5 ปี กสศ. ฉายผลงานสร้างเสมอภาคการศึกษาผ่านความร่วมมือ ‘ดร.ไกรยส’ ชวนเสนอความเห็นเพื่อความยั่งยืนแบบไร้รอยต่อ

5 ปี กสศ. ฉายผลงานสร้างเสมอภาคการศึกษาผ่านความร่วมมือ ‘ดร.ไกรยส’ ชวนเสนอความเห็นเพื่อความยั่งยืนแบบไร้รอยต่อ

เมื่อวันที่ 9 มิถุยายน 2566 ณ โรงแรมพูลแมน จังหวัดขอนแก่น ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้นำเสนอสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและฉายภาพภารกิจของ กสศ. ในเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ “ระดมพลังความร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน” เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนนำไปเป็นกรอบทิศทางสำหรับจัดทำแผนกลยุทธ์ฉบับใหม่ในการดำเนินงานของ กสศ. โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมจากหลากหลายหน่วยงานในพื้นที่ และสังกัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเเฉียงเหนือ ร่วมเวที

“กสศ. พยายามสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อระดมทรัพยากรและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาระดับพื้นที่ เปิดรับโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของวาระความเสมอภาคทางการศึกษา พยายามสร้างผลทวีคูณ (Multiplier Effects) จากงบประมาณบุคลากรและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้สามารถดูแลความเสมอภาคได้อย่างยั่งยืน” ดร.ไกรยส กล่าว

ภารกิจใหญ่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยองค์กรขนาดเล็ก

ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ. เป็นหน่วยงานขนาดเล็กที่มีคนทำงานประมาณ 100 คนและไม่มีสาขาการทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ หน้าที่การงานของ กสศ. คือดูแลเด็กปฐมวัยจนถึงการศึกษาภาคบังคับ ไปจนถึงเยาวชนกลุ่มแรงงาน ให้เข้าถึงความเสมอภาคทางการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายการทำงานร่วมกัน ต้องทำงานกับครูในโรงเรียนและกลไกพื้นที่ในชุมชนตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เสริมสร้างและพัฒนาประสิทธิภาพครู โดยมีการบริหารงานเป็นอิสระและมีรัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุน

“กลุ่มเป้าหมายในการช่วยเหลืออยู่ที่กลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดร้อยละ 15 ของประเทศ ครอบคลุมทุกช่วงวัยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เราต้องดูแลเด็กยากจนประมาณ 1.8 ล้านคน และเด็กที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ อีกประมาณ 7 แสนคน จำนวนประชากรที่สูงขนาดนี้กับหน่วยงานขนาดเล็กที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียง 1% ของงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศ จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับจำนวนประชากรมากขนาดนี้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร”  ดร.ไกรยส ตั้งโจทย์ร่วม

เพิ่มตัวคูณในการทำงานแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ถึงราก

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ดร.ไกรยส กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา กสศ. พยายามทำงานเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มีความเสมอภาคด้านผลลัพธ์การเรียนรู้ และการเข้าถึงการเรียนรู้โดยใช้ศักยภาพด้านการศึกษาอย่างเต็มที่ ให้สามารถนำไปสู่การมีงานทำ สร้างกลไกการศึกษาและการฝึกอบรมนอกระบบเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการมีงานทำและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

โดย กสศ. พยายามสร้างผลทวีคูณจากการใช้กลไกความเชื่อมโยงกันของความรู้ ข้อมูลงานวิจัย นวัตกรรมด้านการศึกษา ครูและโรงเรียน รวมถึงเครือข่ายท้องถิ่น สามารถสร้าง High Impact ไปถึงภาคประชาสังคม เอกชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ และสื่อสารมวลชน ให้สามารถสร้างเป้าหมายของพื้นที่ เป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ การเข้าถึงการเรียนรู้ และการศึกษาทางเลือก สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างยั่งยืน เกิดเป็นรูปแบบการทำงานที่สามารถสร้างความเสมอภาคได้ พยายามทำงานแบบตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้เกิดผลกระทบสูงสุด โดยกำหนดบทบาทเป็นผู้ชี้จุดคานงัดการดำเนินงานเพื่อเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ค้นหาผู้เปลี่ยนเกม (Game Changers) เพื่อประสานต่อการทำงานร่วมกับภาคีในการผสานองค์ความรู้แบบสหวิชาการและหวังผลทวีคูณที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมาย

“เราคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างจุดคานงัด ทำอย่างไรที่สังคมไทยจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากโจทย์ต่าง ๆ และโจทย์ใหม่ ๆ ที่เราอยากได้ยิน และจุดคานงัดนั้นต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะช่วยหาต้นตอของความเหลื่อมล้ำให้เจอเหมือนหลักการของจุดคานงัด ซึ่งหากเราหาจุดที่เหมาะสมได้ก็สามารถจัดการกับน้ำหนักของปัญหาที่มีปริมาณมากได้ และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จากการทำงานกับภาคีที่จะมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ที่จะหาจุดคานงัดที่ว่านี้ให้เจอ เมื่อเจอแล้วก็จะได้รู้ว่าเรามีแรงอยู่แค่ไหน และรู้ว่าเราไม่สามารถสู้กับน้ำหนักดังกล่าวได้เพียงคนเดียว ต้องขอพลังจากภาคีมาช่วยงัดกับปัญหาด้านการศึกษา และเลือกเฉพาะประเด็นที่เราสามารถสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับโจทย์การทำงานที่ซับซ้อนขึ้น หรือมาช่วยกันหาว่ามีประเด็นไหนที่เรามองข้ามไป ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น ถือเป็นความพยายามในการขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อปวงชน All For Education อย่างแท้จริง”

เปิดฉากทัศน์ความเหลื่อมล้ำ โอกาสของความเสมอภาคทางการศึกษา

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวต่อไปว่า ฉากทัศน์ หรือ Scenario ภาพจำลองเหตุการณ์ที่ กสศ. อยากเห็นในปี พ.ศ. 2570 คือสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา การเรียนรู้นอกห้องเรียน สร้างการศึกษาที่ยืดหยุ่นให้เด็กสามารถเลือกการศึกษาที่เหมาะสมกับตัวเขา ไม่มีการศึกษาในระบบหรือนอกระบบอีกต่อไป แต่เป็นการศึกษาที่มีทางเลือกสำหรับทุกคน การกระจายความเป็นเจ้าของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกระจายอำนาจทางการศึกษาจากคนทุกคนในประเทศไทยมาช่วยกันทำงานผ่านกลไกและกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ มีระบบติดตามดูแลจากฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงจากหน่วยงานต่าง ๆ ดูแลด้านสุขภาพ สุขภาวะให้พร้อมเรียนรู้ การจัดการทุนการศึกษา ดูแลครู โรงเรียน การวัดผลให้สามารถสร้างอาชีพมีรายได้และมีทักษะที่ต้องการในพื้นที่ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมในพื้นที่ ความต้องการแรงงานฝีมือ ตอบโจทย์สภาพปัญหาที่มีอยู่จริงในแต่ละพื้นที่

“ทำอย่างไรจึงจะสร้างโอกาสให้น้อง ๆ ที่อยากเรียนมีโอกาสตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงชั้นที่ต้องการได้สูงสุดตามความต้องการ ทั้งสามารถเรียนในระบบเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการทำงาน มีความสามารถในการแข่งขัน สามารถพาตัวเองเข้าไปสู่เส้นทางการมีงานทำ สามารถเป็นผู้ประกอบการที่เลี้ยงดูตัวเองได้ และสามารถเรียนเพื่อการประกอบอาชีพที่จะเกิดขึ้น ฉากทัศน์นี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ในปี พ.ศ. 2570” 

เรื่องหลักที่ทำต่อเนื่อง ชวนมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนร่วมกัน

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมายังพบว่าปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของการศึกษาไทย ในปัจจุบันการทำงานด้านนี้จึงมีเป้าหมายสำคัญในการป้องกันเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย แล้วตระหนักดีว่าความยากจนเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบ กสศ. จึงจัดทำโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข หรือ “ทุนเสมอภาค” ซึ่งเป็นมาตรการเชิงป้องกันที่เน้นให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษา และมีโอกาสที่จะได้ศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะต่อไปได้ โดยนักเรียนที่ได้รับทุนเสมอภาค ต้องรักษาอัตราการมาเรียนให้สูงกว่าร้อยละ 80-85 ของเวลาเรียน มีพัฒนาการให้สมวัยตามเกณฑ์ของกรมอนามัย

ทั้งนี้ จากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร กสศ. ได้ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายแล้วจำนวน 1.244 ล้านคน ผ่านทุนเสมอภาคในอัตรา 3,000 บาท/คน/ปีการศึกษา ผลการประเมินขั้นต้นพบว่ากลุ่มที่เคยขาดเรียนเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 วัน ขาดเรียนลดลงเหลือสัปดาห์ละครึ่งวัน และในปีการศึกษา 2563-2564 นักเรียนทุนเสมอภาคกว่าร้อยละ 95 ยังคงอยู่ในระบบการศึกษา โดยปัจจุบันให้ทุนเสมอภาคกับเด็กระดับชั้นประถม-ม.ต้น เป็นหลัก กสศ. จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายถึงภาครัฐในการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังระดับชั้นอนุบาล เพื่อสนับสนุนให้เด็กได้เข้าเรียนทันเวลาเพื่อพัฒนาการที่สมวัย และกลุ่มระดับชั้น ม.ปลาย เนื่องจากพบว่าเป็นวัยที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องมีการปรับอัตราเงินอุดหนุนให้สอดคล้องกับระดับการศึกษาและค่าครองชีพในปัจจุบัน ภายใต้เงื่อนไขอัตราการมาเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80-85 เพื่อให้การใช้จ่ายด้านการศึกษามีประสิทธิภาพคุ้มค่าสูงสุด แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในด้านการแก้ไขความยากจนข้ามชั่วคนของประเทศ

“ความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำได้เผชิญอุปสรรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งพบความเสี่ยงที่เด็กยากจนกว่า 1.9 ล้านคน เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา และยังส่งผลให้เด็กเกิดการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) มีเด็กติดโควิดประมาณ 500,000 คน บางคนต้องสูญเสียพ่อแม่ ขณะเดียวกันยังพบว่า จำนวนเด็กยากจนสะสมเพิ่มขึ้นราว 3 แสนคน ในช่วงปี 2563 ถึง 2565 เด็กหลายคนต้องประสบปัญหารายได้ต่อครัวเรือนลดลง สวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ต้องใช้เป็นค่าอาหารและค่าเดินทาง

“ผลกระทบของเงินเฟ้อส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อที่หดตัวลง ยิ่งทำให้พวกเขาเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น ข้อมูลจากการเดินทางไปเยี่ยมบ้านทำให้ทราบว่าเด็กกลุ่มเป้าหมายกว่าร้อยละ 38 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ไม่รู้กระทั่งว่าพ่อแม่เป็นใคร ปัญหาที่ละเอียดอ่อนต่าง ๆ อีกมากมาย คือสาเหตุที่ทำให้เด็กอายุ 14- 15 จำนวนมาก ตกอยู่ในสภาพกลางวันต้องไปเรียนกลางคืนต้องไปทำงานพิเศษเพื่อหาเงินไปเรียน ซึ่งไม่นานพวกเขาก็จะแบกภาระนี้ไว้ไม่ไหว ต้องออกจากโรงเรียน หลุดจากระบบการศึกษา ปัจจัยเหล่านี้เองที่ทำให้ทราบว่าการศึกษาจะมองเพียงมิติด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่ได้”

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระบุอีกว่า กสศ. พบว่ามีเด็กเยาวชนด้อยโอกาสจากครอบครัว 15-20 เปอร์เซ็นต์ล่างสุด ที่มีโอกาสเรียนสูงกว่าชั้น ม.6 หรือเทียบเท่าเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ต่อรุ่น คำนวณแล้วเท่ากับว่าระหว่างครัวเรือนที่มีฐานะกับครัวเรือนเด็กยากจนด้อยโอกาส มีช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ที่ 20 เท่า มีเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นแรงงานนอกระบบมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่จบการศึกษาไม่เกินมัธยมต้น เป็นแรงงานไร้ฝีมือ มีรายได้น้อย และเป็นกลุ่มที่มีโอกาสตกอยู่ในวงจรความยากจนข้ามชั่วคนต่อไป 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเยาวชนว่างงานนอกระบบการศึกษา หรือ NEET (not in education all employment or training) อีกราว 1.39 ล้านคน หรือคิดเป็น 15.1 เปอร์เซ็นต์ของเยาวชนไทยช่วงวัยนี้ พวกเขาไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้รับการฝึกอบรมในระบบใดเลย ที่น่าเป็นห่วงคือ NEET ในประเทศไทยมีจำนวนถึง 8.8 แสนคน และตัวเลขเด็กกลุ่มนี้กำลังเติบโตขึ้นปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ สวนทางกับอัตราการเกิดของเด็กไทยที่ลดลง 1.2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

“นอกจากที่กล่าวมาแล้ว เรายังพบปัญหาเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กที่มีต้นทุนต่อหัวแพงกว่าโรงเรียนใหญ่ แต่ยังได้รับงบประมาณต่อหัวเท่าโรงเรียนใหญ่ โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่แทบจะไม่แตกต่างจากโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าวัสดุอุปกรณ์ทั้งทางกายภาพและสำหรับใช้จัดการเรียนการสอน ค่าจ้างครู แต่การจัดสรรงบประมาณยังคงอิงตามจำนวนนักเรียนเป็นหลักและไม่เพียงพอในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ปัจจุบันทั่วประเทศมีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล 1,155 แห่ง ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวต้องดูแลเด็กเกือบ 1 แสนคน ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพขาดครูด้วยสาเหตุจากการโยกย้ายออกบ่อย ๆ ไม่มีครูมาบรรจุและได้รับการสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นไม่สอดคล้องกับโจทย์ความเหลื่อมล้ำในพื้นที่

“ผมหวังว่าข้อมูลที่ฉายภาพให้แต่ละท่านเห็นจะเป็นประโยชน์ในการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อหาคำแนะนำในการทำงานให้กับพวกเราต่อไป และช่วยกันหาคำตอบว่ายังมีใครอีกไหมที่เราควรจะไปร่วมงานด้วย หาคำตอบว่า จะมีอุปสรรคในรูปแบบใดอีกบ้างที่เราสามารถนำมาเป็นโจทย์การทำงานที่จะเกิดขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า และฉากทัศน์ที่เราอยากเห็น ไม่ใช่แค่ฉากทัศน์ของ กสศ. เท่านั้น แต่เป็นภาพอนาคตของประเทศไทยที่ทุกคนอยากเห็นอีกด้วย”