‘ไอรดา ม่วงพานิช’ นักขับเคลื่อนการเรียนรู้เพื่อเด็กนอกระบบสุราษฎร์ธานีที่ถูกไว้ใจให้เป็น ‘แม่คนที่ 2’

‘ไอรดา ม่วงพานิช’ นักขับเคลื่อนการเรียนรู้เพื่อเด็กนอกระบบสุราษฎร์ธานีที่ถูกไว้ใจให้เป็น ‘แม่คนที่ 2’

สุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดใหญ่ มีเด็กเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียนออกจากระบบโรงเรียนจำนวนหนึ่งจากหลายสาเหตุประกอบกัน ทั้งไม่สามารถปรับตัวในการเรียนรู้ได้ ขาดความสนใจและไม่มีความอดทนในการเรียน รวมถึงสภาพครอบครัวที่มีปัญหาข้อจำกัด บางครอบครัวเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูก บางครอบครัวประสบปัญหาเศรษฐกิจจนเกิดภาวะความเครียดไม่เข้าใจกันในครอบครัว

ไอรดา ม่วงพานิช เลขานุการขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เล่าว่า ที่ผ่านมาภาคีหลายฝ่ายพยายามช่วยกันดูแลเด็กกลุ่มนี้ พยายามดึงเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและการฝึกอาชีพ รวมถึงออกแบบวิธีการดูแลช่วยเหลือให้เด็กกลุ่มนี้ยังคงอยู่ในระบบการศึกษาจนจบการศึกษาภาคบังคับและการมีงานทำ ภายใต้การทำงานของ ‘สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี’ ที่ทำงานร่วมกับ กสศ. เพื่อช่วยเรื่องการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา โดยค้นหาเด็กเยาวชนกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ วางแผนการดูแลเป็นรายบุคคล และเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ จัดการศึกษาที่มีทางเลือกบนฐานความแตกต่างหลากหลายสำหรับเด็กเยาวชนและประชากรทุกช่วงวัย ส่งต่อข้อมูลและบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน

“การทำงานดูแลน้อง ๆ ทั้งในกลุ่มเด็กในระบบและนอกระบบที่หลุดมาจากระบบการศึกษา ทั้งจากปัญหายาเสพติดและปัญหาครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การทำงานนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ต้องใช้ทั้งความอดทนและความเข้าใจในปัญหาของพวกเขา ต้องเริ่มจากการให้ใจกับพวกเขา และแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาของพวกเขา ไม่เช่นนั้นแล้วเขาก็จะไม่ให้ใจกับเรากลับมา การชวนเข้ามาร่วมกิจกรรมเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาตัวพวกเขาเองก็จะเป็นเรื่องยาก ส่วนใหญ่เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมครั้งแรก เด็กกลุ่มนี้มักจะอยู่หลังห้อง และเฝ้ามองอยู่ห่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรมอย่างไม่ไว้ใจ พวกเขาจะเริ่มเปิดใจ จนกว่าจะแน่ใจแล้วว่าเราเป็นคนที่ดูแลเขาได้ เขาสามารถปรึกษาปัญหากับเราได้ทุกเรื่อง”

ไอรดา ม่วงพานิช เลขานุการขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ยกตัวอย่างเช่น น้องนัท ซึ่งเป็นเด็กที่มีปัญหาครอบครัวหย่าร้าง อาศัยอยู่กับแม่แล้วก็พ่อเลี้ยง ตอนเข้าร่วมกิจกรรมใหม่ ๆ เด็กคนนี้เก็บตัวเงียบ ไม่กล้าเปิดใจ ไม่กล้าพูดคุยกับใคร เด็กคนนี้ปิดกั้นตัวเองจากคนอื่น ปิดกั้นแม้กระทั่งกับคนในครอบครัว แต่หลังจากมาอยู่กับเราจนเริ่มไว้ใจ น้องก็กล้านำปัญหาที่ประสบอยู่มาเล่าให้เราฟัง และช่วยกันหาทางออก จนปัจจุบันน้องนัท ได้พัฒนาตัวเองเป็นเด็กแกนนำที่สามารถช่วยดูแลเด็กคนอื่น ๆ ได้ เพราะเขาทราบดีว่าเด็กที่มีปัญหาเข้ากับคนอื่นไม่ได้นั้นต้องการอะไร

น้องอีกคนหนึ่งซึ่งเราดูแล ชื่อ น้องนิ เด็กคนนี้ ถูกบูลลี่และล้อรูปลักษณ์ที่มีจนกลายเป็นเด็กที่หวาดระแวง ไม่คุยกับใคร เข้ากับคนอื่นไม่ได้ ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี ในการช่วยประคับประคองจิตใจ และแสดงให้เห็นว่าพื้นที่การร่วมกิจกรรมเป็นพื้นที่ที่ให้เกียรติทุกคน การเข้าร่วมกิจกรรมที่นี่จะไม่มีใครถูกบูลลี่เพราะรูปลักษณ์หรือถูกล้อเรื่องอะไรเลย จนในที่สุดน้องนิไว้ใจและกล้าแสดงออก พัฒนาตัวเอง พัฒนาทักษะที่อยากเรียนรู้ จนปัจจุบันน้องกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสีจากดิน

การดูแลพวกเขา จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของอาชีพ หรืองานที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว เรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่เชื่อมโยงกับปัญหาอื่น ๆ หากเราช่วยเขาในเรื่องนี้ โดยเริ่มจากให้เขาสะท้อนถึงปัญหาที่ประสบอยู่ สะท้อนสิ่งที่ต้องการออกมา และนำสิ่งที่ได้รับฟังมาปรึกษาร่วมกันว่าจะประสานกับใคร องค์กรหรือหน่วยงานไหน หากช่วยหาอาชีพหรือช่องทางหารายได้ สามารถประสานกับส่วนไหนได้บ้าง กิจกรรมไหนสามารถพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น ก่อนจะช่วยกันผลิต ช่วยกันหาตลาดเพื่อขายผลิตภัณฑ์ที่ช่วยกันผลิตขึ้น ทั้งทางตลาดนัดชุมชนและช่องทางออนไลน์ กลไกนี้จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจในการเข้าร่วมกิจกรรม และมองเห็นว่าปัญหาทุกเรื่องสามารถแก้ไขได้ด้วยการเรียนรู้ ปัญญา ความเข้าใจ น้ำพักน้ำแรงและสองมือของพวกเขาเอง 

“สิ่งที่เราทำคือการช่วยให้น้อง ๆ ที่เป็นเสมือนเด็กชายขอบของชุมชน กลับมาเห็นคุณค่าในตัวพวกเขาเอง และพัฒนาให้กลายเป็นกลไกสำคัญของชุมชนในการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาคล้าย ๆ กับพวกเขา ซึ่งปรากฏการณ์ที่สำคัญมากก็คือการเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น ๆ ของเด็ก ๆ ที่มาอยู่กับเรา เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องไปบอกให้เขาช่วย พวกเขาสามารถคิดได้เองว่าต้องปฏิบัติกับเด็กคนอื่น ๆ ที่กำลังประสบชะตากรรมใกล้เคียงกับพวกเขาอย่างไร”

ไอรดา เล่าอีกว่า น้อง ๆ ที่ดูแล มักจะเรียกเธอว่า “แม่” เพื่อเป็นการให้เกียร์ติที่ได้ทำหน้าที่ดูแลจนพวกเขาไว้ใจ ให้ใจว่าเป็นแม่อีกคนหนึ่ง ซึ่งช่วยให้พวกเขาตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเอง ปรับเปลี่ยนเจตคติ เพื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้อย่างมีความสุข พบทางออกของตัวเองได้

ในโอกาสวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2566 กสศ. ขอส่งอ้อมกอดไปยังนักขับเคลื่อนการศึกษาผู้เปรียบเสมือนคุณแม่ของเด็กเยาวชนทุกท่าน และขอขอบคุณเรื่องราวจากคุณแม่ไอรดา ม่วงพานิช ที่ร่วมบอกเล่าเรื่องราวมายังผู้อ่านทุกท่านในบทความนี้