“ความหวังบนทางแยกความไม่แน่นอน” สำรวจหมุดหมายการเรียนต่อของนักเรียนทุนเสมอภาคหลังจบ ม.3

“ความหวังบนทางแยกความไม่แน่นอน” สำรวจหมุดหมายการเรียนต่อของนักเรียนทุนเสมอภาคหลังจบ ม.3

“ตั้งความหวังกับการเรียนไว้สูงมาก แต่ถ้าสุดท้ายเรียนไม่จบเพราะไม่มีค่าเทอม หรือถึงเรียนจนจบแต่รายได้ไม่พอเลี้ยงตัวเอง ก็ไม่รู้ว่าเราจะต้องแบกหนี้การศึกษาติดตัวไปถึงอายุเท่าไหร่ …ถ้าเป็นอย่างนี้ บางทีคิดว่าเลือกทำงานไปเลย แล้วเอาเรื่องเรียนไว้ทีหลังอาจจะดีกว่า”

‘ดิง’ ซาลัมสุดีน เจ้ะมูซอแว นักเรียนทุนเสมอภาค ชั้น ม.3 โรงเรียนร่มเกล้า อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เจ้าของผลการเรียนเฉลี่ยสะสม 5 เทอมที่ 3.70 กับช่วงเวลาในเทอมสุดท้ายก่อนจบการศึกษาภาคบังคับ และสภาวะจิตใจที่ยิ่งรู้สึกกังวล เมื่อกำลังจะก้าวข้ามรอยต่อช่วงชั้นสู่ระดับการศึกษาที่สูงขึ้น

ข้อมูลจากซาลัมสุดีนระบุว่า การเป็นนักเรียนทุนเสมอภาคตั้งแต่ชั้น ม.1 ทั้งช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของที่บ้าน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างเรียน และช่วยเรื่องปากท้องกินอยู่ประจำวันได้ส่วนหนึ่ง จนถึงวันนี้ที่เตรียมจบชั้น ม.3 และวางแผนไว้แล้วว่าจะเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลาย ในโปรแกรม SMTE (Science, Math, Technology and Environment) ซึ่งเป็นห้องเรียนพิเศษสำหรับเด็กสายวิทย์ที่เน้นเนื้อหาวิชาการเข้มข้น หากได้รับทุนการศึกษาในชั้นรอยต่อก็จะทำให้เส้นทางความหวังของเขาราบรื่นยิ่งขึ้น

ซาลัมสุดีนอาศัยอยู่ในครอบครัวเล็กที่มีพ่อ แม่ และน้องสาวที่เรียนชั้น ป.3 ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากเด็กเยาวชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ที่มักมาจากครอบครัวขนาดใหญ่ประกอบด้วยสมาชิกหลายรุ่นรายล้อม ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ครอบครัวย่อยของลุงป้าน้าอา และคนรุ่นลูกหลานอีกจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม อาชีพกรีดยางของพ่อและร้านขายข้าวเล็ก ๆ หน้าบ้านของแม่ ก็ไม่ได้ทำรายได้ที่มั่นคงนัก ซาลัมสุดีนจึงรู้สึก ‘กังวล’ เสมอ เมื่อนึกถึง ‘ภาพความเป็นได้อันหลากหลายในอนาคต’ เพราะสถานการณ์ที่อาจเป็นไปได้ (scenario) ซึ่งปรากฏในใจทุกวี่วัน คือความเสี่ยงที่เขาอาจเรียนไม่จบ ม.6 เมื่อหมดวาระได้รับทุน หรือวันเวลาที่ไกลจากนั้น ซึ่งเขาอาจหาทางกู้เงินมาเรียนได้จนจบ แต่กลับไม่สามารถมีงานดี ๆ พอจะหล่อเลี้ยงชีวิตได้อย่างที่ควรเป็น     

 กสศ. นั่งคุยกับซาลัมสุดีน จากการเข้าไปทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียนทุนเสมอภาค เพื่อสำรวจมุมมองและถอดบทเรียนโครงการทุนรอยต่อ ก่อนนำมารวบรวมเป็นข้อเสนอแนวทางสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้เด็ก ๆ ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ

“การได้ประเมินตัวเองผ่านกิจกรรมวันนี้ ทำให้รู้ว่าทุกวันที่มาเรียนได้อยู่กับเพื่อน เราคิดว่าตัวเองมีความสุขสบายใจดี แต่กลายเป็นเพิ่งรู้ว่าผลสำรวจสุขภาวะจิตใจตัวเองกำลังบอกว่า เรากังวล เรามีปัญหา เรารู้สึกไม่มั่นคงกับอนาคตทางการศึกษาเลย” ซาลัมสุดีนเผยผลทดสอบแบบประเมินความสุขผ่านหัวข้อ ‘ตัวฉันในอดีตและปัจจุบัน’ ก่อนลงรายละเอียดว่า

“ตั้งแต่ ม.1 เทอมแรก มีทุนเสมอภาคหนุนหลังมาตลอด ปกติได้เงินมาโรงเรียนครั้งละ 20-40 บาท พอไม่ต้องเสียค่าข้าวค่าเดินทาง ก็มีเงินเหลือที่พยายามเก็บไว้ เพราะบางทีวันไหนพ่อกับแม่ไม่มีงานขาดรายได้ เราก็เอาส่วนนี้มาใช้จ่ายทำรายงาน หรือเอาไว้ซื้อของจำเป็น

“จนตอนนี้กำลังจะจบ ม.3 ครูบอกว่าเราได้ทุนต่อ ม.4 อีกหนึ่งปี แล้วหลังขึ้นชั้น ม.5 ม.6 ก็ไม่ได้แล้ว ก็มีเริ่มคิดว่าหลังจากนั้นจะเป็นยังไง เพราะรู้ว่าค่าใช้จ่ายตอนเรียนมัธยมปลายจะเพิ่มขึ้นอีกมาก คงต้องพึ่งพาพ่อแม่มากขึ้น หรือไม่เราก็ต้องไปหางานทำเสริม แต่ก็แอบคิดเหมือนกันว่าจะเรียนจบไหมถ้าต้องเรียนพร้อมกับทำงานไปด้วย ยิ่งเราเลือกเรียนโปรแกรม SMTE ที่เรียนวิชาการค่อนข้างหนักและใช้เวลามาก ถ้าเกิดว่าอุตส่าห์เรียนไปแล้วต้องออกกลางคันก็รู้สึกเสียดาย อีกใจนึงมันเลยแย้งอยู่ว่า หรือจะเลือกไปทำงานตั้งแต่ตอนนี้เลย จะได้ไม่ต้องเสียเงินเสียเวลา คือมุ่งประกอบอาชีพไปเลย

‘รุ่นพี่หลุดจากระบบการศึกษา’ ภาพชินตาที่ฝังภาพ ‘กรณีเลวร้ายที่สุด’ ในห้วงคำนึง

หรือจะเป็นไปได้ว่า ภาพอนาคตที่วนเวียนฉายซ้ำอยู่ แต่ ‘กรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้น’ (worst case scenario) ในห้วงคำนึงของซาลัมสุดีน อาจมาจากกรณีตัวอย่างที่พบเห็นและซึมซับผ่านช่วงเวลาตลอด 16-17 ปีของชีวิต ว่าคนรุ่นก่อนหน้าได้ทยอยหลุดออกไปจากระบบการศึกษา เพียงเพราะต้องตัดสินใจเลือกระหว่าง ‘การเรียน’ กับ ‘การทำงาน’ ซึ่งสุดท้ายความจำเป็นของภาระเลี้ยงชีพก็มักเอาชนะทุกสิ่ง ไม่เว้นแม้แต่ความเป็นไปได้ที่ว่า การลงทุนด้านการศึกษาอาจเป็นประตูสู่ความสำเร็จ ที่จะช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้เรียนได้ในท้ายที่สุด  

“รู้สึกเหมือนยืนอยู่บนทางแยก ที่ไม่ว่ามองทางไหนก็มีแต่ความไม่แน่นอน คือถ้าเรียนต่อมัธยมปลายแล้วต้องออก ก็เสียดาย เพราะเราเคยเห็นรุ่นพี่ที่เรียนไปแล้วมีจุดเปลี่ยน พ่อแม่แยกทาง เสียชีวิต หรืออยู่ ๆ ต้องออกจากงาน ปัญหาพวกนี้เองที่มันจะมาบีบให้เขาต้องตัดสินใจกัน ว่าจะเรียนต่อหรือออกไปหางานทำ ซึ่งเกือบทั้งนั้นมักต้องยอมแพ้เลิกเรียน ทั้งที่บางคนเหลืออีกไม่กี่เดือนก็จะจบ ม.6 แล้ว กลายเป็นเหมือนความรู้ที่เรียนมากับวันเวลาที่เสียไปก็สูญเปล่าเลย แล้วที่เราเห็นคือ ใครลองได้หยุดเรียนหรือออกจากโรงเรียนไปแล้ว ประตูโอกาสที่จะกลับมาก็แทบจะปิดลงไปเลยตรงนั้น

“ส่วนอีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่คิดถึงตลอด คือถ้าเราจบ ม.6 หรือจบปริญญาตรีแล้วไม่มีงานทำ หรือไปได้งานที่เลี้ยงตัวเองเลี้ยงครอบครัวไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าถึงตอนนั้นครอบครัวจะเป็นอย่างไรต่อไป”

‘หนึ่งทางเลือกคือกู้เงินเรียน’

ซาลัมสุดีนเผยว่า ณ ปัจจุบัน เส้นทางที่มองเห็นว่าเป็นไปได้มากที่สุด สำหรับการไปต่อบนเส้นทางการศึกษา คือคำแนะนำที่ได้จากครูแนะแนวที่โรงเรียน รวมถึงข้อมูลที่ได้รับผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เพิ่งจบลง นั่นคือการ ‘กู้ยืม’ ผ่านกองทุน กยศ. เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายระยะสั้นที่สุด คือเรียนจนจบชั้น ม.6 แล้วจากนั้นจึงค่อยพิจารณาต่อว่า จะกู้ต่อเนื่องจนไปถึงระดับอุดมศึกษาหรือไม่

“การกู้มันมีข้อแม้ตามมาว่าเราต้องชดใช้คืน แต่ถ้าเหลือทางเดียวยังไงก็ต้องเอา เพราะยังหวังอยากเรียนให้จบ ทางไหนทำได้เราจะทำ อย่างน้อยต้องจบ ม.6 ให้ได้ก่อน แล้วค่อยคิดว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยไหวแค่ไหน

“ข้อมูลที่ได้รับวันนี้คือ การกู้เงินเรียนผ่าน กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น เพราะเป็นหน่วยงานรัฐ มีความน่าเชื่อถือ ยิ่งถ้าเรามีเป้าหมายชัดเจน มีผู้แนะแนวที่ดีว่าถ้าอยากทำงานอาชีพใด ต้องวางแผนการเรียนอย่างไร กยศ. ก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งให้เราได้”        

ซาลัมสุดีนปิดท้ายว่า กิจกรรมที่เข้าร่วมวันนี้ เป็นหนึ่งการแนะแนวเส้นทางการศึกษาที่จำเป็น และควรมีกิจกรรมลักษณะนี้ในทุกโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนชั้น ม.3 มองเห็นเส้นทางการศึกษาชัดเจนขึ้น ได้ประเมินตนเองว่าสนใจด้านใด หรือผลการเรียนของตนสามารถเลือกแผนการเรียนใดได้บ้าง และยังรวมไปการได้ ‘ตรวจเช็คสุขภาวะจิตใจ’ ซึ่งจะทำให้แต่ละคนพบปัญหา อุปสรรค ความกังวลใจ ที่จะนำพอสู่การเข้าถึงความช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

อ่าน “กสศ. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ ‘นักเรียนทุนเสมอภาค’ สำรวจมุมมองและถอดบทเรียนโครงการทุนรอยต่อ เพื่อโอกาสการศึกษา ม.ปลาย ถึง ป.ตรี”