จน จนฝันสลาย: นโยบายการศึกษาแบบใดกันที่เรากำลังรอคอย?
โดย : ฐานิดา บุญวรรโณ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และนักวิจัย “โครงการความยากจนข้ามรุ่นในสังคมไทยภายใต้ความท้าทายเชิงโครงสร้าง” (รองศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าโครงการ) สนับสนุนงบประมาณวิจัยโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

จน จนฝันสลาย: นโยบายการศึกษาแบบใดกันที่เรากำลังรอคอย?

ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่จะช่วยหยุดวงจรความยากจนได้อย่างไร?

แม้ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่ที่ได้รับการตรวจพิจารณาโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) และเข้าสู่วาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 10-11 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาจะยังไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเสร็จสมบูรณ์จากกระบวนการทางรัฐสภา แต่เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ก็ถูกตั้งคำถามมากมาย นับตั้งแต่ประเด็นเรื่องความจำเป็นของการออกกฎหมาย การได้ฉันทามติจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน โครงสร้างการบริหารการศึกษา รวมไปถึงการกำหนดเป้าหมายของการจัดการศึกษาที่ลงรายละเอียดในแต่ละช่วงวัยอย่างเคร่งครัดตายตัวจนเกินไป 

อย่างไรก็ดี ข้อถกเถียงข้างต้นเน้นไปที่ประเด็นเรื่องการจัดการศึกษา ซึ่งไปกระทบกับสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู แต่ยังตั้งคำถามน้อยนักต่อสารัตถะของร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับใหม่ ว่าจะนำไปสู่การพัฒนากำลังคนของประเทศได้อย่างไร 

ในโลกศตวรรษที่ 21  ที่บริบทสังคมไทยยังมีประชากรจัดอยู่ในกลุ่มจนมากประมาณ 1.36 ล้านคน กลุ่มจนน้อย 3.05 ล้านคน  และเกือบจนหรือเสี่ยงที่จะเป็นคนจนจำนวน 4.82 ล้านคน (ข้อมูลจากกองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2565: 4)  

ปัญหาความยากจนนี้จะส่งผลโดยตรงต่อโอกาสทางการศึกษาของเด็กและเยาวชน รวมไปถึงการตั้งคำถามว่า “ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ จะช่วยขยายโอกาสทางการศึกษาของเด็กจากครัวเรือนยากจนที่เผชิญกับปัญหามากมายอันเนื่องมาจากความยากจน ไม่ว่าจะเป็นภาวะบกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้ การเข้าถึงโรงเรียนที่ใกล้บ้านและมีคุณภาพ การไม่หลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน รวมไปถึงการได้เรียนหรือได้รับการพัฒนาทักษะแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้อย่างไร”

ผู้เขียนแบ่งข้อถกเถียงหลักของงานเขียนชิ้นนี้เป็นสองส่วน 

ส่วนแรกคือความจำเป็นของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ และส่วนที่สอง คือบทวิเคราะห์ว่าร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่จะช่วยหยุดวงจรความยากจนได้อย่างไร? 

ส่วนแรก หลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติแห่งชาติฉบับใหม่อ้างถึงมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกอบกับมาตรา 258 ข้อ จ.ด้านการศึกษาและมาตรา 261 ที่กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการศึกษา โดยเฉพาะให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูง ฯลฯ จึงดูเหมือนว่าการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่นี้จำเป็นต้องเกิดขึ้น เพราะเป็นเค้าโครงที่ได้ถูกกำหนดไว้แล้วในแผนการปฏิรูปประเทศ และถูกบัญญัติเป็นหมวดใหม่ในรัฐธรรมนูญ คือ หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ

หมวดดังกล่าวไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก่อน เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่ที่กำลังถกเถียงกันอยู่นี้จึงเป็นใจความสารัตถะและเจตจำนงของการปฏิรูปประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) รวมถึงสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา (เช่น แผนแม่บทประเด็นที่ 11 การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต, แผนแม่บทประเด็นที่ 12 การพัฒนาการเรียนรู้, แผนแม่บทประเด็นที่ 23 การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม) และต้องสอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560-2579) อีกด้วย 

แนวคิดในการปฏิรูปประเทศซึ่งแฝงฝังอยู่ในรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการศึกษาแห่งชาตินี้ ต้องเริ่มต้นเล่าย้อนกลับไปในช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 ครั้งเมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เสนอเรื่องให้มีการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ จนกระทั่งวาระการปฏิรูปประเทศกลายเป็นหมวด 16 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

