน โครงการ “Math” ซึ่งเป็นโครงการที่เชื่อมโยงคณิตศาสตร์เข้ากับชีวิตประจำวันของนักเรียน ซึ่งตัวโครงการได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับนักเรียน ทำให้พวกเขาสนุกกับการเรียนคณิตศาสตร์และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว

ขณะเดียวกัน เพื่อที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนตั้งใจเรียนครูเจอร์วินจึงได้พัฒนาโครงการชื่อ “ของขวัญแห่งความรัก” หรือ “Gift of Love” ซึ่งครูจะแจกจ่ายอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้เป็นของขวัญให้กับนักเรียนเพื่อเป็นแรงจูงใจให้พวกเขามีส่วนร่วมในเส้นทางการเรียนรู้อย่างแข็งขันมากขึ้น

นอกจากนี้ ในวันเกิดครบรอบ 29 ปีของครูในปี ค.ศ. 2020 ครูเจอร์วินเขาได้พัฒนาโครงการบ้านจัดสรร Gbalaygi เพื่อเป็นของขวัญวันเกิดให้กับตัวเอง โดยครูได้ระดมทุนสำหรับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อสร้างสถานที่ปลอดภัยสำหรับผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้ประสบอัคคีภัย  และเป็นผู้นำเยาวชนใน Illocos Norte ช่วยเหลือครอบครัวที่ไม่มีเงินจ่ายค่าก่อสร้างบ้าน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศรัทธาและจิตวิญญาณในชุมชน

ขณะเดียวกัน ด้วยครูมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องอาหารในชุมชน ครูเจอร์วินจึงได้ริเริ่มก่อตั้งโครงการ “จากสวนหลังบ้านถึงห้องครัว” หรือ “Back Yard to Kitchen” เพื่อช่วยให้ครอบครัวต่างๆ เพาะปลูกสวนสำหรับใช้บริโภคในครัวเรือนของตนเอง ซึ่งภายใต้โครงการดังกล่าว ได้มีการแจกกล้าไม้จำนวนหนึ่งพันต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ครูเจอร์วิน ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการดำเนินโครงการช่วยเหลือชุมชนอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือภัยพิบัติ การตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิตด้วยการพัฒนาความคิดเชิงบวกท่ามกลางโรคระบาด จัดทำกิจกรรมเพื่อสวัสดิการทั่วไป และการพัฒนานวัตกรรมสำหรับโรงเรียน

ทั้งนี้ ครูเจอร์วินไม่เพียงแต่กระตือรือร้นในการเป็นผู้ให้บริการชุมชนเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในฐานะผู้ส่งสารแห่งสันติภาพและผู้สนับสนุนการสร้างชุมชนปลอดสารเสพติดให้กับฟิลิปปินส์อีกด้วย โดยครูเจอร์วินระบุว่า “ความปรารถนาสูงสุดของข้าพเจ้า คือการสอนเยาวชนคนหนุ่มสาวให้เต็มศักยภาพในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น”

8.ครูชง ชิว หลวน เพนนี (Mrs. Chew Luan Penny Chong)
สาธารณรัฐสิงคโปร์

ความบกพร่องในการมองเห็น
ไม่ใช่อุปสรรคแต่เป็นความท้าทาย

ครู ชง ชิว หลวน เพนนี คือ ครูผู้ทำหน้าที่สอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นหรือ Visually Impaired (VI) โดยเจ้าตัวชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในแนวทางการศึกษาแบบเรียนรวม ซึ่งครู  ชง ชิว หลวน เพนนี ทุ่มเทเวลากว่า 15 ปีในการให้บริการที่เป็นเลิศเพื่อดูแลนักเรียนที่มีความบกพร่องในการมองเห็นในโรงเรียนมัธยม Ahmad Ibrahim (AISS) ซึ่งมีนักเรียนทั้งหมด 7 คนที่มีความบกพร่อง และต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม โดย ครูชง ชิว หลวน เพนนี จะเป็นครูที่คอยสอนและสรรหาทรัพยากรโดยเฉพาะ สำหรับทุกวิชาที่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองห็นของเธอเรียน

หน้าที่ดังกล่าว ยังรวมถึงการแปลงสื่อวิชาการทั้งหลายเป็นอักษรเบรลล์ พัฒนาสื่อเพิ่มเติม รวมถึงการริเริ่มโครงการเฉพาะกิจ เช่น การเรียนรู้เครื่องมือออนไลน์สำหรับการแต่งเพลง เพื่อช่วยนักเรียนนำไปใช้ในการสอบดนตรีในระดับ O-Level นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้นำครูพิเศษในการจัดสรรทรัพยากรสำหรับเด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นคนอื่นๆ ในการจัดหาโปรแกรมการฝึกสอนที่ดีที่สุดสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นในโรงเรียน

