การพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ในสภาวะวิกฤต โดย ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี นักจิตวิทยาพัฒนาการ

การพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ในสภาวะวิกฤต โดย ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี นักจิตวิทยาพัฒนาการ

ทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Functions) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า EF นั้น เป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการตนเอง ซึ่งเป็นทักษะขั้นสูงของสมอง ที่ต้องได้รับโอกาสและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการฝึกฝนและพัฒนา 

ทักษะนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้ปกครองและครูโดยตรง เพราะเป็นผู้ที่เป็นสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดที่สุดของเด็ก อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับพวกเขาอีกด้วย ดังนั้นการทำความเข้าใจและรู้จริงเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะเหล่านี้ในเด็ก  จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคุณครูทุกท่านค่ะ 

ก่อนที่เราจะพูดถึงวิธีการส่งเสริมทักษะเหล่านี้ในรั้วโรงเรียน รวมถึงในสภาวะวิกฤตที่เด็กๆ อาจจะยังคงต้องเรียนออนไลน์กันอยู่นี้ เรามาพูดถึงรายละเอียดของทักษะ EF นี้กันก่อนนะคะว่าประกอบด้วยทักษะใดบ้าง และทำไมการพัฒนาทักษะเหล่านี้จึงสำคัญ 

ทักษะสมองส่วนหน้า (EF)  แบ่งออกเป็นทั้งหมด 9 ด้านด้วยกัน ได้แก่

  1. Working Memory (ความจำเพื่อใช้งาน) เป็นทักษะหรือความสามารถในการจดจำและดึงข้อมูลออกมาใช้ได้ในสถานการณ์ที่ต้องการ
  2. Inhibitory Control (ยั้งคิด ไตร่ตรอง) เป็นทักษะหรือความสามารถในการหยุดหรือยับยั้งตนเองทั้งในแง่ของความคิดและการแสดงออก
  3. Shifting หรือ Cognitive Flexibility (ยืดหยุ่นความคิด) เป็นทักษะพื้นฐานในการแก้ปัญหา คือการรู้จักปรับเปลี่ยนความคิด ไม่ยึดติด รู้จักพลิกแพลง
  4. Focus หรือ Attention (จดจ่อ ใส่ใจ) เป็นทักษะในการใส่ใจ จดจ่อ มีสมาธิอยู่กับกิจกรรมหรืองานที่ทำอยู่หรือได้รับมอบหมายได้ตั้งแต่ต้นจนสำเร็จลุล่วง
  5. Emotional Control (ควบคุมอารมณ์) เป็นทักษะในการรู้จักอารมณ์ตนเอง และสามารถควบคุมให้แสดงออกในระดับที่เหมาะสมได้
  6. Self – Monitoring (ติดตาม ประเมินตนเอง) เป็นทักษะในการเข้าใจและเรียนรู้ตนเองตามความเป็นจริง สามารถใช้การประเมินนี้ในการพัฒนาและปรับปรุงตนเองได้
  7. Initiating (ริเริ่มและลงมือทำ) เป็นทักษะในการริเริ่มปฏิบัติ ลงมือทำในสิ่งที่คิดหรือวางแผนไว้ ไม่เลื่อน ไม่ผัดผ่อน
  8. Planning and Organizing (วางแผน จัดระบบ ดำเนินการ) เป็นทักษะในการคิดอย่างเป็นขั้นตอน รู้จักวางแผน รู้จักการเรียงลำดับความสำคัญ ความยากง่าย ทำงานเป็นระบบได้
  9. Goal – Directed Persistence (มุ่งเป้าหมาย) เป็นทักษะที่สำคัญ เพราะเป็นการรวบรวมเอาทุกทักษะมาทำให้เกิดเป็นผลงานหรือความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคหรือปัญหา

ในแต่ละด้านต่างก็สนับสนุนการพัฒนาและเติบโตของอีกด้าน จึงจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนควบคู่กันไป และทักษะเหล่านี้ หากว่าเราพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพแล้วละก็ จะทำให้เด็กๆ ของเรามีพัฒนาการทางด้านเชาวน์ปัญญาหรือทักษะในการเรียนรู้ในรั้วโรงเรียนได้ดีขึ้นอีกด้วยค่ะ 

การพัฒนาทักษะเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ควรถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรด้วย เพราะถือเป็นการเรียนรู้ที่สร้างความยั่งยืนทางการศึกษาอย่างแท้จริงนั่นเองค่ะ

อย่างไรก็ตาม ในสภาวะวิกฤตเนื่องจากโรคระบาดและสภาวะของสังคมในขณะนี้ ทำให้การพัฒนาทักษะเหล่านี้ของเด็กๆ อาจหยุดชะงักหรือบกพร่องลงไป เนื่องจากทักษะ EF มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ ซึ่งทักษะที่ได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดและพบได้บ่อยมีดังนี้

  • การจดจ่อใส่ใจ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ซ้ำๆ เดิมๆ อาจจะทำให้เกิดความอึดอัด รวมถึงพลังงานของเด็กๆ ที่มีมากอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เมื่อถูกจำกัดด้วยพื้นที่และรูปแบบของกิจกรรม รวมไปถึงการเรียนการสอน ก็จะทำให้เกิดปัญหาทักษะด้านนี้บกพร่องได้ 
  • ด้านความคิดยืดหยุ่น เนื่องจากการอยู่ในกรอบหรือพื้นที่เดิมๆ เป็นระยะเวลานานๆ ทำให้ขาดประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่มีโอกาสได้ใช้ความคิดที่หลากหลายหรือสร้างสรรค์
  • ด้านการควบคุมอารมณ์ ปัญหานี้ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมในสภาวะนี้เช่นกัน ที่ทำให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย อึดอัด คับข้องใจ และขาดทักษะสังคมจากการไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของเด็กๆ ค่ะ

คุณครูจะช่วยเด็กๆ พัฒนาทักษะเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

1) ปรับเปลี่ยนจากการสอนแบบสื่อสารทางเดียวให้เป็นการสื่อสารสองทางมากขึ้น
เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงว่าเด็กๆ ในสภาวการณ์นี้จะขาดทักษะทางด้านการจดจ่อใส่ใจหรือการโฟกัสลงไปกว่าเดิมมาก การสื่อสารหรือการเรียนการสอนในรูปแบบที่มุ่งเน้นให้เด็กๆ สนใจหรือฟังด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนจบนั้นจึงเป็นไปได้ยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในเด็กเล็ก ดังนั้นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กๆ สามารถพัฒนาทักษะในการใส่ใจจดจ่อต่อไปได้ก็คือ การพยายามทำให้เด็กรู้สึกถึงการมีตัวตน หรือมีสติรู้คิดอยู่เป็นระยะๆ ด้วยการเรียกชื่อ ถามคำถาม หรือสร้างกิจกรรมให้เกิดการเคลื่อนไหวหรือการแสดงออกเป็นช่วงๆ ในระหว่างการเรียนการสอนค่ะ

2) แจ้งตารางเรียนหรือตารางกิจกรรมที่ชัดเจนให้ผู้เรียนทราบล่วงหน้าก่อนเสมอ
การทราบตารางกิจวัตรที่ชัดเจนล่วงหน้าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กๆ ในการฝึกฝนทักษะด้านการวางแผนจัดการ และทำให้เด็กๆ รู้จักการคิดที่เป็นระบบ โดยในช่วงสถานการณ์นี้การมีตารางที่แน่นอนและชัดเจนในรายละเอียดเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โดยหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรมีการปรับเปลี่ยนที่บ่อยหรือกะทันหันจนเกินไป นอกจากนี้ การจัดช่วงเวลาเป็นช่วงๆ หรือมีความสม่ำเสมอในแต่ละช่วงก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ดีเช่นกัน เช่น เรียนครั้งละ 50 นาที พัก 10 นาที และมีรูปแบบชัดเจนในแต่ละคาบเรียน เริ่มด้วยกิจกรรมแบบที่ 1 ก่อน แล้วจึงตามด้วยกิจกรรมแบบที่ 2 หรือมีรูปแบบที่ผู้เรียนสามารถพอจะคาดเดาได้ อย่างนี้เป็นต้นค่ะ ทั้งนี้หมายถึงลำดับก่อนหลังของกิจกรรมเท่านั้น แต่ความสร้างสรรค์และรูปแบบของกิจกรรม จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาทักษะด้านความคิดยืดหยุ่นค่ะ

3) นำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนรวมถึงการแสดงคำตอบที่หลากหลาย
ความแตกต่างหลากหลาย นอกจากจะเอื้อต่อการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคนแล้วนั้น ยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะด้านความคิดยืดหยุ่นของเด็กๆ อีกด้วยนะคะ โดยคุณครูทุกท่านอาจจะใช้การเลือกสื่อที่หลากหลาย การปรับกิจกรรมให้แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง แม้จะเป็นหัวข้อการเรียนรู้เดิม นอกจากนี้ยังรวมไปถึงวิธีการส่งงานหรือส่งการบ้านของเด็กๆ ที่อาจจะมีให้เลือกมากกว่า 1 วิธีการก็ได้เช่นกันค่ะ 

4) ไม่ลืมที่จะสร้างความสนุก
แม้การเรียนรู้จะดูเป็นเรื่องทางวิชาการ แต่ความสนุกก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทักษะทุกด้าน โดยเฉพาะทักษะด้านการบริหารจัดการอารมณ์ของตนเอง เพราะในสถานการณ์โควิดหรือช่วงวิกฤตต่างๆ นั้น สิ่งที่ได้รับผลกระทบก่อนเป็นอันดับแรกก็คือเรื่องของอารมณ์และสภาพจิตใจ เมื่อสภาพจิตใจไม่พร้อม การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ความสนุกยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและบรรยากาศโดยรวมของทั้งผู้เรียนและผู้สอนอีกด้วย หากครูผู้สอนสามารถบริหารจัดการอารมณ์ของตนเองได้ ก็จะทำให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเองไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อทุกคนในอนาคตอย่างแน่นอนค่ะ

สภาวะวิกฤตอันเกิดจากโรคระบาดนี้ เป็นสถานการณ์ที่เราทุกคนต่างได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้และการพัฒนาทักษะของผู้เรียนทุกคนก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป แม้จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ เป้าหมาย และวิธีการไปบ้าง แต่ความเป็นครู อย่างไรเสียก็คือการช่วยส่งเสริมและพัฒนาเด็กๆ ในปกครองของตนเองอย่างดีที่สุด แม้ในวันนี้อุปสรรคทางการส่งเสริมทักษะทางวิชาการและเชาวน์ปัญญาอาจจะมากสักนิด แต่เราก็สามารถใช้วิกฤตในครั้งนี้เป็นโอกาสในการพัฒนาทักษะอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กันให้กับเด็กๆ ได้ค่ะ