พลังของ “การศึกษาใหม่” โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ดร.สมคิด แก้วทิพย์

พลังของ “การศึกษาใหม่” โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ดร.สมคิด แก้วทิพย์

ทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นพลังอันไร้ขีดจำกัดของชุมชนว่าสร้างสรรค์ความเปลี่ยนแปลงจากฐานรากได้ สามารถเป็นพื้นที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า “ผมทำงานกับ กสศ. ตั้งแต่ปี 2562 เดิมทีขับเคลื่อนงานการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพกลุ่มคนที่เปราะบาง ยากลำบาก ต่อมาก็เริ่มจัดการศึกษาใหม่ที่ส่งเสริมให้เขามีพลังลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มต้นจากสิ่งที่เขาอยากทำจริง ๆ”

“สังคมไทยมีคนที่ต้องเผชิญชีวิตยากลำบากอยู่มาก ในจำนวนนี้มีกลุ่มที่ถูกผลักให้ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาโดยที่ยังไม่มีโอกาสใช้ศักยภาพของตนเองเลย แต่เขาต้องหันเหไปเป็นแรงงานนอกระบบที่มีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ กลายเป็นคนว่างงาน เป็นคนพิการที่ถูกลืม ถูกจองจำในเรือนจำ การที่จะอยู่รอดได้นั้นพวกเขาต้องได้รับโอกาสและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน นี่คือหัวใจของงานชุมชนเป็นฐาน ดังนั้นถ้าสังคมเรากำลังแสวงหาการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต งานชุมชนเป็นฐานคือสิ่งที่มาขับเคลื่อนตรงนี้ และนี่คือโฉมหน้าของการศึกษาใหม่”

บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้เต็มไปด้วยทั้งความหวังและแทรกด้วยความสะเทือนใจ เมื่อเขาต้องยกตัวอย่างกลุ่มคนเปราะบางที่สั่นคลอนหัวใจคนทำงานมากที่สุด

จากความหนักอึ้งในระดับปัจเจก…สู่ภาพใหญ่ของสังคม  “การศึกษาใหม่” ที่เขาพูดถึง…จะเป็นแสงสว่างท่ามกลางความสิ้นหวังนี้ได้หรือไม่ ด้านล่างนี้มีคำตอบ

เพราะเป็นคนเปราะบางจึงเจ็บปวด

กรณีคนที่ไม่มีทางเลือกหนักสุดที่ผมเคยเจอ คือ เด็กพิการที่ถูกทอดทิ้ง เป็นเหมือนกลุ่มคนที่ถูกลืม พอพ่อแม่รู้ว่าลูกคลอดมาเป็นคนพิการก็เอาไปทิ้งให้อยู่ในศูนย์เด็กพิการ เมื่อเขาโตขึ้นมา ชีวิตหนักมาก ไม่รู้ที่มาและไม่มีที่ไป งานของเราคือสร้างการเรียนรู้ ไปทำให้ศูนย์พัฒนาอาชีพคนพิการสามารถเกิดเป็นหน่วยเศรษฐกิจเล็ก ๆ ที่เลี้ยงตัวเองได้ เคสที่ กสศ. ​เคยเข้าไปทำงานด้วยนี้คือศูนย์เด็กคนพิการ จังหวัดนครศรีธรรมราช เราเข้าไปเชื่อมโยงให้ศูนย์ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย ให้เด็กได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพ 

อีกกลุ่มเปราะบางที่ทางเลือกเขาน้อย คือ เด็กวัยรุ่นในสถานพินิจ เด็กและเยาวชนกว่า 80–90% ที่เข้าสถานพินิจเพราะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เด็กเหล่านี้มักไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ส่วนใหญ่อยู่กับปู่ย่าตายาย และมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าครอบครัวไปไหน ไม่มีที่อยู่อาศัย เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับ จึงต้องอยู่ภายในสถานพินิจเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษา เมื่อพ้นโทษ เด็กเหล่านี้ไม่มีที่พึ่ง กรณีเหล่านี้หน่วยงานภาครัฐต้องช่วยสร้างเงื่อนไขให้ชีวิตเด็กเหล่านี้พอจะมีที่อยู่อาศัยและอาชีพในการทำมาหากิน

คนไม่มีทางเลือกอีกกลุ่ม คือ คนจนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มนี้ชีวิตลำบาก ไปเรียนหนังสือก็ยากเพราะอยู่ไกล ต้องเดินไปหลายชั่วโมง ที่ดินก็ไม่มี หรือคนที่มีที่ดิน พ่อแม่ก็ทำไร่ทำสวนเล็ก ๆ น้อย ๆ แถวบ้าน เป็นต้น กรณีคนจนในเมืองก็หนัก ชุมชนตามสลัมที่ส่วนมากจะเป็นคนชราหรือแรงงานที่กลับบ้านไม่ได้ เขาจะซุกตัวอยู่ตามซอกหลืบของเมือง เช่าห้องเล็ก ๆ อยู่ด้วยกัน ทำอาชีพหากินไปวัน ๆ ได้กินบ้างไม่ได้กินบ้าง คนกลุ่มนี้ลำบากจนทำให้เรารู้สึกว่าทำไมชีวิตคนเรามันยากลำบากได้ขนาดนี้

เมื่อสังคมเรายังมีคนที่ยังขาดโอกาส ขาดทางเลือกอีกมาก ดังนั้นเราต้องสร้างโอกาส โดยใช้ชุมชนเป็นฐานเรียนรู้ ให้เกิดการมีส่วนร่วม ช่วยเหลือซึ่งกันเเละกันเป็นกลุ่ม ๆ

ระบบต้องสร้างคน และคนต้องร่วมสร้างระบบ

ผมเชื่อว่าพลังอำนาจในการจัดการศึกษามีอยู่ในทุกชีวิต ประเด็นคือการมองเห็นคุณค่า ศักยภาพ และตระหนักถึงทุนในตัวเอง เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวโยงกับระบบ มีหลักคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือ การมองว่าชีวิตคนจะงอกงามได้ นอกจากเขาจะต้องพัฒนาตัวเองแล้ว เขายังต้องได้รับโอกาสหรือมีปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต

การศึกษาเป็นหนึ่งในพลังสำคัญที่จะทำให้ชีวิตคน ครอบครัว ประเทศ หรือโลกนั้นอยู่รอดปลอดภัย พูดอีกอย่างคือหากคนเข้าไม่ถึงการศึกษา หรือได้รับการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ เหล่านี้จะกลายเป็นปัจจัยเร่งให้คนซึ่งเป็นหน่วยเล็กสุดของสังคม ดำเนินชีวิตอย่างไม่ถูกไม่ควร ซึ่งจะส่งผลกระทบกลับคืนถึงสังคม ฉะนั้นจึงมีหลักคิดว่า “ระบบต้องสร้างคน และคนต้องร่วมสร้างระบบ” ดังนั้นภาคีสังคมทั้งหลายควรใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือสร้างความเปลี่ยนแปลง นี่คือสิ่งที่นำไปสู่คำว่า All for Education ในขณะเดียวกันการศึกษาก็ควรเป็นการศึกษาเพื่อทุกชีวิตที่เรียกว่า Education for All  สองอย่างนี้เป็นหลักพื้นฐานที่สุด

งานชุมชนเป็นฐานของ กสศ. ​เชื่อว่าหากคนในชุมชนหันมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แม้จะรู้มากน้อยไม่เท่ากันก็ไม่เป็นไร แต่การทำอย่างนี้จะทำให้คนได้เรียนรู้รอบด้านมากขึ้น ชุมชนได้ช่วยกันจัดระบบทำมาหากินและอยู่รอดและรุ่งเรืองต่อไป เพราะฉะนั้นทุนนี้ถือเป็นทุนที่พัฒนาอาชีพไปด้วย สร้างความสามารถในการเรียนรู้ ช่วยให้ผู้คนในชุมชนอยู่ได้ในโลกปัจจุบัน ทั้งยังสอดแทรกทักษะความรู้การจัดการสุขภาพและการเงินด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเรียนรู้

เพราะเวทีนี้ต้องมีพี่เลี้ยง : บทบาทของปัญญาชนพื้นถิ่น

เรามีปัญญาชนพื้นถิ่นมาเป็นผู้นำในการเรียนรู้จำนวนมากและหลากหลาย บางคนมาร่วมในฐานะผู้ใหญ่บ้าน อบต. ผู้ประกอบการท้องถิ่น เป็นต้น มาช่วยทำงานในบทบาทที่ต่างกัน ส่งผลให้การเรียนรู้ในชุมชนมีความหลากหลาย 

ความงดงามคือ แต่เดิมผู้นำและปัญญาชนพื้นถิ่นมักจะรับทุนและหันไปทำงานร่วมกับคนที่เข้มแข็ง แต่งาน กสศ. มีเงื่อนไขให้ผู้นำต่าง ๆ ต้องไปหาคนที่อ่อนแอที่สุด ยากลำบากที่สุด ถ้าเป็นเยาวชนก็ต้องเข้าไปดูกลุ่มที่ไม่มีโอกาสเรียน กลุ่มเด็กที่ยากจนหรือมีปัญหาในชีวิต ผมคิดว่าตรงนี้ถือเป็นมิติใหม่ เป็นการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ 

ที่สำคัญคือ เกิดเครือข่ายของผู้นำปัญญาชนพื้นถิ่น นอกจากช่วยสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ แทบจะเกือบทุกโครงการสามารถที่จะพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของชาวบ้าน และหลายที่ก็พัฒนาเป็นกองทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนเพื่อการศึกษา กองทุนหมุนเวียนเพื่อที่จะสร้างการเรียนรู้ให้ต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้เป็นความงดงามและเป็นพลังที่สำคัญ

การศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต : ความงดงามที่สั่นสะเทือนภายในผู้เรียนรู้

เวลาคนเราได้เรียนการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต ผมคิดว่ามันมีความหมายงดงาม เพราะเป็นการศึกษาที่ถูกออกแบบและตั้งหลักจากชีวิตจริง พอเราไปวิเคราะห์พื้นที่ มีหน่วยจัดการเรียนรู้ เพื่อสร้างโอกาส มันก็เกิดพลังขึ้นจริง

เมื่อพวกเขามาร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ด้วยกัน พลังภายในชีวิตพวกเขาเหมือนมารวมพลังกัน เกิดความงดงาม เราเห็นความรู้สึกปีติยินดีที่เอ่อล้นออกมา การศึกษาใหม่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นจริง ๆ โดยเฉพาะการเห็นคุณค่าภายใน เห็นว่าตนเองก็มีดี มีคุณค่า มีอำนาจ และมีแสงสว่าง

ที่สำคัญ เมื่อคนเหล่านี้ลุกขึ้นมาดูแลตัวเองได้ เขาได้มีชีวิตใหม่ ในขณะเดียวกันตัวเขาเองจากเดิมเคยเป็นผู้รับโอกาส เมื่อเขาได้รับโอกาส เขาก็เห็นคุณค่าในการเข้ามาร่วมเรียนรู้ เขาจึงเป็นคนที่ไปเอื้อโอกาสให้กับคนอื่น แม้ว่าบางทีสิ่งที่เขาเรียนรู้นั้นเป็นเรื่องเล็ก ๆ เช่น แม่บ้านที่อาจทำอะไรไม่ค่อยเป็น แต่เขาทำกับข้าวและปักผ้าได้ นี่คือความสามารถพิเศษเล็ก ๆ เขาสามารถนำสิ่งที่มีไปสร้างการเรียนรู้ให้แก่ผู้ยากลำบากคนอื่น

ถ้าได้ลงไปสัมผัส เราจะเห็นเลยว่าสีหน้าแววตาพวกเขาเต็มไปด้วยความปีติยินดี ก่อนหน้านี้บางคนทุกข์แทบจะฆ่าตัวตาย แต่พอได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น ได้มีปฏิสัมพันธ์ กลายเป็นชีวิตใหม่ เป็นสังคมใหม่ และที่สำคัญคือเป็นเศรษฐกิจใหม่ ผมใช้คำว่าเป็นความงอกงามในระดับบุคคล ทำให้เขามีเพื่อนมากขึ้น และตัวเขาเองได้รับการยอมรับจากสังคม ยิ่งเรื่องราวถูกบอกเล่าขยายออกไป ความภาคภูมิใจในตัวเองยิ่งงอกงามขึ้น

ข้อเสนอนโยบายเพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

1. มีกลไกร่วมกันในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างนิเวศการเรียนรู้ใหม่ให้เกิดขึ้น เครือข่ายที่เราทำงานเป็นเครือข่ายที่ยึดโยงกันทั้งประเทศ เป็นทุนเดิมที่ทาง กสศ.ได้ร่วมสนับสนุนมา โจทย์ใหญ่ถัดไปคือถ้าเราจะทำให้เครือข่ายนี้ขยาย หัวใจสำคัญอยู่ที่การบูรณาการแนวคิดและการทำงาน ประสานพลังกันในเชิงพื้นที่ ทำแผนนโยบาย แล้วมาขับเคลื่อนกันในระดับประเทศ  

รัฐควรต้องจัดงบประมาณและประสานความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคีในระดับท้องถิ่น หน่วยงานกระทรวง ทบวง กรม ฯลฯ ให้มาจับมือร่วมกัน ก็จะสามารถคาดหวังความเปลี่ยนแปลงได้ ปลายทางคือการสร้าง “นิเวศการเรียนรู้ใหม่” เพื่อจะอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ แบ่งปัน ดูแลกัน และสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น สังคมไทยจะน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ

2. การศึกษาและการสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่จำเป็นต้องไปด้วยกัน การศึกษาที่ไม่ละเลยปากท้อง คือเงื่อนไขหนึ่งที่จะส่งเสริมให้เด็กเติบโตได้จริง เด็กจำนวนมากขาดโอกาส ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ จนกระทั่งไม่มีทางไป เพราะฉะนั้นการศึกษาและการสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่จำเป็นต้องไปด้วยกัน 

“ทุนพัฒนา” หรือ “การศึกษาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ” จึงเป็นเรื่องใหญ่ และไม่ใช่เฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชน แต่เราต้องมองทั้งระบบ เด็กควรจะได้เรียนรู้เรื่องที่ยึดโยงกับระบบเศรษฐกิจของพ่อแม่ด้วย และพ่อแม่ก็ต้องเรียนรู้ภาพใหญ่เพื่อยกระดับการประกอบอาชีพ