นวัตกรรมการสอน ที่สร้าง “Independent Learner” พลิกวิกฤตภาวะการเรียนรู้ถดถอย เป็นโอกาสเพิ่มการเรียนรู้

นวัตกรรมการสอน ที่สร้าง “Independent Learner” พลิกวิกฤตภาวะการเรียนรู้ถดถอย เป็นโอกาสเพิ่มการเรียนรู้

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้การสูญเสียการเรียนรู้  หรือ Learning Loss มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเท่าทวีคูณ ส่วนการเพิ่มการเรียนรู้ หรือ Learning Gain ก็กลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยองค์การยูเนสโก องค์การยูนิเซฟ และธนาคารโลก ได้ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจว่า นับตั้งแต่มีการปิดโรงเรียนในเดือนมีนาคม 2563 เด็กนักเรียนทั่วโลกสูญเสียชั่วโมงเรียนไปมากกว่า2 ล้านล้านชั่วโมง และเด็ก ๆ มากกว่า 4 ใน 5 ประเทศมีการเรียนรู้ที่ถดถอย เพราะเด็กอย่างน้อย 1 ใน 3 คนทั่วโลกถูกตัดขาดจากการศึกษาโดยสิ้นเชิง 

และยิ่งไปว่านั้นเยาวชนประมาณ 24 ล้านคนทั่วโลกมีความเสี่ยงที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ในนั้นเป็นเด็กไทยเกือบ 2 ล้านคน ซึ่งถ้าภาวะการเรียนรู้ถดถอยมีเพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กยิ่งหนีห่างจากห้องเรียน ตัวเลขจำนวนนักเรียนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาก็จะเพิ่มขึ้นอีกมาก
“วิกฤตที่ซ้อนวิกฤต” ถูกตั้งคำถามจาก ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ภาคีสมาชิก สำนักธรรมศาสตร์และการเมืองราชบัณฑิตยสภา ว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนจะถอดออกมาเป็นนวัตกรรมสำคัญ 2 ประการ ที่จะมาเปลี่ยนแปลงให้วิกฤตนี้กลายเป็นโอกาส เปลี่ยนการสูญเสียการเรียนรู้ กลายเป็นการเพิ่มการเรียนรู้

ข้อเสนอดังกล่าวมีขึ้นในเวทีเสวนาออนไลน์หัวข้อ “นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อป้องกันการสูญเสียการเรียนรู้ (learning loss) และการเพิ่มการเรียนรู้ (learning gain)” ที่จัดขึ้นโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักธรรมศาสตร์และการเมืองราชบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 โดยศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ได้แนะแนวทางไว้อย่างน่าสนใจ

เปิด 2 แนวทาง จากการสูญเสียการเรียนรู้ สู่วิธีเพิ่มการเรียนรู้

บทเรียนที่ได้รับจากการวิเคราะห์จากการสูญเสียการเรียนรู้ และการเพิ่มการเรียนรู้ ทั้งกรณีปิดภาคเรียน และการเปลี่ยนแปลงการเรียนช่วงโควิด-19 จะเห็นว่าแนวทางการเปลี่ยนการสูญเสียการเรียนรู้ เป็นการเพิ่มการเรียนรู้ ที่สำคัญมี 2 แนวทางคือ

แนวทางแรก คือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและออนไลน์เป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างการเรียนรู้และการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ ดังนั้นแม้ว่าหลังโควิด-19 โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบเดิมที่เป็นแบบ face to face หรือ on site ได้แล้ว จะต้องมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือการเรียนแบบ online เป็นวิธีการเสริมต่อไป เพื่อพัฒนาทักษะวิธีการเรียนด้วยตนเอง ให้ผู้เรียนทุกคนได้พัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองให้เชี่ยวชาญมากขึ้นต่อไป

แนวทางที่สอง คือการใช้นวัตกรรมเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ใฝ่ฝันอยากเรียนตามเป้าหมายชีวิตที่มีคุณค่าของนักเรียนแต่ละคน ด้วยวิธีการหรือลีลาการเรียนรู้ และก้าวย่างหรือความเร็วในการเรียนรู้ ที่แตกต่างกันของนักเรียนแต่ละคน โดนใช้ digital learning platform เป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้อย่างเป็นอิสระที่เรียกว่า independent learning ซึ่งผู้เรียนสามารถริเริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเองได้

“อาจจะต้องถามนักเรียนว่าวันนี้คุณมีความอยากเรียนรู้เรื่องอะไร คุณเรียนแล้วหรือยัง ถึงแม้เรื่องนั้นจะไม่มีอยู่ในหลักสูตร ครูไม่ได้สอน แต่ทุกวันนักเรียนต้องตอบได้ว่าวันนี้อยากเรียนรู้เรื่องอะไรได้วันละหนึ่งเรื่อง และคุณได้เรียนรู้แล้วพบว่าอะไร ผมจะเรียกว่าเป็นการฝึกการสร้างลักษณะนิสัยของการใฝ่รู้ใฝ่เรียนให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียน ไม่ใช่เรียนตามที่ครูบอกหรือตามหลักสูตรกำหนดอย่างเดียว”

ศาสตร์และศิลป์การเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่ใช้ได้ตลอดชีวิต

ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์ อธิบายอีกว่า ช่วงโควิด-19 นักเรียนที่เรียนออนไลน์ได้เรียนรู้วิธีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล แอปพลิเคชัน และอินเทอร์เน็ตได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น ส่วนนักเรียนที่เรียนทางไกลแบบออฟไลน์ ก็ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นในด้านทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองที่เรียกว่าศาสตร์และศิลป์ของการเรียนรู้ด้วยตนเอง หากระบบการศึกษาสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการเรียนแบบปกติต่อไป ควบคู่กับการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ได้หาความรู้ด้วยตัวเอง ได้หาคำตอบด้วยตัวเอง จะเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างดีเยี่ยม

“และถ้าทำได้ตั้งแต่อนุบาลจนถึงม.6 เป็นเวลา 15 ปี เมื่อจบการศึกษานักเรียนต้องติดนิสัยการอยากเรียนอยากรู้ แล้วเขาอยากเรียนอะไรเขาค้นเองได้ ค้นมาแล้วไม่แน่ใจก็มาถามครูได้ เป็นการทำให้ครูได้เรียนรู้ตามเด็กไปด้วย ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยเรียนมาก่อน

ถ้าทำอย่างนี้ได้ พูดง่าย ๆ เราอาจจะเรียกว่าเป็นนวัตกรรมการสอนนักเรียนให้กลายเป็น independent learner ได้ เขาจะเรียนรู้ได้อย่างอิสระ ซึ่งจะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต ถ้ามีตรงนี้และเครื่องมือข้อที่หนึ่งด้วย เขาจะเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว”