“ก็พ่อให้มา ผมจะถือช่อนี้” ช่อใบไม้จากยอดดอยของพฤ โอ่โดเชา
และเรื่องเล่าในวันสำเร็จการศึกษาของลูกชาย ที่ไม่เคยมีคำว่าง่ายอยู่ในเส้นทาง

“ก็พ่อให้มา ผมจะถือช่อนี้” ช่อใบไม้จากยอดดอยของพฤ โอ่โดเชา

วันที่ ‘เสอะวอโพ’ ลูกชายคนโตของพฤ โอ่โดเชา แกนนำเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือ รับปริญญา ผู้เป็นพ่อเลือกที่จะเก็บใบไม้และดอกไม้ที่ปลูกไว้รอบบ้าน มามัดด้วยฟางข้าวแล้วยื่นให้ลูกชาย ท่ามกลางครอบครัวอื่นๆ ที่ถือช่อดอกไม้ในราคาขั้นต่ำหลักร้อย บางคนก็มากับดอกธนบัตร

“ผมเคยเห็นในเฟซบุ๊กว่าแต่ละคนเขามีช่อดอกไม้สวยๆ งามๆ ในวันรับปริญญา ผมก็คิดอยู่ว่าป่าสีเขียวรอบบ้านเราก็สวยงาม มีพืชผักขิงข่าตะไคร้ที่มีประโยชน์ เป็นอาหารด้วย ทำไมเราจะเอาไปให้ไม่ได้”​

ไม่เคยเรียนจัดดอกไม้มาก่อนแต่ชาวปกาเกอะญออย่างพฤก็รู้สรรพคุณของแต่ละต้นแต่ละดอกเป็นอย่างดี รวมถึงรู้ความหมายของคำๆ นั้นในภาษากะเหรี่ยง เขาจึงเลือกหยิบ ‘ใบกล้วย’ มาจัดช่อ

“กล้วย ภาษาเราเรียกว่าสึกกวิ๊ แปลว่ารัก ส่วนว่านขิงข่าตะไคร้ก็เป็นยา กุหลาบที่ลูกสาวปลูกไว้ก็ขึ้นมาสองดอกผมก็ตัดเอามา เฟิร์นที่ขึ้นหน้าห้องน้ำก็ตัดมา จัดมั่วๆ ครับเพราะรีบ พอไปถึงเชียงใหม่ผมไม่มีอะไรมัด ระหว่างนั้นถุงฟางในรถมันร่วงลงมา ผมก็เอาฟางข้าวนี่แหละ มามัดติดกันไว้แล้วก็ถือไป มีคนขายดอกไม้ข้างทางเต็มไปหมดเลย ผมไม่รู้จะอายหรือจะกล้าดี ผมก็เกิดภาวะสู้กับตัวเองอยู่นะ แต่เราแตกต่าง” 

ระหว่างนั้นเมียของพฤก็แอบบอกให้ลูกสาวที่เรียนมหา’ลัยเดียวกับพี่ชายไปซื้อช่อดอกไม้ปกติไว้ด้วย 

“ผมถือไปโชะโละๆ (โท่งๆ) ลูกสาวผมเห็นเขาก็หัวเราะเลยครับ” 

ส่วนลูกชาย พอเพื่อนจะถ่ายรูปให้ ก็ถือของพ่อไว้ช่อเดียว 

“ผมถามลูก จะถือของพ่ออันเดียวหรือ ลูกชายเขาบอก ก็พ่อให้อันนี้ เขาก็จะเอาอันนี้ถ่าย”

ช่อดอกไม้อาจเป็นหนึ่งในหลายๆ เครื่องหมายของวันจบการศึกษา ที่เส้นทางของบางคนอาจเรียบง่าย หลายคนเต็มไปด้วยทางขรุขระ แต่ของครอบครัวโอ่โดเชา เส้นทางการศึกษาของลูกทั้งสอง ยากไม่ต่างจากการขึ้นเขาลงดอยที่สะเมิงบ้านเกิด 

เริ่มตั้งแต่โรงเรียนแรก (ป.1-ป.4) ของลูกชายที่ต้องเดินขึ้น-ลงดอยวันละ 4 กิโลเมตร เพื่อไปโรงเรียนที่มีครูสอนอยู่เพียงคนเดียว 

“ตอนนั้นถึงมีรถเครื่องก็ไม่ค่อยดี ถ้าเรามีมอเตอไซค์ไปรับลูกเราหนึ่งคน แต่เพื่อนไม่มี สู้ให้เขาเดินกลับกับเพื่อนดีกว่า ไม่เอาเปรียบกันดี” 

มื้อกลางวันก็ใช้วิธีห่อข้าวไปจากบ้าน ครูทำอาหารกลางวันเลี้ยง บางมื้อก็เป็นมาม่า ปลากระป๋อง 

“ถ้าชาวบ้านมีผักฟักแฟงแตงกวา ก็ให้ลูกเอาไปฮอม (ช่วย) ทำกับข้าวที่โรงเรียน” 

พอจบ ป.4 ลูกชายก็ย้ายไปอยู่กับปู่เพื่อขึ้นชั้น ป.5 อีกโรงเรียนที่อำเภอแม่วาง ห่างจากบ้านพ่อกับแม่ราว  10 กิโลเมตร พฤและภรรยาช่วยค่ากินอยู่บ้านปู่ย่าอาทิตย์ละ 500-600 บาท บางครั้งก็ขนข้าวเปลือกจากบ้านไปฝากให้หุงกินกัน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างค่าเทอม ไม่ต้องเสีย ค่าชุดเครื่องแบบต่างๆ ก็รอรับช่วงต่อจากญาติพี่น้องที่เรียนจบแล้ว 

ส่วนค่าเดินทางก็ใช้บริการขาสองข้างเหมือนเดิม เพราะ โรงเรียนอยู่ใกล้กับบ้านปู่ย่า 

พฤบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าคนที่ดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดภายในบ้านคือภรรยา ที่เป็นลูกจ้างในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมากว่า 30 ปี แลกกับค่าแรงที่เริ่มต้นเดือนละ 6,000 บาท จนปัจจุบันอยู่ที่ 10,000 บาท

“เงินส่วนนี้ของเมียใช้จ่ายเรื่องลูก ผมไม่มีรายได้อะไร ข้าวไม่ได้ปลูกไว้ขาย ผมเลี้ยงวัวเลี้ยงควายแบบปล่อย โอกาสดีก็ขายได้บ้างปีละ 1-2 ตัว ตัวละ 8,000-15,000 บาท บางปีราคาดีก็อาจได้ตัวละ 20,000 ครับแต่นานๆ ที” 

พฤ โอ่โดเชา

มัธยมลูกชายได้กลับมาเรียนที่หมู่บ้านอีกครั้ง ม.ต้นที่โรงเรียนบ้านแม่ลานคำ และ ม.ปลายที่โรงเรียนสะเมิงพิทยาคม ลูกสาวก็ได้เรียนมัธยมที่เดียวกัน

แต่บ้านที่รายได้มาจากแม่เพียงคนเดียว การเรียนต่อมหาวิทยาลัยของลูกชายคนโตที่ต้องเสียค่าเทอมเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงมีโอกาสน้อยมาก ทั้งบ้านจึงทำเรื่องกู้ กยศ. หรือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ไว้ตั้งแต่ชั้น ม.ปลาย 

“เอกสาร ขั้นตอนการกู้ กยศ. เยอะ ไหนต้องให้ ผอ.รร. ค้ำประกันอีก สำหรับเด็กดอยบางคน พ่อแม่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ทำไม่ถูก ทำไม่เป็น ไม่กู้เลย ปล่อยผ่านก็เยอะ กลับบ้านเลี้ยงวัวเลี้ยงควายไป เจออย่างนี้เยอะ” 

แต่บ้านโอ่โดเชาก็ผ่านมาได้ด้วยความช่วยเหลือของหลายคนที่โรงเรียน และก็อย่างที่พฤเขียนไว้ในโพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวว่า…


“ลูกเอ้ย พ่อยินดีด้วยนะ ช่อดอกไม้ของพ่อนี้พิเศษนักกว่าดอกไม้ใดๆที่เขาขายอันละหลายร้อยทั้งเป็นโฟมพลาสติกและไม่มีเงินซื้อมอบให้เน่อ

