Series: ‘สุรินทร์ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกช่วงวัย’ EP 4: ‘อยู่ร่วม’ และ ‘อยู่รอด’
การกลับคืนบ้านเกิดของคนรุ่นใหม่ กับ ‘วิถีชุมชนใหม่’

Series: ‘สุรินทร์ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกช่วงวัย’ EP 4: ‘อยู่ร่วม’ และ ‘อยู่รอด’

“ที่เราเห็นคือทรัพยากรที่จะพัฒนาต่อยอดให้ชุมชนยั่งยืนได้”

“การกลับมาอยู่บ้านตั้งคำถามกับเราว่า จะ ‘อยู่ร่วม’ และ ‘อยู่รอด’ ไปกับท้องถิ่นได้ยังไง เรามองไปที่อาชีพดั้งเดิมของครอบครัว ของชุมชมชน คือทำการเกษตร

“แต่การทำเกษตรวันนี้เราจะไม่ทำเหมือนเดิมแล้ว เพราะที่เราเห็นคือทรัพยากร เห็นพื้นที่เยอะแยะมากมาย มากมายเกินกว่าที่ผืนดินหนึ่งจะทำแค่ปลูกข้าวขายข้าว หรือครอบครัวหนึ่งจะยึดอาชีพเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียว …เราเห็นโอกาสตรงนี้ ว่าชุมชนมีองค์ประกอบเพียงพอที่จะยกระดับการทำการเกษตรได้”

พวกเขาใช้ชื่อว่า ‘พันธุ์เจียออแกนิค’ ซึ่งรวมไว้ด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ฝันอยากเห็นสังคมมี ‘พื้นที่’ และ ‘โอกาส’ สำหรับคน ‘ทุกคน’

หลังกลับมายังพื้นที่หมู่บ้านดงเค็งและบ้านหลวงอุดม ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ พวกเขาจึงวาดแปลนโครงการที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น โดยมุ่งเชื่อมโยงคนทุกรุ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ไว้ด้วยกัน

จนเกิดเป็น ‘โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่การพึ่งพาเครือข่ายที่ยั่งยืน’ ก่อนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ’ โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) เพื่อรับแรงหนุนเสริมในการนำความรู้ ความตั้งใจ และความพยายามที่จะสานพลังภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ จัดทำหลักสูตร ‘วิถีเกษตรครบวงจร’ ตั้งแต่ การปลูกผักอินทรีย์ การทำปุ๋ยอินทรีย์ การทำอาหารสัตว์ การแปรรูป เพื่อนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่าและลดต้นทุน โดยแต่ละหลักสูตร กลุ่มเป้าหมายจะร่วมกันกำหนดรูปแบบเรียนรู้ ช่วยกันลงรายละเอียดเนื้อหาที่ต้องการเติมเต็ม เพื่อก่อรูปร่างกระบวนการเรียนรู้ ที่ตั้งอยู่บนฐานความต้องการของคนในชุมชนจริง ๆ

“เราคือคนที่อยากกลับบ้านแล้วได้กลับ ไม่มีอะไรให้ห่วง แต่บางคนเขาอยากกลับแล้วมาไม่ได้ เพราะยังมีภาระดูแลคนในบ้าน ต้องผูกติดความอยู่รอดไว้กับงานในเมืองใหญ่ ก็คิดกันว่าเราจะช่วยทำอะไรให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้บ้าง ต้องบอกว่าตั้งแต่กลับบ้านมา คำว่าคนรุ่นใหม่เหมือนค้ำคอเรามาตลอด ว่าเรามีงานต้องทำ มีคำถามที่ว่าคนรุ่นอย่างเราจะอยู่ร่วมกับท้องถิ่นอย่างไร แล้วต้องไม่ใช่แค่อยู่ร่วมให้ได้ แต่ต้องอยู่ให้รอดด้วย ซึ่งรอดในที่นี้คือทุกคนต้องอยู่รอดด้วยกันทั้งหมด หรือคนอื่น ๆ ที่วันหนึ่งเขาอยากกลับบ้าน มันก็ควรมีช่องทางที่เปิดกว้างพอให้เขากลับมาได้ มีงานรองรับ มีรายได้พอเลี้ยงดูครอบครัว” จีรนันท์ บุญครอง ย้อนถึงการก่อตั้งกลุ่ม ‘พันธุ์เจียออแกนิก’  

“เรากลับมาราวสองปี ได้ผ่านประสบการณ์งานอาสาคืนถิ่นของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจชุมชนเก็บข้อมูล จนรู้ว่าในหมู่บ้านเราเลี้ยงวัวกันมากถึง 400-500 ตัว เรามีพื้นที่ปลูกข้าวหลายร้อยไร่ บางที่ดินมีสระเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ สภาพแวดล้อมเหมาะกับการทำเกษตร เรายิ่งตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ทำไมทรัพยากรที่มีเหล่านี้กลับสร้างรายได้ไม่พอเลี้ยงชุมชนให้อยู่รอด ทำไมคนยังมีหนี้สิน แต่ในทางกลับกัน ข้อมูลจากการสำรวจ ก็เริ่มทำให้มองเห็นว่า …บ้านของเรามีต้นทุน

“พอเห็นโอกาสตรงนี้ จึงลองปรึกษาผู้ใหญ่ในชุมชน ซึ่งปรากฏว่าหลายคนรู้ และคิดเหมือนกันว่าสิ่งที่ท้องถิ่นเรามีมันสามารถยกระดับอาชีพและแปรเปลี่ยนเป็นมูลค่าได้ ถ้าเราเอาทรัพยากรที่มีมาสร้างคุณค่าในชุมชนให้ได้มากที่สุด แล้วต้องคิดถึงการต่อยอดพัฒนาระยะยาว

“เมื่อระดมกำลังกันคิด ช่วยกันวางแผน ก็ได้ออกมาเป็น 4 กิจกรรมหลัก ที่พันธุ์เจียออแกนิกและชุมชนจะลองเอามาเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิด Supply Chain(ห่วงโซ่อุปทาน) และเครือข่ายกระบวนการจัดการการผลิตที่ครอบคลุมตั้งแต่วัตถุดิบ การบริหาร การแปรรูปจัดเก็บ จนถึงการจัดส่งถึงมือผู้บริโภค หรือคือการสร้างวิถีชีวิตการทำเกษตรใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการของทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อได้”

เติมเต็มหลักสูตรด้วยประสบการณ์และฐานความรู้จากทีมพี่เลี้ยง

แม้เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พรั่งพร้อมด้วยความรู้และช่ำชองเทคโนโลยีสมัยใหม่ อีกทั้งยังมีต้นทุนทรัพยากรมากมายในท้องถิ่นรองรับ อย่างไรก็ตาม ช่วงการเริ่มต้นของพันธุ์เจียออแกนิก พวกเขากลับพบว่าการออกแบบหลักสูตรยังไม่สามารถพาไปสู่การจัดการเรียนรู้ที่ลงตัวได้ เนื่องจากยังขาด ‘ตัวเชื่อม’ ตรงกลาง คือองค์ความรู้เชิงลึกและประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ

“ก่อนร่วมโครงการกับ กสศ. เราทำกันเองจากการตั้งสมติฐานและลองทำ ไม่รู้เลยว่าจะคำนวณต้นทุนกำไรเพื่อกำหนดราคาอย่างไร อย่างพอแปรรูปปลาออกขาย กลายเป็นว่าสินค้าเราราคาสูงมากเมื่อเทียบกับราคาตลาด นั่นเพราะจุดตั้งต้นวิธีเลี้ยงปลาของเราไม่ได้เป็นเชิงพาณิชย์ หรือมีปัญหายิบย่อยอีกมากมายในกระบวนการผลิต หลักสูตรที่ออกแบบกันมาจึงทำจริงไม่ได้

“แต่ทีนี้หลังได้ร่วมงานกับโครงการ ฯ ได้พบทีมพี่เลี้ยง เราปรับกระบวนการใหม่ เอาองค์ความรู้ ความเป็นไปได้ และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญมาตกผลึก มีการอบรมดูงาน ทำให้โครงการเริ่มตั้งหลักได้ จากนั้นเป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ลองผิดลองถูกตรงหน้างาน ฟังดูอาจคล้ายรอบแรก แต่อย่าลืมว่าคราวนี้เรามีความรู้ มีที่ปรึกษา และที่สำคัญคือมีทุน

“เราไม่สามารถทดลองได้เลยถ้าไม่มีต้นทุน เพราะทุกขั้นตอนใช้ทุนสูงมาก แล้วชาวบ้านเองทุกวันชีวิตเขาขึ้นอยู่กับผลผลิต ถ้าไม่มีการสนับสนุนเบื้องต้น เขาจะได้ประโยชน์น้อยมาก หรืออาจมองไม่เห็นเลยว่าร่วมโครงการแล้วจะสำเร็จได้อย่างไร อย่างบางคนเข้ามาเรียนรู้ พอจะเอาไปปรับใช้ก็ไม่มีเครื่องมือ หรือทดลองครั้งแรก ๆ ผลลัพธ์ออกมาไม่ดี เขาก็ต้องเสียเวลา เสียทรัพยากรกับการปรับวิธีการใหม่ ซึ่งสำหรับเขาแล้วสุ่มเสี่ยงเกินไป เช่นการผลิตอาหารปลาปกติควรใช้เครื่องอัด พอไม่มีก็ต้องออกแบบใหม่ ใช้วิธีปั้นมือ เป็นการปรับการลองไปเรื่อย หรือบางกิจกรรมทำไปแล้วถึงรู้ว่าไม่เหมาะทำเป็นกลุ่มใหญ่เพราะใช้ทุนสูง ก็ลดขนาดเป็นกิจกรรมครัวเรือน เลี้ยงปลากันเอง ผลิตอาหารเอง ต้นทุนแรงงานก็ถูกกว่า ส่วนการผลิตปุ๋ยต้องทำเป็นกลุ่มถึงคุ้มทุน คือทุกกระบวนการต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีวิธีการที่ดีที่สุด ต้องปรับตัว พร้อมออกแบบการทำงานงานที่อิงกับสถานการณ์”

ตัวแทนคนรุ่นใหม่จากพันธุ์เจียออแกนิก กล่าวสรุปว่า ภาพอนาคตจที่เห็นจากโครงการ คือ ‘CSA’ (Community-supported agriculture Model) ของชุมชน ที่ท้องถิ่นมีทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคซัพพอร์ทกันและกัน แล้วโมเดลนี้สามารถขยายผลต่อไปยังพื้นที่ใกล้เคียงได้

“สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้เราเห็นภาพกลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้กระบวนการ เห็นความตั้งใจของกลุ่ม คุณค่าของผลผลิตเพิ่มขึ้น คนในชุมชนสนับสนุนกันมากขึ้น แล้วมีโอกาสพัฒนาต่อไป อย่างตอนนี้เราเข้าไปทำตลาดออนไลน์ มีกลุ่มลูกค้าชัดเจนและจำนวนเพิ่มขึ้น สินค้าเรามีมูลค่าสูงขึ้น มีผลผลิตที่ชุมชนทำแล้วขายในนามกลุ่ม เป็นการสร้างมูลค่าให้ให้แบรนด์ และให้ชุมชนด้วย”

นี่คือเรื่องราวที่เริ่มต้นจากคนหนุ่มสาวที่หันหลังให้เมืองเพื่อคืนสู่บ้านเกิด ด้วยความฝัน ความหวัง หรือแม้กลับมาด้วยสภาพเศรษฐกิจสังคมที่บีบบังคับ แต่พวกเขาช่วยกันคิด ลงมือทำ ด้วยฐานทุนที่มี ด้วยทรัพยากร ด้วยองค์ความรู้ เพื่อสร้างระบบความสัมพันธ์ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยมีเป้าหมายว่าคนรุ่นใหม่และลูกหลานรุ่นถัดไป จะสามารถใช้ชีวิตของตนได้อย่างมั่นคงและเข้มแข็งในบ้านเกิดของเขา

เป็นการพัฒนาต่อยอดและเชื่อมโยงแนวคิดใหม่ที่ตามทันยุคสมัย บนฐานรากของวิถีชีวิตและภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อพัฒนาอาชีพให้ฐานชุมชนได้อย่างยั่งยืน

‘สุรินทร์ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกช่วงวัย’ – เพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือปัญหาขนาดใหญ่ที่ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานใดหนึ่งเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือ และย่อขนาดปัญหาลงในระดับพื้นที่ โดยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ในจังหวัด ซึ่งจะทำให้ขนาดของปัญหาลดลงถึง 100 เท่า ดังนั้นการปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืน ย่อมเกิดขึ้นได้จากพลังของทุกคนในพื้นที่ แล้วความสำเร็จที่เกิดขึ้น จะเป็นการจุดประกาย ในฐานะตัวแบบที่จะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

credit ภาพจาก facebook fanpage : พันธุ์เจีย – Pangaea Organic Garden