ทั้งนี้ ครูชง ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแบบองค์รวมของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ผ่านการดำเนินโครงการริเริ่มต่างๆ ตัวอย่างเช่น ครูชงได้ริเริ่มความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับวิทยาลัย Alice และ Peter Tan ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติ (National University of Singapore) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 เพื่อเสริมสร้างแนวทาง 2 ระดับของโรงเรียนสำหรับโปรแกรมของผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น โดยที่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นจะได้เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อให้มีอิสระมากขึ้น รวมทั้งนักเรียนยังได้เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือและดูแลผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นด้วยกันเอง

นอกจากนี้ ในขณะที่ทำงานเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการของนักเรียน ครูชงยังตระหนักถึงการส่งเสริมการไม่แบ่งแยกทั้งในและนอกโรงเรียนอีกด้วย ดังนั้น ครูจึงสร้างโอกาสให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นได้มีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนที่สายตาปกติ และให้พวกเขามีส่วนร่วมในกิจกรรมภายนอก โดยที่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นได้ทำงานร่วมกับพี่เลี้ยงเพื่อติดตามความสนใจ หรือแสดงความสามารถของพวกเขา

ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 ครูชงได้ประสานงานกับ Ngee Ann Polytechnic (NP) และประสานงานกับบรรดาครูผู้ช่วยหัวหน้าชั้นปีและครูแบบฟอร์ม (Assistant Year-Head and Form Teachers) เพื่อจัดการเส้นทางการเรียนรู้ Dialogue-in-the-Dark ประจำปีใน NP โดยมีเป้าหมายเพื่อมอบประสบการณ์โดยตรง ของความท้าทายที่บุคคลที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นเผชิญในชีวิตประจำวันให้คนทั่วไปเข้าใจ

ยิ่งไปกว่านั้น ครูชงยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น นอกจากนี้จากประสบการณ์อันยาวนานและความลึกซึ้งในการทำงานของเจ้าตัว ทำให้ครูชงจึงมักจะแบ่งปันความรู้ของตนเองกับเจ้าหน้าที่ในกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานใหญ่ สถาบันการศึกษาอื่นๆ และคณะกรรมการการสอบและประเมินผลของสิงคโปร์ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ซึ่งการสนทนาแบบมืออาชีพเหล่านี้ช่วยให้เกิดภราดรภาพที่เพิ่มพูนความรู้ในการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น

ขณะเดียวกัน งานของครูชงกับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ที่ AISS ได้กำหนดแนวทางของโรงเรียนในการจัดการ และทำงานกับนักเรียนที่มีความต้องการการศึกษาพิเศษ (SEN) ในวงกว้าง และในการสนับสนุนการจัดการการเข้าถึงสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องด้านต่างๆ ในการเรียนรู้และการสอบ

ทั้งนี้ ครูชงได้หยิบยกคำกล่าวของ เคนเน็ธ เจอร์นิแกน (Kenneth Jernigan) อดีตประธานสหพันธ์คนตาบอดแห่งชาติ (NFB) สิงคโปร์ เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญและความสามารถของผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น โดยประธาน NFB ระบุว่า

“ปัญหาที่แท้จริงของการตาบอดไม่ใช่การสูญเสียการมองเห็น แต่ปัญหาที่แท้จริงคือความเข้าใจผิดและขาดการศึกษาที่มีอยู่ ถ้าคนตาบอดได้รับการฝึกฝนและโอกาสที่เหมาะสม การตาบอดก็จะลดลงเหลือเพียงความไม่สะดวกทางกายอย่างหนึ่งเท่านั้น”

9.ครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข
ประเทศไทย

ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง พัฒนา แก้ปัญหาเพื่อชุมชน

ครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ปัจจุบันเป็นครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) บ้านมอโก้คี จังหวัดตาก ซึ่งเป็นโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า (ภายใต้ทุนการกุศลสมเด็จย่า) 

ครูนิวัฒน์ ถือเป็น “ครูผู้บุกเบิก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน” โดยตลอดระยะเวลา 22  ปี ที่ปฏิบัติงานบนดอย ในฐานะ ครู ศศช. (ครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา  “แม่ฟ้าหลวง”)  ครูนิวัฒน์ได้ปฏิบัติภารกิจด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทั้งการจัดการศึกษาให้กับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งประชาชนในชุมชนทุกคนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ครูจะต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เด็กวัยเรียนก็ได้รับการศึกษาการศึกษาขั้นพื้นฐานประถมศึกษาเพื่อให้มีพื้นความรู้ในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นหรือมีพื้นความรู้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใหญ่ก็จัดการศึกษาเพื่อการรู้หนังสือไทยรวมถึงการส่งเสริมการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารได้ และจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับผู้เรียนที่สนใจด้วยหลักสูตรและวิธีเรียนแบบ กศน. ตลอดจนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่องเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต พัฒนาอาชีพ พัฒนาสังคมและชุมชน รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ครูนิวัฒน์ ยังเป็นผู้บุกเบิกขอนุญาติจัดตั้ง ศศช. (ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา) ในหลายหมู่บ้าน ทำให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือ มีความรู้ สามารถศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไป และกลับมาพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง ได้ดำเนินการประสานงานขอความร่วมมือกับชาวบ้านก่อสร้างอาคารเรียน, ปี 2546 ได้ขออนุญาตจัดตั้ง ศศช.บ้านเซหนะเดอลู่ เนื่องจากมีเด็กจำนวนมากยังไม่ได้เรียน, ปี 2550 ขอจัดตั้ง ศศข.บ้านโจะเก้ปู่, ปี 2557 ขอจัดตั้ง ศศช.บ้านทีหลึคี เป็นหมู่บ้านไกลที่สุด ในอำเภอท่าสองยาง มีเด็กๆ จำนวนมาก, ปี 2562 ขอจัดตั้งห้องเรียนสาขาบ้านมอโก้ใหม่ เนื่องจากจำนวนผู้เรียนมีไม่พอเกณฑ์ที่จะขอจัดตั้ง ศศช. จึงใช้วิธีเปิดเป็นห้องเรียนสาขาของ ศศช.บ้านมอโก้คี แทน โดยครูนิวัฒน์และครูในกลุ่มหมั่นเดินทางไปสอนสลับกัน ทำให้เด็กๆ ชาวบ้านได้เรียนหนังสือจนถึงปัจจุบันนี้ และยังได้ช่วยประสานงานภาคีเครือข่ายที่ครูนิวัฒน์รู้จักขอรับการสนับสนุนงบประมาณและวัสดุก่อสร้างมาบุกเบิกก่อสร้าง ศศช. อีกหลายแห่ง เช่น ศศช.บ้านเปล้ลู่, ศศช.บ้านมึหย่อโจ, ศศช.บ้านโป๊ะพอคี, ศศช.บ้านตะโข๊ะบี้ และได้ขออนุญาตจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ได้ทั้งหมด ทำให้มีครูประจำศูนย์การเรียนและงบประมาณในการจัดการเรียนการสอนเป็นประจำทุกปี

ครูนิวัฒน์มีความคิดที่อยากจะตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยการให้ความรู้ คิดว่าการให้ความรู้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะความรู้จะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต และนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน และประเทศชาติ  โดยตลอดระยะเวลา 22 ปี ผลงานหรือการปฏิบัติตนของครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ได้แสดงถึงเป็นผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครูและเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในลูกศิษย์อย่างแท้จริง

10.ครูมา หุ่ง เหงียน (Mr. Manh Hung Nguyen)
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ครูที่ยิ่งใหญ่คือผู้สร้างแรงบันดาลใจ

เพราะการเป็นครูคือความฝันตั้งแต่วัยเยาว์ของครูเหงียน ดังนั้นหลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Hoa Binh ครูจึงไม่ลังเลที่จะเลือกเติมเต็มความฝันและเริ่มสอนที่โรงเรียนประจำชนกลุ่มน้อยประจำจังหวัด Hoa Binh จนถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2022

ทุกวันนี้ ครูเหงียนรั้งตำแหน่งรองอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนมัธยม Hoang Van Thu Gifted High School ในจังหวัด Hoa Binh ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความสามารถจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเวียดนาม

นอกจากจะรับหน้าที่บริหารจัดการโรงเรียแล้ว ครูเหงียนยังสอนวิชาภูมิศาสตร์ ซึ่งเจ้าตัวได้รับปริญญาโท ในสาขาภูมิศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Geography) ด้วยความหลงใหลในภูมิศาสตร์ ครูเหงียนได้สร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความรักในการเรียนรู้ภูมิศาสตร์ให้กับนักเรียนของตนเองด้วยการนำนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ โดยตลอดระยะเวลา 27 ปีในการสอนวิชาภูมิศาสตร์ นักเรียนของครูเหงียนได้รับรางวัลระดับจังหวัด 18 รางวัล และอีก 3 รางวัลได้รับรางวัลระดับชาติในปี ค.ศ. 2022

