ยะลาเสมอภาค รู้จัก ‘ห้องเรียนฉุกเฉิน’ นำเด็กกลับเข้าเรียนได้ทุกช่วงเวลา

ยะลาเสมอภาค รู้จัก ‘ห้องเรียนฉุกเฉิน’ นำเด็กกลับเข้าเรียนได้ทุกช่วงเวลา

รุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด/กรรมการสภาการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดยะลา ผู้รับผิดชอบโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 และอยู่เบื้องหลังการช่วยเหลือดูแลเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาและกลุ่มเสี่ยงหลุดในจังหวัดยะลา 2,435 คน กล่าวว่า การพาน้องๆ ที่หลุดออกจากระบบกลางทางด้วยความไม่พร้อมด้านใดก็แล้วแต่กลับมา ก่อนอื่นต้องไม่ลืมคิดถึงประสบการณ์ หรือความกังวลกดดันที่แตกต่างจากเด็กในระบบทั่วไป ซึ่งทำให้ “การเดินไปหาเขาแล้วพูดลอยๆ ว่าจะดึงกลับมาอยู่ในโรงเรียนอีกครั้ง คือเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้”  

“เพราะความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ข้างใน คือปราการด่านแรกของการทำงานกับหัวใจที่เปราะบางเหล่านี้ เมื่อแรกปะทะ เขาอาจแสดงออกว่าไม่ได้อยากเรียน หรือไม่ต้องการความช่วยเหลืออะไรเลย แต่ก่อนจะตัดสินหรือปล่อยให้เขาหลุดมือไป เราต้องอย่าลืมว่า ก่อนมาถึงตรงนี้ พวกเขาเคยหวั่นไหว ไม่มั่นคง ไร้ที่พึ่งจนต้องหลุดออกมาแล้วครั้งหนึ่ง ฉะนั้นเขาต้องสร้างกำแพงแน่นหนาในใจ ด้วยความระแวดระวังว่าจะไม่ยอมให้ตนเองกลับไปรู้สึกผิดหวังอีก…ขั้นตอนแรกของการทำงานจึงเป็นการทำให้เขารับรู้ถึงความจริงใจ ตั้งใจ และยืนยันว่าเราจะเป็นที่พึ่งพิงในระยะยาวได้จริงๆ บนเส้นทางการศึกษาที่เขากำลังจะกลับมา

กล่าวในทางทฤษฎีเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่การค้นหาเด็กเยาวชนคนหนึ่งจนพบ แล้วพากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ที่รองปลัด อบจ.บอกว่าต้องทำให้น้องรับรู้ถึงความ ‘จริงใจ ตั้งใจ และพร้อมเป็นที่พึ่งได้ในระยะยาว’ นั้นต้องทำอย่างไร 

ชวนอ่านเรื่องราวของหนึ่งในเคสต้นแบบ

จากชายแดนใต้ ถึงสวนทุเรียนสุดฝั่งตะวันออก

“ที่ออกจากโรงเรียนไปทำงาน คิดอย่างเดียวเลยครับ อยากหาเงิน บ้านผมไม่ได้มีตังค์ ตอนนั้นคิดว่าเรียนไปก็ไม่มีใครส่ง ยังไงคงไม่จบอยู่ดี เลยตัดสินใจไม่เรียนดีกว่า”

‘น้องเต้’ อายุ 16 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นการหลุดจากรั้วโรงเรียน ก่อนออกเดินทางไปกับรถขนผลไม้จากอำเภอเมืองฯ จังหวัดยะลาไปถึงจังหวัดจันทบุรี ปักหลักทำงานโยนทุเรียน รับค่าแรงวันละ 500 บาท แลกกับเวลาครึ่งเดือนเต็มไม่มีวันหยุด ต้องโยนทุเรียนขึ้นรถลูกแล้วลูกเล่าตั้งแต่ห้าโมงเย็นถึงรุ่งเช้า บางวันมีออกไปตัดทุเรียนต่อ กว่าจะได้นอนก็ราวเที่ยง

จนหมดรอบฤดูทุเรียน เต้ก็กลับมาอยู่บ้านเดิมที่อาศัยอยู่กับย่าและน้องๆ เหลือเงินเก็บสี่พันห้า กับความรู้สึกในใจที่เคว้งคว้างหาทางไปไม่เจอ ขณะที่เพื่อนๆ พากันขึ้นชั้น ม.4 หรือศึกษาต่อในสายอาชีพไปหมดแล้ว

“กลับมาก็อยู่บ้าน มีออกไปทำงานช่วยลุงที่รู้จักกันนานๆ ครั้ง เป็นงานก่อสร้าง แบกปูน ผสมปูน ได้เงินรายชั่วโมง ไม่เยอะ แต่นึกไม่ออกเลยว่าจะไปยังไงต่อ เริ่มคิดว่าอยากเรียนให้จบ มีวุฒิ ม.3 อยากเรียนสายอาชีพ เป็นช่างไฟ ย่าก็อยากให้กลับไปเรียน แต่ยากครับ เพราะพอออกมาก็เหมือนขาดกับโรงเรียนไปเลย ตังค์ก็ไม่มี ให้กลับไปทำงานเดิมก็ไม่ไหวแล้ว  

“…เหนื่อยครับ ทำงานตั้งแต่เย็นจนหัวรุ่ง บางวันได้นอน 2-3 ชั่วโมง เงินได้มาก็เอามาใช้เรื่อยเปื่อย เก็บไม่อยู่ ดียังได้เอามาให้ย่าบ้าง” เต้เล่า อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่สะพานเชื่อมโอกาสทอดมาจนถึง เต้กลับไม่กล้าคว้าเอาไว้ ด้วยระแวงว่าถึงจะกลับไปได้ ผลสุดท้ายคงไม่พ้นภาพในอดีต

จะทลายกำแพงในใจ ก็ต้องเอา ‘หัวใจ’ แลกกัน

นัยน์ตากร้าน กร้าว แลดูโกรธเกรี้ยว ไม่ไว้ใจ หล่อหลอมขึ้นจากประสบการณ์ชีวิตอันเข้มข้นของเด็กหนุ่ม คือปฏิกิริยาสะท้อนกลับที่มณีโชติกา อัลภาชน์ Case Manager หรือผู้ดูแลรายกรณีของเต้ บรรยายถึงคุณลักษณะเมื่อแรกพบกับน้อง

“ช่วงแรกที่คุยกัน ทั้งแววตา น้ำเสียงน้องจะแข็งมาก ไม่ว่าจะพูดอะไรก็ปฏิเสธท่าเดียว คือเขาไม่อยากสื่อสารอะไรกับเราเลย พอเป็นแบบนั้น เราก็ข้ามเรื่องการชวนน้องกลับโรงเรียนไปก่อน ชวนคุยเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ประสบการณ์ทำงาน สิ่งที่เขาสนใจ สิ่งที่อยากทำ จนรู้ว่าลึกๆ แล้วน้องเองก็อยากเรียน อยากมุ่งไปสายอาชีพ อยากทำงานที่ไม่ต้องใช้ร่างกายหนักเหมือนที่เคยทำ

“จากการพูดคุยเราได้รู้ว่าน้องหลุดจากระบบ เพราะไม่มีความพร้อมเรื่องเรียนเลย ที่บ้านมีรายได้หลักแค่เบี้ยผู้สูงอายุของย่า กับสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยจากรัฐ เรียนไปถึงจุดหนึ่งน้องก็ออกมาเฉยๆ แล้วขึ้นรถขนทุเรียนไปทำงานที่จันทบุรีเพราะอยากได้เงิน แล้วด้วยความเป็นเด็กผู้ชาย ที่ไม่ชอบแสดงความรู้สึก เราต้องคุยอยู่นาน จนเขายอมแง้มสิ่งที่อยู่ในใจว่างานที่ไปทำหนักมาก เขาเหนื่อย แล้ว ทำให้พอกลับมาบ้านแล้วความคิดน้องเปลี่ยนไปเลย ตอนนี้เขารู้แล้วว่าวัยของเขายังไม่พร้อมกับงานหนักขนาดนั้น

“แต่พอน้องหลุดจากโรงเรียนมาพักหนึ่ง เขาหาทางเชื่อมต่อไม่ถูกว่าจะกลับไปยังไง คิดว่าตัวเองไม่มีโอกาสแล้ว ไม่รู้จักใคร เงินก็ไม่มี ทำให้เขาไม่เชื่อ ไม่ยอมรับว่าจะมีโอกาสอีกครั้งจริงๆ พอความคิดติดหล่มอยู่ตรงนั้น ก็กลายเป็นว่า สิ่งแรกที่เขาแสดงออกเมื่อเราชวนกลับไปเรียนคือการปฏิเสธ เพราะ ณ ขณะนั้นน้องไม่ไว้ใจใครเลย”

“ไม่ได้มาเพื่อพากลับไปเรียน แต่จะช่วยเป็นที่ปรึกษาแนะแนวทาง ว่าจะเดินต่อไปอย่างไรให้เข้าใกล้เป้าหมายที่คิดไว้”

ผู้ดูแลรายกรณีของเต้กล่าวว่า ความเชื่อใจไว้ใจนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ‘เวลา’ หากต้องแลกเปลี่ยนด้วยความ ‘จริงใจ’ ที่เมื่อผู้รับสัมผัสได้ ความแข็งกร้าวในทีแรกก็จะกลับอ่อนเบาลงได้ในทันที

“ถ้าเราคุยกับเขาถูกจุด แตะไปถึงส่วนที่น้องกังวลอ่อนไหว รู้สึกไม่มั่นคง และทำให้เชื่อว่าจะมีคนเข้ามาช่วยได้จริงๆ ไม่นานเขาก็จะเปิดใจ นั่นเพราะเราแสดงความเป็นห่วงเป็นใยก่อนยื่นข้อเสนอเรื่องกลับไปเรียน เพื่อยืนยันว่า ไม่ว่าน้องตัดสินใจอย่างไร เราก็พร้อมเป็นที่ปรึกษา เป็นกองสนับสนุน แนะแนวในทุกเรื่องทุกทางที่น้องอยากไป เพื่อให้ไปถึงสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้

“ทีนี้พอน้องเข้าใจสถานการณ์ตัวเองว่าเพิ่งหลุดมาไม่นาน สามารถกลับไปเรียน ม.3 ให้จบได้ น้องเต้จึงยอมรับข้อเสนอของโครงการ”

โรงเรียนเดิมพร้อมรองรับ จัดโปรแกรมช่วยปลดล็อกวิชาที่ค้าง เป้าหมายคือวุฒิ ม.3 เพื่อมุ่งสู่สายวิชาชีพ

ไม่นานหลังตอบตกลง น้องเต้จึงได้กลับเข้าเรียนชั้น ม.3 ในเทอม 2 ของปีการศึกษา 2564 ที่โรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านมลายูบางกอก) ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกับที่หลุดจากระบบไปเมื่อปีก่อน ทั้งเข้าเรียนออนไลน์ตามโปรแกรมปกติ ร่วมกับทำกิจกรรมและเรียนเสริมเพื่อสะสางเนื้อหาวิชาที่เรียนผ่านไปแล้วในเทอมแรก

รุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข รองปลัด อบจ.ยะลา กล่าวว่า เมื่อได้รับการติดต่อจาก อบจ. ทางโรงเรียนตอบรับน้องเต้ทันที เพราะเห็นว่าน้องเพิ่งหลุดไปไม่นาน และมีความตั้งใจที่จะกลับมาเรียนอีกครั้ง

จากนั้นจึงประชุมบุคลากรครู เพื่อออกแบบหลักสูตรให้เก็บหน่วยกิตค้างและเรียนต่อเนื่องไปด้วย โดยแผนงานที่เกิดขึ้นเป็นไปตามแนวทางโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดยะลา ที่นำเอาโมเดลห้องเรียนฉุกเฉิน (Emergency Classroom) มาใช้ เพื่อนำเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษากลับเข้าเรียน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19

เป้าหมายของน้องเต้คือ เรียนให้ได้วุฒิ ม.3 ภายในปีการศึกษา 2564 หรือ 2565 ที่กำลังจะมาถึง จากนั้นทางโครงการจะวางแนวทางสนับสนุนให้น้องได้เรียนต่อในสายอาชีพอย่างที่ตั้งใจ โดยในระหว่างทางจะมีผู้ดูแลรายกรณี คอยติดตาม เป็นที่ปรึกษา ให้ความช่วยเหลือในเรื่องอุปกรณ์การเรียน การแนะแนว และคุณภาพชีวิตรอบด้าน

รองปลัด อบจ.ยะลา กล่าวสรุปว่า การสื่อสารกับน้องๆ ด้วยความเข้าใจ คือส่วนสำคัญที่สุดก่อนจะไปถึงระบบการทำงานของห้องเรียนฉุกเฉิน และจะเป็นหลักประกันหนึ่งที่ช่วยยืนยันได้ว่าน้องๆ ที่กลับเข้าสู่โรงเรียน จะไปต่อได้จนถึงปลายทาง

“เราต้องเข้าใจส่วนที่เปราะบางของเขา เพราะถ้าแง้มหัวใจเขาออกมาไม่ได้ ต่อให้เราเจอเขาแล้วก็ใช่ว่าเด็กจะยอมกลับมาเรียน หรือถึงเข้าเรียนแล้วก็อาจไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง“คือเราต้องคุยและอธิบายให้เขาเห็นภาพกว้าง ว่าชีวิตเขากำลังอยู่ตรงไหน แล้วค้นความต้องการของตัวเองให้พบ ซึ่งเราจะช่วยเติมภาพอนาคตให้ว่ามีทางเป็นไปได้อย่างไรบ้าง แล้วเราจะช่วยอะไรได้ เมื่อนั้นเขาจะอ่อนลง รับฟัง และอุ่นใจว่าหลังจากนี้ไม่ว่าสำเร็จหรือล้มเหลว เราจะไม่มีทางปล่อยเขาไปอีก”