‘6 มาตรการ + 3 ฐาน’ เครื่องมือหนุนเสริมโรงเรียนพัฒนาตนเอง สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ชั้นเรียน

‘6 มาตรการ + 3 ฐาน’ เครื่องมือหนุนเสริมโรงเรียนพัฒนาตนเอง สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ชั้นเรียน

การขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program) หรือ ‘TSQP’ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ปั่นป่วน เช่น การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้สถานศึกษาต้องปิดเป็นเวลานานจนนำมาสู่การสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) รวมถึงเด็กและเยาวชนต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษานั้น หนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยให้โรงเรียน ‘TSQP’ อยู่รอดและขยายผลไปสู่ ‘TSQM’ ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล  คือ ‘เครื่องมือสนับสนุน’ ที่มีประสิทธิภาพ

ในงานเสวนา ‘การปรับตัวของโรงเรียน ด้านการบริหารจัดการ ทีมวิชาการ และการหนุนเสริมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชั้นเรียน’ภายใต้งานปลุกพลัง เปลี่ยนการศึกษา เพื่อเด็กทุกคน ในมหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โรงเรียนพัฒนาตนเองระดับพื้นที่ ครั้งที่ 4 ณ ห้องประชุมโรงเรียนวัดพระมหาธาตุ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์  หัวหน้าโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวถึง ‘เครื่องมือสำคัญ’ ที่ใช้ในการหนุนเสริมขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเองในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชให้ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ที่ผ่านมา

“มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคมได้ดำเนินการและช่วยโรงเรียนพัฒนาตนเองในจังหวัดนครศรีธรรมราชมาอย่างต่อเนื่อง 3 ปี ท่ามกลางสถานการณ์ที่ปั่นป่วน ทำให้โรงเรียนบางส่วนหลุดไป ปัจจุบันเราเหลือโรงเรียนอยู่ 9 โรงเรียน ที่รวมตัวเป็นเครือข่ายอยู่ ซึ่งทั้ง 9 โรงเรียนพยายามรวมตัวและเคลื่อนตัวในการพัฒนาคุณครู และทำให้การพัฒนาโรงเรียนเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยโรงเรียนที่เรากำลังเคลื่อนตัวอยู่ใช้วิธีพัฒนาตนเองด้วย ‘เครื่องมือสนับสนุน 6 มาตรการ’ ได้แก่ 

  1. การกำหนดเป้าหมายโรงเรียนคุณภาพ 
  2. ระบบสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่มีคุณภาพ 
  3. การพัฒนาครูและผู้บริหารด้วยกระบวนการ Professional Learning Community (PLC) 
  4. จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning 
  5. ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาสและมีความต้องการพิเศษ และ 
  6. สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียน”

6 มาตรการดังกล่าว นอกจากจะเป็นต้นแบบสำคัญที่ช่วยโรงเรียนพัฒนาตนเองได้อย่างเห็นผลแล้ว อีกกลยุทธ์ที่จะส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้เร็ว คือ ‘การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนเชิงรุกด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์และโครงงานฐานวิจัย’

“ตัวกระบวนการวิทยาศาสตร์ คือ การพัฒนาคนให้มีความสามารถในการสังเกต ตั้งคำถาม คาดคะเน ทดลอง แล้วก็สรุปผล สิ่งนี้เป็นพื้นฐานเลย ส่วนโครงงานฐานวิจัยจะช่วยพัฒนาให้คนมีความคิดขั้นสูงและแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ เพราะฉะนั้นโครงงานฐานวิจัยจะไปอยู่ประถมปลาย โรงเรียนที่ผ่านกระบวนการแบบนี้จะช่วยให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงได้เร็ว เมื่อวานเราไปโรงเรียนหนึ่ง ไปสังเกตพบว่าเขาใช้เวลาเพียง 1 เทอม ก็สามารถเปลี่ยนแปลงนักเรียนได้ในระดับที่น่าพอใจ และชุมชนก็เข้ามาช่วยเหลือ นั่นคือสิ่งที่เราเห็น” 

แน่นอนว่าโควิด-19 ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาอุปสรรคเดียวต่อการเดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงของชั้นเรียน ระหว่างการดำเนินงานขับเคลื่อน 3 ปีที่ผ่านมายังคงมีปัญหาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และยากต่อการควบคุมอีกหลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียน นโยบาย หรือแม้แต่วัฒนธรรมตามกระแสทุนนิยม ที่เข้ามาเป็นเงื่อนไขต่อการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน รศ.ไพโรจน์ บอกเล่าถึงวิธีการที่จะทำให้โรงเรียนพัฒนาตนเองในสถานการณ์เช่นนี้ได้ นั่นคือหลัก ‘3 ฐาน’ 

ฐานแรกคือฐานชุมชน เราเอาภูมิปัญญาของชุมชนเข้ามาช่วย ตอนนี้เริ่มมีการเปลี่ยนบทบาทชุมชน จากที่เคยคิดว่าชุมชนเข้ามาช่วยในฐานะแรง ในฐานะความคิด ตอนนี้เราสนใจชุมชนในฐานะภูมิปัญญา คือเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาไว้ที่โรงเรียน แล้วก็สร้างหลักสูตรที่มีหน่วยบูรณาการ เอาภูมิปัญญาทั้งหมดของชุมชนมาสอนนักเรียน ซึ่งก็เริ่มแล้ว และยังสามารถแตกหลักสูตรได้เป็นสองแบบ คือแบบที่เป็นตัววัฒนธรรม และอีกแบบคือฐานอาชีพของชุมชน บางชุมชนก็จะบอกว่าอยากให้ลูกหลานทำอาชีพของชุมชนได้ก่อนเป็นฐาน หลังจากนั้นจึงไปเรียนอาชีพอื่นๆ ถ้าเด็กๆ ไม่สามารถออกไปจากชุมชนได้ ก็ยังทำงานในชุมชนได้

ฐานที่สองคือฐานวิชาการ ซึ่งมาจากทั้งภายในและภายนอกในโรงเรียน ดังนั้นครูวิชาการในโรงเรียนต้องเข้มแข็งพอที่จะรับวิชาการจากภายนอกเข้าไปได้ ทำอย่างไรให้ครูสามารถขยายความรู้ที่ถูกนำเข้าไปในโรงเรียนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนได้ทั้งระบบ และครูทุกคนสามารถลุกขึ้นมาสอนหรือว่าจัดการเรียนรู้เชิงลึกได้ ฐานที่สามคือการบริหารจัดการแบบใหม่ ที่โรงเรียนต้องมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนมากขึ้น ซึ่งเราพบว่าโรงเรียนที่มี 3 ฐานนี้ครบ จะสามารถเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนได้เร็วมาก”

อย่างไรก็ดี รศ.ไพโรจน์ ทิ้งท้ายถึงทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเองท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า การจะทำให้เด็กคนใดคนหนึ่งแข็งแรง มีปัญญา และเป็นคนดีได้ เราทุกคนต้องลุกขึ้นมาทำบทบาทหน้าที่ของตนเองและต้องช่วยเหลือระบบการศึกษา ตอนนี้เริ่มมีแนวคิดว่าหมู่บ้านต้องรับผิดชอบเด็กและเยาวชนของตนเอง คือเด็กที่เกิดมาในหมู่บ้าน ทั้งหมู่บ้านต้องช่วยกันรับผิดชอบให้เขาเป็นคนดีให้ได้ ฉะนั้นเราต้องช่วยตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะช่วยได้ นั่นคือภารกิจที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กำลังทำงานเรื่องนี้อยู่