ศุภโชค ปิยะสันติ์ : จากใจคุรุทายาทรุ่น 1 ถึงโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้องแก้ด้วยความเข้าใจ

ศุภโชค ปิยะสันติ์ : จากใจคุรุทายาทรุ่น 1 ถึงโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้องแก้ด้วยความเข้าใจ

แทบทุกฤดูกาลเปิดเทอม เรามักเห็นข่าวการขอรับบริจาคชุดนักเรียนให้กับโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารมานานปี ภาพเด็กในชุดนักเรียนโทรมๆ กับรองเท้าขาดๆ ยืนเข้าแถวเคารพธงชาติบนดินฝุ่นสีแดง มือเล็กๆ เปรอะเปื้อนโคลนทรายผายออกมารับเครื่องแบบและของใช้จากโครงการที่ตนเองไม่รู้จัก แล้วหันกลับไปฉีกยิ้มให้กล้องถ่ายรูปขณะที่คนแปลกหน้ากำลังรัวชัตเตอร์ ก่อนจะกลับเข้าไปเรียนหนังสือในอาคารไม้สี่เหลี่ยมที่ที่หลังคารั่ว กับครูที่เป็นทั้งธุรการ นักการภารโรง แม่ครัว และยามในเวลาเดียวกัน 

ทั้งที่กาลเวลาน่าจะนำพาความเปลี่ยนแปลงและโอกาสไปหาพวกเขา แต่เรากลับเห็นภาพเหล่านี้ถูกฉายซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า คำถามที่เกิดขึ้นคือ เราควรแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างไร เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียมและถ้วนหน้ามากที่สุด 

วันนี้เราเดินทางขึ้นเหนือไปยังพื้นที่ชายขอบของประเทศไทย เพื่อพูดคุยกับอดีตนักศึกษาโครงการคุรุทายาทรุ่นแรก ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย หนึ่งในคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น และประธานชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศไทย 

ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี

อะไรคือจุดเริ่มต้นของอุดมการณ์ที่อยากเข้ามาพัฒนาโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร

แรกเริ่มเดิมทีผมเป็นคนเรียนเก่ง สอบติดวิทยาลัยครูเชียงราย และได้ทุนคุรุทายาทเป็นรุ่นแรก ช่วงนั้นจะมีการปลูกฝังอุดมการณ์อย่างเข้มข้นว่า ‘ครู’ คือความหวัง คือคนที่ต้องช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งก่อนหน้านี้ผมเติบโตในสังคมที่ไม่รับรู้ถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กระทั่งได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปทำงานในถิ่นทุรกันดาร ทำให้ผมได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่นั่น และได้เห็นว่าผู้คนเหล่านั้นกำลังประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือจริงๆ

ช่วงหนึ่งของการเป็นนักศึกษาครู ผมได้มีโอกาสเข้าไปสอนที่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ตอนนั้นเป็นฤดูฝน ผมต้องเดินเท้าเข้าไปสอน ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง กับระยะทาง 10 กิโลเมตร ถึงแม้ว่าจะเหนื่อย แต่ผมรู้ว่าเราต้องไปช่วยสอนเขา พอได้มีโอกาสใช้เวลาในพื้นที่นั้น ก็พบว่าครูคือคนที่มีความหมายสำหรับพวกเขามาก ชีวิตของพวกเขาลำบาก ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ สุขอนามัย ไกลหมอ ไกลตลาด ไกลความเจริญ ทำให้ผมรู้สึกว่าพวกเขาคือกลุ่มคนที่ประสบปัญหาจริงๆ และอยากช่วยพวกเขาให้มากกว่านี้

เล่าถึงประสบการณ์ในฐานะผู้บริหารของโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคีเป็นอย่างไรบ้าง

โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย อยู่ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงจัดตั้งและดูแลอยู่ เดิมทีโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคีจัดการเรียนการสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงที่ต้องการขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ ทำให้โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคีได้เปิดสอนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

เมื่อผมเริ่มขยับจากการเป็นครูมาเป็นผู้บริหาร ผมจึงออกแบบกระบวนการและหลักสูตรของสถานศึกษาใหม่ เริ่มเอารายวิชาบางอย่างที่คาดว่านักเรียนจบออกไปแล้วไม่ค่อยได้ใช้ออก แล้วเพิ่มรายวิชาที่เหมาะแก่พวกเขา อาทิ เรื่องการประกอบอาชีพในท้องถิ่น ทักษะการดำรงชีวิต การเป็นผู้ประกอบการที่ดี ซึ่งหลักสูตรที่เปิดสอนจะไม่ได้เน้นในรายวิชาตามหลักสูตรทั่วไป โดยจะปรับให้เข้ากับความจำเป็นและวิถีชีวิตของนักเรียนในพื้นที่นั้นๆ ก็เลยเป็นที่มาของการจัดการเรียนการสอนแบบหลักสูตรท้องถิ่น เพราะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลมุ่งเน้นให้นักเรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพได้เลย 

หนึ่งในเหตุผลที่ต้องออกแบบหลักสูตรใหม่ เพราะผมเคยลองปรับใช้ภายในห้องเรียนเล็กๆ มาก่อน แล้วพบว่ามันน่าจะปรับปรุงระบบในระดับโรงเรียนได้ ก็เลยพยายามผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน แล้วเข้าไปช่วยเซ็ตระบบการเรียนการสอนใหม่ ตอนนั้นครูไม่กี่คน เราก็ไปหาลูกศิษย์เก่าที่เป็นคนละแวกนั้นมาช่วยสอนให้ครบทุกชั้น เพื่อสร้างโอกาสให้กับเด็ก 

ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ได้ให้ทุนการศึกษาสำหรับคนที่สนใจอยากเป็นครู จะช่วยแก้ปัญหาให้กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลอย่างไรบ้าง

สมัยที่ผมได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการแรกๆ โรงเรียนที่ประจำอยู่ในขณะนั้นมีครูจำนวน 8 คน ขอย้ายออกไปบรรจุที่อื่นพร้อมกัน 6 คน ทำให้เหลือครูอยู่ที่โรงเรียนเพียง 2 คน หนึ่งในเหตุผลหลักที่บุคลากรเหล่านั้นต้องย้าย เพราะพวกเขาไม่ใช่คนในพื้นที่ แล้วการที่เด็กนักเรียนต้องเจอครูใหม่ตลอดเวลา ทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่องในการเรียนรู้ 

การที่เด็กและเยาวชนที่นั่นได้เจอครูใหม่ตลอดเวลา อาจดูเหมือนเป็นเรื่องสนุกสนาน ได้เจอครูใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ แต่ในทางกลับกันความต่อเนื่องของครูในการทำความเข้าใจชุมชน เข้าใจบริบท ก็ต้องมาตั้งต้นกันใหม่ เมื่อไม่เกิดความต่อเนื่อง การพัฒนาของเด็กแทนที่จะเดินหน้าก็เหมือนต้องถอยกลับมาใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะฉะนั้นการให้ทุนเด็กในพื้นที่ไปเรียนครู โดยมีข้อสัญญาว่าต้องกลับมาเป็นครูในพื้นที่ภูมิลำเนา จะสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องครูโยกย้ายได้ แก้ปัญหาเรื่องความไม่ต่อเนื่องทางการศึกษาของเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการที่ช่วยให้เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ของตนเอง เมื่อสำเร็จการศึกษาจึงกลับมาเป็นครูรุ่นใหม่ในชุมชนตนเอง ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กในพื้นที่ห่างไกล และช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบท อีกทั้งยังมีบทบาทในการเป็นนักพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่พื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาของตนเอง

ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี  และบุคคลากรทางการศึกษา

ปัญหาภาระงานที่ล้นมือ คุณภาพชีวิต และหนี้สินของครู จะสามารถแก้ไขอย่างไรได้บ้างเพื่อให้ครูมีสวัสดิการชีวิตที่ดีขึ้น

ผมยอมรับว่าภาระงานเอกสารของครูเยอะมากจริงๆ เพราะเอกสารเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องใช้รายงานความคืบหน้าของโรงเรียนให้กับต้นสังกัดอย่างสม่ำเสมอ เพียงแต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การรายงาน แต่อยู่ที่วิธีการจัดเก็บรายงานยังคงใช้รูปแบบเอกสารที่เป็นกระดาษ หากแก้ไขด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็อาจลดทอนเรื่องภาระการจัดเก็บเอกสารลงได้

ในส่วนของปัญหาหนี้สิน ตอนเข้าบรรจุใหม่ ผมไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการสอน และมองว่าครูขาดของใช้ที่จำเป็นในการจัดการเรียนการสอน สิ่งที่ตามมาคือการกู้ยืมเพื่อลงทุนในสิ่งที่จำเป็น อาทิ โน้ตบุ๊ก อุปกรณ์การสอน หรือแม้กระทั่งรถที่ใช้เดินทางเข้าไปสอน 

ในช่วงแรกของการเป็นครู ผมต้องคอยอาศัยติดรถคนอื่นเข้าไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมทันทีคือ ผมต้องมีมอเตอร์ไซค์ ผมต้องดาวน์มอเตอร์ไซค์จากคุรุสภา ก็เลยมองว่าการปฏิบัติงานของครูก็เป็นส่วนหนึ่งของหนี้สิน ครูไม่มีโน้ตบุ๊กเป็นเครื่องมือประจำกาย ครูไม่มีอะไรหลายอย่างที่เป็นของใช้ที่จำเป็นกับการสอน ก็ต้องหาซื้อเอง 

นักเรียน 2 คนเดินบนถนนในชนบท

จากการทำงานมาหลายปี ผมมองว่าโรงเรียนเป็นเหมือนองค์กรที่ทำงานด้วยแขนข้างเดียวมาตลอด บางครั้งต้องย้ายแขนข้างขวามาทำงานแทนแขนข้างซ้าย ครูต้องไปทำพัสดุ ไปทำธุรการ ไปทำการเงิน ไปทำอาหารกลางวันเด็ก ไปอยู่เวรยาม เมื่อพูดถึงเรื่องโครงสร้างและองค์ประกอบของโรงเรียน ไม่เคยมีใครคิดถึงเรื่องการทำงานของระบบหลังบ้าน (back office) ต่อเมื่อมาทำงานจริงจึงรู้ว่าต้องมีระบบหลังบ้านที่ดี ต้องเก็บข้อมูล ต้องคอยทำทะเบียนนักเรียน ต้องคอยดูแลเรื่องงานเอกสาร หลายโรงเรียนจึงต้องใช้ครูนี่แหละมาทำงานเหล่านั้น ซึ่งแปลว่าภาระงานครูก็เพิ่มมากขึ้น

การเรียนการสอนในห้องเรียนรัฐบาล

ระบบการศึกษาของไทยที่ทุกอย่างถูกกำหนดจากส่วนกลาง ถือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโรงเรียนชายขอบด้วยไหม

ผมคิดว่าระบบการศึกษาไทยพยายามสร้างเด็กให้ออกมาเหมือนกัน ไม่ต่างจากการผลิตเสื้อโหล ทั้งที่เด็กแต่ละคน แต่ละพื้นที่ มีโอกาสและความพร้อมที่ต่างกัน มีความถนัดและความต้องการที่ต่างกัน แต่กลับใช้มาตรฐานวัดระดับความสามารถทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนด้วยไม้บรรทัดอันเดียวกัน 

เราไม่ควรประเมินศักยภาพว่าเด็กคนไหนเก่งหรือไม่จากข้อสอบชุดเดียวกัน เพราะในขณะที่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งมีโอกาสเข้าถึงคุณภาพทางการศึกษาที่ดีกว่า แต่เด็กบางส่วนไม่มีความสามารถแม้กระทั่งเดินทางไปโรงเรียน การที่ระบบการศึกษาคาดเค้นให้เด็กทั้งสองกลุ่มมีศักยภาพเท่ากันในระดับที่ตั้งไว้ ย่อมไม่อาจสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้ ดังนั้นต้องเปลี่ยนจากการ ‘ตัดเสื้อโหล’ มาเป็นการ ‘ตัดเสื้อให้พอดีตัว’ เพื่อให้เรามีเด็กที่เติบโตมาเป็นบุคลากรที่หลากหลาย สอดรับกับความต้องการของแต่ละพื้นที่

อีกอย่างหนึ่งคือ ความที่โจทย์ของเด็กในโรงเรียนถิ่นทุรกันดารต่างออกไป เด็กที่จบออกมาต้องสามารถประกอบอาชีพในพื้นที่นั้นได้ สามารถทำงานในบริบทชุมชนของตนเองได้ ต้องไม่ใช้วิธีการแบบเสื้อโหล แต่ต้องเป็นเสื้อที่ใช้สำหรับพื้นที่นั้นๆ เด็กแต่ละคนจะงอกงามตามบริบทของตนเอง ผมว่าสิ่งนี้จะตอบสนองที่สุด เด็กคนไหนที่เป็นมะนาวก็ให้เป็นมะนาว อย่าบังคับให้มะนาวเป็นส้มโอ อย่าให้ทุกอย่างเป็นแตงโมเหมือนกันหมด กล้วยก็ให้หอมแบบกล้วย พริกก็ให้เผ็ดแบบพริก

สิ่งที่เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลต้องการจากระบบการศึกษามากที่สุดคืออะไร

เด็กต้องการรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่หรือแต่ละภูมิภาค ต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า เด็กเหล่านั้นต้องการอะไร พื้นที่นั้นขาดแคลนบุคลากรแบบไหน แล้วเราก็ผลักดันให้โรงเรียนในพื้นที่เหล่านั้นเตรียมคนให้เหมาะสมกับภูมิภาค ส่งเสริมให้โรงเรียนในแต่ละพื้นที่ออกแบบหลักสูตรตนเอง ออกแบบวิธีการจัดการของตนเอง เพื่อสร้างผู้เรียนให้เหมาะกับบริบทในพื้นที่ของตนเอง 

โรงเรียนแต่ละแห่งมีปัญหาและความต้องการที่ต่างกัน ก็ควรได้รับการแก้ไขหรือผลักดันในจุดนั้น อาทิ โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลอาจมีปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ความเป็นอยู่ เรื่องทรัพยากรของผู้เรียน ก็ต้องใช้วิธีแก้ไขแบบหนึ่ง ขณะที่โรงเรียนในเมืองก็ต้องใช้โครงสร้างหลักสูตรและวิธีการอีกแบบหนึ่ง คือการพัฒนาโรงเรียนโดยคำนึงถึงบริบทของผู้เรียน