Series: ‘สุรินทร์ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกช่วงวัย’ EP 3 : ‘เชื่อมมหาวิทยาลัยกับชุมชน’

Series: ‘สุรินทร์ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกช่วงวัย’ EP 3 : ‘เชื่อมมหาวิทยาลัยกับชุมชน’

ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติตำบลอู่โลก ‘เติมองค์ความรู้บนฐานทุนชุมชน สู่เส้นทางใหม่ที่สดใสกว่าเดิม’

“เราจะมอบกระบวนการหรือให้บริการทางวิชาการโดยไม่ถาม หรือไม่ศึกษาคน ไม่ศึกษาพื้นที่ไม่ได้ ก่อนเริ่มต้นงานทั้งหมด เราจึงต้องนับหนึ่งที่การตั้งคำถาม และค้นลึกลงไปให้ได้มาซึ่งคำตอบ ว่าชุมชนต้องการอะไร มีต้นทุนอะไร หรือเราจะช่วยส่งเสริมเขาได้ในส่วนไหน จากนั้นถึงจะไปต่อที่ขั้นตอนอื่น ๆ ได้”

แนวคิดดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘โครงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อเพิ่มโอกาสในอาชีพด้านการผลิตผ้าไหม’ ในพื้นที่ชุมชนตำบลอู่โลก อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ ที่ทำงานร่วมกับ คณะเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ อันเป็นส่วนหนึ่งของ ‘โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ’  โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

เมื่อผลสะท้อนกลับของชุมชนมาบรรจบตรงจุดเดียวกับการส่งเสริมในสิ่งที่จำเป็น ด้วยวิชาการ ด้วยการบริหารทรัพยากร และแผนงานที่มองไปสู่ความยั่งยืน เป้าหมายที่วางไว้จึงสำเร็จ ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน และแน่นอนว่าเมื่อรายได้ของคนในชุมชนดีขึ้น ในเวลาไม่นานก็สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงภาพรวมด้านคุณภาพชีวิต ส่วนตัวผลิตภัณฑ์เองก็พร้อมเปิดตลาดใหม่ ๆ ไปสู่ผู้บริโภคที่หลากหลายยิ่งขึ้น     

อาจารย์สุนิสา เยาวสกุลมาศ จาก หน่วยจัดการเรียนรู้ มรภ.สุรินทร์ กล่าวว่า ประสบการณ์ลงพื้นที่ให้ความรู้ทางวิชาการกับชุมชนตำบลอู่โลก ทำให้ได้ข้อมูลว่ากลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกพืชและทำปศุสัตว์ ส่วนในเวลาว่างจะรวมกลุ่มกันทอผ้า อย่างไรก็ตามผลประกอบการกลับกลายเป็นว่า ครัวเรือนจำนวนมากยังอยู่ห่างจากคำว่า ‘อยู่ดีมีกินพอเพียง’ ไกลนัก ทั้งที่สุรินทร์มีชื่อเสียงโดดเด่นเรื่องการทอผ้า หรือกล่าวได้ว่ามีประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาที่เป็นดั่งฐานทุนที่เข้มแข็ง

“พอได้ข้อมูลตั้งต้นว่าอู่โลกมีฐานองค์ความรู้อยู่แล้ว เราจึงกลับไปตั้งคำถามว่าเขาต้องการความช่วยเหลือหรือส่งเสริมอะไร เพื่อที่สถาบันจะได้กลับมาพัฒนาหลักสูตร หรือหากระบวนการช่วยเหลือให้เหมาะสม จนได้คำตอบจากชุมชนว่า การทอผ้าที่ทำ ๆ กันอยู่แต่เดิมจะใช้สีเคมี ซึ่งให้ความสวย ความสด แต่ไม่ปลอดภัยกับผู้ผลิต และไม่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ ดังนั้นสิ่งที่เขาอยากได้คือองค์ความรู้และกระบวนการการย้อมสีธรรมชาติ เพื่อความปลอดภัย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าไหม

“จากตรงนั้นเอง ที่ทำให้เกิดกระบวนการพูดคุยร่วมกัน ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน เพื่อหาโจทย์การพัฒนาที่สามารถเอาทุนภูมิปัญญาที่มีอยู่มาเติมเต็ม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ไปได้ไกลกว่าที่เคยเป็น” อาจารย์สุนิสา กล่าว

“เกิดแผนพัฒนาร่วมกัน ตลอดห่วงโซ่ของกระบวนการผลิต”

นอกจากองค์ความรู้เกี่ยวกับผ้าไหมในพื้นที่ มรภ.สุรินทร์ ยังพบว่า องค์ความรู้ที่กระจัดกระจายไปตามครัวเรือนต่าง ๆ นั้นมีความหลากหลาย และสามารถนำมาเชื่อมโยงกันได้แบบครบวงจร บางหมู่บ้านมีแปลงปลูกต้นหม่อน บางหมู่บ้านมีการขายเส้นไหม บางหมู่บ้านชำนาญการทอผ้า คณะทำงานจึงใช้วิธีลงทำงานในชุมชน โดยปรับให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่แต่ละหมู่บ้านมีส่วนร่วม และต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน เป็นการเชื่อมโยงหน่วยจัดการเรียนรู้กับคนในชุมชน และผสานคนต่างหมู่บ้านเข้าหากัน และเปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมออกแบบกระบวนการเรียนรู้ จนเกิด ‘กลุ่ม 6 สายน้ำ’ ที่รวมกันเป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชนตำบลอู่โลก’

“ทีแรกเราตั้งใจจะเติมความรู้เรื่องการย้อมสีธรรมชาติอย่างเดียว แต่พอกระบวนการเดินไป เริ่มวางแผน เราพบไอเดียว่าทำได้มากกว่านั้น คือทรัพยากรที่ทั้งมหาวิทยาลัยและพลังของชุมชนมี เราทำได้ทั้งห่วงโซ่การผลิตผ้าไหมเลย ตั้งแต่ต้นน้ำ คือปลูกหม่อน เลี้ยงไหม จนได้เส้นไหม ไปที่กลางน้ำคือการทอผืนผ้าขึ้นมา ทำเป็นผ้าถุง ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้คือความรู้ที่ชุมชนทำได้ทั้งหมด แล้วถึงส่วนปลายน้ำคือการขาย ทางมหาวิทยาลัยเราเสริมได้เต็มที่ ว่าจะขายยังไงให้มีคุณค่า มีราคา ขยายเครือข่ายออกไปยังไง สร้างพื้นที่ในตลาดออนไลน์อย่างไร เลยเป็นหลักสูตรที่ทำทั้งกระบวนการ ทั้งการสกัดความรู้จากภูมิปัญญาชุมชน ร่วมกับส่งเสริมสนับสนุนองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยเติมให้

“พอได้แนวทางพัฒนาทั้งกระบวนการ ก็ค่อยมาเจาะลึกลงไปที่การย้อมสีธรรมชาติ เน้นใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น มีทีมนักวิจัยจาก มรภ.สุรินทร์ ทดลองเอาเม็ดมะขามมาทำสีย้อม ซึ่งได้สีสวยงาม แล้วเม็ดมะขามหาง่าย มีทุกบ้าน พอสำเร็จ ก็เรียนรู้เพิ่ม ว่าพืชแต่ละชนิดให้สีอย่างไร เป็นการเติมความรู้ พากันลงมือทำ เกิดกระบวนการเรียนรู้ ปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งพอกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าแรงงานนอกระบบ เกษตรกร หรือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ได้เข้ามาลองทำด้วยตัวเอง ก็เกิดความชำนาญ เอาไปต่อยอดได้”

‘ศูนย์การเรียนรู้’ ที่พึ่งของคนทั้งชุมชน

นอกจากกระบวนการจากภายใน หน่วยจัดการเรียนรู้ มรภ. สุรินทร์ ยังได้เชื่อมเอาครูภูมิปัญญาท้องถิ่นจากพื้นที่อื่นในจังหวัด มาจัดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มเติมประสบการณ์การทำงานย้อมสีธรรรมชาติ หรือการทอผ้าไหมแบบพื้นเมือง เพื่อหาช่องทางเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ด้วยแนวทางสร้างสรรค์งานที่มีเอกลักษณ์ต่างออกไป

อาจารย์สุนิสา กล่าวว่า การที่คนในชุมชนได้เรียนรู้สิ่งที่สนใจเป็นทุนเดิม ทำให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ที่คึกคัก ต่อเนื่อง มีการเก็บชั่วโมงเรียนรู้เพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ละคนมีข้อสงสัย ช่างซักถาม อยากลงมือทำและรอพิสูจน์แนวความคิดของตัวเอง เหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะกระบวนการหนุนเสริมที่ตอบโจทย์ความต้องการ ผลที่ตามมาคือมีรายได้ที่หมุนเวียนเข้ามาภายในชุมชนมากขึ้น เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทั้งด้านการผลิต และการอบรมความรู้เกี่ยวกับการตลาดและประชาสัมพันธ์ จนสามารถผลักดันให้ผลิตภัณฑ์เชื่อมโยงสู่ตลาดที่กว้างขึ้น  

“ทุกวันที่ศูนย์จะมีคนในชุมชนมาแลกเปลี่ยนความคิด มาช่วยสอนแรงงานนอกระบบที่เพิ่งสนใจเข้ามา ตั้งแต่งานขั้นพื้นฐาน แล้วถึงวันนี้ ฐานความรู้ของชุมชนเข้มแข็งพอที่เราจะเห็นเขาสอนกันเองได้ ขณะที่เราในฐานะหน่วยพัฒนา ก็ยังคงช่วยเสริมเติม สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ อำนวยการเรียนรู้ ซึ่งมันเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่าอนาคตอีกไม่ไกล ตำบลอู่โลกจะเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับการทอผ้าที่ครบวงจรได้

“ที่น่าสนใจคือเรามีเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ค่อย ๆ เข้ามาในโครงการ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้เขาเข้าใจเทคโนโลยีได้ไวกว่า มีความรู้เรื่องตลาดออนไลน์มากกว่า เขามาช่วยกันไลฟ์ขายของ จัดกิจกรรมต่อเนื่องดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาเพิ่มอีก เราในฐานะหน่วยพัฒนามองว่าเป็นความสำเร็จ เพราะชุมชนสามารถหาทางต่อยอดยกระดับผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าต่อไป เป็นการรับไม้ต่อกันไประหว่างคนรุ่นหนึ่งถึงอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง”

‘สุรินทร์ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกช่วงวัย’ เพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือปัญหาขนาดใหญ่ที่ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานใดหนึ่งเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือ และย่อขนาดปัญหาลงในระดับพื้นที่ โดยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ในจังหวัด ซึ่งจะทำให้ขนาดของปัญหาลดลงถึง 100 เท่า ดังนั้นการปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืน ย่อมเกิดขึ้นได้จากพลังของทุกคนในพื้นที่ แล้วความสำเร็จที่เกิดขึ้น จะเป็นการจุดประกาย ในฐานะตัวแบบที่จะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป