กสศ. ยูนิเซฟ ศธ. จับมือภาคี เปิดตัวโปรแกรมฟื้นฟูเรียนรู้ถดถอย นำร่องสมุทรสาครโมเดล

กสศ. ยูนิเซฟ ศธ. จับมือภาคี เปิดตัวโปรแกรมฟื้นฟูเรียนรู้ถดถอย นำร่องสมุทรสาครโมเดล

กสศ. ยูนิเซฟ ศธ. จับมือภาคี เปิดตัวโปรแกรมฟื้นฟูเรียนรู้ถดถอย ช่วยเด็กหลุดจากระบบทุกมิติในช่วงโควิด-19 นำร่องสมุทรสาครโมเดล พื้นที่ต้นแบบ ขณะที่ผู้ว่าฯสมุทรสาครประกาศรักษาเด็กทุกคนให้จบการศึกษาภาคบังคับ และได้รับพัฒนาเต็มศักยภาพ ชี้ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธียืดหยุ่น ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และจังหวัดสมุทรสาคร จัดการประชุมสานพลังความร่วมมือหน่วยงานด้านการศึกษา “ก้าวไปด้วยกัน สู่สมุทรสาครโมเดล จังหวัดต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน” เดินหน้าพันธกิจฟื้นฟูการศึกษาไทย เปิดตัวโครงการวิจัยนำร่องฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย ป้องกันเด็กหลุดนอกระบบ ครอบคลุมทุกมิติ 

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์
ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ.

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถ่างกว้างขึ้น  แม้จะมีความพยายามในการนำความรู้ไปถึงเด็กทุกช่องทาง แต่การเข้าถึงอุปกรณ์การเรียน หรือสภาวะครอบครัวที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ ก็ยังเป็นอุปสรรคและทำให้เด็กเผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย และมีบางส่วนที่หลุดออกจากระบบ

จากสาเหตุนี้ กสศ. ยูนิเซฟ และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น นำมาสู่การออกแบบโครงการเพื่อฟื้นฟูความรู้ถดถอย ป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบ และส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพให้เด็ก 

โครงการนี้เป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Research and Development) นำร่องในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ปิดเรียนยาวนาน เพื่อหาตัวแบบก่อนขยายผลไปทั่วประเทศ โดยมีงบประมาณส่วนหนึ่งในการสนับสนุน การดำเนินงานจะเชิญชวนสถานศึกษาทุกสังกัด ทั้ง สพฐ. อปท. และ สช. เข้าร่วม

ด้วยรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับทักษะด้านคณิตศาสตร์และทักษะการอ่าน ซึ่งพบว่าเป็นทักษะที่มีภาวะถดถอยมากที่สุดในช่วงปิดโรงเรียน และเป็นสองทักษะที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้วิชาอื่นๆ และภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ทักษะสังคม อารมณ์ สุขภาพกาย สุขภาพใจ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเติมเต็มและส่งเสริมพัฒนาการไปพร้อมๆ กัน

“เรามีทีมวิชาการที่เข้มแข็งอย่างมูลนิธิสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ที่ทำงานด้านนวัตกรรมการศึกษาระดับสากล มาเป็นโค้ชในการทำงานร่วมกับศึกษาธิการจังหวัด และสถานศึกษา และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เป็นเครือข่ายด้านงานวิจัย มาช่วยถอดบทเรียนวิธีการทำงานที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะนำไปใช้ขยายผลในอนาคต ดังนั้นสิ่งที่ได้จากโครงการนี้จะไม่ได้ก่อประโยชน์เพียงกับเด็กและเยาวชนในจังหวัดสมุทรสาครเท่านั้น แต่จะเป็นตัวแบบสำคัญที่จะขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆ อีกด้วย” 

นางสาวธันว์ธิดากล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานด้านการจัดการศึกษาของ กสศ. พบว่า การทำงานระดับจังหวัดถือเป็นการย่อส่วนการทำงานให้แคบลง เป็นการแก้ไขปัญหาของประเทศตามจุดอ่อนจุดแข็งของพื้นที่นั้น เพราะทุกจังหวัดต่างมีอุปสรรคปัญหาที่จะนำไปสู่แนวทางการแก้ไขที่ต่างกัน สำหรับจังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่ที่มีความร่วมมือในระดับจังหวัดที่เข้มแข็ง ซึ่งทาง กสศ. ยูนิเซฟ และกระทรวงศึกษาธิการ จะเข้ามาเสริมในส่วนของการค้นหานวัตกรรมมาช่วย เพื่อให้ไปสู่ผลลัพธ์ได้ดียิ่งขึ้น 

ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการ RIPED

ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มีงานวิจัยจากต่างประเทศที่แสดงให้เห็นว่า มีหลักฐานยืนยันของการเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยในช่วงวิกฤตโควิด-19 สำหรับในประเทศไทย ทางสถาบันได้ร่วมกับ กสศ. ทำงานวิจัยที่เก็บข้อมูลจากเด็กจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่าระดับการเรียนรู้ที่เด็กได้รับในแต่ละวันที่มาโรงเรียนนั้นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีการปิดเรียนยาวนาน 

“ความถดถอยของการเรียนรู้ หมายถึงการเปรียบเทียบทักษะของเด็กในช่วงเวลาการไปเรียนปกติกับการปิดเรียน ซึ่งวัดได้จากเครื่องมือทางสถิติ ซึ่งได้ผลวิเคราะห์หลักว่า การที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนส่งผลกระทบเชิงลบกับทักษะคณิตศาสตร์ และ Working Memory (ความจำใช้งาน) ซึ่งหมายถึงความสามารถของเด็กในการจดจำข้อมูล และนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อนำกลับมาใช้ อันเป็นทักษะที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กโดยตรง โดยนัยสำคัญอยู่ที่การปิดโรงเรียนที่ยาวนานยิ่งสัมพันธ์กับทักษะที่สูญหายไปเพิ่มขึ้น บางกลุ่มตัวอย่างมีภาวะสูญหายของทักษะมากถึง 90% ข้อมูลเหล่านี้ย้ำเตือนว่าทุกหน่วยงานมีหน้าที่ร่วมกันในการฟื้นฟูความรู้ที่ถดถอย และสร้างแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งยังคงไม่มีความแน่นอน” ดร.วีระชาติกล่าว

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม กล่าวว่า โควิด-19 คืออุปสรรค แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสในการค้นหาโมเดลต่างๆ มาพัฒนาการศึกษาให้ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ต้นแบบการจัดการศึกษา 

เป้าหมายของโครงการจึงมุ่งไปสู่การสร้างนวัตกรรมในการบริหารจัดการสถานศึกษา และนวัตกรรมในการบริหารระดับจังหวัด โมเดลที่ดำเนินงานเริ่มต้นจากสนับสนุนให้โรงเรียนสามารถประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอยที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับสำรวจความพร้อมและความต้องการของครูและนักเรียน การส่งเสริมขีดความสามารถของครูและโรงเรียน ทั้งด้านเนื้อหา ศาสตร์การสอนและเทคโนโลยี ด้วยวิธี Micro-Learning การเรียนรู้แบบผสมผสานและสั้น กระชับ ในรูปแบบบทเรียนออนไลน์ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้คำปรึกษา และยังสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงเครื่องมือที่จำเป็น จนสามารถพัฒนานวัตกรรมและออกแบบการเรียนรู้เพื่อลดภาวะความรู้ถดถอยให้แก่ผู้เรียนได้

สำหรับนักเรียนนั้น เน้นการฟื้นฟูพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียน ผ่านการเรียนการสอนทางไกล การพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ผ่านกล่องการเรียนรู้ หรือ learning box การพัฒนาทักษะสุขภาวะกายและจิตใจผ่านการเรียนการสอนรายบุคคล ครอบคลุมทั้งผู้เรียนปกติและผู้เรียนที่ต้องการช่วยเหลือเป็นพิเศษ ทั้งหมดนี้ทำงานร่วมกับครู ผู้ปกครอง และกลไกอาสาสมัครชุมชนร่วมด้วย

“สุดท้ายแล้วเราไม่ได้มีเป้าหมายในการค้นพบสูตรสำเร็จที่จะนำไปใช้ได้กับทุกที่ แต่ต้องทำให้ครูในทุกพื้นที่มีความสามารถพัฒนาโปรแกรมฟื้นฟูความรู้ถดถอยให้แก่นักเรียน สามารถออกแบบนวัตกรรม การจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมในทรัพยากรที่จำกัด ซึ่งเราจะศึกษาทั้งความสำเร็จและล้มเหลวเพื่อนำมาขยายผลแบ่งปันระหว่างพื้นที่” ดร.นรรธพรกล่าว 

นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร

นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปีการศึกษา 2/2562 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียนทั้งทางตรงและอ้อม 