———-

พ่ออุส่าเก็บเอาใบขิงใบข่าตะไคร้ใบกล้วยใบจาคใบว่านใบเฟินใบมะโอใบดอกลีลาวและดอกกุหลาบดอกสองดอกรอบบ้าน ฟางข้าวมัด ถือจากดอยลงมามอบถึงมหาลัยแสดงความยินดีที่สำเร็จจากการได้หนี้ก้อนโตแลกกับการได้สวมชุดครุยนี้ครับ

รักลูกนะครับ

จากน้ำแรง 2 มือของแม่

ปล.กยศ.นั้นจ่ายค่าเทอมและมีทุนจ่ายเดือนละ 2,000 กว่าบาทหมดไปกับค่าเช่าหอ ส่วนค่ากินค่าอื่นๆ อย่างน้อยเดือนละ 3,000 บาท ครอบครัวรับผิดชอบ (แม่จ่าย) ฉะนั้นครอบครัวต่างๆก็จะแพ้ ข้อนี้แหละครับ หมดโอกาสไปที่จะได้ร่ำเรียน เรื่องนี้สะท้อนให้ผู้บริหารงบประมาณแผ่นดินฟังนิดหน่อย ทุกคนที่ส่งลูกเรียนคงหัวอกเดียวกัน

ช่วยเหลือคนน้องได้ทุนจากกสศ. สำหรับชาวบ้านอย่างเราดีใจมากครับ แต่เด็กคนที่ไม่ได้รับคนอื่นๆละครับ รัฐบาลควรจะเล็งเห็นความสำคัญของ การสร้างบุคลากรของชาติในอนาคตด้วยมิใช่หรือ

ขอบพระคุณครับ และยินดีกับครอบครัวทุกท่าน ที่ลูกเรียนจบ และกำลังต่อสู้กับลูกที่กำลังเรียน ขอส่งกำลังใจให้ ทุกคนด้วยนะครับ”

โพสต์ต้นทางจากเฟซบุ๊ก พฤ โอโดเชา : คลิก


การที่ลูกชายสอบติดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้ ทำให้พฤและภรรยาได้รู้จักการหาหอพักครั้งแรก และก็ครั้งแรกอีกเช่นกันที่ต้องหาเงินมาจ่ายค่ามัดจำหอล่วงหน้า 3 เดือน 

“ผมไม่เคยเจอครับ (หัวเราะ) เขาบอกจะได้คืนอีกทีตอนออกโน่น 4 ปี ตอนนั้นไม่มีเงิน ก็ต้องไปขอยืมญาติ ไหนจะค่ากิจกรรมต่างๆ อีก ทีละร้อยสองร้อย แต่ค่ากินสำคัญที่สุด ขนาดเราเอาผักเอาข้าวที่ปลูกไปให้ทำกินเอง แต่บางทีเขาก็ไม่มีเวลาทำ ค่ากินแต่ละเดือนมันเลยตกอยู่ที่ 4,500-5,000 บาท เงินเมียก็หมดไปกับกองนี้ตั้ง 4 ปี เราผัวเมียก็อยู่บนดอยก็กินไข่ประชารัฐ ปลากระป๋อง เก็บผักตามป่าดอยกินไป”

ส่วนคนน้อง หน่อพอโมลา โอ่โดเชา ลูกสาวคนสุดท้องของบ้าน เรียนในชุมชนและอยู่บ้านกับพ่อแม่ตลอด แต่พอเห็นพี่ชายเข้ามหาวิทยาลัย หน่อพอโมลาก็เริ่ม ‘หน้าบูดหน้าเบี้ยว’ 

“เพราะเราหมดเงินไปกับคนพี่แล้ว ผมก็บอกให้คนน้องอยู่ช่วยงานแม่ที่บ้าน เขาก็ร้องไห้ บ่นกับแม่ว่ารักแต่พี่ชาย ก็คิดกันว่าจะทำยังไงดี หาที่เรียนที่ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ไหน จู่ๆ ลูกสาวก็บอกว่ามีทุน ‘ครูรักษ์ถิ่น’ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นะ (รายละเอียด คลิก) เป็นทุนที่มีค่ากินให้ ค่าหอให้ จ่ายค่าเทอมให้หมด โดยมีเงื่อนไข

