อุดม วงษ์สิงห์ : ปั้นครูรัก(ษ์)ถิ่น ต้นแบบการผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่คืนสู่บ้านเกิด

อุดม วงษ์สิงห์ : ปั้นครูรัก(ษ์)ถิ่น ต้นแบบการผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่คืนสู่บ้านเกิด

จากจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่ต้องการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลที่มีใจรักในวิชาชีพครู เพื่อจะกลับไปพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในชุมชนบ้านเกิดของตน จึงนำมาสู่โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีเป้าหมายผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่ปีละ 300 คน เพื่อไปประจำการ ณ โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลราว ๆ 1,500 แห่งทั่วประเทศ

ในปี 2567 จะเป็นปีที่นักศึกษาทุนรุ่นแรกจะได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นครูและพร้อมเข้าปฏิบัติหน้าที่ในสนามจริง ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจะสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนครูในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล และช่วยยกระดับคุณภาพของโรงเรียนเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้มากน้อยเพียงใด 

กว่าจะมาถึงวันนี้ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เล่าถึงความเป็นมาของโครงการภายใต้โจทย์ที่ท้าทาย และก้าวต่อไปของครูรัก(ษ์)ถิ่นที่จะไปให้ถึงฝั่งฝัน 

อะไรคือจุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

ก่อนเริ่มโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ถ้าเรานึกถึงสภาพปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เราจะเห็นว่าโรงเรียนเหล่านี้มีปัญหาหลักคือขาดแคลนครู ทั้ง ๆ ที่ภาพรวมของประเทศไทยไม่ได้ขาดครู เพราะคุณครูที่เข้าไปทำหน้าที่ในโรงเรียนเหล่านี้พอถึงเวลาหนึ่งก็ย้ายออกไป หรือแม้กระทั่งตอนนี้บางโรงเรียนก็ยังรอครูอยู่ ไม่มีครูไปบรรจุ จนเด็กขาดการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง

เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาสั่งสมมานาน เราจึงพยายามหาคำตอบว่า ทำอย่างไรให้มีคุณครูไปสอนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลโดยไม่ด่วนตัดสินใจย้ายออก

ความจริงประเทศไทยเรามีโครงการในลักษณะเช่นนี้อยู่หลายโครงการพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นโครงการคุรุทายาท โครงการครูคืนถิ่นหรือครูพัฒนาท้องถิ่นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หรือโครงการเพชรในตม ของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่ง กสศ. เองก็มีภารกิจที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษา เพราะฉะนั้นเราจึงมองว่าปัญหาเรื่องขาดแคลนครูเป็นโจทย์สำคัญ ซึ่งมีข้อค้นพบจากการศึกษาว่า ผลการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ช้ากว่าเด็กโรงเรียนในเมืองถึงเกือบสองปีการศึกษา แม้ว่านี่คือสภาพข้อเท็จจริงที่เรารับรู้ได้แบบตรงไปตรงมา แต่ถ้าปล่อยสถานการณ์ดังกล่าวไว้ อนาคตเด็กในชนบทจะน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

นี่คือที่มาของการคิดโครงการที่จะผลิตและพัฒนาครูไปอยู่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เมื่อเราไปสแกนข้อมูลครูในประเทศไทยที่พบว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดครู เพราะสัดส่วนครูต่อเด็ก คือ 1:17 โดยเฉลี่ยทั้งประเทศ ถือว่ามีครูเพียงพอ แต่พื้นที่ที่ครูควรจะอยู่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับจำนวนเด็กหรือโรงเรียนที่มีอยู่ อันนั้นยังไม่ลงตัว

เพราะฉะนั้นเราจึงมีแนวคิดที่จะให้คนในชุมชนที่มีศักยภาพสูงเพียงพอและมีใจรักอยากเป็นครู เข้ามาเรียนครูในระบบ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นระบบปิด ที่มีการเตรียมไว้เป็นอย่างดีพอสมควร ตั้งแต่ระบบการค้นหามหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมจะเข้าร่วมโครงการ การค้นหาเด็กที่มีใจรักอยากเป็นครู รวมถึงโรงเรียนที่มีปัญหาขาดแคลนครูและปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาของนักเรียน เพื่อที่จะเข้ามาช่วยกันผลิตครูในระบบใหม่นี้

ด้วยเหตุนี้โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจึงมีแนวคิดสำคัญของการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่จะผลิตครูในระบบปิด เพื่อให้ได้ครูและนักพัฒนากลับไปทำงานในท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเอง จึงเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นขึ้น 

สัดส่วนระหว่างครูกับนักเรียนควรมีจำนวนเท่าไรจึงจะเหมาะสม

สัดส่วนมาตรฐานคือ ครู 1 คน ควรดูแลเด็กไม่เกิน 20 คน ประเทศไทยมีครูเฉลี่ย 1 ต่อ 17 ถ้าเทียบกับบางประเทศในแถบยุโรปหรืออเมริกาที่เจริญกว่าบ้านเรามีครู 1 ต่อ 18 หรือ 1 ต่อ 19 ด้วยซ้ำ ซึ่งถือว่าสัดส่วนครูบ้านเราไม่ได้น้อยกว่ามาตรฐานเลย

บางโรงเรียนที่มีขนาดเล็กมากๆ คือมีเด็ก 10-20 คน และมีครู 3 คน ถ้าเทียบตามสัดส่วนก็ถือว่ามีครูไม่น้อย แต่ข้อเท็จจริงก็คือ โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลหลายแห่งจะมีตั้งแต่ระดับชั้น ป.1-6 หรืออาจเป็นโรงเรียนขยายโอกาสถึงชั้น ม.3 นั่นหมายความว่าครูที่มีอยู่ไม่กี่คนต้องทำหน้าที่สอนตั้งแต่ชั้น ป.1 จนถึง ม.3 ก็ต้องมีการแบ่งงานกัน เรียกว่าต้องสอนแบบคละชั้นจนค่อนข้างชุลมุนไปหมด เพราะไม่สามารถออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมได้ นี่คือปัญหาการขาดแคลนครู

ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะครูส่วนใหญ่ไปกระจุกอยู่ที่โรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ใช่ไหม

ถูกต้อง คุณครูจำนวนหนึ่งมักเลือกจะไปอยู่โรงเรียนประจำอำเภอ หรือโรงเรียนขนาดใหญ่ในตัวจังหวัด เพราะฉะนั้นการไหลออกของครูไปยังโรงเรียนขนาดใหญ่ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา จึงมีปริมาณสูงมาก ทำให้เกิดสถานการณ์โรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าดูเฉพาะโรงเรียนในสังกัด สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ประมาณ 29,000 แห่ง จะมีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 120 คน ถึง 15,000 แห่ง หรือประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์

โรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์นี้ นับวันก็ยิ่งเล็กลงไปเรื่อยๆ ยิ่งโรงเรียนไหนไม่มีครูหรือไม่มีผู้บริหารก็จะค่อย ๆ ยุบตัวลง จนกระทั่งปิดตัวลงไป เราจึงเห็นโรงเรียนร้างมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งข้อมูลสำคัญที่เราพบก็คือ ครูประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ขอย้ายกลับบ้านเกิดตัวเอง และนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งว่า หากเราไม่อยากให้เกิดปรากฏการณ์ครูย้ายโรงเรียนบ่อย ก็ต้องหาครูที่เป็นคนในท้องถิ่นมาเป็นครูอยู่ในโรงเรียนที่บ้านเกิดของเขาเอง

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กถูกยุบด้วยไหม

ในประเด็นโรงเรียนขนาดเล็กถูกยุบหรือควบรวมนั้น กสศ. มีชุดข้อมูลจากงานวิจัยของ World Bank ได้สำรวจพบว่า ประเทศไทยมีโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 15,000 แห่ง ที่มีเด็กน้อยกว่า 120 คน และยังพบว่ามีโรงเรียนอีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า Protected school คือโรงเรียนที่ยังต้องคงอยู่ไว้เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้คนในชุมชน ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กและตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และบางแห่งอาจห่างจากโรงเรียนข้างเคียงกว่า 40-50 กิโลเมตร ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,500 แห่งทั่วประเทศ 

ที่จริงแล้วโรงเรียนเหล่านี้ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของชุมชน ถ้าโรงเรียนถูกยุบไป เด็กในชุมชนจะขาดโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ เพราะแทนที่จะเดินทางไปโรงเรียนในระยะทางสัก 3-5 กิโลเมตร กลายเป็นว่าต้องเดินทางไกลถึง 20-30 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นบางครอบครัวจึงตัดสินใจไม่ให้ลูกไปโรงเรียน ให้อยู่บ้านเพื่อเป็นแรงงานช่วยเหลือครอบครัวดีกว่า

โรงเรียนเหล่านี้เป็นโรงเรียนที่ต้องดำรงรักษาไว้ เพื่อให้คนในชุมชนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ อย่างน้อย ๆ ก็ได้เข้าถึงการศึกษาภาคบังคับ ชั้น ม.3 ซึ่งเรามองเห็นว่า เมื่อโรงเรียนเหล่านี้จัดอยู่ในเกณฑ์โรงเรียนขนาดเล็ก งบประมาณที่ไปถึงก็น้อยลงไปอีก และหากมีขนาดเล็กลงมาก ๆ หรือมีเด็กไม่ถึง 40 คน แล้วถ้าผู้บริหารเกษียณ ไม่มีผู้บริหารคนใหม่ โรงเรียนก็เหมือนถูกตัดแขนตัดขาไปเรื่อย ๆ

เรายังค้นพบอีกว่า โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล 1,500 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันตก รวมถึงโรงเรียนที่อยู่ตามแนวชายแดนและตามเกาะแก่งต่าง ๆ ซึ่ง สพฐ. จะใช้คำว่าโรงเรียน Stand alone แต่นิยามของคำนี้อาจจะไปถึงโรงเรียนขนาดกลางหรือโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ สพฐ. จะต้องจัดบริการทางการศึกษาให้โรงเรียนเหล่านี้มีความเข้มแข็งในการจัดการเรียนรู้ ส่วนนิยามที่ กสศ. ใช้คำว่า Protected school จะมีความหมายว่า ต้องรักษาโรงเรียนเหล่านี้เอาไว้ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และนี่จึงเป็นโรงเรียนเป้าหมายของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

