5 คำถามถอดรหัส ‘ยะลาเสมอภาค’ สู่การสร้าง ‘สภาการศึกษา’
เพื่อเป็นเกราะป้องกันที่ยั่งยืน ของเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา

5 คำถามถอดรหัส ‘ยะลาเสมอภาค’ สู่การสร้าง ‘สภาการศึกษา’

“เครือข่ายการทำงานเชิงพื้นที่ทำให้เรามีความหวังที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้อยโอกาสที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วจังหวัด แต่ยิ่งลงลึกในกระบวนการทำงาน ก็ยิ่งต้องยอมรับว่า เด็กคนหนึ่งที่หลุดออกจากระบบ หรือไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ จนนำไปสู่วงจรความยากจนที่ส่งต่อกันข้ามชั่วคน ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้หมดไปได้ในระยะเวลาสั้นๆ

“ผลลัพธ์จากการทำงานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ฯ ทำให้เราเห็นแนวทางว่า ถ้ามีรูปแบบวิธีการที่ชัดเจน และรวมพลังของคนในจังหวัดได้จริงๆ การกระจายความเสมอภาคทางการศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดีก็ไม่ใช่เรื่องห่างไกลอีกต่อไป ดังนั้นเมื่อ กสศ. เข้ามาวางรากฐานการทำงานแล้ว เราต้องมองถึงความต่อเนื่องในการรักษาพลังและยกระดับการทำงานต่อไป เพื่อเป็นที่พึ่งให้กับเด็กเยาวชนนอกระบบได้ในระยะยาว” 

มุขตาร์ มะทา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา
ประธานสภาการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดยะลา

มุขตาร์ มะทา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา/ประธานสภาการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดยะลา เผยประสบการณ์การทำงานร่วมกับโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในฐานะ 1 ใน 20 จังหวัดนำร่อง จนสามารถค้นพบและช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบ รวมถึงประคับประคองกลุ่มเสี่ยงหลุดได้ 2,435 คน พร้อมนำมาสู่การจัดตั้ง ‘สภาการศึกษาจังหวัด’ และ ‘กองทุนเพื่อการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชนยะลา’ ซึ่งพร้อมดำเนินงานด้านการศึกษาเพื่อ ‘คนยะลา’ ทุกคนต่อไปในอนาคต  นี่คือ 5 คำถามอันจะนำไปสู่การถอดรหัสการทำงานเชิงพื้นที่ ว่าพวกเขาไปสู่ผลลัพธ์และสร้างเครือข่ายความร่วมมือของคนในพื้นที่ให้เข้มแข็งได้อย่างไร…

1. การร่วมโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ฯ ได้จุดประกายแนวทางที่ต่อยอดไปถึงการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายอย่างไร

ตอบ: “นำมาสู่การสานสร้างเครือข่ายความร่วมมือของคนทั้งจังหวัด และมีการทำงานที่ลงลึกในระดับชุมชน”

การทำงานโครงการเริ่มต้นที่จุดเล็กๆ มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ธุรกิจท้องถิ่น ผู้นำชุมชน จากระดับจังหวัดลงสู่อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน มี CM, CMS ซึ่งเป็น อสม. หรือบัณฑิตอาสาลงพื้นที่ค้นหาเด็กเยาวชนนอกระบบตามบ้านต่างๆ แล้วนำข้อมูลกลับมาบูรณาการจัดการกลุ่มเป้าหมายเป็นรายคน เมื่อเคสแรกๆ ทำแล้วเห็นผล เครือข่ายจึงแข็งแรงขึ้น มีกลไกที่ทำให้งานก้าวหน้าไปตามขั้นตอน

โครงการเข้ามาจุดประกายการทำงาน เพราะแม้ก่อนหน้านั้นจะมีการทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษามาก่อน แต่ก็เป็นแบบต่างคนต่างทำ และยังไม่มีแผนงานเชิงพื้นที่ที่ละเอียด พอมีการปรับเปลี่ยนมารวมกำลังทำงานด้วยกัน ผสานกับข้อมูลเชิงลึก ทำให้ทุกฝ่ายเห็นตัวเลขที่แท้จริงของเด็กจำนวนมากในพื้นที่ และปลุกความเชื่อว่าเราสามารถกระจายความเสมอภาคทางการศึกษาออกไปได้

“จากนั้นจึงเกิดการทำงานและส่งต่อกลุ่มเป้าหมายที่ไร้รอยต่อ ไร้สังกัด เพราะทุกคนใช้เด็กเป็นตัวตั้ง แล้วใส่ความมุ่งมั่น ตั้งใจ เสียสละเข้าไป เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ ทำให้เด็กได้รับความช่วยเหลือ ได้เข้าถึงการศึกษา ได้พัฒนาทักษะอาชีพ และมีงานทำในอนาคต

“พื้นที่เรามีปัญหาสั่งสมจากความไม่สงบและความยากจนข้ามชั่วคนมายาวนาน ขณะที่โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ฯ ทำให้คณะทำงานเราเห็นชัดว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ‘มีตัวตน’ จับต้องได้ ซึ่งทำให้ ‘เรา’ เชื่อว่าถ้าปลดล็อกปัญหาการศึกษาได้ ความยากจนเหลื่อมล้ำจะลดลงตามกัน” 

2. โมเดล ‘ยะลาเสมอภาค’ / เกิดขึ้น / มีกลไกทำงาน / และมีเป้าหมาย / อย่างไร

ตอบ: “กำเนิดบนรากฐานของโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ฯ เพื่อสานต่อพลังที่ร้อยรวมกันแล้วของคนทำงานทุกภาคส่วนให้ยั่งยืน สามารถช่วยเหลือเด็กเยาวชนและเป็นกลไกพัฒนาระบบการศึกษาจังหวัดได้ในระยะยาว”

“การทำงานโครงการเกือบสามปีทำให้เห็นว่า เรากำลังต่อสู้กับปัญหาที่ใหญ่ หนัก ซับซ้อน ซึ่งไม่อาจแก้ไขได้ในเวลาสั้นๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันในอีกด้านหนึ่ง คือพลังความร่วมมือของ ‘คนยะลา’ ที่ทำให้การขับเคลื่อนงานรวดเร็วและไปสู่ความสำเร็จได้เป็นลำดับขั้น ดังนั้น การมองไปยังปลายทางว่าจำนวนของเด็กที่เข้าไม่ถึงการศึกษาที่มีคุณภาพจะลดน้อยลงหรือหมดไปในวันหนึ่ง จึงไม่ได้เป็นเพียงความหวังอีกต่อไป

“ด้วยรากฐานที่โครงการวางไว้ ทำให้เรามองไปที่ความต่อเนื่องของการทำงานที่ยั่งยืน หมายถึง ‘อนาคต’ ที่วาดไว้จะต้องไม่จบไปพร้อมการสิ้นสุดของโครงการ เรามองว่าสิ่งที่มีค่ามากๆ คือความผูกพันแน่นเหนียวของคนจำนวนมากที่เขาตระหนักถึงปัญหา รู้สึกมีส่วนร่วม มีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งมันน่าเสียดายเกินกว่าจะปล่อยให้คลายออก

“การค้นหา เจอตัว และช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ไปแล้วจำนวนหนึ่ง มันได้สร้างประสบการณ์ที่พิเศษเอาไว้ในหัวใจของคนทำงาน เพราะพวกเขาลงไปสัมผัสพูดคุยกับเด็กและครอบครัวจนกลายเป็นความใกล้ชิด เอาใจใส่ ร่วมรับรู้แบ่งปันทั้งความสุข ความทุกข์ หรือความหวัง ได้เห็นแววตาของเด็กๆ ที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามเวลา เห็นครอบครัวเขามีชีวิตที่ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่สะท้อนอยู่ในใจคนทำงานว่า ถ้าวันหนึ่งโครงการจบลงแล้ว เด็กๆ เหล่านี้จะไปต่อได้อย่างไร

“คณะทำงานจึงเห็นร่วมกันว่า เราจะจัดตั้ง ‘สภาการศึกษาจังหวัด’ เพื่อระดมทุน แรง สมอง และเครื่องมือทรัพยากรทั้งหมดในจังหวัด เพื่อต่อยอดการทำงานออกไป เพราะในเมื่อเรามีความผูกพันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ขนาดนี้แล้ว มันเหมือนความเป็นคนยะลาที่ฝังลึกในตัวทุกคนถูกปลุกขึ้น ฉะนั้นก็ไม่มีใครอยากย้อนกลับไปจุดเดิม คือจบโครงการแล้วแยกย้ายกันไปต่างคนต่างทำอีก”

3. ผลกระทบจากโควิด-19 และบทบาทของโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ฯ เป็นอย่างไร

ตอบ: “คนจนยิ่งจนลง อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น เด็กต้องออกไปเป็นแรงงาน ขาดเครื่องมืออุปกรณ์เรียนออนไลน์ จำนวนเด็กหลุดหรือกลุ่มเสี่ยงหลุดก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