เป้าหมายการปฏิรูปประเทศนั้นบัญญัติไว้ในมาตรา 257 และประเด็นการปฏิรูปบัญญัติไว้ในมาตรา 258 ซึ่งในข้อ จ. ด้านการศึกษานั้นต้องปฏิรูปการศึกษา ให้

1) สามารถเริ่มดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามมาตรา 54 วรรคสอง เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย 

2) ให้ดำเนินการตรากฎหมาย เพื่อจัดตั้งกองทุนตามมาตรา 54 วรรคหก ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ (หมายถึงพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561) 

3) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู 

4) ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัดและปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ 

เมื่อพิจารณาจากร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ จะพบว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการจัดการศึกษา (คุณสมบัติของบุคลากร องค์ประกอบของคณะกรรมการ หน้าที่ การจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันการศึกษา การเลื่อนวิทยาฐานะ เงินประจำตำแหน่ง ฯลฯ) แต่รายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดความสำเร็จของการปฏิรูปนั้นจะปรากฏอยู่ในแผนการศึกษาแห่งชาติ 

หากต้องพิจารณาถึงความจำเป็นของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ก็คงจะเป็นความจำเป็นในแง่ที่การปฏิรูปการศึกษาได้ถูกกำหนดไว้หมดแล้วตั้งแต่ก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้งเป้าหมายและแผนการปฏิรูปที่จะนำไปปฏิบัติเป็นนโยบายยังถูกแฝงฝังไปยังแผนระดับต่างๆเรียบร้อยหมดแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติ ยังไม่นับรวมกฎ ระเบียบ ข้อบังคับปลีกย่อยรายองค์กรมากมาย ที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาตามแบบฉบับแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งหากต้องการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ก็มิวายจะต้องกระทบกระเทือนหรืออาจไม่สอดคล้องกับแผนต่างๆที่โยงใยสัมพันธ์กัน

ส่วนที่สอง เมื่อต้องวิเคราะห์ว่าร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่จะช่วยหยุดวงจรความยากจนได้อย่างไร?

ต้องย้อนกลับมาพินิจในตัวร่างพระราชบัญญัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวด 1 วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดการศึกษา ซึ่งระบุเนื้อหาอย่างละเอียดไว้ในมาตรา 8 ว่า

บุคคลทั้ง 7 ช่วงวัย (ช่วงวัยที่หนึ่ง 0-1 ปี, ช่วงวัยที่สอง 1-3 ปี, ช่วงวัยที่สาม 3-6 ปี, ช่วงวัยที่สี่ 6-12 ปี, ช่วงวัยที่ห้า 12-15 ปี, ช่วงวัยที่หก 15-18 ปี และช่วงวัยที่เจ็ด วัยอุดมศึกษา) จะต้องได้รับการพัฒนา ฝึกฝนและบ่มเพาะเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการจัดการศึกษาอย่างไร 

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเนื้อหาของเป้าหมายการจัดการศึกษาของเด็กสองช่วงวัย (ช่วงวัยที่สาม 3-6 ปีและช่วงวัยที่ห้า 12-15 ปี) เพื่อวิเคราะห์เทียบกับกรณีศึกษาจริงที่เป็นสมาชิกวัยเยาว์ในครัวเรือนยากจนของเขตอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ที่ผู้เขียนทำวิจัยอยู่ใน “โครงการวิจัยความยากจนข้ามรุ่นในสังคมไทยภายใต้ความท้าทายเชิงโครงสร้าง” 

ในบ้านเช่าหลังเล็กๆหลังหนึ่งกลางเขตเทศบาลนครพิษณุโลก ครอบครัวหนึ่งมีสมาชิกอยู่ประมาณ 9 คน ประกอบด้วยนางสาวจริง (นามสมมติ) สามี ย่าที่พิการติดเตียง และเด็กๆจำนวน 6 คน (อายุ 13 ปี, 12 ปี, 7 ปี, 6 ปี, 5 ปี และ 9 เดือน) นางสาวจริงเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ทำงานรับจ้างมาโดยตลอด ลูกทั้ง 6 คนนี้เกิดจากสามี 3 คน สามีคนปัจจุบันที่อยู่ด้วยกันรับจ้างทำงานก่อสร้าง ซึ่งไม่ได้มีงานทุกวัน 

ภาระที่นางสาวจริงต้องดูแลย่าที่พิการติดเตียง ทำให้เธอไม่สามารถออกไปทำงานรับจ้างอย่างเป็นกิจจะลักษณะได้ บางวันได้รับการว่าจ้างจากเพื่อนบ้านในละแวก ให้ไปซื้อของที่ตลาดครั้งละ 40-50 บาท ลูกสาวคนโต (น้องมี) และลูกสาวคนรอง (น้องมา) ต้องช่วยรับจ้างเดินขายข้าวกล่อง ได้กล่องละ 5 บาท จากราคาข้าวกล่องกล่องละ 25 บาท ถ้าขายขนมเปียกปูนถ้วยละ 10 บาท เด็กๆจะได้เงินค่าขายขนมถ้วยละ 2 บาท 

เด็กๆ 5 คนในครอบครัวนี้อยู่ในวัยกำลังศึกษา ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่จากการศึกษาภาคบังคับ นโยบายนมโรงเรียน และอาหารกลางวันฟรี จะมีเพียงลูกสาวคนโตที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และลูกสาวคนรองที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ไม่ได้รับประทานอาหารฟรีและนมฟรี เนื่องจากโรงเรียนให้สิทธิ์เฉพาะเด็กเล็กจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น นอกเสียจากว่านมฟรีนั้นเหลือแจก เด็กๆชั้นมัธยมศึกษาจึงจะได้มีโอกาสรับประทาน 

ความฝันของนางสาวจริง เฉพาะหน้านี้ขอแค่เพียงมีเงินทุนไปซื้อข้าวโพดและถั่วมาต้มขายหน้าบ้านเพื่อมีรายได้เล็กๆน้อยๆ ส่วนความฝันของลูกสาวคนโตนั้นคือการเป็นพยาบาล อย่างไรก็ตาม ลูกสาวคนโต (น้องมี) ของนางสาวจริงบอกกับผู้เขียนว่า เธอคงไม่มีโอกาสจะได้เรียนต่อหลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 การเรียนต่อในชั้นที่แม่ของเธอต้องเสียค่าเทอมนั้นคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ประกอบกับเธอจะต้องกลายมาเป็นแรงงานของบ้านให้เร็วที่สุด และมีความคิดว่าการจบการศึกษาที่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นั้นก็สามารถทำงานหาเงินได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานใน 7-11, ในโรงงานไทยแอโรว์ หรือทำงานในห้างโลตัส 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมานี้ ลูกสาวคนโตและลูกชายคนที่สี่อายุ 6 ปีของนางสาวจริง แย่งมือถือที่มีอยู่เครื่องเดียวทั้งบ้านเพื่อเรียนออนไลน์ ลูกชายของนางสาวจริงโกรธที่ไม่สามารถแย่งมือถือจากพี่สาวได้ จึงได้ใช้แท่งเหล็กจากตะแกรงพัดลมเก่าทิ่มลูกนัยน์ตาของพี่สาวจนเลือดอาบ แพทย์ทำการรักษาและวินิจฉัยว่าตาดำแตกใช้งานไม่ได้อีกต่อไป ส่งผลให้น้องมี ลูกสาวคนโตของเธอ ตาซ้ายบอดสนิท ผู้เขียนจินตนาการไม่ออกว่าน้องมีที่จะออกจากระบบการศึกษาที่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และตาซ้ายบอดสนิทจะสามารถกลายเป็นแรงงานที่แบกรับภาระอันหนักอึ้งของครัวเรือนนี้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร 

เมื่อกลับไปดูเนื้อหาของมาตรา 8 ของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่ที่ระบุการพัฒนา ฝึกฝน บ่มเพาะให้ผู้เรียนมีสมรรถนะตามระดับช่วงวัย หากเทียบกับช่วงวัยของลูกชายคนที่สี่ คือ ช่วงวัยที่สี่ อายุระหว่าง 6-12 ปี ซึ่งร่างพรบ.กำหนดว่า “ต้องฝึกฝนให้มีทักษะบริหารจัดการตนเอง ดูแลสุขภาพทั้งกายและจิตของตนเอง เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ภูมิใจและตระหนักในความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีจิตอาสา มีความภาคภูมืใจในความเป็นไทย ซึมซับในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รับรู้ถึงความงามของธรรมชาติ มีนิสัยในการสังเกตและใฝ่รู้ มีทักษะในการเรียนรู้ รู้จักและรู้เท่าทันในการใช้เทคโนโลยีหาความรู้…..” 

และช่วงวัยของน้องมี คือ ช่วงวัยที่ 5 อายุระหว่าง 12-15 ปี ที่ร่างพรบ.กำหนดว่า “ต้องฝึกฝนให้รู้จักสุขภาพกาย ควบคุมอารมณ์ เข้าใจพัฒนาการของสมองวัยรุ่น รับผิดชอบที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง รู้ความถนัดและเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง เรียนรู้ที่จะตัดสินใจและวางแผนชีวิต ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย สามารถแก้ไขปัญหาชีวิตที่ซับซ้อน ยึดมั่นในจริยธรรม เชื่อมั่นและเข้าใจการธำรงความเป็นไทย สามารถสื่อสารภาษาไทยที่สมบูรณ์ รู้และเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจนสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้……”

จากสาระในมาตรา 8 ของร่างพรบ.การศึกษาฉบับใหม่ข้างต้นจะเห็นว่า สารัตถะในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยนั้นเน้นไปที่เรื่องของบุคลิกลักษณะ นิสัยใจคอ ทัศนคติ ค่านิยม มากกว่าจะเป็นเรื่องขององค์ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่เด็กตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปีควรจะได้รับ ซึ่งหากย้อนดูเข้าไปในครอบครัวของนางสาวจริง ซึ่งเป็นครอบครัวยากจนเรื้อรังแล้ว การพัฒนามนุษย์ที่จะเป็นไปตามมาตรา 8 นั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง มิหนำซ้ำหลายอย่างก็มิอาจจะเกิดขึ้นได้จริงเพียงเพราะว่ามีฐานะยากจน 

ยกตัวอย่างเรื่องพื้นฐานง่ายๆ อย่างการให้เด็กดูแลสุขภาพกายและจิตของตนเอง ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องพื้นฐานง่ายๆสำหรับครัวเรือนอื่นๆ แต่สำหรับสมาชิกในบ้านเช่าหลังนี้ ที่แวดล้อมไปด้วยของเก่าที่เก็บมาสะสมเพื่อรอวันขาย หลังคาที่รั่วจนนอนไม่ได้ ส้วมที่ไม่ได้สุขลักษณะ แมลงวันและยุงที่บินว่อนไปทั่วบ้าน อาหารที่ต้องอดมื้อกินมื้อ นมสดที่ต้องอาศัยดื่มจากที่โรงเรียน ฯลฯ อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ไม่อาจทำให้เด็กๆพัฒนาไปตามเนื้อหาของมาตรานี้ได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น หากจะวิเคราะห์ลงในสารัตถะอีกสักครั้งก็จะพบว่า นอกจากร่างพรบ.จะไม่ได้ชี้ว่า เพื่อจะไปให้ถึงสมรรถนะตามช่วงวัยเช่นนั้นจะต้องปฏิบัติการอย่างไรแล้วรายละเอียดของสมรรถนะตามระดับช่วงวัยดังกล่าวยังไม่ได้กล่าวถึงเรื่องขององค์ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่จะนำไปสู่การพัฒนาคนหรือพัฒนาแรงงานที่สอดรับกับการพัฒนาประเทศอีกด้วย

แล้วร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่นี้จะช่วยหยุดวงจรความยากจนได้อย่างไร?

ผู้เขียนทดลองเสนอบทวิเคราะห์ดังนี้

ประเด็นแรก ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ จะช่วยหยุดวงจรความยากจนได้ หากมีเนื้อหาสาระที่สร้างความเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

การพัฒนาคนเพื่อเป็นแรงงานสำคัญของประเทศนี้สามารถลงทุนให้กับคนไทยได้หลายช่วงวัย (แบ่งย่อยตั้งแต่อายุ 18-59 ปี) การพัฒนาการศึกษาที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจต่อคนไทยหลายช่วงวัยจะลดการเป็นภาระพึ่งพิงซึ่งกันและกันของสมาชิกต่างวัยในครัวเรือน 

อย่างกรณีศึกษา หากนางสาวจริงได้รับการพัฒนาทักษะ นางสาวจริงจะไม่กลายมาเป็นภาระของน้องมีในอนาคต, หากน้องมีได้รับโอกาสให้ศึกษาต่อในชั้นเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายโดยไม่เสียค่าเทอมและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา น้องมีจะมีทางเลือกในอาชีพมากขึ้นและสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อจุนเจือครอบครัว มากไปกว่านั้นหากจะมีนโยบายสังคมที่จะช่วยให้วัยแรงงานไม่ต้องกลายมาเป็นผู้เฝ้าไข้ ที่ไม่สามารถออกจากบ้านไปหารายได้ได้ จะเป็นคุณูปการอย่างสูงต่อการลดภาระพึ่งพิงซึ่งกันและกันในครัวเรือนยากจน

ประเด็นที่สอง ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ไม่มีสารัตถะสำคัญที่จะช่วยขยายโอกาสทางการศึกษาของคนไทยในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยที่ยากจน

ข้อมูลจากภาคสนามในงานวิจัยพบว่า โอกาสทางการศึกษาของเด็กในครัวเรือนยากจนจะหยุดในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นระดับการศึกษาภาคบังคับ เรียกได้ว่าการศึกษาภาคบังคับที่รัฐดำเนินการให้โดยที่ประชาชนไม่ต้องเสียใช้จ่ายถึงชั้นไหน โอกาสทางการศึกษาของเด็กยากจนก็สิ้นสุดที่ชั้นนั้น 

ในหมวด 4 มาตรา 50 ของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ระบุให้มีการศึกษาภาคบังคับตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ (พ.ศ.2545) ซึ่งนั่นก็คือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะเห็นได้ว่าร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่มิได้กล่าวถึงการขยายโอกาสทางการศึกษา แม้ว่าในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 (หน้า 102) จะระบุว่าประเทศไทยต้องการประชากรวัยแรงงาน (18-59 ปี) ที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าขึ้นไปเพิ่มขึ้นก็ตาม

ประเด็นที่สาม  ช่องว่างของโอกาสทางการศึกษายังไม่ถูกถมให้เต็ม

  • ช่องว่างแรก คือ ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่ทำให้นโยบายเรียนฟรี 15 ปียังไม่ฟรีจริง ทั้งนี้เพราะค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามิได้หมายถึงแค่ค่าเล่าเรียน แต่ยังมีค่าเดินทาง ค่าเครื่องแบบ ค่าสมุดหนังสือ/อุปกรณ์การเรียน และในบางโรงเรียนยังมีค่ากิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่ ยังไม่นับรวมค่าชุดผ้าไทยประจำวันศุกร์หรือค่าชุดขาวปฏิบัติธรรมสำหรับนักเรียน ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาข้างต้นนี้ยังไม่รวมค่าขนม/ค่าอาหารที่ผู้ปกครองในครัวเรือนยากจนต้องจ่ายรายวันอย่างต่ำที่สุดคือวันละ 25 บาท แม้นโยบายอาหารเสริม นม และอาหารกลางวันจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปได้ แต่เด็กนักเรียนที่จะมีโอกาสรับประทานอาหารกลางวันและนมฟรีก็มีถึงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 
  • ช่องว่างที่สอง คือ โอกาสในการเข้าถึงโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาของรัฐในกลุ่มเด็กยากจนที่ต้องการจะเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายนั้นมีจำกัด หากไม่กู้เงิน กยศ. ก็ต้องเรียนกศน. หรือไม่เช่นนั้นก็จะต้องสมัครเข้าเรียนยังสถานศึกษาที่มอบทุนการศึกษาให้ เช่น ทุนของมูลนิธิต่างๆ, ทุนเรียนต่อสายวิชาชีพของวิทยาลัยช่างเทคนิค

อย่างไรก็ดี กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2565: 20) ชี้ว่าเด็กยากจนเข้าถึงทุนการศึกษาได้น้อย กล่าวคือ เด็กยากจนที่กำลังเรียนหนังสือที่ได้รับทุนการศึกษาของรัฐหรือเข้าถึงโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษามีสัดส่วนที่ต่ำเพียงร้อยละ 2.42 ของเด็กยากจนทั้งหมด และมีเพียงร้อยละ 0.39 ที่เข้าถึงโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษา (กยศ.) เหตุผลอาจเป็นเพราะว่าเด็กยากจนอาจหลุดออกจากระบบการศึกษาไปตั้งแต่ก่อนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือตัดสินไม่เรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะแม้ว่าจะมีโครงการเงินกู้รออยู่ในอนาคต แต่ความยากจนในครัวเรือนนั้นรุนแรงและส่งผลต่อชีวิตรวดเร็วเกินกว่าจะรอให้เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้

ผู้อำนาจและผู้ส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย อาจต้องใช้มุมมองในระดับจุลภาคหรือระดับครัวเรือน ในการทบทวนสารัตถะที่เกี่ยวข้องกับพัฒนากำลังคนของประเทศอีกครั้ง ว่าในระดับครัวเรือนของไทยกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศและรัฐต้องจัดการศึกษาเพื่อให้ความรู้และทักษะแบบใด (ที่ไม่ใช่แค่ว่าควรมีค่านิยม ทัศนคติ และบุคลิกภาพแบบใด) แก่ประชาชนและในช่วงวัยใดบ้างที่จะสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ มากไปกว่าการพัฒนาความรู้ในวัยเด็กแล้ว การออกแบบนโยบายที่จะช่วยให้พ่อแม่/ผู้ปกครองมีกำลังทางเศรษฐกิจมากพอที่จะลงทุนด้านการศึกษากับลูก หรือการลงทุนของบ้าน (Home Investments) ก็เป็นอีกแรงผลักหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาคนให้เป็นแรงงานที่มีทักษะสำคัญของประเทศ


รายการอ้างอิง : กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2565). รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2564. กรุงเทพฯ: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.