อะไรคือความแตกต่างของครูรัก(ษ์)ถิ่นกับโครงการที่หน่วยงานอื่นเคยดำเนินการมา

สำหรับโครงการที่รัฐบาลจัดทำขึ้นในด้านการผลิตและพัฒนาครู อย่างเช่นโครงการคุรุทายาทซึ่งตอนนี้จบโครงการไปแล้ว เราพบว่าโครงการคุรุทายาทเป็นโครงการที่ผลิตครูคุณภาพสูง ปัจจุบันเราจะเห็นศิษย์เก่าคุรุทายาทเป็นผู้บริหารและเป็นครูชั้นนำของประเทศหลาย ๆ ท่าน

แต่สำหรับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เราเริ่มจากการศึกษาโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าเปรียบเทียบง่าย ๆ โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นกับโครงการครูคืนถิ่นของกระทรวง อว. ความต่างประการแรกคือ การ input เด็กที่เข้ามาสู่โครงการ ครูคืนถิ่นจะมีแนวคิดสำคัญว่า อยากให้คนเก่งหรือคนที่มีใจรักอยากเป็นครู เข้ามาเป็นครูในระบบการศึกษา เพื่อที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ลูกศิษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเด็กก็จะเก่งเหมือนครูด้วยเช่นกัน 

ในขณะที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นเราไม่ได้เน้น input จากเด็กที่เก่งมาก แต่เราจะไปค้นหาเด็กจากพื้นที่ห่างไกลที่โรงเรียนนั้นตั้งอยู่ เพราะฉะนั้น input หรือตัวเด็กที่เข้าสู่โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ระดับคะแนนเฉลี่ยจะกำหนดไว้ไม่สูงเท่ากับครูคืนถิ่น 

ประการที่สอง ครูรัก(ษ์)ถิ่นเรามีการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่นอกเหนือไปจากหลักสูตรในมหาวิทยาลัย ซึ่งเราเรียกว่า Enrichment program ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ช่วยเติมเต็มศักยภาพให้เป็นครูนักพัฒนาชุมชน เนื่องจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเรา input เด็กเข้ามาตั้งแต่จบ ม.ปลาย เพื่อมาเรียนมหาวิทยาลัยหลักสูตร 4 ปี ในขณะที่ครูคืนถิ่นของ อว. เป็นโครงการที่เปิดรับเด็กที่เรียนในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว และต้องมีระดับผลการเรียนเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป

ประการที่สาม คือโรงเรียนปลายทาง เมื่อจบแล้วจะไปสอนที่ไหน ซึ่งครูรัก(ษ์)ถิ่นเราจะกำหนดโรงเรียนปลายทางไว้ตั้งแต่วันที่เด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัย หากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนโรงเรียนจริง ๆ ก็จะให้ย้ายได้เฉพาะโรงเรียนในตำบลเดียวกันจะไม่ข้ามอำเภอ จึงเป็นที่มาของคำว่า “โรงเรียนเลือกครูของตนเองได้” 

นี่คือความแตกต่างที่ชัดเจนของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น แต่เป้าหมายของโครงการก็อาจไม่แตกต่างกัน คือพยายามที่จะสร้างครูที่เก่ง มีใจรักอยากเป็นครู เพื่อเข้าไปเป็นครูอยู่ตามโรงเรียนต่าง ๆ

การดำเนินโครงการมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

เราเริ่มคิดโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2562 ถือเป็นปีแรกที่เราวิเคราะห์ข้อมูลสภาพปัญหาของระบบการศึกษาของประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นการขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้นเรียน หรือว่าครูสาขาไหนที่ควรจะต้องผลิตเพิ่ม ซึ่งในช่วงนั้นเราพบว่า ครูสาขาประถมศึกษากับปฐมวัยมีความต้องการเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ

แล้วเราก็ไปศึกษาโครงการผลิตครูที่รัฐบาลเคยทำมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่า ถ้าเราจะทดลองวิจัยเชิงปฏิบัติการในการผลิตครูเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ แก้ปัญหาของประเทศ และตรงกับเจตนารมณ์ของ กสศ. ด้วย ในฐานะที่ กสศ. เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ เพราะฉะนั้นทั้งจากสภาพปัญหาและการวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ จึงนำมาสู่แนวคิดที่ว่า เราน่าจะมีโครงการในลักษณะเชิงปฏิบัติการในการผลิตครูคุณภาพสูงให้ไปอยู่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล

ประกอบกับข้อมูลการวิจัยของ World Bank กับ สพฐ. ที่พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่อาจยุบหรือควบรวมได้มีจำนวนถึง 1,500 แห่ง ทาง กสศ. จึงออกแบบโครงการนี้ในปี 2562 เรามีแผนที่จะช่วยโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการเติมครูเข้าไปให้เพียงพอ

ทีนี้ในปี 2562 ก็มีการอนุมัติโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยคณะกรรมการบริหาร กสศ. และมีเป้าหมายว่าเราจะผลิตและพัฒนาครูจำนวน 1,500 คน แบ่งออกเป็น 5 รุ่น รุ่นละ 300 คน ด้วยการลงนามความร่วมมือทั้งกระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลอัตรากำลังครู คุรุสภา กระทรวง อว. และ กสศ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณและทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อทำงานวิชาการไปด้วยกัน

อันนี้เป็นที่มาของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นที่เราเริ่มในปี 2562 แล้วเราก็เริ่มรับนักศึกษารุ่นที่ 1 ในปี 2563 ถือว่าเป็นปีแรกที่เรารับเด็กนักศึกษาทุนเข้ามา ในช่วงเริ่มต้นเราก็ได้ทำความเข้าใจกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศที่เปิดสอนคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ จากทั้งหมดประมาณ 95-100 แห่ง แต่จะมีมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งที่เปิดในสาขาประถมศึกษากับปฐมวัย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ 

คุณสมบัติสำคัญคือ ต้องมีหอพักให้นักศึกษาโครงการของเรา 100 เปอร์เซ็นต์ ตลอด 4 ปี และต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงเรียนเป้าหมาย คือโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีอยู่ประมาณ 300 โรงเรียน เพราะฉะนั้นก็จะจับคู่กันได้พอดี เพราะแนวคิดเราคือ ไม่ต้องการให้เด็กเรียนข้ามภูมิภาค แต่ต้องการให้เรียนมหาวิทยาลัยใกล้บ้านตัวเอง เพราะฉะนั้นเมื่อเราคัดเลือกมหาวิทยาลัยและโรงเรียนปลายทางที่เด็กจะเข้าไปสอนหนังสือแล้ว เราก็เริ่มเปิดให้มหาวิทยาลัยเสนอโครงการเข้ามาว่า จะมีวิธีการผลิตและพัฒนาครูที่มีคุณภาพสูงอย่างไร มี Enrichment program ที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง และจะมีการสร้างครูที่มีลักษณะเป็นนักพัฒนาชุมชนด้วยอย่างไรบ้าง

ในปีแรกเราได้อัตราบรรจุครูจำนวน 327 อัตรา ใน 280 โรงเรียน ซึ่งก็คือนักศึกษาทุนรุ่นที่ 1 ของครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งปีนี้กำลังขึ้นชั้นปีที่ 4

การคัดเลือกนักเรียนในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มีการกำหนดคุณสมบัติอย่างไร

ในรุ่นที่ 1 เราได้ร่วมมือกับ 11 มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับนักศึกษาทุน 327 คน หรือเฉลี่ยประมาณ 30 คนต่อมหาวิทยาลัย จากนั้นมหาวิทยาลัยก็จะเข้าไปสำรวจข้อมูลโรงเรียนปลายทาง ไปค้นหานักเรียนที่อยู่ชั้น ม.6 เทอมที่ 2 คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.50 ขึ้นไป

จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองคือ หนึ่ง ต้องมีการพูดคุยกับเด็กว่าอยากเป็นครูจริงหรือไม่ สอง คัดกรองฐานะความยากจนของเด็กว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ โดยดูจากค่าเฉลี่ยของรายได้ในครัวเรือนไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน

เมื่อผ่านการคัดกรองแล้วก็จะเข้าสู่ระบบการคัดเลือกของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะออกแบบระบบการคัดเลือกต่างกัน บางแห่งก็จะมีการสัมภาษณ์เชิงลึกอีกครั้งหนึ่ง หรือมีการจัดค่ายครูรัก(ษ์)ถิ่น 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน แล้วแต่การออกแบบ 

เหล่านี้คือกระบวนการค้นหา คัดกรอง และคัดเลือก จนกว่าจะได้เด็กนักศึกษาทุน ใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน กระบวนการนี้จึงค่อนข้างละเอียด เพื่อความมั่นใจได้ว่าเด็กที่เข้าสู่โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นมีคุณสมบัติพร้อมที่จะเป็นครูในอนาคต เรามีการวิจัยควบคู่ไปด้วยว่า กระบวนการค้นหา คัดกรอง คัดเลือก มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ตอนนี้ก็คือ เด็กนักศึกษาทุนรุ่นที่ 1 ในปี 2563 จนถึงตอนนี้ยังไม่หลุดออกจากระบบเลยสักคน 

กสศ. สนับสนุนค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

นักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจะได้รับทุนการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เรามอบให้นักศึกษาโดยตรง เรียกว่าเป็นทุนค่าครองชีพเดือนละ 6,000 บาท และค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็นเทอมละ 2,000 บาท 

