ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สร้างโอกาสให้เด็กหลายคนมีอนาคตที่ดีขึ้น

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สร้างโอกาสให้เด็กหลายคนมีอนาคตที่ดีขึ้น

กว่า 31 ปี บนเส้นทางวิชาชีพ ครูประทิน เลี่ยนจำรูญ ได้ทุ่มเทอุทิศตนทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างโอกาส​แก่ลูกศิษย์ลูกหามากมายหลายรุ่น 

ที่สำคัญยังได้มีส่วนร่วมบุกเบิก “การเรียนรู้อาชีวศึกษาแนวใหม่ด้วยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์” สร้างเด็กสายอาชีพให้กลายเป็นนวัตกร สามารถปรับภาพลักษณ์และยกระดับการเรียนในสายอาชีวศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในสังคม

ไม่เพียงแค่งานปกติในฐานะครูผู้สอนวิชาการตลาดและเศรษฐศาสตร์ ระดับ ปวช.วิทยาลัยเทคนิคพังงาแต่ในฐานะหัวหน้าโครงการดูแลทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ครูประทินยังเอาใจใส่ดูแลชีวิตของลูกศิษย์เป็นอย่างดี

ทั้งลงพื้นที่ ออกติดตามค้นหาเด็กที่ขาดโอกาส ให้ได้กลับมาเรียนต่อเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานอย่างต่อเนื่อง

ทำให้วันนี้… “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ใน ปี 2564”ตกเป็นของครูประทินอย่างไร้ข้อกังขา    

โครงงานฐานวิทย์ฯ สร้างนวัตกร
เติมเต็มทั้ง “ความรู้ -ภาคปฏิบัติ” เพื่อยกระดับอาชีวศึกษา

ครูประทิน เลี่ยนจำรูญ ครูผู้สอนวิชาการตลาดและเศรษฐศาสตร์ ระดับ ปวช.วิทยาลัยเทคนิคพังงา และหัวหน้าโครงการดูแลทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

“เป้าหมายในชีวิตตั้งแต่เด็กคิดอย่างเดียวคืออยากเป็นครู…”ครูประทินเริ่มต้นบอกเล่าเรื่องราวความฝัน

“มีน้องๆ เคยถามว่าไม่คิดจะไปสอบเป็นผู้บริหารหรือเราก็บอกว่าไม่คิดเพราะรักอาชีพครู”

หลักการทำงานของครูประทินคือการทำงานด้วยใจ ไม่ใช่ทำงานเพราะหน้าที่ งานที่ออกมาจะเกิดความสำเร็จ รู้สึกดีใจเวลาที่ลูกศิษย์ได้ดี เวลาเขากลับมาเขาก็จะขอบคุณเราตลอดว่าครูคือแม่คนที่สอง ผู้ที่ให้โอกาส สิ่งเหล่านี้เป็นความภาคภูมิใจในความเป็นครู

กว่าจะทำให้คำว่า “อาชีวศึกษา”​ กลายเป็นที่ยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย ก่อนหน้านี้พ่อแม่ไม่ค่อยอยากให้ลูกมาเรียนอาชีวะ เพราะถูกมองว่าเป็นเด็กเรียนไม่เก่งเด็กเกเร เด็กไม่มีที่ไป แต่พอทางวิทยาลัยเริ่มทำโครงการ “โรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์” บูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เข้ากับอาชีวศึกษาเพื่อบ่มเพาะนักศึกษาให้เป็นนวัตกร ความคิดของพ่อแม่ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป

แม้จะต้องเรียนหนักขึ้นกว่าปกติแต่พอจบการศึกษา ทุกคนก็จะบอกว่าโชคดีที่ได้เรียนที่นี่ หลายคนไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยมีงานทำมีอนาคตที่ดี จนปัจจุบันมีผู้ปกครองจำนวนมากอยากให้ลูกหลานมาเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคพังงา 

จุดเด่นของการเรียนฐานวิทย์ฯ คือการเรียนรู้ที่ไม่ได้อยู่แค่ในตำราแต่เป็นการเรียนรู้แบบโครงงานฐานวิทยาศาสตร์และการทำแผนธุรกิจ เพื่อให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่

ได้ฝึกคิด ฝึกสังเกต ฝึกวิเคราะห์ ผ่านการแก้ปัญหาจากโจทย์ที่ได้รับ กลายเป็นพื้นฐานให้เรียนรู้การคิดค้น ออกแบบ สร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ๆ จากสิ่งรอบตัวและหลายคนก็ทำออกมาได้ดี เช่น เทียนหอมจากเปลือกส้มโอ ขนุนอ่อนอบน้ำผึ้ง เป็นต้น

