สหรัฐฯ เผชิญวิกฤตเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เบื้องต้นพบหายไปกว่า 1 ล้านคน ระดับชั้นอนุบาลรุนแรงสุด
โดย : Dana Goldstien and Alicia Parlapiano
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

สหรัฐฯ เผชิญวิกฤตเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เบื้องต้นพบหายไปกว่า 1 ล้านคน ระดับชั้นอนุบาลรุนแรงสุด

เดอะนิวยอร์กไทมส์เผยผลการศึกษาวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับแวดวงการศึกษาของสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบปัญหาเด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาในหลักสูตรภาคบังคับของรัฐ โดยส่วนหนึ่งย้ายไปโรงเรียนทางเลือก ขณะที่อีกส่วนหนึ่งหลุดออกจากระบบการศึกษาไปเลย 

เบื้องต้นพบว่ามีเด็กมากกว่า 1 ล้านคนไม่ได้ลงทะเบียนเข้าศึกษาต่อในช่วงภาคการศึกษาที่ผ่านมา โดยกลุ่มที่หายไปจากระบบมากที่สุดคือเด็กอนุบาลอายุ 5-6 ขวบ จากย่านชุมชนยากจน ทำให้หวั่นเกรงว่าแม้เด็กเหล่านี้จะสามารถเข้าเรียนในชั้นประถม 1 ได้ในภายหลัง แต่อาจจะมีระดับความรู้และทักษะการเรียนรู้ที่ล่าช้ากว่าเพื่อนได้

รายงานระบุว่า โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือโรงเรียนรัฐตามเขตการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยข้อมูลจากภาครัฐชี้ว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ มีเด็กอเมริกันมากกว่า 1 ล้านคนที่หายไปจากระบบการศึกษา โดยไม่ได้เข้าชั้นเรียนหรือแม้แต่ร่วมเรียนออนไลน์ในช่วงภาคการศึกษาที่ผ่านมา ทั้งนี้กลุ่มที่หายหน้าไปส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเด็กเล็ก มีรายงานว่าเฉพาะเด็กอนุบาลก็หายไปมากกว่า 340,000 คน

ขณะเดียวกัน ผลวิเคราะห์สถิติการลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนรัฐ 70,000 แห่งจาก 33 รัฐทั่วสหรัฐอเมริกา เผยให้เห็นว่า วิกฤตการระบาดไม่ได้ทำให้ช่องว่างด้านรายได้และสุขภาพกว้างมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาความเสมอภาคทางการศึกษาที่เด็กจากครอบครัวผู้มีรายได้น้อยส่วนหนึ่งแทบไม่มีโอกาสใช้เวลาในห้องเรียนเพียงแค่ 1 วันเลยด้วยซ้ำ

ส่วนผลการศึกษาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกับสื่ออย่าง นิวยอร์กไทมส์ จัดทำร่วมกัน พบว่า โรงเรียนรัฐ 10,000 แห่งใน 33 รัฐ มีนักเรียนอนุบาลหายไปจากระบบอย่างน้อย 20% ของนักเรียนอนุบาลทั้งหมด ขณะที่ในปีการศึกษา 2018 และ 2019 โรงเรียนดังกล่าวมีนักเรียนหายรวมกันอยู่ที่ประมาณ 4,000 รายหรือต่ำกว่านั้นเท่านั้น 

ตลอดระยะหลายเดือนที่โรงเรียนปิดตัว หลายครอบครัวต่างดิ้นรนขวนขวายหาทางให้ลูกหลานในบ้านได้เรียนหนังสืออย่างเต็มที่ แต่ครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ใกล้เส้นความยากจน คือมีรายได้เฉลี่ย 35,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีต่อจำนวนสมาชิก 4 คน ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ด้วยจำนวนนักเรียนที่หายไปเฉลี่ยอย่างน้อย 28%

ถามว่า นักเรียนที่หายไปนั้น หายไปไหน พ่อแม่ไม่สนใจ มีกำลังทรัพย์ไม่พอใช่หรือไม่ เดอะนิวยอร์กไทมส์ พบว่า คำตอบมีทั้งใช่และไม่ใช่ ใช่ในแง่ที่มีกำลังทรัพย์ไม่พอ และไม่ใช่ในแง่ที่ว่าผู้ปกครองไม่ได้สนใจหรือเห็นความสำคัญของการศึกษา 

ด้วยมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทำให้โรงเรียนรัฐทั่วประเทศสามารถจัดเตรียมอุปกรณ์และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อย่าง แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตไวไฟ สำหรับเรียนออนไลน์และเรียนทางไกลได้ แต่สำหรับเด็กที่อายุน้อย ชั้นเรียนออนไลน์ของโรงเรียนรัฐกลับไม่ตอบโจทย์ ทำให้พ่อแม่หลายคนกัดฟันหันเข้าหาห้องเรียนออนไลน์ของโรงเรียนทางเลือก ที่ให้หลักประกันว่าได้ออกแบบหลักสูตรการเรียนออนไลน์สำหรับเด็กเล็กและมีติวเตอร์กำกับดูแลโดยเฉพาะ โดยยอมที่จะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อให้ลูกในวัยอนุบาลได้ศึกษาเล่าเรียนตามวัย และทำให้สามารถเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาได้ทันตามกรอบเวลา 

ทว่าทางเลือกข้างต้นถือเป็นทางเลือกที่ครอบครัวยากจนไม่สามารถทำตามได้ ทำให้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากส่งลูกไปอยู่ในการดูแลของสถานรับเลี้ยงเด็กแทน เพราะโรงเรียนอนุบาลเปิดไม่ได้ และพ่อแม่จำเป็นต้องทำงาน ซึ่งสถานรับเลี้ยงเด็กเหล่านี้หลายแห่งได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ แต่ส่วนใหญ่ก็รับดูแลเด็กวัย 2-3 ขวบ ส่วนที่อายุมากกว่านี้ต้องเข้าเรียนโรงเรียนอนุบาล เพียงแต่ปีที่ผ่านมา โรงเรียนอนุบาลหันไปเรียนออนไลน์ และพ่อแม่ไม่มีเวลาตามประกบขณะเรียน ทำให้พ่อแม่เหล่านี้ต้องตัดใจไม่ส่งลูกเข้าเรียนอนุบาล 

แม้ว่าการเรียนในระดับอนุบาลจะเป็นทางเลือกในหลายรัฐ หมายความว่าทางรัฐไม่ได้บังคับให้พ่อแม่ต้องส่งลูกเข้าเรียนอนุบาล แต่พ่อแม่แทบทั้งหมดก็ตระหนักถึงการเรียนในชั้นเรียนอนุบาล เนื่องจากเป็นการปูพื้นฐานสำคัญในการเรียนของเด็ก ทั้งการออกเสียงคำ การนับเลข การรู้จักตัวอักษร การอ่าน การรับรู้ขนาดและปริมาณ และที่สำคัญ ชั้นอนุบาลเป็นพื้นที่สำคัญที่จะได้ตรวจพบความผิดปกติหรือบกพร่องทางการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อทำการรักษาบำบัดได้ทัน เช่น ภาวะออทิสติก

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเด็กอเมริกันวัย 6 ขวบหลายหมื่นคนในภาคเรียนการศึกษาปัจจุบัน จะเป็นเด็กประถม 1 ที่ไม่เคยผ่านการเรียนชั้นอนุบาลมาก่อน ซึ่งเท่ากับว่าโรงเรียนประถมเหล่านี้ รวมถึงพ่อแม่ต้องรับภาระหนักเพิ่มขึ้นในการกวดขันให้เด็กเรียนทันเพื่อน แต่ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าการกวดขันดังกล่าวจะทำให้เด็กเบื่อหน่าย เกลียด หรือเข็ดขยาดการเรียน 

รายงานระบุว่าอีกว่า เงื่อนไขการเรียนออนไลน์ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้จำนวนนักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กในระดับอนุบาลหายไปจากระบบการศึกษา โดยพบว่า เขตการศึกษาที่หันมาทำการเรียนออนไลน์แบบ 100% มีเด็กสมัครเรียนลดลงถึง 42% เมื่อเทียบกับโรงเรียนที่เสนอการสอนแบบผสม หรือรีบเปิดห้องเรียนให้เด็กมาเรียนกับครูที่ห้องเรียน ซึ่งหากการระบาดยังคงยืดเยื้อ ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่า โรงเรียนรัฐที่รองรับเด็กนักเรียนยากจนจะเป็นชั้นเรียนที่ต้องปิดยาวนานมากขึ้นกว่าเดิม กระทบต่อพัฒนาการ ระดับความรู้ และทักษะทางอารมณ์สังคมของตัวเด็กเอง 

จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองในฟิลาเดลเฟีย, มิสซิปซิปปี และโฮโนลูลู ซึ่งเป็น 3 พื้นที่ที่การสมัครเรียนชั้นอนุบาลลดลงมากที่สุด พบว่า นอกจากพ่อแม่จะมีปัญหาในการสอนลูกเล็กเรียนทางไกลแล้ว ส่วนใหญ่ยังมีปัญหาในเรื่องของความเชื่อมั่นไว้ใจในหลักสูตรที่ทางโรงเรียนรัฐจัดทำบนโลกออนไลน์ เพราะแต่เดิมการสอนในห้องเรียนก็ไม่มีคุณภาพอยู่แล้ว ยังไม่นับรวม ปัญหาเรื่องการเหยียดผิว เชื้อชาติ และความปลอดภัย 

ดังนั้น ทางเลือกของพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่จึงหันไปพึ่งโรงเรียนทางเลือก (Charter School) ซึ่งก่อนหน้าการระบาด ก็เป็นการศึกษาทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ก่อนหน้าวิกฤตโควิด-19 ความต้องการและจำนวนผู้เรียนอยู่ในระดับหลักร้อยเท่านั้น ซึ่งจากการรวบรวบข้อมูลของ นิวยอร์กไทมส์ พบว่า ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ห้องเรียนออนไลน์ของโรงเรียนทางเลือกมีเด็กอนุบาลสมัครเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่า 20,000 คน เฉพาะแค่ในเพนซิลเวเนียแห่งเดียวก็มีเด็กอนุบาลสมัครเพิ่มขึ้น 3 เท่า เพราะหลักสูตรของโรงเรียนทางเลือกจัดให้มีติวเตอร์ตามประกบเด็กเรียนออนไลน์ทุกคน ช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ที่ต้องเรียนกับลูก ๆ ขณะที่ในบางพื้นที่ที่ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ติวเตอร์เหล่านี้ยังตามประกบเด็กแบบตัวต่อตัวยามที่เด็กไปเรียนที่ห้องเรียนอีกด้วย 

รายงานสรุปว่า สถานการณ์โควิด-19 กำลังสะท้อนให้เห็นอีกหนึ่งรากเหง้าของปัญหาเรื่องคุณภาพทางการศึกษา กับระบบการเรียนออนไลน์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากรัฐบาลไม่เร่งปฏิรูปคุณภาพอย่างจริงจัง ต่อให้เป็นเด็กยากจนที่มีทางเลือกไม่มากนัก ก็อาจยอมเลือกโรงเรียนทางเลือกอื่น แทนที่โรงเรียนรัฐที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้การสนับสนุนอยู่ในเวลานี้

ที่มา : The Kindergarten Exodus