ส่วนที่สอง เป็นทุนการศึกษาที่ส่งตรงไปยังมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาทุนเรียนอยู่ ได้แก่ ค่าเทอม เรากำหนดไว้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคนต่อปี โดยเฉลี่ยค่าเทอมประมาณเทอมละ 15,000 บาท แต่บางมหาวิทยาลัยก็ถูกกว่านี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ต่างจังหวัด ค่าเทอมไม่ได้สูงมาก ยังอยู่ในวิสัยที่ กสศ. สนับสนุนได้ กับอีกส่วนหนึ่งคือ ค่าหอพัก เราสนับสนุนค่าหอพักให้น้อง ๆ ตลอด 12 เดือน เดือนละไม่เกิน 2,000 บาท 

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยก็จะมีโครงการเสริมทักษะและคุณลักษณะพิเศษให้แก่นักศึกษาทุน หรือเรียกว่า Enrichment program เพื่อให้เด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้เข้าไปเรียนรู้ในชุมชน มีโอกาสเข้าไปเก็บข้อมูลในโรงเรียนปลายทางที่ตนเองจะไปเป็นครูเมื่อจบการศึกษา

สรุปเรื่องทุนที่เราใช้ในโครงการนี้จะมี 2 ส่วน ก็คือค่าใช้จ่ายรายเดือนกับค่าเทอม ค่าหอพัก และส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ งบประมาณที่เราให้มหาวิทยาลัยทำโครงการเพื่อไปปรับกระบวนการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็น Enrichment program หรือว่าการไปคิดนวัตกรรมให้เด็กเป็นนวัตกรกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองให้ได้

หลักสูตรของนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นหลักสูตรเดียวกับนักศึกษาทั่วไปไหม

เป็นหลักสูตร 4 ปี เช่นเดียวกับนักศึกษาทั่วไป เพียงแต่นักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นอาจต้องมีภารกิจเพิ่ม นอกจากองค์ประกอบที่ต้องเพิ่มเข้าไปคือ Enrichment program นักศึกษาก็ควรจะต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานในชุมชนของตนเอง เพื่อเติมเต็มศักยภาพให้เป็นครูนักพัฒนาชุมชน เมื่อถึงช่วงปิดภาคเรียน นักศึกษาก็จะเข้าไปยังโรงเรียนปลายทาง เพื่อไปเป็นผู้ช่วยครู ไปสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับครูและชุมชนไปพร้อม ๆ กัน 

เรามีการเก็บข้อมูลด้วยว่า ความสุขในการเรียนของน้อง ๆ นักศึกษาเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเราพบว่าในช่วงปีแรก ๆ นักศึกษาประมาณ 1 ใน 3 จะค่อนข้างเครียด แต่พอผ่านชั้นปีที่ 2 ไปได้ก็จะเริ่มโล่งขึ้น สามารถปรับตัวได้ดีขึ้น ที่สำคัญเรายังมีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยคอยดูแล และมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไปดูแลช่วยเหลือ เพราะนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ มีฐานะที่ไม่ค่อยดีนัก บางคนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล บนเกาะแก่งบ้าง บนดอยบ้าง ฉะนั้นจึงต้องปรับพื้นฐานสังคม วิธีคิด วิธีอยู่ รวมถึงการใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อน เพราะเด็กในครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน มีโอกาสน้อยมากที่จะได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ไม่น่าจะเกิน 5-6 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นเราต้องดูแลเขาตั้งแต่วันที่เขาเริ่มเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย 

ที่สำคัญเด็กทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นต้องทำบัญชีค่าใช้จ่ายของตนเอง ต้องมีวินัยในการใช้เงิน ซึ่งเราก็หวังว่าในอนาคตเด็กทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นจะไม่เป็นครูที่มีหนี้สิน 

ทั้งหมดนี้เป็นทุนให้เปล่า โดยไม่ต้องใช้ทุนคืนใช่ไหม

ทุนโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นทุนให้เปล่าจากรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือน้อง ๆ ที่มีฐานะไม่ดีนักและอยากเป็นครู ฉะนั้นการที่เขาคิดจะทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติก็ถือเป็นความตั้งใจที่ดีอย่างหนึ่ง 

การที่เราให้เด็กทำบัญชีค่าใช้จ่ายเพื่อจะได้มีวินัยทางการเงิน เมื่อจบไปก็สามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้ ส่วนค่าเทอม ค่าที่พัก เราจ่ายตรงให้กับทางมหาวิทยาลัย

นักศึกษา มหาวิทยาลัย และโรงเรียน 3 องค์ประกอบหลักนี้ทำงานร่วมกันอย่างไรบ้าง 

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นมี 3 องค์ประกอบที่สำคัญตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงสุดทาง หนึ่ง-คือตัวนักเรียนที่สมัครเข้ามารับทุน เราจะมีกระบวนการค้นหา คัดกรอง คัดเลือก จนกระทั่งได้เด็กครบตามจำนวน ซึ่งถือเป็น input สำคัญที่เราต้องดูแลเขาจนจบการศึกษา ก่อนจะไปเป็นครูในโรงเรียนเป้าหมายไม่น้อยกว่า 6 ปี 

สอง-มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา ตามหลักการใน พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ระบุไว้ชัดเจนว่า เราจะพัฒนาสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู ฉะนั้นเราจึงคาดหวังว่ามหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จะเป็นสถาบันต้นแบบได้ เราจึงคัดเลือกมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมทั้งในด้านหลักสูตร รวมถึงความพร้อมในการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนักศึกษาในโครงการนี้ และมีระบบช่วยเหลือดูแลเด็ก 24 ชั่วโมง

สาม-โรงเรียนปลายทาง หรือโรงเรียนที่เด็กจะเข้าไปบรรจุเป็นครูหลังสำเร็จการศึกษาแล้ว ซึ่งโรงเรียนจะมีบทบาทสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมให้เด็กไปเป็นครูในแต่ละพื้นที่ ระหว่างการเรียน 4 ปี ทางโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยจะมีการส่งต่อข้อมูลแก่กัน ครูและอาจารย์จะทำงานร่วมกัน แม้ว่าโรงเรียนเหล่านี้ยังประสบปัญหาเรื่องครูย้ายออก หรือมีการเปลี่ยน ผอ. แต่เราพยายามให้โรงเรียนเหล่านี้เป็นฐานการฝึกนักศึกษาครู สุดท้ายเมื่อเขาเป็นบัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่น เขาจะอยู่ที่นั่นได้อย่างมั่นคง 

ทั้งหมดนี้ก็เป็น 3 องค์ประกอบที่เดินไปพร้อม ๆ กัน และยังมีการทำงานต่อเนื่อง ภายใต้เงื่อนไขของโครงการคือ หลังเด็กเรียนจบ 4 ปีแล้ว ต้องไปบรรจุในโรงเรียนเป้าหมายไม่น้อยกว่า 6 ปี จึงจะย้ายได้ ซึ่งเราจะทำวิจัยติดตามผลต่อเนื่องว่า หลังจากคุณได้ทำงานที่ชุมชนตัวเองแล้ว บางคนขี่จักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์ไปสอนหนังสือได้ ยังมีโอกาสที่คุณจะย้ายอีกหรือเปล่า ก็เป็นช่วง 6 ปี ที่เราจะดูแลติดตามครูรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง

ช่วง 6 ปีแรกของการบรรจุ จะมีการติดตามประเมินผลอย่างไรบ้าง

เมื่อนักศึกษาจบหลักสูตร 4 ปีตามเกณฑ์แล้ว จะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพครูให้ได้ตามมาตรฐานของคุรุสภา ซึ่งจะเป็นการวัดผลสำเร็จของโครงการนี้ด้วย จากนั้นจะบรรจุแต่งตั้งครูรุ่นใหม่เหล่านี้ไปตามโรงเรียนเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้แล้ว โดยเราจะทำวิจัยติดตามอีก 6 ปี ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 เฟส 

เฟสแรกคือช่วง 2 ปีแรก หลังเข้าบรรจุแล้ว เราจะดูว่าติดขัดปัญหาอะไรหรือไม่ หลังเจอของจริงแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นครูผู้ช่วยก็ตาม แต่ก็ต้องทำงานเต็มตัวแล้ว มีปัญหาอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือบ้าง มหาวิทยาลัยต้นทางก็จะวิ่งเข้าไปช่วย เพราะถือว่าอยู่ในพื้นที่เดียวกัน นอกจากนี้ยังมีครูพี่เลี้ยงในพื้นที่ใกล้เคียง ในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่อยู่ไม่ไกลกันนัก เราก็จะทำงานกันในลักษณะเครือข่าย โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีแรก อาจต้องมีการช่วยเหลือกันอย่างใกล้ชิด

เฟสที่ 2 คือ 4 ปีถัดมา เมื่อเปลี่ยนจากครูผู้ช่วยเป็นครูตัวจริงเสียงจริง เราจะพยายามสนับสนุนให้มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ และการพัฒนางานวิชาการ เพราะว่าคุณครูในประเทศไทยส่วนใหญ่มักจะย้ายไปอยู่โรงเรียนที่ใหญ่ขึ้น หรือบางคนก็สอบเป็นผู้บริหาร อันนี้ก็เป็นความก้าวหน้าของเส้นทางชีวิตข้าราชการครู ซึ่งการที่เราขอให้น้อง ๆ นักศึกษาอยู่ต่ออย่างน้อย 6 ปี นั่นหมายความว่า เราจะต้องดูแลเขาต่อเนื่องให้ดีพอสมควร ถ้าเขาไม่คิดย้ายไปไหน เขาจะต้องเติบโตในหน้าที่การงานเป็นข้าราชการครูในบ้านเกิดตัวเอง และสามารถยกระดับวิทยฐานะของตัวเองได้

ตอนนี้นักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 พร้อมแล้วแค่ไหนที่จะออกไปเป็นครูตัวจริง

โครงการนี้เรามีการประเมินและติดตามอยู่ตลอดเวลา เพราะถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอยู่เป็นระยะ 

ตอนนี้น้อง ๆ รุ่นที่ 1 กำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 4 ฉะนั้นจะมีการประเมินทั้งในเชิงการพัฒนาและช่วยเหลือ โดยอาจารย์มหาวิทยาลัยจะคอยให้ความคิดเห็นเป็นระยะ หรืออาจดูแลเคสบายเคสสำหรับน้อง ๆ บางคนที่มีความเสี่ยงและต้องการความช่วยเหลือ 

ส่วนต่อมาคือการประเมินจากกิจกรรมที่สำคัญ เช่น ระบบการค้นหา คัดกรอง คัดเลือก ทำให้เราได้คำตอบว่าการจะได้บุคคลเข้ามาในโครงการนี้จะมีวิธีการที่เหมาะสมอย่างไร โดยเฉพาะการรับประกันให้ได้ว่าเด็กจะเสี่ยงหลุดออกจากระบบน้อยที่สุด อย่างรุ่นที่ 1 ก็พอจะได้คำตอบแล้วว่า กระบวนการค้นหา คัดกรอง คัดเลือก ค่อนข้างมีความเหมาะสม ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญต่อข้อเสนอเชิงนโยบายในการผลิตและพัฒนาครูในอนาคต 

4 ปีที่เด็กเรียนอยู่ ถ้าเรามองรุ่นที่ 1 ก็เกือบจะครบกระบวนการแล้ว การออกแบบหลักสูตรตามมาตรฐานของมหาวิทยาลัยถือว่าดีอยู่แล้ว แต่ปี 1 เราจะเติม Enrichment program ให้เขาได้รู้จักชุมชน ปี 2 ให้เด็กคิดนวัตกรรมแก้ปัญหาชุมชน ปี 3 ให้มีความเข้มข้นทางวิชาการและออกแบบนวัตกรรมการเรียนรู้ได้ เพื่อจะเตรียมตัวเข้าสู่ปี 4 ที่ต้องมีการฝึกสอนในโรงเรียนแบบเต็มตัว 

ตอนนี้เรากำลังเตรียมตัวที่จะบรรจุนักศึกษารุ่น 1 ประมาณปี 2567 ที่จะถึงนี้ เราต้องมีกระบวนการเตรียมความพร้อมร่วมกับมหาวิทยาลัยต้นสังกัด และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นอกจากนั้นเรายังมองไปถึง 6 ปีข้างหน้า หลังจากบรรจุแล้ว เราจะติดตามข้อมูลของครูรุ่นใหม่ต่อไป เพราะเราลงทุนกับเด็กกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง ซึ่งน่าสนใจว่าเขาจะไปช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนและพัฒนาชุมชนได้ตามเป้าหมายจริงหรือไม่ อันนี้ก็เป็นโจทย์ของการวิจัยในอนาคต 

การสร้างครูรัก(ษ์)ถิ่นกับนักพัฒนาชุมชนถือเป็นภารกิจเดียวกันไหม

ความจริงแล้ว การเป็นทั้งครูและนักพัฒนาชุมชนจะต้องอยู่ในตัวครูแบบทู-อิน-วัน ถ้าลองนึกภาพคุณครูในบ้านเรา โดยเฉพาะในต่างจังหวัดจะเห็นว่า ครูเป็นทุกอย่างของชุมชน ยิ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เวลามีคนเจ็บไข้ได้ป่วยก็วิ่งมาหาครู อย่างน้อยครูก็ต้องช่วยพาไปหาหมอ เพราะคุยกับหมอรู้เรื่อง หรือแม้แต่เวลาคนในชุมชนเจอปัญหาถูกหลอกลวงก็ต้องมาปรึกษาครูก่อน อันนี้ก็เป็นภาพที่เราเห็นในปัจจุบัน 

ทีนี้นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น เวลาไปเป็นครูและนักพัฒนาชุมชนก็จะคล้าย ๆ กัน เพียงแต่การหล่อหลอมระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี กับการกลับเข้าไปสู่โรงเรียนในชุมชนบ้านเกิดของตนเอง เราพบว่าน้อง ๆ หลายคนใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเกิดตัวเองตั้งแต่อนุบาลจนถึง ม.3 ม.6 อาจยังไม่รู้จักทรัพยากรหรือภูมิปัญญาในชุมชนของตัวเอง ฉะนั้นช่วง 4 ปีในมหาวิทยาลัย จะเป็นการฝึกฝนหลักคิดในการกลับไปสำรวจชุมชนท้องถิ่นของตัวเองว่าจะเอามาใช้ประโยชน์อย่างไร หรือมีเป้าหมายอย่างไร และสุดท้ายต้องกลับไปสอนลูกศิษย์ ไปทำงานกับคนในชุมชน เพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ กันต่อไป 

ความจริงแล้วการเรียนรู้ก็คือการทำงานแบบองค์รวมในพื้นที่ชุมชน นั่นหมายความว่า การเป็นครูกับนักพัฒนาชุมชนคือสิ่งเดียวกัน 

