‘ด.ต.หญิง ประกายพร ชัยจันทร์’ ครูแห่งโรงเรียน ตชด. ผู้ถูกเด็กเรียกว่า ‘แม่’

‘ด.ต.หญิง ประกายพร ชัยจันทร์’ ครูแห่งโรงเรียน ตชด. ผู้ถูกเด็กเรียกว่า ‘แม่’

โรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ประสบภาวะความยากลำบากและข้อจำกัดหลายด้านที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดการเรียนการสอน และคุณภาพของเด็กนักเรียน บทบาทของครูซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณ ทั้งยังเพียรพยายามยกระดับความรู้ด้านวิชาการ ทักษะการสอน จิตวิทยาในการทำความเข้าใจเด็ก ๆ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้กับพวกเขา จึงเป็นหัวใจสำคัญของโรงเรียนในสังกัดนี้

ด.ต.หญิง ประกายพร ชัยจันทร์  ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเป้า อำเภอปากชม จังหวัดเลย ครูนักพัฒนาของท้องถิ่นบ้านห้วยเป้า ผู้ทุ่มเทการปฏิบัติหน้าที่ พัฒนาการเรียนการสอน ส่งผลให้นักเรียนสามารถทำคะแนน O-net สูงระดับประเทศ จนได้รับพระราชทานโล่รางวัลครูใหญ่และครูผู้สอนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนดีเด่น ประจำปี 2564 เล่าถึงบทบาทในการทำหน้าที่นี้ ให้ กสศ. ฟังว่า 

“อาชีพครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตลอด 21 ปีที่ผ่าน เห็นเด็ก ๆ นักเรียนในพื้นที่ตั้งแต่ชั้นประถมจนเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในปัจจุบัน ออกไปประกอบหลากหลายอาชีพ และกลับมาดูแลท้องถิ่นและยังผูกพันกับโรงเรียน เพราะที่นี่เป็นมากกว่าสถานที่ให้ความรู้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ที่นี่เป็นสถานที่ฝึกทักษะชีวิต ให้กับพวกเขา เราดูแลพวกเขาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาด้วยโครงการในพระราชดำริที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ดูแลแม่และเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ กิจกรรมให้ครูใหญ่และครูในโรงเรียนไปเยี่ยมบ้านที่มีแม่ตั้งครรภ์นำสิ่งของและนมพระราชทานไปเยี่ยมและประสานการดูแลกับสาธารณสุขอำเภอ” 

ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเป้า เล่าอีกว่า โรงเรียนพยายามสอนทักษะชีวิตผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว เน้นการปลูกผักยกแคร่และปลูกผักในล้อยาง ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินแต่ใช้น้ำที่มีธาตุอาหารพืชละลายอยู่ ซึ่งประหยัดพื้นที่ ไม่ปนเปื้อนกับสารเคมีต่าง ๆ ในดิน และสามารถปลูกได้แม้ในฤดูฝนที่มักจะประสบปัญหาผักเน่าเสีย การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ เป็ดไข่แบบปล่อยลาน การเลี้ยงปลาดุกในบ่อคอนกรีตและในบ่อดิน รวมทั้งการเลี้ยงปลานิลในกระชัง ผลผลิตที่ได้เพียงพอต่อการบริโภคภายในโรงเรียน ส่งผลให้นักเรียนมีสุขภาพแข็งแรง สมองแจ่มใส สามารถเรียนหนังสือได้ดี และต่อยอดการเกษตรที่เรียนไปปฏิบัติที่บ้านได้

“เด็กที่จบออกไป จะรู้สึกผูกพันกับโรงเรียน และยังกลับมาช่วยเหลือโรงเรียนอยู่อย่างสม่ำเสมอ กลับมาดูแลน้อง ช่วยเหลือด้านทุนการศึกษา กลับมาพัฒนาโรงเรียน ตอนที่เขาเรียนกับเราเขาเรียกเราว่า “คุณครู” แต่พอจบออกไป เขาจะเรียกเราว่า “แม่ครู”

(กลาง) ด.ต.หญิง ประกายพร ชัยจันทร์  ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเป้า

นอกจากนี้ ความผูกพันกับโรงเรียนและท้องถิ่นยังมีส่วนให้เด็กหลายคนตัดสินใจกลับมาเป็นครูผ่านโครงการครุทายาท เพื่อบรรจุเข้ามาเป็นครูในพื้นที่ ตามพระราชดำริที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทรงเล็งเห็นว่าครูที่จะมาพัฒนาท้องถิ่นจำเป็นต้องใช้ครูจากพื้นที่จริงจึงจะเข้าใจบริบทของปัญหา ความจำเป็นและความต้องการด้านต่าง ๆ ของพื้นที่ ตัวครูเองก็เป็นครูครุทายาทรุ่น 5 ที่กลับมาพัฒนาท้องถิ่นตัวเอง” 

อีกด้านหนึ่งที่ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเป้า อยากพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นก็คือ “คุณภาพการศึกษา” ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ ยังมุ่งมั่นหาทางเพิ่มคุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ให้ทัดเทียมกับโรงเรียนสังกัดอื่น ๆ ด้วยแนวทางต่าง ๆ เช่น ใช้โรงเรียนเป็นฐานออกแบบการเรียนการสอนจากสิ่งที่โรงเรียนมี โดยใช้กระบวนการไปจัดกิจกรรมพัฒนาครูที่โรงเรียนในแต่ละด้าน รวมทั้งการผลิตสื่อการสอน ปรับวิธีการสอน การเขียนแผนการสอน เน้นไปที่การใช้แหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนและชุมชน และการประเมินผลผู้เรียน

ในโอกาสวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2566 กสศ. ขอส่งอ้อมกอดไปถึงคุณครูผู้เปรียบเสมือนคุณแม่ของเด็ก ๆ ทุกท่าน และขอขอบคุณเรื่องราวจากแม่ครู ด.ต.หญิง ประกายพร ชัยจันทร์ ที่ร่วมบอกเล่าเรื่องราวมายังผู้อ่านทุกท่านในบทความนี้