ครัวเรือนยากจนลงทำให้เด็กและเยาวชนเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามีจำนวนเพิ่มขึ้น เด็กจำนวนมากออกไปประกอบอาชีพและหาเลี้ยงครอบครัว หรือหากยังคงอยู่ในระบบการศึกษา แต่สถานศึกษาหรือครูอาจยังไม่ได้มีความพร้อมจัดการสอนในสถานการณ์ที่วิกฤตและมีข้อจำกัด เช่น การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ 100% การขาดอุปกรณ์สื่อกลางการเรียนรู้และหลักสูตรที่เหมาะสม ปัจจัยความพร้อมของเด็กที่แตกต่างกัน ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย และยังมีเด็กจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบไป 

ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (iSEE) ของ กสศ. จังหวัดสมุทรสาครมีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษจำนวน 3,189 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนยากจนพิเศษที่อยู่ในครัวเรือนฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ มีรายได้เฉลี่ยสมาชิกในครัวเรือนต่อคนต่อเดือน 1,077 บาท หรือราว 36 บาทต่อวัน หรือ 12,924 บาทต่อปีเท่านั้น หากดูตัวเลขเช่นนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่มาก โดยกลุ่มที่ต้องเฝ้าจับตาคือ เด็กในวัยเรียนกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อทางการศึกษามีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นในปี 2564-2565 และเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาตามแต่ละช่วงวัย จำนวน 10,551 คน 

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดสมุทรสาครในยุคโควิด-19 คือการพยายามรักษาเด็กเยาวชนทุกคนให้สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ และมีโอกาสที่เสมอภาคในการพัฒนาทุนมนุษย์ตามศักยภาพและความถนัดเป็นรายบุคคล การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงเป็นโจทย์สำคัญของการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่จังหวัดจะลงทุนในอนาคตอันใกล้นี้ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จำเป็นที่ภาคส่วนต่างๆ ต้องคำนึงถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน เพื่อนำเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงที่ผ่านมากลับเข้ามาให้เร็วที่สุด ไม่ให้เกิดการเสียโอกาสในชีวิต การแก้ปัญหาต้องขอความร่วมมือยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง จำเป็นต้องคำนึงถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงานในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

“การพาเด็กๆ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาในสถานการณ์อันไม่ปกติ จำเป็นต้องอาศัยมาตรการ โปรแกรมฟื้นฟูที่ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางจังหวัดสมุทรสาคร กสศ. องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะเข้ามาช่วยจังหวัด นอกจากนี้ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้คือครอบครัวและผู้ปกครองของนักเรียน บางครอบครัวอาจมีข้อจำกัดในชีวิต ต้องช่วยกันทำให้การศึกษาของเด็กในกลุ่มนี้มีทางเลือกมากขึ้น ในการที่เราทำงานเรื่องนี้เพื่อก้าวไปด้วยกันสู่สมุทรสาครโมเดล จังหวัดต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน” นายณรงค์กล่าว 

ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ เจ้าหน้าที่การศึกษาขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ เจ้าหน้าที่การศึกษาขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ที่มาและความสำคัญของโครงการวิจัยที่กำลังร่วมมือกันทำอยู่นี้เป็นทิศทางเดียวกับที่ทั่วโลกกำลังทำ หรือ Mission Recovering Education in 2021 แต่เราทำในบริบทของประเทศไทย โดยเน้นที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ ผ่านเป้าหมาย 3 อย่างสำคัญดังนี้ 

  1. เด็กและเยาวชนวัยเรียนทุกคนได้เรียนหนังสือที่โรงเรียน และได้รับการสนับสนุนที่ปรับให้เหมาะสม เพื่อสอดคล้องกับความต้องการทางการเรียนรู้ การมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี รวมถึงความต้องการด้านอื่นๆ 
  2. เด็กและเยาวชนวัยเรียนทุกคนได้รับความช่วยเหลือในการเรียน เพื่อชดเชยการเรียนรู้ที่สูญเสียไปในช่วงการปิดโรงเรียน 
  3. ครูทุกคนได้รับการเตรียมความพร้อมและการสนับสนุน เพื่อแก้ไขปัญหาความรู้ถดถอยของนักเรียน สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมต่างๆ มาผสมผสานในการสอน 

ผลที่ได้รับจากความร่วมมือในการทำงานครั้งนี้ ยูนิเซฟจะนำมาขยายผลสู่พื้นที่อื่น รวมถึงแสดงสู่สายตานานาประเทศ ในฐานะโมเดลต้นแบบของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน