แก้ไขปัญหาสายตาเด็กนักเรียน เพิ่มโอกาสมองหาอนาคต

แก้ไขปัญหาสายตาเด็กนักเรียน เพิ่มโอกาสมองหาอนาคต

ภาพคุณครูกำลังชี้ข้อความบนกระดาน ให้นักเรียนในชั้นมองตาม อ่านตาม หรือตอบคำถาม เป็นกิจกรรมและบรรยากาศปกติของชั้นเรียน ในการสร้างการมีส่วนร่วมของเด็ก ๆ กับการเรียนการสอนวิชาต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ แต่เด็กบางคน พลาดการมีส่วนร่วมนี้ เพราะมองไม่เห็นข้อความที่ปรากฏ เพราะมีข้อจำกัดในการมองเห็นที่ไม่ได้รับการแก้ไขด้วยแว่นสายตาหรือดูแลรักษาอย่างถูกวิธี

ข้อมูลจากโครงการชัดแจ๋ว ซึ่งจัดขึ้นภายใต้โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program) หรือ HITAP เมื่อปี 2558 ระบุว่า มีเด็กไทยอายุ 3 ถึง 12 ปี ถึง 4.1% มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการวัดสายตาและตัดแว่น และระบุด้วยว่า หากไม่ได้รับแว่นหรือมีการดูแลสายตาอย่างเหมาะสม สุขภาพด้านสายตาของเด็กกลุ่มนี้ ก็มีโอกาสที่จะลุกลามไปสู่การมีอาการตาขี้เกียจหรือตาบอด ซึ่ง 4.1% ดังกล่าว เมื่อเทียบกับข้อมูลตัวเลขเด็กกลุ่มเป้าหมายของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งเป็นเด็กยากจนหรือยากจนพิเศษ ในปี 2563 คาดว่า มีเด็กกลุ่มนี้ในช่วงวัยเดียวกันทั่วประเทศ กำลังประสบปัญหาด้านสายตาที่อาจมีจำนวนต้องได้รับการตัดแว่นเร่งด่วนถึง 50,000 คน

แม้ว่าที่ผ่านมาเด็กไทยอายุ 3-12 ปี หากจักษุแพทย์ตรวจยืนยันมีภาวะสายตาผิดปกติควรได้รับการแก้ไข ก็จะได้รับแว่นตาฟรีทุกปีจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ข้อมูลจาก กสศ. พบว่า เด็กยากจนด้อยโอกาสยังประสบปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการทั้งการวัดสายตา การส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสายตาผิดปกติเพื่อเข้ารับการรักษา และการรับแว่นสายตาที่สถานพยาบาล เพราะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องที่สูง เช่น ค่าเดินทาง

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ กสศ. ผนึกภาคีความร่วหมกับ สปสช. สมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย และภาคีการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จัดทำโครงการ “I SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต” ช่วยเด็กยากจนเข้าถึงสิทธิคัดกรองสายตาและตัดแว่นฟรี สนับสนุนให้เด็ก ๆ เข้าถึงการตรวจวัดสายตาที่ถูกต้อง ได้มาตรฐาน ได้ค่าสายตาที่แม่นยำ เพื่อให้เด็กที่มีภาวะผิดปกติทางสายตาได้เข้าถึงการรักษา ได้มีแว่นสายตาใช้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โครงการนี้เล็งจับมือท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเริ่มนำร่อง 3 จังหวัดแรกที่สมุทรสงคราม สุรินทร์ ปัตตานี

บทความนี้ ขอนำทุกท่านไปพูดคุยกับคุณครูและเด็ก ๆ บางส่วนในวันเปิดแคมเปญ “I SEE THE FUTURE” เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 2567 เพื่ออนาคตที่ชัดเจนและเป็นไปได้ของเด็กทุกคน ณ โรงเรียนเทศบาล 2 วัดเกษมสรณาราม (วงศ์ประชานุเคราะห์) ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ครูเบญจวรรณ ชำนาญสิงห์ ครูชำนาญการ โรงเรียนเทศบาล 2 วัดเกษมสรณาราม (วงศ์ประชานุเคราะห์) ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เล่าว่า ช่วงเริ่มปีการศึกษาใหม่ หรือประมาณเดือนพฤษภาคม- มิถุนายนของทุกปี โรงเรียนจะร่วมกับสาธารณสุขและเทศบาลตำบลอัมพวา จัดกิจกรรมตรวจสุขภาพและวัดสายตานักเรียน นอกจากนั้นสาธารณสุขตำบล ยังได้จัดกิจกรรมอบรมครูในโรงเรียนให้ใช้เครื่องมือตรวจวัดและช่วยคัดกรองปัญหาด้านสายตาเบื้องต้นให้กับเด็ก ๆ อีกด้วย แต่ละปีจะพบเด็กที่มีปัญหาด้านสายตาประมาณ 8–10 คน

จำนวนที่โรงเรียนตรวจพบ สอดคล้องกับโครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อคัดกรองสายตา I SEE THE FUTURE ซึ่ง กสศ. ร่วมกับเทศบาลตำบลอัมพวา สมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย และคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดขึ้นเพื่อตรวจหาและคัดกรองปัญหาทางสายตาให้นักเรียนในโรงเรียนนี้ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 จนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทั้งหมด 165 คน พบว่า มีนักเรียนที่ต้องได้รับการตัดแว่น จำนวนทั้งสิ้น 10 คน ซึ่งพบความผิดปกติทางสายตาที่มีปัญหาสายตายาว 2 คน ปัญหาสายตาสั้น 5 คน ปัญหาสายตายาวและเอียง 2 คน และปัญหาสายตาสั้นและเอียง 1 คน

ครูเบญจวรรณเล่าอีกว่า โรงเรียนไม่ได้นิ่งนอนใจในปัญหาด้านสายตาของเด็ก แต่การคัดกรองปัญหาสายตาจากเด็กเล็กเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เด็กบางคนอาจจะใช้เวลาในการคัดกรองนาน เพราะยังขาดความเข้าในวิธีการคัดกรองด้วยแผ่นวัดสายตาเป็นแบบรูปตัว E (E-Chart) ขาดทักษะในการสื่อสาร บอกหรืออธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นจากการมองเห็นของตัวเอง เด็กบางคนเมื่อใช้แผ่นวัดสายตาแบบตัวเลข (Snallen Chart) ก็ไม่สามารถอ่านตัวเลขหรือบอกได้ว่าเลขอะไรได้ ซึ่งกรณีนี้ ครูต้องใช้วิธีอื่นในการร่วมคัดกรอง โดยสังเกตพฤติกรรมการมองกระดาน หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างเรียน

“นอกจากคัดกรองเบื้องต้นแล้ว โรงเรียนจะกำชับให้คุณครูคอยสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ของเด็ก เช่น อ่านหนังสือชิดตามากผิดปกติ ชอบนั่งหน้าห้องเวลาเรียนหนังสือโดยพยายามโน้มตัวหรือยื่นศีรษะมาข้างหน้าให้มากที่สุด เมื่อต้องอ่านตัวหนังสือในระยะไกล เด็กบางคนอาจจะหรี่ตา ทำตาหยี ขยี้ตาหรือกระพริบตาถี่ ๆ บ่อย ๆ หรือมากกว่าเด็กคนอื่น ๆ เมื่อต้องเพ่งมอง บางคนมีพฤติกรรมตะแคงเอียงหน้าตลอดเวลาเมื่อต้องใช้สายตา บางคนก็จะบอกกับครูตรง ๆ ว่า มองไม่ชัด หรือมองเห็นภาพซ้อน ซึ่งหากพบหรือสงสัยว่าเด็กมีปัญหาสายตาก็จะเรียกผู้ปกครองมาแนะนำให้ไปตรวจหาค่าสายตาผิดปกติอย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมทั้งสอบถามถึงพฤติกรรมและกิจกรรมต่าง ๆ ที่บ้าน ซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหาด้านสายตาแบบอื่น ๆ นอกหนือจากสายตาสั้นหรือ สายตายาว

ประกอบกับเด็กส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กเล็ก มักจะมีพฤติกรรมเดียวกัน คือ ติดโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ติดเล่นเกม ท่องโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จึงต้องแนะนำให้ผู้ปกครองระวังการอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์นี้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะจะส่งผลต่อการมองของเด็ก และที่โรงเรียนต้องออกกฎว่า งดใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน”

ครูเบญจวรรณ ระบุอีกว่า กรณีที่พบเจอปัญหาสายตาในเด็กเล็ก ต้องตัดแว่นหรือรักษาด้วยผู้เชี่ยวชาญ ก็จะประสานกับเทศบาลกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในการให้บริการตัดแว่น หรือเข้ารับการรักษาจากจักษุแพทย์ของโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม กิจกรรมจากโครงการ I SEE THE FUTURE ที่จัดขึ้น นอกจากมาช่วยคัดกรองปัญหาสายตาอย่างละเอียด ยังเป็นการมาช่วยลดภาระงานครู เพราะช่วยเสริมในส่วนที่ครูอาจจะทำหน้าที่ได้ไม่ครบถ้วน เนื่องจากครูไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเช่นเดียวกับจักษุแพทย์ หรือนักทัศนมาตร ยกตัวอย่างกรณีที่พบว่าเด็ก มีสายตาขี้เกียจ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ในเด็กเล็ก ก็ถือว่าเป็นความรู้ใหม่ โครงการนี้ยังสามารถช่วยประสานการช่วยเหลือเด็กในกลุ่มเปราะบาง เช่น กรณีเด็กหญิงกัญญาพัชร เจ๊กสกุล นักเรียนชั้น ป.5 ที่อาศัยอยู่กับปู่ย่า ซึ่งแม้จะมีปัญหาสายตาสั้น ก็กลายเป็นข้อจำกัดด้านความพร้อมในการพาไปตรวจอย่างละเอียดและพาไปตัดแว่นได้

เด็กหญิงกัญญาพัชร เล่าว่า ประสบปัญหาเรื่องการมองในระยะไกล มองเห็นกระดานไม่ชัดมาตั้งแต่ ป.4 แต่พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยตัวเอง ด้วยการเปลี่ยนที่นั่งเรียนจากแถวกลาง มานั่งเรียนแถวหน้าสุดของห้อง โดยไม่กล้าบอกปัญหานี้กับครูเพราะกลัวว่าจะมีเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา ซึ่งอาจจะทำให้ปู่กับย่าต้องเดือดร้อน

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเด็กอีกคนชื่อน้องแง นักเรียนวัย 19 ปี จากวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม ซึ่งเข้าร่วมตรวจวัดสายตาในโครงการ I SEE THE FUTURE ที่พบว่าเขามีความผิดปกติทางสายตา คือทั้งสายตาสั้นและสายตาเอียง

น้องแงเล่าว่า จำไม่ได้ว่าเริ่มมองเห็นกระดานที่ครูสอนไม่ชัดตอนไหน แต่คิดว่า น่าจะมาจากความผิดปกติที่เกิดจากการใช้สมาร์ตโฟนติดต่อกันเป็นเวลานานถึงวันละ 7 ถึง 9 ชั่วโมง แต่ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ผ่านมาเขาเคยพยายามไปตรวจวัดสายตา แต่เมื่อทราบราคาค่าใช้จ่ายในการตัดแว่น ก็รู้สึกว่าแพงจนสู้ราคาไม่ไหว จึงอดทนแก้ปัญหานี้ ด้วยการพยายามย้ายจากที่ชอบนั่งหลังห้องมาอยู่แถวกลางหรือหน้าห้อง เพื่อให้สามารถมองกระดานชัดขึ้น

“วันไหนที่มองกระดานไม่เห็น ผมก็จะแก้ปัญหาด้วยการใช้สมาร์ตโฟนถ่ายภาพข้อความที่อาจารย์เขียนไว้บนกระดานมาขยายดูภายหลัง เคยสังเกตตัวเองแล้วพบปัญหาด้านสายตาในช่วงปีถึงสองปีที่ผ่านมา เคยไปตรวจสายตาด้วยตัวเองเพียงครั้งเดียว พอร้านแว่นบอกสายตาของผมมีทั้งสั้นและเอียง 200+ และบอกราคาค่าใช้จ่ายในการตัดแว่น ก็คิดว่าไม่สามารถจ่ายได้ โดยส่วนตัวผมดีใจมากครับที่ได้รับทุนในการเรียน แล้วก็ได้รับแว่นตา เชื่อว่าหลาย ๆ คน ไม่มีโอกาสแบบผม แต่ก็ขอให้สักวันหนึ่ง จะมีโอกาสเหมือนผมบ้าง ตัวผมที่ได้รับโอกาสมาแล้ว ก็จะใช้โอกาสตรงนี้ พยายามในเรื่องของการเรียน ในเรื่องของการใช้ชีวิตให้ดีมากขึ้นครับ ” น้องแงกล่าวทิ้งท้าย