ทั้งนี้ ครูเหงียนไม่เพียงแต่หลงใหลในวิชาภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญและเอาใจใส่นักเรียนของตนเองอย่างเต็มที่อีกด้วย เนื่องจากนักเรียนในโรงเรียนล้วนมาจากชนกลุ่มน้อย พวกเขาจึงมักประพฤติตัวไม่เหมาะสม ด้วยตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้ครูเหงียนยิ่งใส่ใจและแสดงความรัก ความเข้าใจ และให้การสนับสนุนพวกเขาอย่างใกล้ชิด

ขณะเดียวกัน เพื่อให้สามารถช่วยเหลือนักเรียนเหล่านี้ ครูเหงียนได้ตรวจสอบเหตุผลเบื้องหลังพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพวกเขาอย่างอดทน เพราะเข้าใจดีว่านักเรียนที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมมีเหตุผลที่ฝังรากอยู่ในตัวเอง ครอบครัว เพื่อน หรือผู้อื่น พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมักเกิดจากการขาดทักษะในการแก้ปัญหาและไม่สามารถจัดการกับข้อขัดแย้งได้ เมื่อแสดงความรัก ความเข้าใจ และการสนับสนุน พวกเขาจะค่อยๆ กลายเป็นนักเรียนที่มีความประพฤติดีได้ในที่สุด

ด้วยความเชื่อมั่นดังกล่าว ครูเหงียนได้พัฒนาระบบออนไลน์เพื่อจัดการใบสมัคร-ใบลาของนักเรียนที่โรงเรียนมัธยมประจำชาติพันธุ์จังหวัด Hoa Binh ในปี ค.ศ. 2022 ซึ่งระบบออนไลน์นี้ได้รับรางวัลชมเชยใน “การประกวดนวัตกรรมด้านเทคนิคครั้งที่ 8 ในจังหวัด Hoa Binh” และได้กลายเป็นต้นแบบที่โรงเรียนทั่วทั้งจังหวัดนำไปปรับใช้  กล่าวได้ว่าทักษะและความฉลาดของครูเหงียนได้เปลี่ยนการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของนักเรียน เป็นผลให้ครูสามารถป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไปได้ เพราะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดี

ยิ่งไปกว่านั้น ในฐานะผู้บริหารโรงเรียน ครูเหงียนยังได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่สหภาพเยาวชน โดยเจ้าตัวได้ริเริ่มรูปแบบการศึกษาทักษะชีวิตสำหรับนักเรียนมัธยมปลายในโรงเรียนประจำที่เรียกว่า “30 นาทีทอง” (“30 Golden Minutes”) ซึ่งความคิดริเริ่มนี้ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการกลางของสหภาพเยาวชนคอมมิวนิสต์โฮจิมินห์ ให้เป็นหนึ่งในแบบจำลองที่ใช้กันทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ครูเหงียนยังมีความกระตือรือร้นในงานชุมชนอีกด้วย ด้วยการจัดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและกลุ่มอาสาสมัครจำนวนมากในพื้นที่ภูเขาเพื่อระดมทุนเพื่อคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ป่วยโรคร้ายแรง อีกทั้ง ครูเหงียน ยังได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรม ประเทศเวียดนาม ให้เป็นผู้ตรวจสอบร่วมกับสมาชิกของสภากรมภูมิศาสตร์ ในฐานะกรรมการตัดสินในการแข่งขันหลายรายการสำหรับนักเรียนและครูที่มีพรสวรรค์ และเป็นวิทยากรในหลักสูตรฝึกอบรมการเปลี่ยนหนังสือเรียน

ทั้งนี้ คติในการเป็นครูที่ครูเหงียนยึดถือมาตลอดก็คือคำพูดของ William A. Ward ที่ระบุว่า “ครูทั่วไปแค่คอยบอกเล่า ครูที่ดีจะอธิบาย ครูที่เหนือกว่าจะแสดงให้เห็น แต่ครูผู้ยิ่งใหญ่จะสร้างแรงบันดาลใจ”

(“The mediocre teacher tells. The good teacher explains. The superior teacher demonstrates. The great teacher inspires.” by William A. Ward)

11.ครูฟิโลมินา ดา คอสต้า (Ms. Filomena da Costa)
สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต

ทำสิ่งเล็กๆ ด้วยความรักที่ยิ่งใหญ่

ครูฟิโลมินาคือครูที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจ ปัจจุบันเจ้าตัวเป็นครูที่โรงเรียน Saint Miguel Arcanjo ในเขตเทศบาล Hatolia-Same โดยทำหน้าที่สอนวิชาภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งครูฟิโลมินาเริ่มต้นเส้นทางสายวิชาชีพครูด้วยการเป็นครูอาสาสมัคร โดยครั้งนั้น ครูฟิโลมินาเล่าว่าตนเองเริ่มเป็นครูเพราะได้รับคำแนะนำจากครูที่สอนตนเองให้ทำงานเป็นครูหารายได้เลี้ยงตัวเอง และเพื่อเก็บเงินเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ด้วยเกิดมาในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่มีแม่เลี้ยงดูตนเองมาเพียงลำพัง ครูฟิโลมินาจึงไม่ได้มีฐานะทางบ้านที่ดีนัก ทำให้เมื่อเรียนจบระดับมัธยมปลายทำให้ไม่สามารถเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ แม้ใจจะปรารถนามากแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์สนับสนุน

กระนั้น การได้รับคำแนะนำให้เป็นครูอาสาสมัคร และเริ่มต้นสอนหนังสือทำให้ครูฟิโลมินาตกหลุมรักอาชีพครูอย่างถอนตัวไม่ขึ้น และทำให้เธอเลือกเรียนเป็นครู และทำหน้าที่ครูต่อไปหลังจากที่เธอสำเร็จการศึกษาจาก Cristal University คณะครุศาสตร์ในปี ค.ศ. 2008

ขณะเดียวกัน ครูฟิโลมินาก็อธิบายถึงเหตุผลที่เธอเลือกสอนภาษาอินโดนีเซียว่า เป็นเพราะประเทศอินโดนีเซียคือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนของติมอร์-เลสเต ได้งานและเรียนต่อ

นอกจากนี้ ด้วยตระหนักถึงความยากลำบากของการเติบโตมาในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเป็นอย่างดี สิ่งนี้จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้ครูฟิโลมินายื่นมือช่วยเหลือเด็กอื่นๆ ที่ถูกทอดทิ้งและต้องการการดูแล โดยครูใช้เวลาหลังเลิกเรียนดูแลเด็กเล็กในหมู่บ้าน ด้วยการตระเวนไปตามบ้านและให้การดูแล โดยเด็กบางคนถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังเพราะพ่อแม่ไปทำงานในทุ่งนาและยากจนเกินกว่าจะดูแลพวกเขาได้ดีได้

ต่อมาในปี ค.ศ. 2020 ครูฟิโลมินาตัดสินใจกู้เงินจากธนาคารเพื่อสร้างบ้านพักสำหรับให้การดูแลเด็กยากจนและถูกทอดทิ้ง เรียกว่า “บ้านแม่ชีเทเรซา” (“Mother Teresa Home Care”) หรือ “หัวใจเดียวที่เต็มไปด้วยความรัก นักบุญเทเรซา เดอ กัลกัตตา” (“One Heart Full of Love Patron St. Teresa de Calcutta”) โดยปัจจุบันบ้านพักแห่งนี้ดูแลเด็กๆ อายุตั้งแต่ 3 – 15 ปี ซึ่งครูฟิโลมินาจะสอนที่โรงเรียนในช่วงกลางวัน และเข้ามาดูแลเด็กๆ ที่ “Mother Teresa Home Care” ในตอนเย็นและวันหยุดสุดสัปดาห์

ทั้งนี้ ความตั้งใจของครูฟิโลมินาก็คือการดูแลเด็กเหล่านี้จนโต และสามารถดูแลตัวเองได้ โดยเพื่อให้บ้านพักสามารถดำเนินไปได้จนบรรลุเป้าหมาย ครูฟิโลมินาจึงมักจะจัดกิจกรรมการกุศลเพื่อระดมทุนค่าอาหารและสิ่งของสำหรับเด็กๆ ที่ Home care center อย่างต่อเนื่อง โดยความปรารถนาของครูฟิโลมินามีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นคือการที่เด็กๆ เหล่านี้มีโอกาสดีๆ ในชีวิต เรียนรู้ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และได้สัมผัสกับโลกกว้างมากขึ้น

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ครูฟิโลมินายึดถือตลอดมาก็คือคำกล่าวของแม่ชีเทเรซาที่ระบุว่า “ทำสิ่งเล็กๆ ด้วยความรักที่ยิ่งใหญ่” (“Do small things with great love.”)