ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เชิญชวนมาร่วมกัน “ขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทย” ในเวทีรับฟัง 4 ภูมิภาค

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เชิญชวนมาร่วมกัน “ขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทย” ในเวทีรับฟัง 4 ภูมิภาค

เมื่อวันที่ 9 มิถุยายน 2566 ณ โรงแรมพูลแมน จังหวัดขอนแก่น ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ “ระดมพลังความร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน” ซึ่งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อเป็นกรอบทิศทางสำหรับจัดทำแผนกลยุทธ์ฉบับใหม่ในการดำเนินงานของ กสศ. โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมจากหลากหลายหน่วยงานในพื้นที่ และสังกัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเเฉียงเหนือ ร่วมเวที

“กสศ. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคีทุกภาคส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่นเป็นเวทีแรก และจะมีการจัดอีก 3 เวทีให้ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาคต่อไป โดยหวังว่าจะได้ร่วมกันสร้างความเสมอภาคให้ผลิดอกออกผลที่งดงามยิ่งขึ้นในปีต่อ ๆ ไป เพื่อให้เด็ก เยาวชน และคนไทยทุกคน มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและก้าวข้ามความยากจนข้ามชั่วรุ่นได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในอนาคต” ดร.ประสาร กล่าว

ร่วมกันเป็นเจ้าของ ‘วาระความเสมอภาคทางการศึกษา’

ดร.ประสาร กล่าวว่า การเปิดพื้นที่รับฟังภาคีเครือข่ายครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มาตรา 23 ที่ต้องการให้คณะกรรมการบริหาร กสศ. รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณากำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานของ กสศ. ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุน โดยความคิดเห็นจะถูกนำไปสนับสนุนการกำหนดทิศทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2570 ต่อไป

ดร.ประสาร กล่าวต่อไปว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับภาคีหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และภาคประชน โดยความร่วมมือจากจุดเริ่มต้นที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาถูกจัดตั้งขึ้น ปัจจุบันได้เกิดกลไกการทำงานที่ผลิดอกขยายผล ขยายเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ.

“เจตนารมณ์ของการจัดตั้ง กสศ. เกิดขึ้นจากคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้เสนอต่อรัฐบาลให้มีการจัดตั้งองค์กรที่มีลักษณะการดำเนินงานเป็นกลไกแบบใหม่ในการเร่งการปฏิรูปการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยตระหนักว่า ประเทศไทยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อันเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และปัญหาของคุณภาพการศึกษานั้นฝังรากมานานหลายทศวรรษ เจตนารมณ์ดังกล่าวทำให้เกิด กสศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้ตั้งเป้าหมายในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยหามาตรการช่วยเหลือผู้ขาดแคลน ให้ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับและเข้าถึงการศึกษา ครอบคลุมถึงคุณภาพหรือมาตรฐานของสถานศึกษา คุณภาพหรือประสิทธิภาพครู ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม”

ร่วมกันผลักดันการทำงาน ‘แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน’

ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า  กสศ. เป็นองค์กรขนาดเล็กและมีทรัพยากรจำกัด จึงจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ที่เหมาะสมและคมชัด กำหนดแนวทางที่ชัดเจนให้สามารถสร้างผลกระทบในระดับประเทศได้ โดยจากการดำเนินงานในช่วงปลายปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ภายใต้แผนกลยุทธ์ 3 ปี ฉบับแรก ปี 2561-2564 ได้มีการทบทวนและปรับปรุงแผนการทำงานเป็นแผนกลยุทธ์ 3 ปีฉบับที่สองในปี 2564-2567 กสศ. ได้มองเป้าหมายที่การเปลี่ยนแปลงสำคัญ 2 ด้าน คือ

  1. การเปลี่ยนแปลงต่อกลุ่มผู้รับประโยชน์ เช่น เด็ก เยาวชน ครู โรงเรียน และชุมชน
  2. การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ โดยได้เหนี่ยวนำความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาคุณภาพครู

ดร.ประสาร กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสศ. ได้พยายามบูรณาการและเหนี่ยวนำภาคีจากทุกภาคส่วนให้มาร่วมกันเป็นเจ้าของวาระความเสมอภาคทางการศึกษา ผลักดันการทำงานไปสู่การบูรณาการทรัพยากรร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน ตามหลักคิดปวงชนเพื่อการศึกษา หรือ ALL FOR EDUCATION โดยพยายามกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ยั่งยืน เพื่อเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีโอกาสที่เสมอภาคในการศึกษาและสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ อันเป็นกุญแจสำคัญในการ หยุดปัญหาความยากจนข้ามชั่วรุ่น ช่วยให้สังคมไทยหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง

“แนวทางที่กล่าวมา ถูกแปลงสู่การปฏิบัติด้วยแนวคิด “ห่วงโซ่มาตรการ” ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1.การกำหนดโจทย์การพัฒนาองค์ความรู้และการวิเคราะห์ข้อมูลรวมทั้งการวิจัยพัฒนานวัตกรรมการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีศักยภาพในการขยายผลเชิงนโยบาย 2.การนำนวัตกรรมต้นแบบไปดำเนินการนำร่องร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดที่รับผิดชอบกลุ่มผู้รับประโยชน์ และ 3.การสื่อสารรณรงค์ การระดมความร่วมมือ การระดมทรัพยากร และสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะให้แก่สังคมและผู้กำหนดนโยบายเพื่อนำข้อเสนอของ กสศ . และหน่วยงานภาคีไปสนับสนุนกการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน”

เชิญชวนมาขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยร่วมกัน

ดร.ประสาร กล่าวในช่วงท้ายว่า อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าในภารกิจของ กสศ. เป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินได้เพียงแค่จากจำนวนเงินงบประมาณ หรือเงินบริจาค ที่ กสศ. ได้รับ และการเบิกจ่ายให้แก่กลุ่มผู้รับประโยชน์จำนวนประมาณ 1.7 ล้านคนในแต่ละปี แต่ความก้าวหน้าในการดำเนินงานของ กสศ. คือความงอกงามของผลงานที่มีหน่วยงานภาคีจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของกลุ่มผู้รับประโยชน์ได้อย่างมีพลังและมีความยั่งยืน ภายใต้กรอบการดำเนินงานของแผนกลยุทธ์ 3 ปี ฉบับที่สอง (2564-2567) ซึ่งจะสิ้นสุดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

เพื่อเป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายตามมาตรา 5 และ มาตรา 23 ในพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่กำหนดให้ กสศ. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุก ๆ 5 ปี เพื่อทบทวนความเหมาะสมของระเบียบที่คณะกรรมการบริหารประกาศกำหนดซึ่งอาจะมีความจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงานตามโจทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้การดำเนินงานของ กสศ. ยังสามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล สามารถความเชื่อมั่นแก่สาธารณชนได้ กสศ. จึงได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ และจะมีการจัดอีกครั้งที่ภาคเหนือในวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ภาคใต้วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 และภาคกลางที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 20 กรกฎาคม 2566