ส่งต่อแรงบันดาลใจ ดึงลูกศิษย์ฐานวิทย์ฯ กลับมาเป็นครู

เพื่อให้กลายเป็นนวัตกร สามารถออกไปประกอบอาชีพเป็นพนักงานที่มีคุณภาพหรือสามารถเป็นเจ้าของกิจการได้นักศึกษาที่วิทยาลัยเทคนิคพังงาจะต้องเรียน 6 วัน จันทร์ -เสาร์ เลิกเรียนสองทุ่ม ทำกิจกรรมต่อจนถึงสามทุ่ม ครูจะอยู่กับเด็กตลอด และมีครูหอพักคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง มีอาจารย์มหาวิทยาลัยมาสอนเสริม ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพจิตและสุขภาพกาย และการเรียนภาษาต่างประเทศ เช่นภาษาอังกฤษ​ ภาษาจีน

“ครูที่นี่ไม่ใช่สอนเสร็จแล้วกลับบ้าน เราบอกครูตลอดว่าอย่าคิดว่าเราทำงาน ให้คิดว่าเรามาทำบุญ ทั้งการค้นหาเด็ก ช่วยเหลือเด็กให้มีโอกาสเรียนหนังสือจบไปประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่ครูจะทำงานกันตั้งแต่เช้าถึงค่ำ เสาร์อาทิตย์ก็ต้องไปหาวันหยุดกันเอง เราอยู่ดูแลกันเหมือนเป็นบ้าน เป็นครอบครัวใหญ่ เป็นเหมือนพ่อแม่ พี่น้อง ครูที่อยู่ตรงนี้ก็ต้องเข้าใจ บางคนย้ายมาบรรจุแค่สองปีก็ขอย้ายออก เราเลยพยายามดึงครูที่เป็นลูกศิษย์โครงงานฐานวิทย์ฯกลับมาเป็นครู ตอนนี้มีอยู่ 5 คนที่กลับมาเป็นครูที่วิทยาลัย”

เพราะความเป็นศิษย์เก่า ประสบการณ์ในอดีตเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาจึงกลายเป็นฐานชั้นดีเมื่อต้องมารับหน้าที่ครู        

“ลูกศิษย์ที่เคยเรียนที่นี่เขาจะเข้าใจ และนำบทเรียนที่ได้รับถ่ายทอดไปสู่น้อง เป็นเรื่องน่าภูมิใจเมื่อได้เห็นลูกศิษย์กลับมาเป็นครู ทำสิ่งที่เหมือนเราทำ แต่ละคนก็เป็นคนเก่ง เป็นเด็กยุคใหม่ ให้ทำงานอะไรก็วางแผนเสร็จสรรพ เราแทบไม่ต้องไปสอนอะไรเขาอีก ในขณะที่ครูบางคนซึ่งไม่ได้จบจากฐานวิทย์ฯ ก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นครูที่มาจากฐานวิทย์ฯ เขาก็จะเข้าใจเพราะเคยทำมาแล้ว”

หนุนรัฐบาลสร้างโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสดึงผู้ประกอบการร่วมสนับสนุนการศึกษา

ครูประทินมองว่า อยากให้รัฐบาลมีแนวคิดสนับสนุนเด็กด้อยโอกาสอย่างที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ให้โอกาสเด็ก โดยไม่ใช่แค่การให้ทุนเท่านั้นแต่ต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง เช่น การให้ทุนวิทยาลัยไปบริหารจัดการ  เพื่อดูแลเด็กให้มีคุณภาพ มีจิตสำนึกสาธารณะ และตอบแทนคืนสู่สังคม

“สำหรับเด็กบางคนที่ได้ทุนของ กสศ. ถ้าเขาไม่ได้ทุนตรงนี้ ก็ไม่สามารถแม้แต่จะไปสมัครเรียนเพื่อที่จะได้กู้เงินมาเรียน ดังนั้นรัฐบาลควรจะส่งเสริมกสศ. เพื่อทำให้สถานศึกษามีความพร้อมรับเด็กยากจนด้อยโอกาส รวมทั้งอยากให้รัฐบาลคุยกับสถานประกอบการให้เข้ามามีส่วนสนับสนุนการผลิตบุคลากร เพราะบางครั้งแม้แต่จะส่งเด็กไปฝึกงานเขาก็ยังไม่รับ ดังนั้นควรจะมีวิธีให้ผู้ประกอบการเข้ามาสนับสนุน ไม่ใช่เพียงแค่รอรับเด็กที่จะจบไปอย่างเดียว” ครูประทินกล่าว