ว่าต้องกลับมาเป็นครูที่บ้านเกิด โอ้โห อันนี้แหละความฝันของผมเลย เราดีใจ ลูกเรียนจบแล้วได้กลับมาเป็นครูดอยสอนเด็กหมู่บ้านเรา” 

ขั้นตอนแรกๆ เริ่มจากพฤพาลูกสาวไปรับข้อมูลเรื่องทุน มีคณะกรรมการจาก กสศ. มาสำรวจบ้าน และสัมภาษณ์ครอบครัวและผู้สมัครทุน ในที่สุด หน่อพอโมลา ก็ได้รับทุนครูรักษ์ถิ่น ตอนนี้เจ้าตัวเรียนอยู่ปี 2 คณะครุศาสตร์เอกประถมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และพอจบปี 4 ก็จะได้กลับไปบรรจุเป็นครูที่บ้านเกิด โรงเรียนบ้านแม่ลานคำ

“หมู่บ้านผมมีครูน้อย ผมและชาวบ้านเคยไปยื่นเรื่องขอเพิ่มอัตราครูกับการศึกษาเขตเพราะตอนนั้นครูย้ายออกจนไม่พอ สุดท้ายเขาก็บอกว่าเดี๋ยวมีครูรักษ์ถิ่นมาประจำ” 

ในฐานะพ่อที่ลูกสาวได้รับทุนนี้ ดีใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่อีกใจในฐานะนักเคลื่อนไหวทางสังคมก็สะท้อนว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้ 

“ใจผมก็อดสงสารคนอื่นไม่ได้เหมือนกัน แต่ถ้าสงสารคนอื่นแล้วลูกผมไม่ได้จะทำยังไง รู้สึกว่าตัวเองเห็นแก่ตัวอยู่ คิดอยู่ในใจว่า มันไม่มีทุนอื่นๆ ให้เด็กบ้างเลยหรือ”​

เป็นความคิดที่นาทีนี้พฤเองก็ยังไม่ได้คำตอบ

พฤ โอ่โดเชา และลูกสาว หน่อพอโมลา โอ่โดเชา

เพราะโควิดทำให้งานรับปริญญาของลูกชายถูกเว้นไป 2 ปี พอกำหนดการรับจริงมาถึง บ้านโอ่โดเชาจึงมาแสดงความยินดีกันทั้งครอบครัว พร้อมกับพ่อที่มาพร้อมกับช่อใบไม้แฮนด์เมดช่อเดียวในโลก

ถ้าเทียบเป็นตัวเงิน ช่อใบไม้ช่อนี้ไม่ต้องเสียเงินแม้สักบาท แต่ถ้าช่อใบไม้คือปลายทางของปริญญาตรี ค่าใช้จ่ายระหว่างทางนั้น เรียกได้ว่าพฤและภรรยาทุ่มหมดตัว 

“เรื่องเรียนของลูก เมียผมบอกว่าจะรับผิดชอบเอง สารภาพว่าผมโล่งเลย ผมเป็นผู้ชายไม่ได้เรื่องนะ เมียรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ของลูกทุกเดือนทุกเทอมเลย ลำพังผมเองขายวัวขายควายก็แทบไม่พออยู่แล้ว” 

น้ำเสียงตลอดการสนทนาของพฤไม่ได้เศร้า ในทางตรงข้ามกลับมีเสียงหัวเราะเป็นระยะ คงเพราะยอมรับว่าตัวเองทำไม่ได้หลายอย่าง แต่ก็มีไม่กี่อย่างที่เขาทำได้ หนึ่งในนั้นคือจัดช่อใบไม้ให้ลูก 

“คนรอบๆ ก็คงงงกันหมดแหละมั้ง แต่ผมก็ทำเป็นว่า เราเท่อยู่คนเดียวก็ได้วะ (หัวเราะ) เราก็อุตส่าห์เอามาจากดอย ขิงข่าตะไคร้มันก็ไม่ได้ด้อยค่ากว่าดอกแพงๆ ของเขา แล้วมันมีความหมาย แต่อยู่ที่ผมจะตีความมันยังไง มันไม่เป็นขยะมูลฝอย ไม่ต้องอาย เมียจะได้เข้าใจว่าทำไมถึงเอาของบ้าๆ บอๆ หรือของธรรมดา (เสียงสูง) ไม่มีราคา ไม่สวยงามมาให้ลูก”​