ส่องชีวิตเด็กและครอบครัวไทยในทางสองแพร่ง เมื่อโควิดคลายตัว แต่ปัญหาไม่ได้ลดตาม

ส่องชีวิตเด็กและครอบครัวไทยในทางสองแพร่ง เมื่อโควิดคลายตัว แต่ปัญหาไม่ได้ลดตาม

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เด็กและเยาวชนไทยต่างต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย และปัญหาโรคซึมเศร้าที่มีผลมาจากการเรียนผ่านระบบออนไลน์โดยลำพังเป็นเวลานาน ปัญหาเศรษฐกิจหดตัว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อรายได้ในครัวเรือน รวมถึงปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว ฯลฯ

ทว่า แม้สถานการณ์โรคระบาดจะผ่อนคลายลงแล้ว ปัญหาเหล่านั้นกลับไม่ได้ผ่อนลงตามแต่อย่างใด เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยต่างเผชิญปัญหาเหล่านั้นอยู่ และยังขาดความช่วยเหลืออย่างเพียงพอจากภาครัฐ

ข้อมูลจากรายงาน ‘เด็กและครอบครัวไทยในทางสองแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว ปี 2023’ โดย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) พบว่าแม้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะเบาบางลง และรัฐบาลได้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรณีดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่บาดแผลจากวิกฤตในครั้งนั้นที่เยาวชนไทยต้องเผชิญยังคงเห็นผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งเรื่องสภาพความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต และภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย เป็นต้น ภาวะที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตโรคระบาดนี้ นับเป็นทางแพร่งแรกที่เด็กและครอบครัวไทยต้องเผชิญ

ขณะเดียวกัน หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เด็กและครอบครัวไทยก็ต้องเผชิญกับทางแพร่งหลัง คือความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่และการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่จะตามมา ก็จะส่งผลต่อทิศทางของเด็กและครอบครัวไทยต่อจากนี้เช่นกัน

ภายใต้บริบททางสองแพร่งดังกล่าว ประเด็นสำคัญที่เหล่าเด็ก เยาวชน และครอบครัวไทยต้องเผชิญอาจแบ่งได้ทั้งสิ้น 6 ประเด็น ดังนี้

1. เด็กและเยาวชนเติบโตในครัวเรือนเปราะบางทับซ้อน และยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤต

หลังจากวิกฤตโรคระบาด รายได้ในครัวเรือนหดตัวลง ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตเด็ก ความเปราะบางของครอบครัวในสังคมไทยมีความซับซ้อนขึ้นกว่าที่เคย ในสภาพเช่นนี้ครัวเรือนยากจนและครัวเรือนที่มีเด็กอยู่ล้วนฟื้นตัวจากวิกฤตได้ยากกว่า 

ขณะเดียวกัน รัฐยังขาดข้อมูลสำหรับให้ความช่วยเหลือครัวเรือนที่เปราะบางอย่างทั่วถึง และนโยบายที่เกี่ยวกับครอบครัวยังคงเน้นที่การให้สวัสดิการเป็นตัวเงิน แต่ยังขาดซึ่งระบบที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบางทับซ้อน

2. งานที่ดีและสอดคล้องกับความฝัน ยิ่งเป็นไปได้ยากขึ้น

ชีวิตของเยาวชนหลังทางแพร่งโรคระบาด ล้วนประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งงานและแหล่งรายได้ แม้ว่าพวกเขาจะอยากประสบความสำเร็จในอาชีพการงานมากแค่ไหนก็ตาม ในทางกลับกัน งานที่พวกเขาพอจะหาได้กลับไม่ใช่งานที่ดี ซึ่งงานที่มีอยู่ล้วนเป็นงานค่าจ้างต่ำ ไม่ตรงกับสิ่งที่พวกเขาฝันอยากจะทำ และอาจเป็นงานที่หนักเกินควร แม้จะอยากทำงานมากแค่ไหน แต่พวกเขาก็ให้ความสำคัญกับจริยธรรมของนายจ้าง และประชาธิปไตยในที่ทำงาน

จำนวนของเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้รับการศึกษา การจ้างงาน หรือฝึกทักษะ (NEET: Not in Education, Employment, or Training) มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 14.8-15.1 ซึ่งแม้พรรคการเมืองในช่วงที่ผ่านมาจะนำเสนอนโยบายที่เน้นการสร้างงาน-เพิ่มรายได้มากเพียงใด แต่ก็ขาดนโยบายสำหรับกลุ่ม NEET ไป และขาดนโยบายการสร้างงานที่ดีที่สอดคล้องกับค่านิยมของเยาวชนในปัจจุบัน

3. เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอย และพัฒนาทักษะจำเป็นจากระบบการศึกษา

การปิดสถานศึกษาช่วงโควิด และมุ่งเน้นไปที่การเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทำให้เด็กและเยาวชนมีภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับการฟื้นฟูให้ดีขึ้นแม้สถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง โควิดก็เร่งความจำเป็นของการมี ‘ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21’ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและการทำงานในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทว่าระบบการศึกษากลับไม่ช่วยพัฒนาทักษะเหล่านั้นให้พวกเขาอย่างเพียงพอ นอกจากนี้เด็กในฐานะครัวเรือนที่แตกต่างกัน ก็มีระดับการพัฒนาทักษะที่ไม่เท่ากันด้วย

ทางด้านการให้บริการการศึกษา เยาวชนต้องเผชิญปัญหาครูไม่เพียงพอ และไม่มีเวลาใส่ใจนักเรียนอย่างทั่วถึง และยังมีครูที่ขาดความรู้ในเรื่องที่ตัวเองสอน เพราะขาดการพัฒนาทักษะอีกด้วย หนำซ้ำเยาวชนยังต้องเจอกับปัญหาอำนาจนิยมในห้องเรียนที่ไม่เปิดกว้างทางความคิด ไม่ยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่างของนักเรียน มีรายงานด้วยว่าเด็กที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเสรีภาพทางความคิด การแสดงออก และสิทธิการมีส่วนร่วม มักเป็นกลุ่มที่ถูกครูลงโทษให้เจ็บปวดทางร่ายกายและจิตใจมากที่สุดอีกด้วย

ในด้านการเสนอนโยบาย พรรคการเมืองส่วนใหญ่เน้นนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา และในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมดมีเพียงพรรคก้าวไกลพรรคเดียวเท่านั้นที่มีนโยบายให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของนักเรียน และต่อต้านอำนาจนิยมในโรงเรียน

4. เด็กและเยาวชนเผชิญปัญหาเครียด-ซึมเศร้า แต่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพจิต

หลังรัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกล็อกดาวน์ เด็กนักเรียนกลับเข้าสู่การเรียนในห้องเรียนแบบออนไซต์มากขึ้น ซึ่งทำให้ความเสี่ยงซึมเศร้าของเด็กลดลง ทว่าเมื่อเปิดภาคเรียนใหม่ ความเสี่ยงซึมเศร้าของเด็กก็กลับเพิ่มสูงขึ้น และจะลดลงอีกครั้งเมื่อปิดภาคเรียน ซึ่งทำให้เห็นว่าการเรียนยังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อภาวะซึมเศร้าของเยาวชน

ครอบครัวยังคงเป็นรากฐานสำคัญในการดูแลจิตใจให้กับเยาวชน มีรายงานว่าเยาวชนที่ขาดการปรึกษาปัญหาชีวิตกับผู้ปกครองมักมีความเครียดสูง 

บริการดูแลสุขภาพจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่นยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูงในการเข้าถึง จำนวนสถานพยาบาลที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นยังไม่เพียงพอ ในพื้นที่บางจังหวัด พบว่าไม่มีสถานพยาบาลที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเลยแม้แต่ที่เดียว

ท่ามกลางปัญหาสุขภาพจิตที่เด็กและเยาวชนเผชิญมากขึ้น ส่งผลให้มีเด็กและเยาวชนจำนวนมากมุ่งที่จะเข้าเรียนต่อเพื่อประกอบอาชีพเป็นจิตแพทย์และนักจิตวิทยา พวกเขาเหล่านี้เคยเผชิญปัญหาสุขภาพจิตมาก่อน และเมื่อผ่านมาได้ พวกเขาจึงอยากจะพัฒนาตนเองเป็นฝ่ายช่วยเหลือผู้อื่นในอนาคต

ในปัจจุบัน ปัญหาสุขภาพจิตถูกให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น แต่ยังคงเป็นสัดส่วนน้อยอยู่ และไม่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ในบรรดาพรรคการเมืองมีเพียง 3 พรรคเท่านั้นที่ประกาศนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพจิตอย่างเป็นทางการ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์

5. เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจำนวนมากขึ้น ในรูปแบบซ้อนเร้นยิ่งขึ้น

ความรุนแรงส่วนใหญ่ที่เด็กและเยาวชนเผชิญนั้น อยู่ในชีวิตประจำวัน โดยความรุนแรงที่เด็กเผชิญมากที่สุดคือการล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากนี้ การเข้าสู่การเรียนออนไลน์ยังทำให้เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขว้าง แต่ขาดการแนะนำ หรือบ่มเพาะภูมิต้านทานในโลกไซเบอร์อย่างเพียงพอ จึงทำให้พวกเขาเปราะบางต่อภัยคุกคามออนไลน์เป็นอย่างมาก 

ในเยาวชนหลายกลุ่ม เยาวชนที่มีทัศนคติก้าวหน้ามีแนวโน้มจะถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุด ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงเช่นนี้ พรรคการเมืองกลับไม่มีข้อเสนอหรือนโยบายใดที่จะมาแก้ปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชนอย่างเป็นเอกภาพ

6. เด็กและเยาวชนฝันถึงสังคมใหม่อย่างหลากหลาย แต่ระบบการเมืองไม่เปิดกว้าง-รับฟัง

เยาวชนต่างฝันถึงสังคมที่มีความหลากหลายแตกต่างกันไป แต่พวกเขาก็มีฉันทมติในวงกว้างที่เห็นตรงกันใน 3 หลักการใหญ่ คือ 1) คุ้มครองเสรีภาพทางความคิด เปิดพื้นที่เพื่อคนหลากหลาย 2) ทลายระบบอุปถัมภ์-เส้นสาย แก้ปัญหาการทุจริต และ 3) ปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้ทุกคนกินดีอยู่ดี มีโอกาสเสมอกัน 

ในอีกด้าน รอยแยกสำคัญในความฝันของพวกเขาที่อาจเห็นไม่ตรงกันนัก อยู่ในประเด็นชาติ วัฒนธรรม และเพศสภาพ

ส่วนความฝันเชิงคุณค่าของพวกเขา สะท้อนผ่าน ‘จินตนาการ’ ถึงนโยบายต่างๆ ที่มีความเป็นรูปธรรม เช่น อยากให้มีสวัสดิการและการบริการสาธารณะที่ประชาชนเข้าถึงได้ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าความฝันเหล่านี้จะขับเคลื่อนได้ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ในด้านพรรคการเมือง พรรคก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่มีนโยบายขยาย-คุ้มครองการมีส่วนร่วมของเยาวชน รวมไปถึงการขับเคลื่อนในประเด็นต่าง ๆ ของพรรคก้าวไกล ก็ยังสอดคล้องกับสิ่งที่เด็กและเยาวชนในปัจจุบันกำลังเผชิญและรู้สึกอยู่

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศ “ดูแลช่วยเหลือนักเรียนในการศึกษาขั้นพื้นฐาน” กับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยเป็นความร่วมมือในการทำงานเชิงลึกมากยิ่งขึ้นกับกลุ่มนักเรียนที่มีแนวโน้มความเสี่ยงหรือมีปัญหาด้านพฤติกรรม อารมณ์ สังคม และสุขภาพจิต ซึ่งกรมสุขภาพจิต สพฐ. และ กสศ. จะบูรณาการงานเชิงระบบเพื่อส่งต่อข้อมูลนักเรียนไปยังระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ หรือ School Health Hero สนับสนุนให้เกิดกลไกการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่สอดคล้องกับความต้องการเป็นรายบุคคล การพัฒนาชุดความรู้ความร่วมมือทางวิชาการ และร่วมกันจัดทํา data catalogue ในการให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนนักเรียนให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ เดินหน้าสร้างหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้อย่างยั่งยืนร่วมกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง คลิก