เรียนและสอนทางไกล ครูไทยยังไหวอยู่?

เรียนและสอนทางไกล ครูไทยยังไหวอยู่?

ในวันที่การเรียนรู้และโรงเรียน พ่วงมาด้วยคำว่า “วิกฤต” กสศ. พูดคุยกับครู “คนรุ่นใหม่” ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่

“ครูนกเล็ก” จีรภัทร์ สุกางโฮง โรงเรียนบางมด (ตันเปาว์วิทยาคาร) 
“ครูทิว” ธนวรรธน์ สุวรรณปาล โรงเรียนราชดำริ 
“ครูเปรี้ยว” ธีระวีร์ บัวหลวง ศุภพิชญพงษ์ โรงเรียนโยธินบูรณะ 
“ครูมอส” พชร ทองม้วน โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม

เพื่อรับฟังสถานการณ์จากด่านหน้าทางการศึกษาว่า “เรียนและสอนทางไกล ครูไทยยังไหวอยู่” ควรมีเครื่องหมายคำถามต่อท้าย หรือเป็นประโยคบอกเล่าที่สื่อสารว่ายังไหวอยู่จริงๆ

วันนี้ครูรู้สึกอย่างไรกัน?
เทคนิคการสอนในบริบทที่เปลี่ยนไปมีอะไรบ้าง?
ข้อเสนอที่อยากให้เกิดขึ้นจริงคืออะไร?

ถ้าพร้อมแล้ว…ขอเชิญไปเช็กอุณหภูมิหัวใจของเหล่าครูๆ กัน

“ครูนกเล็ก” จีรภัทร์ สุกางโฮง โรงเรียนบางมด (ตันเปาว์วิทยาคาร) 

ครูจีรภัทร์ สุกางโฮง “ครูนกเล็ก”
ครูประจำชั้น ป.1 สอนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์
โรงเรียนบางมด (ตันเปาว์วิทยาคาร) กรุงเทพฯ
อายุ 36 ปี

ยังไหวค่ะ การเรียนออนไลน์ค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ แต่เราเตรียมตัวมาบ้าง ปีที่แล้วเป็นการแขวนคลิปวิดีโอ เด็กก็เรียนได้ พอมาปีนี้เป็นการเรียนออนไลน์ผ่าน zoom จำลองให้บรรยากาศเหมือนเด็กมาเรียนที่โรงเรียน ได้เจอหน้ากัน พูดคุยตอบโต้กัน ตอนแรกก็มีปัญหาเพราะว่าเป็นเรื่องใหม่ ก็ต้องมีการซ้อมกับผู้ปกครองก่อน เกี่ยวกับโปรแกรมว่าต้องทำแบบนี้ ลงแบบนี้ พอเข้าเรียนทำยังไง สร้างข้อตกลงกันก่อน แรกๆ เด็กมีปัญหาไม่สะดวก แต่ที่สุดแล้วถ้าครูพร้อม เดี๋ยวผู้ปกครองจะค่อยๆ ปรับ นักเรียนจะค่อยปรับตามเราเอง

เปิดสอนออนไลน์โดยใช้โปรแกรม zoom เป็นหลัก เนื่องจากสามารถบันทึกการสอนออนไลน์ได้ เพราะว่านักเรียนไม่ได้เข้าเรียนสดทุกคน นักเรียน ป.1 บางคนไม่ได้มีอุปกรณ์สื่อสารของตนเพราะปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ เขาจะไม่สะดวกเข้ามาเรียนสด เราจึงมีการเรียนผ่านคลิปวิดีโอที่บันทึกไว้ ซึ่งสามารถเรียนย้อนหลังได้

เราพยายามทำให้การเรียนออนไลน์มีบรรยากาศเหมือนเรียนในห้อง มีการพูดคุยกัน ถ้าเด็กต้องนั่งอยู่หน้าจอนานๆ เขาจะเบื่อได้ ก็ต้องมีกิจกรรมให้เด็กมีส่วนร่วม อาจจะร้องเพลง เล่นเกม ตอบคำถาม ชวนพูดคุยบ้าง สลับๆ กันไป

ครูทุกคนอยากสอนหนังสืออยู่แล้ว  แม้จะมีงานอย่างอื่นอีกแต่เราก็ปฏิบัติได้ ครูทุกท่านตั้งใจสอนและเก่งทุกท่านเลย โดยเราเข้าไปดูตัวอย่างการสอนในพื้นที่ออนไลน์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วนำมาปรับใช้ ก็พบว่าครูท่านอื่นก็มีวิธีการที่เก่ง เจ๋งๆ เยอะแยะเลย 

ข้อเสนอ

ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าหนักจริง การเรียนออนไลน์ให้เด็กนั่งหน้าจอทุกวิชากลุ่มสาระเลย ก็ค่อนข้างหนักพอสมควร แต่ถ้าเราปรับหลักสูตรว่าบางวิชาบูรณาการเข้าด้วยกันได้ก็น่าจะดี อีกเรื่องที่สำคัญคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะการเรียนรู้อยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ใครที่ไม่อยากหยุดอยู่กับที่ อย่าหยุดที่จะเรียนรู้ แค่นั้นแล้วชีวิตจะเดินหน้าต่อไป

“ครูทิว” ธนวรรธน์ สุวรรณปาล โรงเรียนราชดำริ

ครูธนวรรธน์ สุวรรณปาล “ครูทิว”
สอนวิชาสังคมและประวัติศาสตร์ ชั้น ม.3
โรงเรียนราชดำริ กรุงเทพฯ
อายุ 29 ปี

พูดตรงๆ ปีที่แล้วยังไม่เท่าไหร่ เพราะเราทดลองช่วงพฤษภาคม และเปิดจริงช่วงกรกฎาคม ก็ยังกลับมาสลับกันเรียนได้ ยังไม่มีอะไร ยังเจอหน้านักเรียน มาออนไลน์จริงๆ ช่วงปลายเดือนธันวาถึงมกราคม 2564 แค่เดือนเดียวก็รู้สึกว่าไม่ได้หนักหนา แต่มาช่วงนี้ของจริง ก็เริ่มจะล้ากันแล้ว เด็กก็เช่นกัน 

สิ่งที่ผมและครูทุกคนพยายามทำคือ สร้างให้การเรียนออนไลน์มีการพูดคุยกันให้มากที่สุด คือเด็กได้ทั้งเรียนรู้และได้พูดคุยไปด้วย สิ่งนี้น่าจะเป็นประเด็นสำคัญสุดช่วงประคับประคองนี้ แล้วพอกลับไปโรงเรียน ก็จะมีกิจกรรมให้เด็กนักเรียนได้พัฒนาจิตใจและอารมณ์เพิ่มมากขึ้น

สิ่งที่จะช่วยครูจัดการในช่วงนี้และต่อไปได้ก็คือ การสร้างพื้นที่ให้ครูได้ทำงานร่วมกัน ไม่ต้องรู้สึกว่าเผชิญหน้ากับปัญหาอยู่คนเดียว เพราะการพูดคุยกันจะได้มุมมองต่างๆ จะได้แชร์ ได้ช่วยกันออกแบบ ครูจะได้ไม่เครียด สุดท้ายก็เกิดผลดีกับเด็กด้วย เช่น หากครูสอนเรื่องเดียวกัน ทุกโรงเรียนทำสื่อเรื่องเดียวกัน ก็อาจเปลืองทรัพยากร ถ้ามีสื่ออะไรที่ดีอยู่แล้ว อาจจะดึงมาใช้ได้ แล้วครูชวนคุย ทำกระบวนการให้เด็กได้เรียนรู้จากสื่อตรงนั้นจะดีกว่า

ปัญหาการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ ทำให้ครูพะวักพะวนว่าจะจัดการกับเด็กกลุ่มนี้ยังไงดี จะออกแบบอย่างไรมิให้เด็กตกหล่น คุณครูจึงไม่ได้สอนออนไลน์เพียงรูปแบบเดียว ออนไลน์แล้วต้องออนดีมานด์ด้วย ทำคลิปวิดีโอ ทำเอกสารต่างๆ แขวนไว้ เพื่อให้เด็กที่พอบริหารจัดการได้ตามมาดูทีหลัง ทำให้ครูทำงานเป็นสองเท่า หนึ่ง เอกสารประกอบการเรียนออนไลน์ สอง สำหรับเด็กที่เข้าไม่ถึงเลย ครูก็ต้องทำเป็นชุดบทเรียนสำเร็จรูปที่เขาสามารถเรียน อ่าน ทำด้วยตนเอง การเตรียมการสอนจึงเพิ่มขึ้นมาก 

ภาวะความเครียดของเด็กก็เกิดขึ้นตามมา รวมถึงภาวะความเครียดของครูด้วย นักเรียนเมื่อเรียนไม่รู้เรื่อง ตอนอยู่ในห้องเรียนยังหันซ้ายหันขวาไปเจอเพื่อน แต่ตอนนี้ไม่รู้จะคุยกับใคร ส่วนครูเวลาถามอะไรไป ไม่เหมือนในห้องเรียนที่เราเห็นแววตาเขา แต่ตอนนี้เราไม่เห็นแววตาเพราะเขาปิดกล้อง การบังคับให้เด็กเปิดกล้องก็เป็นปัญหาอีก เด็กเกิดภาวะความเครียด ไม่อยากเปิดกล้อง ครูก็ไม่รู้ว่าเด็กเข้าใจหรือไม่เข้าใจ แล้วครูก็เริ่มปวดหลัง อย่างสอนปกติก็ได้ออกกำลัง ได้ขยับเขยื้อนบ้าง แต่ตอนนี้นั่งหน้าจออย่างเดียวเลยจริงๆ

ข้อเสนอ

ฝ่ายการศึกษาควรมีการบริหารความเสี่ยงและมีนโยบายที่มองการณ์ไกล อย่างเทอมสอง ต้องมีแผนเอ แผนบี ถ้าต้องเรียนทางไกลเราจะปรับหลักสูตรอย่างไร เราจะให้เวลาเด็กและครูได้พักหน่อยไหมตอนปิดเทอม จะได้มีเวลามาตั้งหลักกันใหม่ 

โรงเรียนต้องมีความกล้าหาญที่จะรับฟังคุณครู รับฟังนักเรียน ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น มีพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่าจะมีทางออกอย่างไร  หลายโรงเรียนไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัวผิดระเบียบ  ทั้งที่จริงๆ น่าจะทำได้  ต้องมีความกล้าตัดสินใจบนฐานประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ และทางกระทรวงเองก็น่าจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับโรงเรียน ให้โรงเรียนสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง

“ครูเปรี้ยว” ธีระวีร์ บัวหลวง ศุภพิชญพงษ์ โรงเรียนโยธินบูรณะ

ครูธีระวีร์ บัวหลวง ศุภพิชญพงษ์ “ครูเปรี้ยว”
สอนวิชาภาษาไทย ม.ปลาย
โรงเรียนโยธินบูรณะ
อายุ 28 ปี

ต้องขอบคุณคุณครูทุกคนที่พยายาม ผมเข้าใจว่าครูทุกคนพยายามอย่างเต็มที่เพื่อจัดการเรียนรู้ เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของนักเรียน ในช่วงที่ทุกอย่างไม่ค่อยพร้อมเท่าใดนัก 

สำหรับการสอนออนไลน์ ผมใช้รูปแบบผสมผสาน เป็น blended learning คือ ระหว่างออนไลน์กับออนดีมานด์ ผมทำคลิปเนื้อหาแล้วแขวนไว้ใน YouTube และ Google Classroom เป็นออนดีมานด์คือ เด็กนักเรียนคนใดที่มีความพร้อมและเรียนได้เร็ว ก็เรียนล่วงหน้าได้ก่อน ส่วนที่เป็นออนไลน์ ช่วงแรกผมใช้โปรแกรม zoom ช่วงหลังมาใช้ Google Meet 

โดยส่วนตัวผมมองว่าการเรียนออนไลน์ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่อย่างน้อยยังทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนไม่ได้ถดถอยมาก ยังเป็นการเรียนที่ต่อเนื่องบ้าง แต่ผมไม่แน่ใจว่า พอกลับมาออนไซต์ในห้องเรียน เราจะกลับมาฟื้นฟูได้ไหม เพราะสิ่งที่สังเกตเห็นในห้องเรียนก็คือ ทักษะการเรียนของนักเรียนถดถอยลง เช่น ผมสอนวิชาภาษาไทย ทักษะการอ่านช่วงเรียนออนไลน์ เราน่าจะได้มีเวลาเจาะโฟกัสมากขึ้น แต่กลับเป็นว่านักเรียนมีทักษะน้อยลงจนน่าตกใจ เช่น เด็ก ม.5 อ่านเนื้อความสั้นๆ สองย่อหน้า แต่เด็กจับใจความไม่ถูก แล้วเด็กคนที่หลุดจากการศึกษาหรือต้องไปทำงาน ไม่รู้ว่ากลับมาเรียนออนไซต์จะช่วยได้หรือเปล่า

ช่องว่างความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับทรัพยากรของเด็กมีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อโควิดเข้ามาก็ทำให้ช่องว่างกว้างมากขึ้น ใครพร้อมก็เข้าถึง ใครไม่พร้อมก็หลุดไป ระบบการศึกษาไทยมีปัญหาฝังลึกหลายด้าน โควิดช่วยเร่งให้มองเห็นภาพปัญหาชัดขึ้น

ตลอดระยะเกือบสองปีที่เจอโควิด เหมือนครูทุกคนโดนผลักลงน้ำ ต้องพยายามหาวิธีจัดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ความช่วยเหลือจากส่วนกลางมาไม่ค่อยถึงหรือมาช้า ในส่วนของนักเรียน เรายังไม่ได้เห็นการแก้ปัญหาหรือช่วยสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ตัวอย่างเช่น เรื่องซิมอินเทอร์เน็ต ณ วันนี้เรายังไม่เห็นรายละเอียดความช่วยเหลือใดๆ ยังไม่นับอุปกรณ์ที่เด็กต้องเรียนออนไลน์อีก

ข้อเสนอ

ต่อให้โควิดยังอยู่หรือหายไป สิ่งที่เราต้องพิจารณาอย่างยิ่งคือ การพัฒนาระบบการศึกษาทั้งระบบ  จะมองแค่เรื่องเปิดเทอมแล้วมาฟื้นฟูคงไม่ได้  ต้องมองถึงข้างหน้าว่า  หนึ่ง เตรียมบุคลากรให้พร้อมอย่างไร  สอง พัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน  สาม หามาตรการช่วยเหลือเด็กกลุ่มต่างๆ ให้เพียงพอ

อาจจะถึงเวลาทบทวนเรื่องการบริหารและโครงสร้างที่ทำให้โรงเรียนมีอำนาจตัดสินใจได้รวดเร็ว  พอข้างบนไม่ขยับ ข้างล่างก็ไม่กล้าขยับ เพราะกลัวว่าจะผิดเหมือนกัน

ฝากถึงผู้บริหารว่า ครูทุกคนทำงานหนัก ครูทุกคนมีวิธีการทำงานที่หลากหลายเยอะแยะมาก สิ่งสำคัญคือสนับสนุนให้กำลังใจครูเยอะๆ ครับ เชื่อใจครู เข้าใจครูในการทำงานครับ แล้วทุกอย่างจะออกมาดี

“ครูมอส” พชร ทองม้วน โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม

ครูพชร ทองม้วน“ครูมอส”
สอนวิชาคณิตศาสตร์ ม.5
โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม กรุงเทพฯ
อายุ 29 ปี

เราเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ ตื่นเต้น แอคทีฟ เราคิดว่าโควิดมาแต่เราต้องสู้กับมัน ต้องพร้อมเจอกับโควิด เราก็ไปศึกษาเรียนรู้เรื่องแอปพลิเคชันต่างๆ เยอะมาก ปี 2563 เราเอาแอปพวกนี้มาเล่นกับเด็ก เด็กก็สนุกนะครับ แต่พอมาปีนี้เราคิดว่าการออกแบบการเรียนรู้มันไม่ได้อยู่ที่แอป เราตั้งสติค้นพบว่า หัวใจของการศึกษาไม่จำเป็นต้องพึ่งแอปเยอะแยะ เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าครูคนนี้สอนสนุกมากเลย สอนดี เราก็อยากจะเป็นเหมือนเขา พอสุดท้ายแล้วการเป็นตัวของเราเองมันดีที่สุด เดี๋ยวเด็กก็จะเห็นเองว่าเราเป็นยังไงบ้าง 

ปัญหาของนักเรียนที่พบคือ พอเรียนออนไลน์มาปีกว่า เด็กจะถึงจุดที่ ‘อึน’ แล้ว ห้องเรียนจะอึนๆ ถ้าเด็กอึนแล้ว เราพยายามโยงหากิจกรรมให้เด็กทำอยู่ในบ้าน เช่น เราสอนคณิตศาสตร์เรื่องเวคเตอร์ ก็ให้เด็กไปหาอะไรที่เป็นสามมิติ แกน xyz เขาก็ถ่ายรูปมา เป็นตามมุมบ้าน ผนังบ้าน กล่อง 

การสอนออนไลน์ เราเน้นการสอนในห้องให้เข้าใจมากกว่า ภาษาคณิตศาสตร์มันยาก ก็พยายามคุยให้มันง่าย เหมือนเพื่อนมาเล่าให้เพื่อนฟัง แล้วเราชอบให้เด็ก recap เมื่อกี้เขาพูดอะไร เล่าให้ฟังหน่อย เป็นการเช็กความเข้าใจเด็กไปด้วย

โดยส่วนตัวเราปรับตัวได้แล้ว โรงเรียนก็ปรับตารางให้เด็ก โดยขอความร่วมมือให้คุณครูออกแบบการสอนให้ได้หนึ่งในสามของคาบ สมมติว่ามีหกสิบนาที เราจะสอนให้ได้ยี่สิบนาที เวลาที่เหลือก็ให้เด็กศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง หรือมอบงานให้ทำ เราก็ต้องมาดีไซน์ว่ายี่สิบนาทีจะทำอะไรได้บ้าง 

ช่วงนี้เป็นบททดสอบเหมือนกัน การเป็นคุณครูในยุคโควิดไม่ธรรมดานะ ถ้าผ่านตรงนี้มาได้แสดงว่าครูเก่ง เพราะเรากำลังต่อสู้กับสิ่งที่ไม่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยมาเลย จึงอยากให้กำลังใจคุณครู แล้วก็ชวนให้ฟังเสียงเด็กๆ  เขาอาจไม่ได้ต้องการสิ่งที่เลิศเลอ แค่เข้าใจเขา อยู่กับเขา เขาชอบเรียนรู้แบบไหน ถ้าเราพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ครูอาจเห็นบางอย่างในตัวเด็กมากขึ้น เรามองว่าความขยันมันชนะจริงๆ ในช่วงโควิดเด็กที่ขยันจะได้คะแนนมากจริงๆ เป็นบททดสอบเด็กนักเรียนเหมือนกันว่า ถ้าเอาชนะความขี้เกียจได้ ขยันได้ ก็น่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองพอสมควร อาจเป็น big change ของเด็กและครูว่าเราสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่จริงๆ

ข้อเสนอ

เรื่องหลักสูตรที่แบ่งเป็น หลักสูตรที่ “ต้องรู้” กับหลักสูตร “ควรรู้” มันชัดเจนว่าดูยืดหยุ่นแล้ว แต่หลักสูตรคณิตศาสตร์โดยเฉพาะ ม.ปลาย มีแต่สิ่งที่ต้องรู้หมด หลักสูตรจึงเยอะมาก อยากให้ลองคุยเรื่องหลักสูตรกันอีกครั้ง ปรับหลักสูตรให้น้อยลงกว่านี้ รวมถึงอยากให้หลักสูตรคณิตศาสตร์ไม่เป็นนามธรรมเกินไป

อีกปัญหาที่ไม่เคยถูกพูดถึงคือ mental health หรือปัญหาสุขภาพจิต เราต้องพูดถึงเรื่องนี้กันเพื่อช่วยเยียวยาทั้งเด็กและครู  ให้มีพื้นที่ระบาย พูดคุยแลกเปลี่ยน เราไม่รู้ว่าเด็กมีวิธีจัดการความเครียดยังไง เด็กน่าจะเครียดมากกว่าครูอีกเพราะต้องนั่งเรียนออนไลน์ทุกวัน