กสศ. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ ‘นักเรียนทุนเสมอภาค’ สำรวจมุมมองและถอดบทเรียนโครงการทุนรอยต่อ เพื่อโอกาสการศึกษา ม.ปลาย ถึง ป.ตรี
สำรวจมุมมองและถอดบทเรียนโครงการทุนรอยต่อ เพื่อโอกาสการศึกษา ม.ปลาย ถึง ป.ตรี

กสศ. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ ‘นักเรียนทุนเสมอภาค’ สำรวจมุมมองและถอดบทเรียนโครงการทุนรอยต่อ เพื่อโอกาสการศึกษา ม.ปลาย ถึง ป.ตรี

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา จัดกิจกรรม ‘เรียนรู้ เล่นเพลิน นักเรียนในโครงการทุนรอยต่อ กสศ.’ ณ โรงเรียนร่มเกล้า อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เพื่อรวมตัวนักเรียนทุนเสมอภาคที่เข้าร่วม ‘โครงการวิจัยต้นแบบการคัดกรองและการช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น’ ระดับชั้น ม.4  ม.5 และนักเรียนทุนเสมอภาคที่กำลังจะสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ระดับชั้น ม.3 รวมกว่า 100 คน ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปัญหาเส้นทางการรับทุนและการเรียนต่อ และสำรวจแนวคิดหมุดหมายอนาคตด้านการศึกษาของนักเรียน ผ่านกิจกรรม Focus group เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาแนวทางสนับสนุนทุนการศึกษารูปแบบต่าง ๆ ให้มีคุณภาพมากขึ้น

นายจีรศักดิ์ กาสรศิริ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาภาคีเครือข่าย สำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า จากการวิจัยของ กสศ. ซึ่งติดตามและให้ความช่วยเหลือทุนการศึกษาแก่นักเรียนยากจนพิเศษ ภายใต้โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) หรือ ‘ทุนเสมอภาค’ พบว่า นักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษหรือนักเรียนทุนเสมอภาค มีโอกาสศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพ เพียงร้อยละ 42.7 ขณะที่กลุ่มนักเรียนที่รวยที่สุดมีอัตราการศึกษาต่อถึงร้อยละ 76.1

สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนต่อนั้น อุปสรรคสำคัญโดยตรงคือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียม ค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน หนังสือเรียน ค่ากิจกรรม ค่าเดินทาง เงินไปโรงเรียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ส่วนค่าใช้จ่ายโดยอ้อม คือการขาดโอกาสในการทำงานหารายได้ระหว่างเรียน

ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเพิ่มอัตราการเรียนต่อ ม.ปลาย ของนักเรียนทุนเสมอภาค กสศ. จึงมี ‘โครงการวิจัยต้นแบบการคัดกรองและการช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น’ ระหว่างปีการศึกษา 2565 – 2567 โดยมีลักษณะเป็นการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม (Research & Innovation) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการหารูปแบบการช่วยเหลือและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการศึกษาต่อ ม.4 หรือเทียบเท่า ในพื้นที่นำร่องจำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และนราธิวาส

นายจีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในการส่งเสริมนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้นอย่างเต็มศักยภาพนั้น กสศ. ให้ความสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียนผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง รวมถึงการมีส่วนร่วมถอดบทเรียนการทำงานร่วมกับคุณครูและผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่ สำหรับการจัดกระบวนการครั้งนี้ ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับกลุ่มผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานราธิวาส และครูแนะแนวจากโรงเรียนในสังกัดด้วย ซึ่ง กสศ. ได้จัดกิจกรรมลักษณะเดียวกันอีก 1 พื้นที่ คือ โรงเรียนปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567

“หลังจากที่โครงการฯ ได้ก้าวย่างสู่การทำงานในปีที่ 3 กสศ. ได้ออกแบบกระบวนการถอดบทเรียนการทำงานเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ อุปสรรค รวมถึงสังเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก สำหรับนำไปจัดทำข้อเสนอการพัฒนาแนวทางส่งเสริมนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาต่อเนื่อง ขยายโอกาสการเชื่อมต่อจากทุนเสมอภาคไปถึงทุนอื่น ๆ อาทิ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ทุนภูมิทายาท หรือทุนสานฝัน เป็นต้น ผ่านกระบวนการแนะแนวเส้นทางการศึกษา หลังนักเรียนทุนฯ ผ่านชั้น ม.4 หรือ ปวช.1 ซึ่งจะเป็นการช่วยยืนยันว่านักเรียนทุนกลุ่มนี้ จะสำเร็จการศึกษาระดับชั้น ม.ปลาย หรือ ปวช. ได้สำเร็จ พร้อมมีเส้นทางโอกาสที่มั่นคงยิ่งขึ้นในการศึกษาต่อระดับสูงต่อไป

“อีกประเด็นหนึ่งคือการสำรวจต้นทุนการเคลื่อนย้าย หรือค่าใช้จ่ายส่วนต่างเพิ่มขึ้นมากน้อยอย่างไร ในการเปลี่ยนระดับชั้นจาก ม.ต้น ไป ม.ปลาย หรือ ปวช. ขณะที่นโยบายหรือทรัพยากรจากรัฐในการอุดหนุนปัจจัยต่าง ๆ ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ฉะนั้นจะมีวิธีการและแนวทางอย่างไร เพื่อสนับสนุนนักเรียนกลุ่มนี้ ซึ่ง กสศ. จะเป็นตัวกลางในการนำเสียงจากพื้นที่ไปจัดทำข้อเสนอถึงระดับนโยบาย เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนช่วงชั้นรอยต่อ”

นางสาวชบา พันธุ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานราธิวาส กล่าวว่า ประเด็นหลักของการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงชั้นรอยต่อพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ประการแรกคือการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและชุมชนว่าการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นนั้นสำคัญ และมีผลต่อการมีรายได้สูงขึ้น

เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่ ยังมองว่า 3 ปีของการเรียนมัธยมปลายหรือ ปวช. รวมถึงอีก 4 ปีในระดับอุดมศึกษา เป็นระยะเวลาที่นานเกินไปกว่าจะมีรายได้คืนกลับมา ซึ่งการเรียนจบ ม.3 อยู่ในวัยที่สามารถทำงานได้แล้ว ผู้ปกครองจึงมองว่าเด็กควรเป็นส่วนหนึ่งของการหารายได้เลี้ยงครอบครัว หลังจากที่ใช้เวลาในโรงเรียนไปแล้ว 9 ปีหรือมากกว่านั้น 

ส่วนประการที่สองเป็นมุมมองที่ว่า การศึกษาคือ ‘การลงทุนที่ต้องมีสายป่านที่ยาวพอ’ จึงถือเป็นภาระที่ครอบครัวต้องแบกเพิ่ม และยังมีความเสี่ยงว่าทุนที่ลงไปอาจจมหายโดยไม่มีผลตอบแทนคืนกลับ ทั้งยังอาจสร้างหนี้เพิ่มหากลูกหลานไปต่อไม่ได้จนถึงวันจบการศึกษา หรือแม้กระทั่งจบการศึกษาออกมาแล้วไม่ได้ทำงานที่มีค่าตอบแทนเหมาะสมคุ้มทุน     

“ด้วยข้อจำกัด อุปสรรค และความแตกต่างหลากหลายที่เขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน ครู ไปจนถึงครอบครัวและตัวเด็ก การทำงานร่วมกันครั้งนี้ ทุกฝ่ายจึงให้ความสำคัญกับการ ‘สานต่อเส้นทางการศึกษา’ เพื่อที่เด็กในพื้นที่ของเราจะได้มีโอกาส มีแรงบันดาลใจ และมีลู่ทางเรียนต่อที่เสมอภาคยิ่งขึ้นในการศึกษาต่อระดับชั้นที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับหรือไกลกว่า เท่าที่ศักยภาพของเด็กและปัจจัยรอบตัวจะพาไปถึง 

“การรับฟังประสบการณ์การทำงานของครูแนะแนวจากโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ ผู้เป็นคนสำคัญในการชี้ทางและเชื่อมโยงเด็ก ๆ ให้มองเห็นเส้นทางการศึกษาที่ชัดและกว้างไกลยิ่งขึ้น จะฉายภาพให้เห็นว่าในบริบทของพื้นที่อำเภอ ตำบล ชุมชนต่าง ๆ มีปัจจัยแวดล้อมใดที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจ และหาทางช่วยเหลือให้ผู้เรียนผ่านพ้น การแลกเปลี่ยนเติมเต็มครั้งนี้ จึงเป็นวาระสำคัญที่จะพาคณะทำงานทุกฝ่ายไปสู่ข้อสรุปเชิงนโยบาย พร้อมเก็บเกี่ยวต้นทุนการร่างแนวทางการสร้างโอกาสทางการศึกษา ที่ตรงกับสภาพปัญหาอุปสรรคของเด็ก ๆ ในพื้นที่ เพื่อช่วยกันพัฒนาให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”