พื้นที่เรียนรู้ ปลอดภัยทั้งกายใจ 24 ชั่วโมง ‘เวียงสระ’ บ้านเรา

พื้นที่เรียนรู้ ปลอดภัยทั้งกายใจ 24 ชั่วโมง ‘เวียงสระ’ บ้านเรา

สามปีของการทำงาน ‘โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา’ โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ ที่กระจายไปทั่วประเทศ ‘ภาคใต้ตอนบน’ นับว่าเป็นพื้นที่หนึ่งที่ซับซ้อนด้วยโจทย์หลากหลาย หากแต่ได้แสดงให้เห็นความร่วมมือเพื่อ ‘ฟันฝ่า – ร่วมสร้าง – พัฒนางาน – ตระหนักรับรู้ร่วมกัน’ ในการพยายามสร้างการเรียนรู้และดูแลชีวิตของเด็กเยาวชนด้อยโอกาส โดยการทำงานในพื้นที่ต้นแบบ ภายใต้การสนับสนุนของ ‘กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ (กสศ.) ได้ทำให้เกิดเครือข่ายขนาดใหญ่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร ที่ช่วยให้เด็กเยาวชน 860 คน ได้กลับมีโอกาสอีกครั้งในการศึกษาเรียนรู้ พัฒนาตนเองตามวิถีทางที่สนใจ ที่ถนัด และสอดคล้องกับสภาพบริบทพื้นที่

เพื่อขยายภาพให้ชัด ขอนำทุกท่านไปยัง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอที่มีอาณาเขตติดต่อกับอีกสามอำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่แห่งนี้จึงเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ของแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาค หลังการเกิดขึ้นของ ‘ศูนย์สืบสานมโนราห์ปักษ์ใต้บ้านปากลัด’ ที่แม้เริ่มต้นทำงานกับเด็กเยาวชนนอกระบบโดยอาศัยฐานทุนภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่าง ‘มโนราห์’ แต่ด้วยความตั้งใจของคณะทำงานที่ต้องการสร้าง ‘พื้นที่เรียนรู้ที่ปลอดภัยทั้งกายและใจ’ เพื่อตอบสนองทุกความฝัน ทุกความพยายามตั้งใจสำหรับเด็กเยาวชนทุกกลุ่ม จากเด็กจำนวนหลักสิบที่สนใจใคร่รู้ในศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน จึงค่อย ๆ รวมกลุ่มเหนียวแน่นเป็นเครือข่ายเรียนรู้ของเยาวชนกว่า 70 คน พร้อมแตกแขนงสู่กิจกรรมอื่น ๆ เช่น ทำอาหาร ทำขนม การแปรรูปพืชสมุนไพร เลี้ยงปลา ทำงานช่าง ฯลฯ ซึ่งก่อรายได้ให้กับเด็ก ๆ

ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่แห่งนี้ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงเวลาอันยากลำบากท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่ช่วยให้เด็กเยาวชนเหล่านี้ ‘ข้ามผ่าน’ มาได้ โดยยังคงอยู่บนเส้นทางการเรียนรู้ได้ต่อไป

ทุกคนพร้อมพัฒนาตัวเอง ถ้าได้ ‘เรียน’ ในสิ่งที่ ‘อยากรู้’

ครูชานนท์ ปรีชาชาญ คณะทำงานเครือข่ายเพื่อนเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เล่าว่า ข้อค้นพบหนึ่งจากเด็กเยาวชนกลุ่มเปราะบางบนฐานปัญหาที่หลากหลาย คือเด็กไม่เคยมี ‘พื้นที่ทำกิจกรรม’ ของตนเอง หมายถึงพื้นที่ที่เด็กได้ร่วมออกแบบ ได้ทำกิจกรรมพัฒนาศักยภาพภายใน ตรงกับความต้องการของตัวเอง

ครูชานนท์ ปรีชาชาญ คณะทำงานเครือข่ายเพื่อนเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี

“เจตนาของเรามีเพียงอย่างเดียวว่า ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยทั้งกายและใจสำหรับเด็ก ๆ ให้เขามีส่วนร่วมออกแบบพื้นที่เรียนรู้ของตัวเอง เพราะพอเป็นไอเดียที่มาจากเด็ก เขาจะรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของ มีความผูกพัน หวงแหน มีตัวตน ที่สำคัญคือรู้สึกปลอดภัย เมื่อนั้นเขาจะพร้อมบอกเล่าความเป็นตัวเองออกมา

“ที่นี่เริ่มจากเป็นชมรมฝึกสอนมโนราห์เล็ก ๆ มีสมาชิกบริเวณใกล้เคียงราวสิบคนที่สนใจเข้าร่วม เราเป็นครูภูมิปัญญามโนราห์ที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้เด็กเยาวชนด้อยโอกาสที่อยากเรียนรู้ ได้เข้ามาใช้พื้นที่ฝึกฝน ออกแสดงหารายได้เลี้ยงดูตัวเอง เพื่อให้เขาออกห่างจากวงจรสุ่มเสี่ยงต่าง ๆ

“พอมีพื้นที่ เด็กที่สนใจก็เข้ามามากขึ้น เพราะเขาเห็นว่าการมาที่นี่ทำให้เขามีตัวตน จึงขยับขยายเป็นศูนย์ เราเห็นโอกาสว่าจะพัฒนาเขาในด้านอื่น ๆ ได้ ก็คิดกระบวนการเชื่อมต่อโดยให้เด็กที่เป็นแกนนำของแต่ละกลุ่มดึงดูดเพื่อน ๆ เข้ามา ข้อดีของวิธีการนี้ คือการที่เด็กสื่อสารกันเองมันทำให้เขาเข้าใจกันได้ดีกว่า เร็วกว่า แต่ก่อนไปถึงตรงนั้นเราก็ต้องเตรียมเยาวชนแกนนำให้มีความพร้อม สามารถถ่ายทอดทัศนคติที่ดีไปถึงเพื่อน ๆ”

ตั้งรับ 24 ชั่วโมง เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าเมื่อไหร่ที่เขาพร้อมเปิดใจ

ครูชานนท์ กล่าวว่า ธรรมชาติของเด็ก โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบางที่ผ่านประสบการณ์แตกต่างกันออกไป เราไม่มีทางรู้ว่าเขาอยากเล่าเรื่องราวหรือปัญหาของเขาในเวลาไหน ดังนั้นหากจะ ‘เข้าใจ’ เราต้องให้เวลากับเขาตลอด 24 ชั่วโมง คือไม่จำเป็นต้องใกล้ชิดตัวติดกัน แต่เมื่อไหร่ที่เขา ‘พร้อม’ ครูเองก็ต้องพร้อมไปด้วยกัน

“วันหนึ่งเขาโทรมาหาตอนเที่ยงคืน เราต้องรับฟัง พร้อมปรับจูนตัวเองให้สามารถถ่ายทอดในสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้ เพราะเมื่อเขาตัดสินใจแล้วว่าจะเปิดใจกับเรา นั่นคือความเชื่อใจได้เกิดขึ้นแล้ว แล้วพอเราเข้าถึงเขาได้ การชวนมาเป็นแกนนำหรือปรับเปลี่ยนวิธีคิด สอดแทรกทัศนคติเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิตถึงจะเกิดขึ้นได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าการคุยกันอาจไม่ใช่ครั้งเดียวจบ แค่ให้เขารู้ว่าเราจะอยู่ตรงนั้น ยินดีรับฟังและรอเขาได้เสมอ ย้ำกับเขาว่าเราอยากหาทางให้เขาพบตัวเอง ได้พัฒนาศักยภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น แล้วตัวเขาเองก็สามารถเป็นคนที่ช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องของเขาให้ดีขึ้นได้เช่นกัน        

“เด็กทุกคนที่เข้ามา เราจะแบ่งกลุ่มโดยหาจุดร่วม หาคนที่มีความชอบและเป้าหมายที่คล้ายคลึงกัน แล้วให้เขาช่วยดูแลกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน ส่วนบางเคสที่ต้องดูแลเป็นพิเศษหรือต้องการความช่วยเหลือเฉพาะทาง เราจะมีเครือข่ายหนุนเสริมที่รับส่งกันได้ตลอด เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลที่เหมาะสม”

แทรกซึมในระบบ ลดความเสี่ยงเด็กหลุดกลางคัน

เมื่อผลงานของศูนย์เริ่มเห็นเป็นรูปธรรม คนในพื้นที่รวมถึงผู้ปกครองก็เริ่มให้การตอบรับ จนเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เฉพาะในพื้นที่ แต่ยังขยับขยายไปยังกลุ่มเด็กในระบบการศึกษา ครูในโรงเรียน ด้วยแกนนำที่สร้างขึ้นซึ่งพร้อมนำความรู้ นำทัศนคติจากศูนย์ไปบอกต่อ        

“ตัวเราเองเป็นคนนอกพื้นที่เข้ามาทำงาน แรก ๆ ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับ แต่พอเกิดผลที่จับต้องได้ เด็กเปลี่ยนจากมองไม่เห็นเป้าหมาย ไม่รู้ทางไปในชีวิต กลายเป็นมีสิ่งยึดเหนี่ยว มีรายได้ ผู้ปกครองเขาเห็นว่าได้ผลดีก็เข้ามาร่วมด้วย เกิดการขยายกลุ่มอาชีพที่แตกแขนงออกไป มีการปลูกพืชสมุนไพรและแปรรูป มีกลุ่มทำอาหาร ทำงานช่าง เลี้ยงปลา ทำขนม และอีกหลายกิจกรรม สมาชิกที่เข้ามาก็เริ่มมีทั้งเยาวชนนอกระบบในระบบปะปนกัน จากตรงนั้นเราพยายามผลักดันต่อให้เกิดเยาวชนแกนนำที่เอาประสบการณ์จากศูนย์ไปทำต่อในโรงเรียน อย่างช่วงโควิด-19 โรงเรียนปิด มีเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดเพิ่มขึ้นมาก ชมรมเหล่านี้ที่เขาไปเปิดกันในโรงเรียนก็กลายเป็นพื้นที่รับฟัง พื้นที่ทำกิจกรรม มีครูในโรงเรียนที่เขาเห็นคุณค่าก็ตัดสินใจเข้าร่วม มาหาเราที่ศูนย์ มาร่วมพูดคุยหาวิธีการดูแลเด็ก ๆ จนเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ ต่อยอดไปในหลายโรงเรียน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการเชื่อมร้อยต่อกันของโรงเรียนต่าง ๆ จนครูในระบบเองก็หาทางช่วยเหลือดูแลนักเรียนเสี่ยงหลุดได้ดีขึ้น เปอร์เซ็นต์เด็กหลุดกลางทางก็ลดลง

“เรามองว่านี่คือการทำงานที่มีพื้นฐานจากเด็กถึงเด็ก ทำให้เขามองเห็นปัญหาของตัวเอง รับรู้ความต้องการของตัวเอง แล้วสิ่งเหล่านี้จะแปรเปลี่ยนเป็นความมุ่งมั่น อยากไปให้ถึงเป้าหมาย เกิดการเติบโตจากภายใน และสำหรับเราที่เป็นผู้ใหญ่ ต้องมีหน้าที่หนุนเสริม เรียนรู้จากเขา และให้โอกาสเขา”

พาการศึกษาทางเลือกไปเคาะประตูถึงหน้าบ้าน

อีกหนึ่งชิ้นส่วนที่ช่วยประกอบภาพการทำงานเชิงพื้นที่ให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น คือการศึกษานอกโรงเรียนหรือการศึกษา ‘ทางเลือก’ โดย ครูชลิดา ศรพิชัย จาก กศน. อำเภอเวียงสระ เล่าว่า ก่อนมีโครงการ ฯ เกิดขึ้น กศน. เวียงสระ เป็นเพียงสถานที่สำหรับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาที่นำเด็กเข้ามาเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลาง แต่ด้วยความที่ไม่สามารถตอบสนองการเรียนรู้ของเด็กได้ตรงตามความต้องการ หลายคนจึงผ่านเข้ามาแล้วผ่านออกไป โดยไปไม่ถึงปลายทางที่ ‘ระบบต้องการให้พวกเขาเป็น’

“เราเป็นครูกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ทำงานกับเด็กที่ต้องการการดูแลเฉพาะ แต่ในการทำงาน กศน. เราสอนเด็กทุกกลุ่ม ก่อนหน้านี้ทำงานมาสิบแปดปี เชื่อไหมว่ายังไม่รู้ว่าบางบ้านมีเด็กพิการอยู่ เพราะผู้ปกครองเขาเก็บเด็กไว้ ก็ต้องใช้วิธีลงพื้นที่ไปเคาะประตูตามบ้าน ไปคุยกับผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน จุดเริ่มต้นคือเอาทุนเข้าไปหาเขา ทีนี้พอลงพื้นที่เราก็พยายามสื่อสารกับเด็กนอกระบบทุกแบบ ในพื้นที่มีทั้งปัญหายาเสพติด การพนัน เด็กเร่ร่อน กลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือคุณแม่วัยใส พอเจอตัวเขาก็ชวนมาทำกิจกรรม สร้างอาชีพ บางเคสก็มีที่ผู้นำชุมชนแนะนำว่าสื่อสารด้วยยาก แต่เราไม่ปล่อยผ่าน อย่างน้อยลองไปคุย ลองเป็นเพื่อนเขาก่อน จนเขาลองเข้ามาแล้วเห็นว่าดี ก็เกิดการชวนเพื่อนต่อ ๆ กันไปเรื่อย

“ส่วนหนึ่งเขาเข้ามาเพราะอยากได้ทุน เราก็มีข้อแม้ว่าให้ลองหากิจกรรมที่สนใจทดลองทำ เด็กผู้ชายเขาสนใจเรื่องเพาะพันธุ์ปลาดุก ปลานิล เด็กผู้หญิงก็มีทั้งเลี้ยงไก่ไข่ ทำอาหาร ทำขนม ก็เริ่มเข้ามาศึกษา เราพัฒนาต่อเป็นโครงการฝึกอาชีพ จนขายได้ แล้วนอกจากรายได้แล้ว เขาไม่รู้ตัวว่าระหว่างอยู่ในกระบวนการมันมีความเปลี่ยนแปลงจากข้างใน คือจุดตั้งต้น ที่หลายคนหลุดไปเพราะเขาไม่ชอบเรียน เหมือนระบบมันไม่เหมาะกับเขา แต่ตรงนี้เราดูแลผลักดันเขาเหมือนครอบครัว เล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องเงินทองเสื้อผ้าอาหารการกินช่วยได้ก็ช่วยกันไป สนับสนุนเท่าที่ทำได้ พื้นฐานเด็กกลุ่มนี้บ้านลำบากอยู่แล้ว เขาเลยไม่พร้อมกับการเรียนในโรงเรียนที่มีทั้งระเบียบการ ทั้งค่าใช้จ่ายมากมายที่ต้องแบกรับ”

ครูชลิดา ศรพิชัย จาก กศน. อำเภอเวียงสระ

ครูชลิดาบอกว่า ‘ทุน’ คือตัวเชื่อมที่ทำให้เด็กเข้ามาหา จนกลายเป็นการเปิดใจ หรือจุดประกายให้เด็กหันมาสนใจการศึกษาอีกครั้ง

“เราไม่ได้บังคับว่าต้องทำอาชีพอะไร แต่ให้เขาลองคิดโครงการกันเอง ขอให้ได้รู้ว่าอยากทำอะไร ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีผู้ใหญ่ถามเขา มีแต่จะบังคับให้ไปเรียน ทีนี้พอได้เรียนรู้เรื่องที่สนใจแล้วทำได้ดี เขาเริ่มมั่นใจ ตระหนักในความสามารถตัวเอง เราก็หาทางต่อยอดให้ ไปคุยผู้ปกครองให้เข้าใจว่าต้องช่วยกันดูแลต่อ สำหรับเราเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเลย จากเมื่อก่อนเด็กไม่เคยทักไม่เคยถามอะไรเรื่องเรียนเลย ตอนนี้เขาถามตลอด เรื่องเลี้ยงปลา เรื่องทำอาหาร นั่นเพราะมันมาจากความสนใจของเขา แล้วความรู้นี้ทำให้ได้เงิน กินได้ ก็ยิ่งง่ายขึ้นที่เราจะสอดแทรกทัศนคติเรื่องการเรียนให้ได้วุฒิการศึกษาต่อไป”

หลังจากนี้คือความต่อเนื่อง

อาจารย์รัตนา ชูแสง ผู้รับผิดชอบโครงการ ฯ เครือข่ายพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เสริมภาพรวมว่า ภายใต้โครงการ ฯ นี้ทำให้เกิดการทำงานในพื้นที่มากกว่า 13 อำเภอต้นแบบ จนเกิดเครือข่ายดูแลเด็กเยาวชนนอกระบบที่แข็งแรง ด้วยกลุ่มครู พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูภูมิปัญญา ผู้นำชุมชน และครูพี่เลี้ยง ที่ตั้งต้นจากการอบรมพัฒนาศักยภาพ คลี่ความเข้าใจ และมองเป้าหมายร่วมกัน

อาจารย์รัตนา ชูแสง ผู้รับผิดชอบโครงการ ฯ

“การทำงานเชิงพื้นที่ด้วยคนใน ทำให้เรารู้ว่าเด็กอยู่ตรงไหน แต่ละครอบครัวเป็นอย่างไร เมื่อเราใช้ตรงนี้เป็นฐานออกแบบการทำงาน กลุ่มเป้าหมายก็ได้รับการดูแลที่ตรงจุด ขาดเหลืออะไรก็ชวนผู้เชี่ยวชาญทักษะเฉพาะทางมาช่วย จากนั้นเป็นการติดตามสนับสนุนการเรียนรู้ทั้งทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ โดยใช้บริบทพื้นที่เป็นตัวตั้ง มีกิจกรรมเสริมพัฒนาการตามวัย ให้ความช่วยเหลือตามสถานการณ์ บางคนอยากเรียนต่อก็พากลับเข้าระบบ คนที่ไม่พร้อมก็ช่วยกันหาสิ่งที่สนใจให้พบแล้วผลักดันให้ไปต่อ นี่คือภาพคร่าว ๆ ของพื้นที่ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นการสานต่องานเป็นระบบ บ้างจากฐานวัฒนธรรม บ้างจากอาชีพในชุมชน ส่วนหลังจากนี้สิ่งที่เครือข่ายต้องทำให้เกิดขึ้นต่อไปคือการทำงานที่มีความต่อเนื่อง”

สรุปโดยสังเขป
‘พื้นที่ปลอดภัย’ คือจุดเริ่มต้นงานเด็กนอกระบบ

สมพงษ์ หลีเคราะห์ หัวหน้าคณะทำงานโครงการ ฯ

สมพงษ์ หลีเคราะห์ หัวหน้าคณะทำงานโครงการ ฯ เครือข่ายภาคใต้ตอนบน กล่าวสรุปว่า ศูนย์การเรียนรู้เล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เปรียบได้กับ ‘ห้องเรียนปลอดภัย’ ที่จะช่วยดึงเด็กเยาวชนเข้าหาการเรียนรู้ ซึ่งต่างไปจากห้องเรียนในระบบเชิงอำนาจ ที่เด็กจำเป็นต้องเข้าไปเพราะเป็นเส้นทางการศึกษาตามกระแสหลัก ดังนั้นในการทำงานกับเด็กเยาวชนนอกระบบ การทำให้เด็กสบายใจ ปลอดภัย ได้เรียนรู้ลึกซึ้งในอัตลักษณ์ชุมชน จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีเป้าหมาย แล้วสิ่งที่เด็กอยากเรียนกับสิ่งที่ครูอยากมอบให้จะขยับมาต้องตรงกัน เพราะการศึกษาควรเริ่มจากสิ่งที่เด็กอยากรู้ ส่วนครูคือผู้อำนวยให้เกิดความรู้นั้น ๆ

“โลกทุกวันนี้ถ้าต้องการเรียนเพื่อรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง เราทำที่ไหนก็ได้ มีช่องทางมากมาย แต่สิ่งที่สำคัญคือเราจะสร้างระบบที่เอื้อต่อเด็กได้แค่ไหน ผมได้เห็นว่าพื้นที่ตรงนี้ เด็กทุกกลุ่มได้เข้ามาเรียนรู้อย่างปลอดภัย เมื่อเป็นอย่างนั้นเขาก็อยู่ได้นาน ไม่หลุดซ้ำอีกที่กลางทาง ระหว่างนั้นการส่งเสริมเรื่องวิชาการหรือสร้างเจตคติต่าง ๆ ก็ทำควบคู่กันไปได้ เรื่องนี้เราที่เป็นผู้ใหญ่ต้องช่วยกันครับ”