“โมเดล ‘ห้องเรียนฉุกเฉิน’ จึงเกิดขึ้นเพื่อช้อนรับเคสที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน”

“เดิมก่อนมีโควิด-19 สถิติและข้อเท็จจริงก็ชี้ว่าเรามีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอยู่ในอันดับท้ายๆ ของประเทศอยู่แล้ว พอสองปีที่ผ่านมาเจอโควิด-19 กระหน่ำซ้ำ ปัญหาก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ครอบครัวที่จนอยู่แล้วจนลงไปอีก คนว่างงาน รายได้ลดลง กลายเป็นผลที่สะเทือนไปถึงเรื่องการศึกษา”

“เด็กหลายคนต้องเลิกเรียนออกไปหางานทำ บางบ้านพ่อแม่ไม่มีเงินส่งลูกเรียนต่อ ยิ่งในภาวะวิกฤตที่การเรียนออนไลน์เข้ามามีบทบาท เด็กจำนวนมากไม่มีสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต สัญญาณไวไฟ เขาก็ค่อยๆ ขาดการติดต่อแล้วหายไปจากการเรียน”

“ตัวเลขของเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการทำให้ครู ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชนที่แม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อำเภอนำร่อง ได้รับทราบว่ามีคณะทำงานที่พร้อมรับเคสฉุกเฉินต่างๆ ของเด็กที่หลุดแล้วหรือเสี่ยงมากที่จะหลุด จนมีการส่งรายชื่อกันเข้ามา ตรงนี้ทำให้เกิดโมเดล ‘ห้องเรียนฉุกเฉิน’ เพื่อรองรับปัญหาที่จะส่งผลกระทบไปอีกนาน โดยเฉพาะกับเด็กกลุ่มเสี่ยงในช่วงรอยต่อทางการศึกษา เช่น จบ ป.6 หรือ ม.3 ซึ่งไม่ได้เรียนต่อเยอะมากจากผลของโควิด-19”

การทำงานในสถานการณ์วิกฤต CM, CMS หรือผู้ดูแลรายกรณีจึงมีความสำคัญมาก เพราะต้องคอยสอบถามติดตามเด็กใกล้ชิด คอยรายงานสถานการณ์ของเด็กกลุ่มเสี่ยง หรือแม้แต่คนที่อยู่นอกพื้นที่อำเภอนำร่อง เมื่อพบเด็กแล้วแจ้งเรื่องเข้ามา คณะทำงานจะลงพื้นที่แล้วเข้าไปช้อนไว้ทันที ให้เขาได้รับความช่วยเหลือเรื่องปากท้อง มีเครื่องไม้เครื่องมือเรียนออนไลน์จนผ่านวิกฤตไปได้ หรือที่หลุดออกมาแล้วมีความพร้อมก็จะประสานกับสถานศึกษาเพื่อพากลับเข้าเรียนเร็วที่สุด ไม่รอถึงเทอมการศึกษาถัดไป”

4. หลังได้รับการช่วยเหลือแล้ว มีกระบวนการฟื้นฟูดูแลกลุ่มเป้าหมายในระยะยาวอย่างไร

ตอบ: “มุ่งช่วยเหลือตามบริบทปัญหา สื่อสารสถานศึกษาให้มีโปรแกรมฟื้นฟูดูแลรายกรณี ผลักดันกลุ่มเป้าหมายให้ได้ไปตามความต้องการของแต่ละคน”

“เมื่อพบเด็กแล้ว อย่างแรกเราต้องค้นหาว่าเขาอยากเรียนหรืออยากทำอะไร รวมถึงสอบถามผู้ปกครองถึงความพร้อมต่างๆ ในครอบครัว อย่างที่บอกว่าเราจะไม่ปล่อยให้เด็กรอ เพราะเป็นไปได้สูงว่าเขาจะไม่กลับมาอีก เรามีโรงเรียนในเครือข่ายที่พร้อมยืดหยุ่นกฎระเบียบบางอย่าง เพื่อเอาเด็กเข้าเรียนให้ได้ก่อน โดยเฉพาะพวกที่หลุดช่วงรอยต่อมาไม่นาน หรือเข้าเรียนไม่ทัน จะต้องได้เข้าเรียนและมีโปรแกรมฟื้นฟูความรู้ ปรับสภาพจิตใจและความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อไม่ให้กลับไปในวงจรเสี่ยงหลุดอีก”

“ส่วนพวกที่หลุดจากระบบมานานแล้ว กลุ่มนี้บางคนไม่อยากกลับไปเรียนในโรงเรียน เราจะสนับสนุนให้รับการพัฒนาทักษะอาชีพ มีผู้ดูแลรายกรณีคอยประกบ อาจเป็นครูในโรงเรียน หรือ อสม.พื้นที่ช่วยติดตามความเป็นอยู่ เพื่อประคองให้อยู่บนเส้นทางได้ในระยะยาว”

การที่เราพบเด็กและนำเข้าสู่ความช่วยเหลือ ไม่ได้หมายความว่างานสิ้นสุดแล้ว แต่เราต้องทำงานต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เด็กหลุดซ้ำ มีการติดตามพัฒนาการการเรียนรู้ ประเมินผล และช่วยกันปรับแผนเป็นระยะ นั่นถึงจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาไปต่อได้จริงๆ”

5. อะไรคือ ‘หัวใจสำคัญ’ ที่ทำให้จังหวัดยะลาสามารถหลอมรวม ‘คนทุกภาคส่วน’ ไว้ด้วยกัน จนเกิดกลไกทำงานที่เข้มแข็ง

ตอบ: “เพราะเรารับรู้ร่วมกันว่าการช่วยเหลือเด็กคนหนึ่ง หมายถึงความเป็นไปได้ที่เพิ่มขึ้น ในการเปลี่ยนแปลงอนาคตของเมืองเราไปในทางที่ดี”

“พอเราตระหนักร่วมกันว่าเด็กและเยาวชนในจังหวัดยะลาทุกคนคือลูกหลานของเรา คืออนาคตของท้องถิ่น ดังนั้นยิ่งเราช่วยเหลือเด็กได้มากขึ้นเท่าไหร่ ประโยชน์ที่ได้รับก็จะย้อนกลับมาหาพวกเราทุกคนเท่าๆ กัน”

การทำงานต่อจากนั้นมันจึงหลุดไปจากคำว่า ‘หน้าที่’ หรือ ‘ผลงาน’ ของใครหรือหน่วยงานใดหนึ่ง แต่ความสำเร็จจะเป็นสิ่งที่ทุกคนชื่นชมร่วมกัน เราต่างรู้ว่าการจะทำให้เด็กเยาวชนทุกคนในจังหวัดมีชีวิตที่ดี มีทางไปต่อในระบบการศึกษาหรือเส้นทางประกอบสัมมาชีพนั้น ไม่อาจพึ่งพิงหน่วยงานเดียว แต่ต้องดึงพลังความสามารถจากหลายฝ่ายมาประกอบกัน ทั้งรัฐ เอกชน ธุรกิจท้องถิ่น หรือแม้แต่ชาวบ้านคนหนึ่งก็มีส่วนในการทำให้สำเร็จได้”

ฝากทิ้งท้าย ‘กองทุนเพื่อการศึกษาเด็กและเยาวชน’ กับเป้าหมายในอนาคตอันใกล้

“ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทำให้เราสามารถตั้งสภาการศึกษาจังหวัด และกองทุนเพื่อการศึกษา ที่จะช่วยระดมทุนจากคนในจังหวัด มาช่วยให้เราก้าวข้ามงบประมาณโครงการที่จำกัด พร้อมนำข้อมูลและประสบการณ์จากโครงการไปทำงานต่อเนื่อง ช่วยเหลือเด็กๆ ให้พ้นวิกฤตในวันนี้ จนถึงขยายผลต่อไปถึงอนาคต”

“เราจะเปิดหลักสูตรการศึกษาทางเลือกเกี่ยวกับอาชีพต่างๆ ที่เด็กสนใจ พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่าย ค่ากินอยู่ เดินทาง ค่าเล่าเรียนและทำกิจกรรมต่างๆ อาจเป็นหลักสูตรระยะสั้น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้มีทางเลือกเพิ่มขึ้น ได้เข้าถึงวิชาความรู้ที่ตรงกับความต้องการ โดยเฉพาะหลักสูตรพื้นฐานพวกงานช่างที่เด็กสนใจกันมาก และหลักสูตรเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล ศาสตร์ความรู้ที่ทันกับโลกปัจจุบันและอนาคต ซึ่งวันนี้จังหวัดยะลาเราได้เริ่มต้นสร้างอาคารเรียน และคุยกับสถาบันอาชีวะเพื่อพัฒนาหลักสูตรแล้ว” นายก อบจ. ยะลากล่าว