“ขอบคุณที่เลือกมาเรียนครู อยากให้มีความสุขกับการทำงาน ถ้าเจอปัญหา ท่องเอาไว้ ฉันต้องจบ”
ปฐมนิเทศจากใจ รศ.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ครูใหญ่แห่งครูรัก(ษ์)ถิ่น

“ขอบคุณที่เลือกมาเรียนครู อยากให้มีความสุขกับการทำงาน ถ้าเจอปัญหา ท่องเอาไว้ ฉันต้องจบ”

“ครูไม่ขาด แต่อยู่ไม่ถูกที่”

ประโยคสั้นๆ แต่ชัดเจนของ รองศาสตราจารย์ดารณี อุทัยรัตนกิจ ผู้เปรียบเสมือนครูใหญ่ของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เมื่อตอบคำถามว่าทำไมต้องมีทุนนี้ขึ้นมา 

ในฐานะประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทำหน้าที่กำกับดูแลโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น อ.ดารณี บอกว่า ครูรัก(ษ์)ถิ่นเกิดขึ้นจากโจทย์อย่างน้อยสองข้อ คือ หนึ่ง โรงเรียนขนาดเล็กที่มีปัญหาคุณภาพการเรียนการสอน และสอง การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนที่อยากเรียนต่อแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

“โอกาสทางการศึกษาที่สูงเท่านั้นที่จะทำให้เด็กพัฒนาและผ่านการจนข้ามรุ่น” 

ในฐานะหัวเรือใหญ่ร่วมก่อฐานโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น อ.ดารณี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ข้อมูลว่า ในประเทศไทยมีโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถควบรวมได้ ราวๆ 1,500 แห่งทั่วประเทศ และเรียกโรงเรียนกลุ่มนี้ว่า Protected school เพราะยุบไม่ได้ ต้องป้องกัน ทำทุกวิถีทางเพื่อให้อยู่รอด และมีคุณภาพ

ทั้งเกาะแก่ง พื้นที่สูง ชายแดน และพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้ง 4 พื้นที่นี้ มีโรงเรียนและมีเด็ก 

และแม้ทุกๆ ปีจะมีครูไปบรรจุอยู่ตามโรงเรียนกลุ่มนี้ แต่พอครบกำหนดก็จะขอย้ายกลับไปบ้านเกิดตัวเอง ซึ่งตรงนี้ อ.ดารณีที่อยู่วงการศึกษามาไม่ต่ำกว่า 40 ปีเข้าใจอย่างที่สุด 

“ครูย้ายเพราะไม่ใช่บ้านเกิดของเค้า มันอยู่ไม่ได้ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภาษา คนอยากเป็นครูเพราะอยากเป็นข้าราชการ เพราะฉะนั้นตอนแรกสอบได้ที่ไหนไปที่นั่นเพื่อเอาตำแหน่งไว้ก่อน ดังนั้น โรงเรียนกลุ่มนี้ครูย้ายบ่อยมาก ก็จะขาดครู บางทีไม่มีผอ.เป็นปีๆ บางที่มีผอ.คนเดียวกับภารโรงเพราะครูย้ายออก สพฐ.ก็บรรจุครูคืนให้ไม่ทัน” 

รองศาสตราจารย์ดารณี อุทัยรัตนกิจ ผู้เปรียบเสมือนครูใหญ่ของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

เรื่องครูไม่ครบชั้นกลายเป็นปัญหาพื้นฐานของเกือบทุกโรงเรียน  อ.ดารณี มองโลกในแง่จริงด้วยการหวังให้ผลผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่น สอนแบบควบหรือบูรณาการการเรียนการสอนให้เหมาะกับพื้นที่ และไม่ใช่สอนแบบขอไปทีตามมีตามเกิด 

“ไม่ใช่ได้ครูอะไรไปก็สอน ครูจบพละไปสอนเลข สอนวิทย์ ขอให้มีครู  ถึงแม้ว่าเด็กจะอยู่ต่างจังหวัดแต่เค้าเกิดมาพร้อมศักยภาพสูงที่สูงมาก เราต้องเกื้อหนุน ให้การศึกษาที่มีคุณภาพกับเค้า ไปกระตุ้นศักยภาพที่มีอยู่ภายในตัวเค้า”​

ในพระราชบัญญัติ กสศ. มาตรา 14  กำหนดไว้ว่า กสศ. จะต้องดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษา วิจัย หรือค้นคว้าแนวทางในการพัฒนาครู บวกกับอีกสองโจทย์ข้างต้น ครูรัก(ษ์)ถิ่นจึงได้ตัดริบบิ้นรุ่นแรกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ครูรัก(ษ์)ถิ่นต่างจากทุนการศึกษาครูอื่นๆ อย่างไร

เราไปคัดเลือก ให้โอกาสคนในท้องถิ่นมาเรียนครูเพื่อกลับไปเป็นครูในท้องถิ่นของตัวเอง จึงเกิดการทำงานร่วมกันในระดับนโยบาย คือ กสศ. ผนึกกำลังร่วมกันกับกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งผลิตและพัฒนาครู ดูแลมหาวิทยาลัย และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นผู้ใช้ครู 

สพฐ. จะเป็นผู้กำหนดเลยว่าต้องการครูแบบไหน ที่ไหน อย่างไร  ทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) ที่ดูแลการพัฒนาครู , คุรุสภาซึ่งดูแลคุณภาพ มาตรฐานวิชาชีพครู โดยมี กสศ. เป็นส่วนกลางในการเหนี่ยวนำความร่วมมือทั้งหมด 

จุดพิเศษจริงๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนคือ สพฐ. จะวิเคราะห์ว่าอีก 4 ปีข้างหน้า (ตอนเริ่มคุยโครงการ) พื้นที่ไหนมีครูเกษียณ โดยยึดเอาโรงเรียนขนาดเล็ก อยู่ในเกณฑ์ยุบไม่ได้ ควบรวมไม่ได้ แม้นักเรียนจะน้อยขนาดไหน โครงการนี้จึงมีเป้าหมายชัดเจนว่าเราจะผลิตครูไปอยู่ที่ไหน พอเราได้โรงเรียนปลายทาง กระบวนการถัดมาคือ คัดเลือกเด็กที่ผ่านเกณฑ์ความยากจนและอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับโรงเรียนที่บรรจุ โครงการนี้เป็นการลงทุนที่สูง เราต้องมั่นใจในกระบวนการทุกอย่าง 

พอเราได้ในหลักการตรงนี้ เราก็คัดสถาบันอุดมศึกษาเพื่อผลิตครู สถาบันเหล่านี้อยู่ต่างจังหวัด เราไม่เอาเด็กกลุ่มนี้เข้ากรุงเทพฯ เด็กที่มาจากภาคอีสานก็ตองเรียนในพื้นที่ภาคอีสาน เด็กภาคเหนือก็เรียนในภาคเหนือ

ทำไมถึงไม่เรียนในกรุงเทพฯ

สถาบันราชภัฏอยู่ในท้องถิ่น เราต้องการสร้างครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งเป็นครูที่รักถิ่นฐานตัวเอง ให้เค้ากลับไปพัฒนาท้องถิ่นของเค้า และเราสร้างคนที่รักในความเป็นครู มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มุ่งมั่นกระตือรือร้น แต่แค่นั้นอย่างเดียวไม่พอ เพราะโรงเรียนที่อยู่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เค้าต้องเป็นครูของทุกคนในชุมชน 

ดังนั้นเค้าต้องเป็นนักพัฒนาชุมชนด้วย 

ในการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมา ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านในการดูแล ดังนั้นการพัฒนาประเทศ ถ้าเราพัฒนาชุมชนเล็กๆ ห่างไกลให้มีความเข้มแข็ง นั่นคือความมั่นคงของประเทศ การจัดการศึกษาผ่านโรงเรียนขนาดเล็กในแต่ละชุมชน เป้าหมายของเด็กไม่เหมือนกัน เด็กบนดอย เค้าต้องการไปประกอบอาชีพ แต่เป้าหมายของเด็กในเมืองคือเรียนต่อ  มหาวิทยาลัยเก่งๆ ดังๆ อาจจะไม่คุ้นเคยกับชุมชนที่เด็กจะต้องกลับไปอยู่ แต่ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยท้องถิ่นทำงานพัฒนาชุมชนเยอะ มีประสบการณ์ มีองค์ความรู้ในการทำงานกับชุมชน