ในพื้นที่ยังมีเด็กเก่งแต่ขาดโอกาส
ถ้าไม่มี กสศ. จะมีเด็กอีกมากไม่ได้เรียน

“การสร้างโอกาสให้กับเด็ก” คือสิ่งที่ครูประทินให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้มาทำงานร่วมกับกสศ.ครูประทิน​ต้องลงไปค้นหาเด็กยากจนด้อยโอกาสที่มีผลการเรียนดีให้ได้มารับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

ระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้ได้สร้างโอกาสให้แก่เด็กไม่น้อย โดยปีแรกมีเด็กได้ทุน 57 คน ปีที่สอง 59 คน ปีที่สาม 75 คน จากทั้งจังหวัดพังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช ชุมพร และภูเก็ต

สำหรับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของทางวิทยาลัยแบ่งออกเป็นสองระดับ คือ ปวช. ต่อเนื่อง ปวส. 5 ปี และ ปวส.เปิดสอนในสาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยทางวิทยาลัยจะประสานงานไปยังสถานประกอบการให้ยินดีรับนักศึกษาไปทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษา ซึ่งอาจจะต้องรอในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ทางวิทยาลัยเทคนิคพังงาได้เน้นสอนหลักสูตรมัลติสกิล จบไปแล้วสามารถทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้องใกล้เคียงกันกับสาขาที่เรียนได้ด้วย นอกจากนี้ ในปีหน้าทางวิทยาลัยเทคนิคพังงาจะเปิดสาขาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ร่วมกับสถานประกอบการและกรมอนามัย ที่จะสามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับนักศึกษามากขึ้น  ​

“ประเทศเรายังมีเด็กเก่งที่อยากเรียนแต่ขาดโอกาสอีกเยอะ ตอนลงพื้นที่ไปคุยกับพ่อแม่เด็กเราคุยไปร้องไห้ไปแต่เราก็ปลื้มใจ ผู้ปกครองบอกว่าถ้าเราไม่พาลูกเขาไปเรียน ลูกเขาก็จะไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องทำงานช่วยที่บ้านหาเงิน บางคนแม่เป็นมะเร็งแต่ยังต้องดูและปู่ย่าตายาย บางบ้านที่ไปเป็นแค่เพิงพัก บางคนไม่มีบ้านเลย ต้องอาศัยอยู่ยุ้งข้าว ตัวเป็นผื่นคัน บางคนแม่ไปทำงานหาเงิน ชาวบ้านแถวนั้นก็ต้องช่วยหาข้าวให้ พอเขาได้ทุนเขาก็รู้จักออมเงินส่งเงินมาให้น้องได้เรียนหนังสือด้วย ตรงนี้ต้องขอบคุณ กสศ. ถ้าไม่มีโครงการนี้ เราก็จะมีเด็กอีกมากที่ไม่ได้เรียนหนังสือ”

เมื่อถูกถามถึงความรู้สึกเมื่อได้รับ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ในปี 2564” ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่นในอาเซียนและติมอร์-เลสเต รวม 11 ประเทศ โดยทำการคัดเลือกในทุก 2 ปี คุณสมบัติที่สำคัญคือเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ เพื่อให้ลูกศิษย์เจริญก้าวหน้าสู่ความสำเร็จในชีวิต   

ครูประทินบอกว่า“รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในชีวิตของการเป็นครู รางวัลอันทรงคุณค่านี้ไม่ได้เกิดจากการทำงานของครูประทินแต่เพียงลำพัง แต่เป็นความร่วมมือของทีมงานและการสนับสนุนของผู้บริหารทุกระดับ ครูหวังว่ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจะเป็นรางวัลที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนครูทุกๆท่าน ที่กำลังมุ่งมั่นทำงานอย่างไม่ย่อท้อต่อไป”

แม้จะได้รับรางวัลนี้มาการันตีความเป็นครูที่น่ายกย่องแล้ว แต่ครูประทินก็จะยังคงทุ่มเทชีวิตเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาและมีอนาคตที่ดีเพื่อที่เขาจะได้กลับไปช่วยเหลือสังคม ครอบครัว และคนอื่นๆ ต่อไป…

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค