คุยเรื่องทิศทางการศึกษาปี 65 กับ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

คุยเรื่องทิศทางการศึกษาปี 65 กับ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

ในปี 2565 นี้ การฟื้นฟูความรู้ถดถอย และการใส่ใจสุขภาพจิตใจของนักเรียนหลังสถานการณ์โรคระบาด ดูจะเป็นประเด็นสำคัญลำดับต้นๆ ที่แวดวงการศึกษาไทยและทั่วโลกต้องรับมือ นอกจากนี้ แนวโน้มของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่อาจถ่างกว้างมากขึ้น กลุ่มที่สามารถปรับตัวกับรูปแบบการศึกษายุคหลังโควิด-19 ได้ทันและมีศักยภาพพร้อมจะเติบโตได้เร็ว ขณะที่เด็กกลุ่มเปราะบางและผู้เข้าไม่ถึงทรัพยากรอาจจะเสี่ยงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 

ด้านล่างนี้คือมุมมองและข้อสังเกตจากอาจารย์ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ที่ช่วยเผยถึงเทรนด์และทิศทางการศึกษาโลกที่ไทยต้องเตรียมตัวรับมือ และถือเป็นโจทย์สำคัญที่ภาครัฐต้องไม่ละเลย 

ทิศทางการศึกษาโลก 2565

คิดว่า ปี 2565 น่าจะยังคงเป็นสถานการณ์ที่ต่อเนื่องมาจากปี 2564 จากที่ตอนแรกเราคิดกันว่าสถานการณ์โควิด-19 น่าจะดีขึ้น เพราะเด็ก ครู และผู้ปกครองได้ฉีดวัคซีนมากขึ้น แต่ต้นปีเมื่อมีโอมิครอนเข้ามา สถานการณ์จึงกลับไปคล้ายเก่า จำนวนผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะเด็กยังมีสูง สถานศึกษาทั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัยยังต้องปิดตัวลงเป็นส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายว่าจะมีวิธีการแก้ปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน เราได้ข้อสรุปจากปีที่ผ่านมาพบว่าการเรียนแบบออนไลน์ หรือ Remote Learning ไม่ว่าจะในอเมริกา ยุโรป หรือแม้แต่ไทยเอง พบว่าต่างเจอปัญหาเหมือนกันทั่วโลก กล่าวคือ เด็กและเยาวชนต้องเผชิญปัญหาความรู้ถดถอย (Learning Loss) หรือบ้างก็ใช้คำว่า Unfinished Learning คือการเรียนที่ค้างๆ คาๆ ยังไม่สิ้นสุด โดยเด็กที่จะได้รับผลกระทบสูงสุดในทุกประเทศ คือเด็กที่มีความยากจน กลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ชนกลุ่มน้อย และในแง่ช่วงชั้นอายุ ยิ่งเด็กกลุ่มอายุน้อยเพียงไร เช่น เด็กอนุบาลและเด็กประถม ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบจากการที่ต้องเรียนทางไกลมากกว่ากลุ่มนักเรียนที่วัยโตกว่า

นอกจากเรื่องผลการเรียนแล้ว ยังมีเรื่องของปัญหาทางอารณ์-สังคม ( Social-Emotion) ที่เป็นผลกระทบของการต้องเรียนทางไกล การต้องอยู่หน้าจอมากเกินไป รวมถึงปัญหาทางอารมณ์ พฤติกรรมต่างๆ ในกลุ่มวัยรุ่น จะพบภาวะกังวล ความเครียด รวมถึงภาวะอารมณ์ดิ่งที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งสถิติในปีที่ผ่านมาสะท้อนไปทางนั้น ว่าช่วงปีที่ผ่านมามีสถิติของวัยรุ่นอเมริกันที่ต้องเข้ารับการรักษาอาการกังวล ซึมเศร้า มีความเสี่ยงกับการฆ่าตัวตายที่สูงมาก ญี่ปุ่นมีสถิติของนักเรียนฆ่าตัวตายหลังโควิด-19 สูงที่สุดในรอบ 20 ปี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนแบบ Remote Learning ส่งผลต่อสุขภาพจิต สุขภาพกาย การพัฒนาทางสติปัญญาของเด็กอย่างรุนแรง 

กรณีประเทศไทย ต้องยอมรับว่าเรายังไม่มีสถิติในภาพรวมในเรื่องของผลจาก Learning Loss หรือผลกระทบทางจิตใจเท่าไหร่ มีงานวิจัยในกลุ่มปฐมวัย ซึ่งชี้ว่าการที่ศูนย์เด็กเล็กต้องปิดเป็นเวลา 4 เดือน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสติปัญญา ความจำอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในกลุ่มประถมและมัธยมเรายังไม่มีข้อมูลสะท้อนในภาพใหญ่ แต่ก็น่าจะอนุมานได้จากสถิติของประเทศอื่นๆ ว่าคงจะส่งผลกระทบรุนแรงเช่นกัน ข้อมูลเบื้องต้นที่พอเห็นได้คือ มีเด็กไทยที่หลุดออกนอกระบบการศึกษามากกว่า 230,000 คน 

ปี 65 นี้ ถ้าการศึกษาไทยยังต้องเจอสถานการณ์เดิมๆ เช่น 1-2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การศึกษาคงจะแย่ลง ยกเว้นเราจะรับมือการระบาดรอบใหม่ได้ดีขึ้น ตอนนี้ในต่างประเทศ หลายประเทศใช้หลักการอยู่ร่วมกับโควิด โดยเขามองว่า สายพันธุ์โอมิครอนถึงจะระบาดเร็วและง่าย แต่อาจไม่ได้ส่งผลรุนแรงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า ดังนั้นเขาจึงอนุญาตให้เปิดโรงเรียน แต่ต้องสร้างความมั่นใจ ต้องตรวจ Antigen Test (ATK) สม่ำเสมอ หรือฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงทั้งครูและเด็ก เมื่ออยู่ในโรงเรียนต้องใส่หน้ากาก และหากในชั้นเรียนมีคนติดโควิด จะใช้ระบบ Test to Stay ถ้าเด็กอยู่ในห้องที่มีเพื่อนติด แต่หากนักเรียนไม่ได้มีผล Positive เขาก็ยังสามารถเรียนในชั้นเรียนได้อยู่ ไม่จำเป็นต้องยกเลิกการเรียนไปทั้งหมด ตอนนี้เทรนด์ทั่วโลกจะมาทางนี้

2565 คือปีแห่งการฟื้นฟูความรู้และใส่ใจสุขภาพจิตเด็ก

ในปี 2565 มีแนวโน้มที่จะมีการพยายามฟื้นฟูความรู้โดยวิธีการต่างๆ เช่น การเพิ่มติวเตอร์ เพิ่มชั่วโมงการสอน หรือ Summer School (ห้องเรียนในช่วงปิดภาคเรียน) การใช้อาสาสมัครช่วยสอน หรือการช่วยเหลือฟื้นฟูความรู้เด็กในรูปแบบต่างๆ โดยหนึ่งในหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูความรู้คือ ครูผู้สอนต้องมีความสามารถในการประเมินเด็ก หรือที่เรียกว่า Formative Assessment เพื่อจะรู้ได้ว่าเด็กคนไหนมีจุดอ่อน จุดแข็งยังไง มีประเด็นไหนที่ต้องเน้นมากขึ้น เพราะในช่วงที่ต้องเรียนอยู่ที่บ้าน เด็กแต่ละคนจะมีการเรียนรู้ได้ต่างกันค่อนข้างมาก ครูจึงต้องเพิ่มความสามารถในการประเมินให้ตรงจุดมากขึ้น รวมถึงต้องสามารถสอนเด็กในห้องเดียวกันที่มีความสามารถแตกต่างกัน นับเป็นความท้าทายของครูในยุคหลังโควิด-19

อีกเทรนด์คือ เรื่องนักจิตวิทยาโรงเรียน ประเด็นนี้มีการพูดถึงกันเยอะในช่วงโควิด เนื่องจากเด็กมีความเครียดความกังวลเกิดขึ้น ดังนั้นการให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพจิตของนักเรียนในห้องเรียน รวมถึงการเพิ่มศักยภาพครูประจำชั้นและครูที่ปรึกษาหรือครูแนะแนวที่สามารถให้สามารถให้คำปรึกษาแก่เด็ก ก็เป็นเทรนด์ที่มีความสำคัญ

สถานการณ์ K-Shaped Recovery ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการการศึกษา

ช่วงที่ผ่านมา ในแง่เศรษฐกิจของยุคหลังโควิด-19 มีการพูดถึง K-Shaped Economy กันเยอะ หมายถึง เรากำลังเข้าสู่ยุคที่ธุรกิจซึ่งปรับตัวได้ก็จะไปรุ่ง เป็นตัว K ที่พุ่งขึ้นด้านบน เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ หรือเดลิเวอรี่ที่ปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตในยุคโรคระบาดได้ กลุ่มนี้จะเติบโตแบบก้าวกระโดด ขณะที่ธุรกิจบางกลุ่มแนวโน้มการเติบโตจะดิ่งลง เพราะไม่สามารถรปรับตัวได้ ในระบบการศึกษาก็เช่นกัน เราคงจะเจอภาวะ K-Shaped ด้วย

ภาวะการฟื้นตัวแบบ K-Shape ในวงการศึกษา คือ การที่เด็กบางกลุ่มจะสามารถปรับตัวไปได้เร็ว และบางกลุ่มจะไปได้ช้า โดยกลุ่มแรกนั้น เป็นเด็กมีความพร้อมในเรื่องการเรียนออนไลน์ มีอุปกรณ์เพียงพอ มีอินเทอร์เน็ต ครูมีศักยภาพการสอนออนไลน์ บ้านมีความพร้อม พ่อแม่ให้การสนับสนุน เด็กกลุ่มนี้จะสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้เร็วมาก ขณะที่เด็กอีกกลุ่มที่บ้านไม่ได้มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ฐานะยากจน ไม่มีอุปกรณ์การเรียน ชีวิตได้รับผลกระทบจากโควิด เช่น พ่อแม่ตกงาน ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ พ่อแม่ป่วย หรือแย่สุดคือเด็กที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องเสียชีวิตจากโควิดกลายเป็นเด็กกำพร้า เด็กกลุ่มหลังนี้จะได้ผลกระทบในระยะยาวอย่างรุนแรง ในสหรัฐอเมริกามีเด็กกำพร้าถึง 140,000 คน ประเทศอังกฤษมี 12,000 คน ในขณะที่ข้อมูลล่าสุดของไทยมีเด็กกำพร้าจากโควิดเกือบ 500 คน

ดังนั้น เราต้องระวังภาวะ K-Shaped Recovery ที่จะเกิดขึ้นในวงการศึกษาไทย เพราะจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถ่างกว้างมากขึ้นจากที่เดิมก็มีสูงมากอยู่แล้ว ถือเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลรวมถึงผู้ที่อยู่ในวงการการศึกษา ที่จะต้องพยายามหามาตรการมาช่วยเหลือเด็กนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาสหรือผู้ที่ถูกทิ้งห่างออกไป

โควิดกระทบการศึกษาไทยและทั่วโลก

มองในภาพรวม โควิดส่งผลกระทบต่อการศึกษาของไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลกในระดับที่แตกต่างกันตามแต่แนวทางการรับมือของแต่ละประเทศ บางประเทศก็มีความพร้อมของทรัพยากรและนโยบาย เช่น การพยายามในการจัดระบบให้เรียนในโรงเรียน หรือหาอุปกรณ์ให้เด็กอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่บางประเทศก็ยังอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ มีประเทศอย่าง ยูกันดาหรือฟิลิปปินส์ เป็นต้น ที่ต้องปิดโรงเรียนอย่างยาวนานถึงเกือบ 2 ปี ขณะเดียวกัน บางประเทศก็พร้อมรับมือกับการเรียนออนไลน์ ถือว่าทำได้ดี อย่างไรก็ตาม แม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วก็มีกลุ่มเด็กชายขอบหรือเด็กยากจนในสังคมที่ได้รับผลกระทบ สิ่งนี้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จากการสำรวจของ กสศ. พบเด็กยากจนกว่าสองล้านคน ซึ่งมีปัญหาในเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า โทรทัศน์ พบว่าจำนวนมากที่เป็นเด็กยากจนจะขาดการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพราะฉะนั้นถ้าบ้านเขายังไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีไฟฟ้า ก็ค่อนข้างยากมากที่เขาจะสามารถเรียนแบบ Remote Learning ได้ 

ช่วงที่ผ่านมาจึงได้เห็นการผสมผสานรูปแบบการเรียนหลายแบบ ไทยจะมีทั้งการเรียนออนไซต์ เรียนออนดีมานด์ (คลิปวิดีโอ) และเรียนออนแฮนด์​ (ใบงาน) นอกจากนี้ยังมีให้ผู้ปกครองช่วย หรืออีกแบบที่ กสศ.​มีส่วนร่วมด้วยคือ กล่องการเรียนรู้ หรือ Learning Box ต่างๆ ซึ่งเหมาะสำหรับเด็กที่เข้าไม่ถึงระบบออนไลน์ แต่กล่องการเรียนรู้อาจต้องให้ผู้ปกครองช่วยด้วย ซึ่งหากผู้ปกครองไม่มีเวลา ไม่สามารถช่วยสอนได้ อาจทำให้การเรียนรู้ของเด็กไม่ค่อยได้ผล

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเรียนที่บ้าน

การที่ผู้ปกครองต้องมาดูแลลูกในช่วงการเรียนออนไลน์ หากมองในแง่เศรษฐกิจก็จะมีผลทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถออกไปทำงานได้ หรือทำได้ไม่เต็มที่ ผู้ที่ต้องออกไปทำงานข้างนอกก็ไม่สามารถดูลูกได้ อาจจะต้องทำการจ้างพี่เลี้ยง ครูสอนพิเศษ หรือไหว้วานปู่ย่าตายาย หรือถ้าเขาตัดสินใจดูแลลูกก็อาจต้องออกจากงาน ดังนั้นการเรียนทางออนไลน์อาจจะส่งผลทางเศรษฐกิจนอกเหนือจากผลกระทบด้านความรู้ด้วย

บทบาทของชุมชนในแง่การพยุงการศึกษายังคงมีความสำคัญอยู่

ในช่วงโควิด ชุมชนหลายพื้นที่ได้ลุกขึ้นมาพยุงการศึกษาให้เดินหน้าต่อได้ เช่น ในอินเดีย ที่มีโครงการ NGO ในพื้นที่ไปทำงานร่วมกับโรงเรียนและชุมชน ปีนี้คิดว่า ความสำคัญของชุมชนจะยังสำคัญเหมือนเดิม มองว่าบทบาทของชุมชนยังมีความสำคัญค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เด็กไปโรงเรียนไม่ได้ อย่างของไทย เรามี อสม.​ด้านสาธารณสุขอยู่แล้ว อยากเห็น อสม.ทางการศึกษา ซึ่งเป็นคนในชุมชนที่คอยช่วยเหลือเด็กในเรื่องการศึกษา ซึ่งน่าจะได้เห็นการผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น โดยบทบาทสำคัญที่จะช่วยได้ในยุคโควิด-19 คือการติดตามเด็กในชุมชนที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบ เด็กที่หลุดออกไปแล้ว หรือการช่วยเหลือด้านวิชาการ เพื่อให้เด็กที่ถูกทิ้งห่างจากการเรียนสามารถเรียนได้ทันเพื่อนๆ หรือการช่วยเหลือดูแลเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิตต่างๆ

การศึกษาทางเลือกเฟื่องฟู

แนวโน้มการศึกษาทางเลือกก็จะมีเพิ่มขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาผู้ปกครองหลายคนมองเห็นความสำคัญของ Home School มากขึ้น เพราะว่าไม่สามารถออกไปเรียนโรงเรียนปกติได้ แม้แต่โรงเรียนนานาชาติก็มีเด็กที่ออกมาเรียนแบบ Home School กันเยอะ เพราะหลายคนรู้สึกไม่คุ้มค่าที่ต้องจ่ายค่าเทอมแพงแล้วต้องมาเรียนออนไลน์ ดังนั้นคิดว่าการศึกษาทางเลือกน่าจะมีบทบาทมากขึ้น สิ่งที่น่าสนใจคือ รัฐบาลควรเข้าไปช่วยเหลือพ่อแม่หรือเด็กกลุ่มนี้อย่างไร เพราะเดิมทีรัฐบาลจะโฟกัสเด็กในระบบการศึกษาเป็นหลัก ทั้งเงินอุดหนุนหรือเยียวยาก็จะเน้นไปที่เด็กในระบบ ดังนั้นรัฐบาลอาจจะต้องพิจารณาเรื่องกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้มีความยุติธรรมเท่าเทียมกัน เพื่อให้เด็กกลุ่มการศึกษาทางเลือกได้รับเงินอุดหนุนเหมือนกับเด็กในระบบ อาจจะต้องหากระบวนการมาช่วยเหลือตรงนี้

แนวทางฟื้นฟูความรู้ถดถอยที่ต้องเริ่มแล้ว

แนวทางฟื้นฟูความรู้ถดถอยมีหลายทาง อย่างที่ กสศ.พยายามทำร่วมกับหน่วยงานและหน่วยปฏิบัติการวิจัย เช่น UNICEF, Starfish และ RIPED ที่สมุทรสาคร คือ เพิ่มชั่วโมงการสอนให้มากขึ้น หมายถึง ถ้าเด็กกลับมาโรงเรียนแล้ว อาจจะต้องเรียนรู้เพิ่มช่วงวันเสาร์อาทิตย์ หรือช่วงปิดเทอม คือฟื้นฟูแบบตรงไปตรงมา หรืออีกวิธีคือเพิ่มเทคนิคทักษะการสอนให้กับครูเพื่อจะสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจดีว่าครูคงไม่สามารถเปลี่ยนวิธีการสอนได้ในช่วงเวลาอันสั้น อีกวิธีที่ประเทศที่มีทรัพยากรส่วนใหญ่เลือกใช้คือ ใช้ติวเตอร์ที่เก่งๆ หรือครูข้างนอกมาช่วยสอนในช่วงวันหยุด แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของโอมิครอนยังทำให้การสอนเสริมแบบต่างๆ ยังคงอยู่ในรูปแบบออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งก็อาจจะทำให้เด็กที่ไม่มีอุปกรณ์หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีปัญหา หรือเด็กกลับต้องใช้เวลาอยู่หน้าจอมากขึ้น

อย่าละเลยพัฒนาการทางกายและทางใจของเด็กเล็ก

นอกจากความรู้แล้ว เรื่องสุขภาพจิตใจและสุขภาพกายของเด็กก็ค่อนข้างสำคัญ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก อาจจะมีเรื่องของ Physical Health หรือสุขภาพกายด้วย โดยช่วงที่ผ่านมา มีสถิติงานวิจัยเผยว่า เด็กๆ มีภาวะอ้วนเพิ่มมากขึ้นในช่วงโควิด เพราะว่าเขาต้องอยู่แต่ในบ้าน อยู่กับหน้าจอ ไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อน ไม่ค่อยมีกิจกรรมข้างนอกเท่าไหร่ จึงทำให้เกิดภาวะอ้วนได้ นอกจากนี้ในกลุ่มเด็กเล็กอาจเจอปัญหาด้านพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดเล็ก มีข้อมูลกรมอนามัยเผยถึงตรงนี้เช่นกัน ว่าช่วงโควิดนั้นพัฒนาการของเด็กเล็กแย่ลงจริงๆ 

ในส่วนต่างประเทศ ที่อเมริกาเกิดปรากฏการณ์ Kindergarten Exodus หรือ “เด็กอนุบาลอพยพ” คือ มีเด็กอนุบาลที่หลุดออกนอกระบบเพราะโควิดเยอะมากถึง 20% ซึ่งคิดว่าปรากฏการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงไทย ซึ่งถามว่ามีความสำคัญไหม สำหรับนักพัฒนาการเด็ก จะรู้ว่าช่วงวัยที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของมนุษย์มากที่สุดคือ ปฐมวัย หรือช่วง 7 ปีแรกของชีวิต การที่เด็กจำนวนมากต้องหลุดจากระบบการดูแลช่วงปฐมวัยอาจส่งผลต่อพัฒนาการในระยะยาวของพวกเขาได้ สำหรับประเทศไทยเรายังไม่มีข้อมูลส่วนนี้ แต่ช่วงโควิด เข้าใจว่าศูนย์เด็กเล็กของ อปท.ต้องปิดตัว เด็กต้องอยู่บ้าน มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่พบผลกระทบระดับพัฒนาการของเด็กในระยะสั้น แต่ในระยะยาวคงเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังต่อไป 

ปรากฏการณ์ครูลาออกเกิดแล้วในต่างประเทศ ส่วนเด็กหลุดจากระบบ ไทยพบเยอะ

ช่วงที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ในหลายประเทศคือ ครูและบุคลากรทางการศึกษาลาออกหรือเปลี่ยนงาน โดยในอเมริกามีปรากฏการณ์ครู หรือแม้แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนจะออกจากวิชาชีพจำนวนมาก เพราะไม่อยากสอนหนังสือในช่วงโควิด ปัจจัยมีหลายอย่าง ทั้งเกิดจากความเครียด กลัวการติดเชื้อ หรือไม่มีความสุขในการสอน จึงเกิดการลาออกค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ระดับเจ้าหน้าที่และพนักงานขับรถในโรงเรียนก็ลาออกค่อนข้างเยอะ แม้ประเทศไทยยังไม่ได้เจอปรากฏการณ์เด่นชัดเท่าอเมริกา แต่ก็เริ่มได้ยินกระแสของครูที่ต้องการลาออกจากโรงเรียนอยู่บ้าง 

ปรากฎการณ์อีกอย่างที่เกิดขึ้นเยอะคือ เด็กที่หลุดออกนอกระบบในทุกช่วงชั้น ค่อนข้างเห็นได้ชัดและมีสถิติจริงๆ ว่า เด็กที่หลุดนอกระบบช่วงโควิดมีจำนวนมากขึ้น ในประเทศไทยมีเด็กที่ยังหลุดออกนอกระบบมากกว่า 1 แสนคน ในขณะที่หลายประเทศมีอัตราการกลับเข้าเรียนในระดับต่างๆ ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด 

แนวทางฟื้นฟูสุขภาพจิตเด็กและบุคลากรการศึกษา

ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันนักจิตวิทยาโรงเรียนของประเทศไทยมีไม่พอ มีจำนวนไม่เยอะเมื่อเทียบกับสัดส่วนของนักเรียน เพราะฉะนั้นอาจทำได้ไม่เต็มที่นัก แต่ก็เห็นความพยายาม เช่น การมีสายด่วน แต่ไม่แน่ใจว่าสายด่วนที่ภาครัฐจัดให้แพร่หลายในกลุ่มนักเรียนและสถานศึกษามากแค่ไหน ที่แน่ๆ ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดในเด็กนั้น ครูในโรงเรียนอาจจะต้องมีส่วนร่วมดูแล ต้องสื่อสารให้นักเรียนรู้ว่ามีความช่วยเหลืออยู่ และเด็กต้องเข้าถึงได้ ต้องหาระบบมาช่วยเหลือดูแล เพราะนับวันนักเรียนยิ่งมีความเครียด ยิ่งเด็กต้องเรียนออนไลน์ เด็กก็ไม่ได้ไปโรงเรียนอยู่แล้ว เขาอาจมีปัญหาในการเข้าถึงเรื่องพวกนี้หรือเปล่า ถ้าทำให้เข้าถึงง่าย และเน้นให้เยอะก็อาจจะเป็นแนวทางที่ควรจะเป็น ประเทศรายได้น้อยบางแห่ง เช่น บังกลาเทศ ก็พยายามหาวิธีแก้ปัญหาง่ายๆ เช่น ให้นักจิตวิทยาโทร.ไปคุยกับนักเรียนหรือผู้ปกครองเป็นระยะๆ 

โควิดกับผลกระทบต่อคะแนน PISA ของเด็กทั่วโลก

คะแนน PISA ถือเป็นตัวชี้วัดด้านผลสัมฤทธิ์การศึกษาแบบหนึ่ง เป็นกระจกส่องให้รู้ว่าสถานะปัจจุบันของการศึกษาไทย ว่าเราอยู่ตรงไหนเมื่อเทียบกับชาวโลก ในมุมมองของผม สถานการณ์โควิดคงทำให้คะแนน PISA ของเด็กไทยและนักเรียนในประเทศอื่นๆ ที่ต้องปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลายาวนานลดลง สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่โดนกระทบเหมือนกัน อยากรู้ว่าคะแนนเขาจะลดลงมากน้อยแค่ไหน สิ่งที่น่าจับตาคือ ในระดับโลก สถานการณ์โควิดทำให้เด็กทั่วโลกต้องเรียนออนไลน์ การศึกษาถูก disrupt จึงน่าสนใจศึกษาว่านโยบายการรับมือของแต่ละประเทศได้ผลลัพธ์อย่างไร ผมคิดว่าอาจจะมีประเทศที่เขารับมือได้ดี เช่น มีอุปกรณ์ให้ มีวิธีแก้ไขต่างๆ คะแนนอาจไม่ลงมาก แต่ประเทศที่ปรับตัวไม่ได้เลยก็อาจมีผลกระทบค่อนข้างเยอะ ความรู้หายไปเยอะ ผลการสอบ PISA น่าจะสามารถนำมาถอดบทเรียนจากกรณีต่างๆ เหล่านี้ได้ 

หากเปรียบเทียบระหว่างเด็กไทยด้วยกัน ระหว่างเด็กที่อยู่โรงเรียนที่มีความพร้อมสูง เช่น โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย หรือโรงเรียนสาธิตต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กที่ถือว่ามีความพร้อมทางเศรษฐกิจ เขาน่าจะมีปัญหากับการเรียนออนไลน์น้อย เมื่อเทียบกับนักเรียนในโรงเรียนกลุ่ม สพฐ. ขยายโอกาส หรือโรงเรียนกลุ่มอาชีวศึกษา จึงน่าสนใจว่าความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์จะมีลักษณะ K-shaped หรือไม่ คือเด็กที่มีความพร้อมอาจเรียนได้ดีในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์ก็ได้ ในขณะที่เด็กกลุ่มยากจนอาจเรียนได้แย่ลง หรือผลกระทบจากการปิดโรงเรียนมีอย่างไร ผลการประเมิน PISA น่าจะสามารถให้คำตอบเหล่านี้ได้

นวัตกรรมการศึกษาอาจเกิดได้จากความยืดหยุ่น

ในช่วงโควิด ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อดีที่เราได้เห็นคือ กระทรวงศึกษาธิการมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการสนับสนุนให้ครูและโรงเรียนใช้นวัตกรรมในการช่วยเหลือเด็ก เพราะฉะนั้นแต่ละพื้นที่จึงพยายามหานวัตกรรมและวิธีการสร้างสรรค์มาช่วยแก้ปัญหาการเรียนรู้แก่เด็ก เช่น ครูจะมีกระบวนการติดตามเด็ก การโทร.ไปตามหรือไปตามที่บ้าน หรือแม้แต่ครูที่ต้องสอนออนไลน์เขาก็พยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแต่งตัวหรือหาแนวทางการสอนที่มีความดึงดูด หรือแม้แต่การใช้แนวทางแบบครูหลังม้าที่อยู่บนดอยที่ขี่มอเตอร์ไซค์วิบากหรือรถกระบะขึ้นไปหาเด็กในหมู่บ้าน เพื่อเอาหนังสือไปสอน หรือเอาข้าวไปให้ ไปคอยดูเด็ก หรือการใช้รถพุ่มพวงทางการศึกษา เป็นรถที่มีหนังสือให้เด็กได้อ่าน ไปช่วยติวให้เด็ก ถือเป็นนวัตกรรมที่แปลกและเห็นได้ค่อนข้างเยอะ หรือพวก Learning Box ก็มีหลายแบบ หรือการพยายามทำกิจกรรมกับพ่อแม่ เพื่อให้พ่อแม่สอนลูกที่บ้านได้ในรูปแบบต่างๆ บางโรงเรียนก็ใช้นวัตกรรมเหล่านี้เพื่อเข้าไปดูแลเด็กให้ทั่วถึงมากขึ้น ใจความสำคัญคือการเพิ่มอิสระและความยืดหยุ่นให้แก่ครูและโรงเรียนในการบริหารจัดการต่างๆ จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่นวัตกรรม

ทิ้งท้าย: การฟื้นฟูความรู้คือวาระหลักของปีนี้

ในปี 65 นี้ มองว่า การฟื้นฟูความรู้น่าจะเป็นวาระหลัก เป็นปีที่ต้องฟื้นฟูความรู้ของเด็กที่ถดถอยไปในช่วงปีที่ผ่านมา ด้วยวิธีการต่างๆ อาจจะไม่ต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ สิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน แต่หลักๆ น่าจะเกิดการฟื้นฟู เน้นให้ครูสามารถประเมินเด็กให้ได้ เพื่อจะรู้ว่าเด็กเขาความรู้หายไปแค่ไหน และมีแนวทางในการสอนที่จะทำให้เด็กที่มีความรู้แตกต่างกัน สามารถกลับมามีความรู้ในระดับที่เหมาะสมกับชั้นของเขา รวมถึงถ้าสถานการณ์โควิดยังไม่หายไป ก็อาจจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิดโดยที่ไม่ไปขัดกระบวนการศึกษา ในแง่การเปิดโรงเรียน เห็นว่ายังไงควรต้องหาวิธีในการเปิด แต่จะปรับตัวและป้องกันอย่างไร จะมีการ Test แค่ไหน รัฐบาลจะช่วยสนับสนุนเรื่อง ATK ให้เด็กในโรงเรียนได้มากน้อยอย่างไร นี่คือโจทย์ที่ต้องใคร่ครวญ การปล่อยให้เด็กไม่ได้เรียนหนังสือนานๆ ย่อมส่งผลเสียหายมากกว่าผลดี ทั้งเรื่องความรู้ สุขภาพกาย ใจ และผลกระทบต่อคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยในระยะยาว 

สรุปว่าปีนี้เป็นปีของการฟื้นฟูความรู้ โดยวิธีการต่างๆ การฟื้นฟูสุขภาพกายสุขภาพจิตของเด็ก การใช้ชุมชนมาเกี่ยวข้อง ใช้อาสาสมัคร บทบาทของชุมชน รัฐบาลอาจจะต้องคอยดูแลช่วยเหลือ จัดทรัพยากรต่างๆ ให้กับชุมชนบ้าง เช่น ทำระบบ อสม.การศึกษา สนับสนุนเรื่องของอุปกรณ์การทดสอบ การจ้างติวเตอร์ การจ้างครูเพิ่มขึ้น หรือหาสื่อการสอนต่างๆ รวมถึงคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตก็ควรช่วยเหลือ แนวคิดคือไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบ ใครที่หลุดออกไปแล้วเพราะความยากจนหรือปัญหาอื่นๆ ก็ต้องพยายามไปตามกลับมา และพยายามหาทางช่วยเหลือให้เขาสามารถได้เรียนอยู่ได้

อ้างอิง :