ที่สำคัญน้อง ๆ ที่เราได้ค้นหา คัดกรอง และคัดเลือกเข้ามา เชื่อหรือไม่ว่าเด็กนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นทุกคนล้วนเป็นความหวังของชุมชน เป็นความหวังของหมู่บ้าน เพราะฉะนั้นเขาจึงเป็นคนสำคัญที่จะกลับไปช่วยพัฒนาโรงเรียนและพัฒนาชุมชนด้วย 

ก้าวต่อไปของครูรัก(ษ์)ถิ่น

กสศ. ตั้งเป้าหมายในลักษณะของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู หากประเทศไทยมีรูปแบบการผลิตครูในระบบปิดสักจำนวนหนึ่ง โดยมีสถาบันการศึกษาที่พร้อมจะทำงานในลักษณะนี้ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 18 แห่ง และน่าจะเป็นสถาบันต้นแบบได้ 

ในปี 2567-2568 จะเป็นปีที่สำคัญ หลังจากนั้นคาดว่าจะมีโรงเรียนในสังกัดอื่น ๆ นำโมเดลนี้ไปใช้ได้ ซึ่งโมเดลครูรัก(ษ์)ถิ่นน่าจะเป็นคำตอบในการผลิตและพัฒนาครูในประเทศไทย 

ในแต่ละปี สพฐ. มีการบรรจุครู 20,000 ตำแหน่ง ถ้าประเทศไทยมีการผลิตและพัฒนาครูระบบปิดตามแนวทางหรือโมเดลครูรัก(ษ์)ถิ่น อาจจะราว ๆ 25 เปอร์เซ็นต์ ในสถาบันต้นแบบ 15-20 แห่ง ซึ่งรัฐบาลอาจจะต้องมีนโยบายที่ต่อเอื้อต่อการทำงานแนวใหม่นี้และมีหน่วยงานที่เป็นอิสระพอสนับสนุนการบริหารจัดการอย่างเนื่อง เพราะเกี่ยวข้องกับการตั้งงบประมาณในการทำงานต่อไปในอนาคตด้วย 

บทบาทของครูรัก(ษ์)ถิ่น จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างไรได้บ้าง

หัวใจสำคัญของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จากการวิจัยเชิงปฏิบัติการของ กสศ. ประการแรก เราพยายามแสดงให้เห็นว่า เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือไม่มีต้นทุนชีวิตสูงมากนัก ก็สามารถเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาและจบไปเป็นครูได้ ซึ่งปัจจุบัน กสศ. สามารถช่วยเหลือเด็กในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นได้ปีละ 300 คน จากเด็กทั้งหมดนับพันนับหมื่นคนที่อยากเรียนครู แต่ยังไม่ได้รับโอกาสนี้ 

ประการที่สอง เนื่องจากภารกิจของ กสศ. ที่พยายามจัดตั้งสถาบันต้นแบบ เราไม่ได้สร้างสถาบันขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการสนับสนุนสถาบันที่มีอยู่แล้วให้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการตอบโจทย์ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาของเด็กเล็กในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลที่ยังมีช่องว่างและความแตกต่างกับโรงเรียนในเมืองค่อนข้างสูง โครงการนี้ก็จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ลงได้ 

ประการที่สาม เมื่อเด็กเหล่านี้กลับไปสอนหนังสือที่โรงเรียนปลายทางในพื้นที่ห่างไกล เราก็คาดหวังว่าโรงเรียนเหล่านี้จะมีคุณภาพการเรียนรู้ที่ดีขึ้น รวมถึงผลลัพธ์ปลายทางของเด็กนักเรียนที่สามารถมองเห็นคุณค่าในตัวเอง การมีทักษะที่ดีพร้อม การมีความรู้และเจตคติที่ดีในการใช้ชีวิต 

ทั้ง 3 องค์ประกอบนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญ คือ การให้โอกาส การยกระดับคุณภาพการผลิตครู และการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 

มีข้อแนะนำอย่างไรบ้างสำหรับนักเรียนที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการนี้

ขณะนี้โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นดำเนินงานมาจนถึงการคัดเลือกเด็กรุ่นที่ 4 จากเป้าหมายทั้งหมด 5 รุ่น รวม 1,500 คน โดยในปีการศึกษา 2567 เราจะคัดเลือกน้อง ๆ รุ่นที่ 5 จำนวน 300 คน ฉะนั้นน้อง ๆ ที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.6 หรือเทียบเท่า และมีผลการเรียนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.50 ก็มีโอกาสที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ได้ โดยสามารถติดตามประกาศหรือข่าวสารต่าง ๆ จากเว็บไซต์ กสศ. หรือประกาศจากมหาวิทยาลัยใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น 

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลสามารถนำไปขยายผลต่อได้ จากเดิมเราผลิตครูปีละ 300 คน อาจขยายเพิ่มเป็นหลักพันให้ครอบคลุมแต่ละพื้นที่มากขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งความหวังของประเทศในการมีสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู และมีการสร้างครูคุณภาพสูง ไปอยู่ในพื้นที่ที่ครูสามารถทำงานได้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าบรรจุจนถึงเกษียณอายุราชการ เพราะเป็นโรงเรียนในชุมชนบ้านเกิดของตนเอง