ทำอย่างไรถึงจะค้นหาได้ว่าเด็กคนนี้เหมาะสมกับทุน

ปกติอาจารย์มหาวิทยาลัยจะรอนักศึกษามาสมัคร แต่โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น อาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องลงพื้นที่ ไปค้นหาเด็ก สมมติเราปักหมุดจังหวัดนี้ อาจารย์ต้องไปลงพื้นที่ในหมู่บ้านนี้ ตำบลนี้ ไปประชาสัมพันธ์ ไปค้นหาเด็กที่จบ ม.6 ที่มีใจอยากเป็นครูเข้ามาเรียนครู 

ตอนแรกอาจารย์หลายคนไม่ชอบเลย แต่พอเค้าลงพื้นที่จริงๆ เค้าเปลี่ยนความคิด เค้าได้ไปเห็นสภาพแวดล้อมของเด็ก ลงไปคุยกับพ่อแม่ ดูวิถีชีวิต และสิ่งที่อาจารย์มหา’ลัยได้คือ เค้าได้รู้จักเด็กตั้งแต่เริ่มต้น รู้พื้นฐาน รู้ชุมชน รู้ท้องถิ่น รู้ความต้องการ  กระบวนการค้นหาเด็กทุนนี้จึงต่างจากกระบวนค้นหาเด็กในโครงการทุนอื่นๆ 

พอมหา’ลัยไปค้นหาเด็กตามพื้นที่ต่างๆ เราจะได้เด็กที่สนใจ เราต้องการครูปฐมวัยและประถมศึกษา เราไม่ได้ต้องการผู้เชี่ยวชาญมากแต่ก็ต้องเก่งระดับหนึ่งนะ เพราะเป้าหมายเรามุ่งไปที่เด็กขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่ใช่เด็กอัจฉริยะ ดังนั้นอันดับแรกต้องผ่านเกณฑ์ความยากจนก่อน จากนั้นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ไปคุย 

การเป็นครูมันเป็นศาสตร์และศิลป์ ต้องอยู่กับเด็ก เราต้องมองเห็นความเมตตา เห็นความอบอุ่น เห็นความมุ่งมั่นของเด็ก ทีมอาจารย์มหา’ลัย 20-30 คนต้องร่วมกันทำค่าย ลงพื้นที่ ไปช่วยกันค้นหาเด็ก กระบวนการคัดเลือกจะเข้มข้นมาก เพราะเราลงทุนสูงมาก ดังนั้นเราต้องได้ตัวจริง เรามั่นใจว่าเค้าจะสามารถเรียนจบและกลับไปเป็นครูได้ กระบวนการคัดเลือกจึงเป็นต้นน้ำที่มีความสำคัญ

หลักสูตรของนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น เข้มข้นหรือแตกต่างจากนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตร์ทั่วไปอย่างไรบ้าง

อันที่หนึ่ง หลักสูตรต้องอิงมาตรฐานหลักสูตรของกระทรวง อว. (กระทรวงอุดมศึกษาฯ)  แล้วมหาวิทยาลัยที่เราคัดเลือกมา กระบวนการคัดเลือกก็เข้มข้นมาก หนึ่ง เราดูหลักสูตร ดูอาจารย์ประจำหลักสูตร มาตรฐานหลักสูตร ความโดดเด่นของหลักสูตรที่มีมา เปิดมานานแค่ไหน แล้วเมื่อดูทั้งหมด คณะกรรมการก็ลงพื้นที่ไปมหาวิทยาลัยทุกที่ที่สมัครเข้ามา ไปประเมิน ไปคุย 

ประเด็นสำคัญที่ไม่แพ้หลักสูตร คือ นักศึกษาจะต้องอยู่ในหอพักในมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ลำพังคณะสาขาวิชา และคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ทำอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งมหาวิทยาลัย อธิการบดีจะต้องลงมาช่วยดูแลและตอบโจทย์ได้ว่ามหาวิทยาลัยสนับสนุนอะไรได้บ้าง เพราะว่า นศ.ครูรัก(ษ์)ถิ่น เขาไม่ได้เรียนอยู่แค่ในคณะหรือหลักสูตรเท่านั้น แต่อยู่ในหอพักด้วย มันจึงต้องเชื่อมโยงกับคณะอื่นๆ ที่จะต้องเข้ามาสนับสนุน 

เด็กของเราทุกคนต้องอยู่หอพัก จะต้องเรียน Enrichment Program เพิ่มเติมที่อยู่นอกเหนือจากหลักสูตรปกติ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องมีทรัพยากรที่พร้อม ซึ่งทั้งหมดนี้ตอนที่เราคัดเลือก เราลงพื้นที่ไปดูหอพัก ดูระบบความปลอดภัย ดูห้องเรียน ดูห้องปฏิบัติการ ห้องสมุด facility ต่างๆ รวมทั้งสัมภาษณ์ศิษย์เก่าที่จบไปแล้วของมหาวิทยาลัยนี้ด้วย เมื่อคัดได้แล้วจนเรามั่นใจว่านี่จะเป็นสถาบันที่ผลิตได้ ถึงจะลงพื้นที่ไปค้นหาเด็ก 

หลักสูตรของเราแตกต่างจากหลักสูตรอื่นมากๆ เพราะมันเป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย ที่จะต้องทำให้เด็กทุกคนจบ (หัวเราะ) เราลงทุนสูงมาก ทั้งค่าเรียน ให้ค่าใช้จ่ายส่วนตัว อุปกรณ์ คอมพิวเตอร์คนละเครื่อง ค่ากิจกรรม Enrichment program 

บางคนมีปัญหาเรื่องการปรับตัวเพราะไม่เคยออกจากพื้นที่ ไม่เคยออกจากอ้อมอกพ่อแม่ บางคนปรับตัวเข้ากับเพื่อนยาก อาจารย์เคยถามคนหนึ่งว่าถ้าหนูไม่ได้รับทุนจะไปทำอะไร เขาบอกจะไปเป็นพนักงานเสิร์ฟตามร้านอาหาร แต่การที่เขาได้ทุน เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเขาแบบมหัศจรรย์มากเลย เพราะฉะนั้นการสอนตามหลักสูตรธรรมดาไม่สามารถตอบโจทย์ของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นได้ จะต้องมีทีมอาจารย์พ่อ อาจารย์แม่ นักจิตวิทยา เพราะว่าเด็กหลายคนมาแล้วต้องปรับตัวค่อนข้างมาก มีผลต่อสภาพจิตใจ ต้องสอนทักษะการใช้เงิน  เด็กบางคนไม่เคยได้กินชานมไข่มุก พอมีแล้วกินทุกวันวันละ 3-4 แก้ว ต้องสอนการใช้เงินและใช้ชีวิต แต่เด็กบางคนก็คิดถึงพ่อแม่ ก็ไม่กินไม่ใช้ เก็บเงินเอาไปให้พ่อแม่ ตัวเองกินมาม่า ฯลฯ 

ความเป็นอยู่ทั้งหมดเหล่านี้ อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องดูแล  ถ้าเป็นหลักสูตรทั่วไป สอนหนังสือเสร็จก็จบแล้ว แต่ทุนนี้ต้องดูแลจิตใจ ดูแลชีวิต เพราะเราจะให้เขาไปเป็นครูเพื่อสอนเด็กๆ เขาต้องมีทักษะเหล่านี้ 

ยังมีกิจกรรมที่บ่มเพาะจิตวิญญาณของความเป็นครู จิตวิญญาณของการเป็นนักพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยหลายแห่งจะมีสาขาพัฒนาชุมชน ก็จะเชิญอาจารย์ในสาขานั้นเข้ามาร่วมออกแบบกิจกรรม เกือบทั้งหมดเราให้มหาวิทยาลัยปรับหลักสูตร อย่างเช่นการสอนคละชั้น  โรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียน ป.1-2-3 ชั้นละ 5 คน การจะหาครูครบชั้นมันเป็นไปไม่ได้ อันนี้ก็เป็นโจทย์ที่มหาวิทยาลัยจะต้องออกแบบเพิ่มเติมในหลักสูตรให้ 

อีกอันหนึ่งที่เราให้เพิ่มเติมไปคือการสอนเด็กพิเศษ ในโรงเรียนขนาดเล็กทุกโรงเรียนเราจะไปหาครูการศึกษาพิเศษไม่ได้ จริงๆ ตามมาตรฐานก็จะมีในหลักสูตรอยู่แล้ว แต่แค่คาบเรียนเดียวมันไม่พอ เพราะฉะนั้นเราก็จะให้สำรวจบริบทของชุมชนว่า ในชุมชนนั้นมีเด็กพิเศษประเภทไหนเป็นส่วนใหญ่บ้าง นศ.ครูรักษ์ถิ่นก็ต้องเรียนวิธีการสอน การรู้จักเด็กพิเศษ การวินิจฉัยเบื้องต้น การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น รวมถึงกระบวนการส่งต่อ 

ต้องเรียกว่า all in one ครูคนเดียวต้องทำได้ทั้งหมดเลย

แล้วนักศึกษาทุนแต่ละคนก็จะต้องมีโปรเจกต์ของแต่ละคนเป็นตัวจบด้วย?

ใช่ อันนี้คือกลางทางที่เชื่อมต่อกับโรงเรียนปลายทาง  เด็กเราจะรู้ว่าตัวเองไปเป็นครูที่ไหนตั้งแต่เริ่มเข้ามาเรียนครู เพราะฉะนั้นในระหว่างทาง อาจารย์ก็จะมอบหมายให้โจทย์เขาไปลงพื้นที่ สำรวจพื้นที่ในช่วงปิดเทอม ไปสำรวจศึกษาวิจัยว่าชุมชนของเขามีจุดเด่นอะไร มีปัญหาอะไร มีทรัพยากรอะไรที่จะนำมาใช้ประโยชน์กับเขาได้ และให้โรงเรียนปลายทางได้ แล้วสร้างสรรค์ออกมาเป็นนวัตกรรมชุมชนประกอบการสอนของแต่ละคน 

เรามีทีมหนุนเสริมอีกทีม คือทีมที่ประกอบไปด้วยผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่จะลงไปช่วยโรงเรียนปลายทางที่เด็กจะไปบรรจุอีก 6 ปี ถ้าเราไม่ทำอะไรกับโรงเรียนปลายทาง ปล่อยให้เป็นโรงเรียนเดิมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แล้วเราส่งครูที่เราสร้างมาอย่างดีแล้วไปอยู่ เขาแบกพลังออกไปจากมหาวิทยาลัยที่มีไฟเต็มเลย แต่พอไปทำงานที่โรงเรียนยังไม่ถึงสามเดือนไฟมอดหมดแล้ว มันไม่ได้ 

ผลิต 4 ปีบวกติดตามดูแลอีก 6 ปี รวมๆ แล้ว 10 ปี เพราะเด็กทุนนี้เขาเป็นความหวัง ทุกคนในหมู่บ้านรู้ว่าเดี๋ยวลูกหลานคนนี้จะกลับมาเป็นครูที่นี่ 

พูดได้ว่าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในการผลิตและพัฒนาครูเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา เป้าหมายสูงสุดคือเราต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในการผลิตและพัฒนาครูให้ได้ครูคุณภาพสูงและตรงเป้าหมาย

การหนุนเสริมมีรายละเอียดอะไรบ้างที่จะทำให้ครูสามารถอยู่ได้จริงอย่างน้อย 6 ปี

กระบวนการหนุนเสริมจริงๆ เริ่มปีนี้หลังจากครูรุ่นแรกไปบรรจุ แต่ตอนนี้เราไปพัฒนาโรงเรียนปลายทาง ไปกระตุ้นให้เขาเห็นความสำคัญของกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ  โดยใช้บุคคลที่อยู่ในแนวระนาบเดียวกัน คือผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ทั้งที่ทำงานอยู่และเกษียณแล้ว ลงพื้นที่ไปทุกโรงเรียน ไปทำงานกับทุกโรงเรียนว่า เขาจะได้ นศ.ครูรักษ์ถิ่นนะ ไปชวนเขาวิเคราะห์ว่าโรงเรียนมีจุดเด่นอะไร ต้องการความช่วยเหลือหรืออยากปรับเปลี่ยนอะไร คือเราไปสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุน 

นศ.ครูรัก(ษ์)ถิ่น จะไปฝึกที่โรงเรียนตั้งแต่ช่วงปิดเทอม ปี 2-4  เขาก็จะเตรียมตัวเตรียมใจแล้วว่านี่คือโรงเรียนที่เขาจะไปอยู่  บางทีเด็กก็ไปเจออะไรที่เขาไม่เคยเจอ  ก็นำกลับมาคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา เราจะติดตามนศ.อย่างใกล้ชิดว่ามีความวิตกกังวลอะไรบ้าง 

ตอนนี้รุ่นที่ 1 เกือบทั้งหมดสอบใบประกอบวิชาชีพครูได้แล้ว สอบภาษาอังกฤษผ่านแล้ว พร้อมจะบรรจุได้ในเดือนตุลาคมนี้

ทำไมครูรัก(ษ์)ถิ่น ถึงต้องมีหน้าที่หลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะในโรงเรียนแต่ต้องเป็นครูที่ลงชุมชน

กระบวนการพัฒนาประเทศเราต้องสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เด็กต้องอยู่ในชุมชน ไม่ใช่เอาเด็กออกจากชุมชนของตัวเอง เพราะฉะนั้นการกระจายอำนาจที่จะไป empower ให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ ไม่ให้การศึกษาที่มีคุณภาพกระจุกอยู่ในเมือง ซึ่งตอนนี้มันก็ยังเป็น 

แต่การที่เราจะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็ง เปลี่ยนแปลงคุณภาพการเรียนการสอน ต้องลงไปที่โรงเรียน เราต้องใช้คำว่าคืนศรัทธาให้กับโรงเรียนกับครู การที่จะไปเปลี่ยนโรงเรียนได้ นั่นเพราะเราไปเปลี่ยนครูก่อน

ถ้าเราไม่เปลี่ยนครู เราก็เปลี่ยนการเรียนการสอนไม่ได้ สมัยหนึ่ง กระทรวงศึกษาบอกว่าหลักสูตร one fit all อยู่บนเขาหรือพื้นราบใช้เหมือนกันหมด อยู่ร้อยเอ็ดไม่เคยมีทะเล ภูเขาไม่มี เราก็ต้องไปเรียนรู้ทะเลภูเขา แต่เรานึกภาพไม่ออกเพราะไม่เคยเห็น แล้วพอตอนหลังเรากระจายอำนาจ ให้โรงเรียนไปทำหลักสูตรสถานศึกษาเอง ก็ทำไม่ได้ เพราะครูไม่ได้ถูกสอนให้ไปพัฒนาสร้างหลักสูตรสถานศึกษา ท้ายที่สุดเขาก็ดึงกลับมาส่วนกลาง ระบบการศึกษาของเราที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้ไม่ยืดหยุ่นและไม่กระจายอำนาจไปสู่การตัดสินใจระดับล่าง

ที่เราทำครูรัก(ษ์)ถิ่น คือหนึ่งในเป้าหมายของ กสศ. เราต้องไปผลักดันที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบให้ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเลือกทำเป็นการตอบโจทย์แต่ละปัญหาของประเทศในด้านการศึกษา 

ครูรักษ์ถิ่นเราลงทุนคนหนึ่งไม่เกิน 1 ล้านบาท  1 ล้านในการสร้างครูคุณภาพที่จะไปเปลี่ยนแปลงชุมชนมันคุ้มยิ่งกว่าคุ้มอีก มันคือการเปลี่ยนแปลงชีวิตคน เราเอาเด็กมาเรียนครู มันไม่ได้เปลี่ยนแค่เด็ก แต่มันเปลี่ยนครอบครัวเขา เปลี่ยนมายด์เซ็ตของชุมชน ทำให้เห็นว่าเขาไม่จำเป็นต้องจนข้ามรุ่น เขาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในครอบครัว สร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชน 

1 ล้านบาทนี้ มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดตั้งแต่การลงค้นหาเด็ก ค่าเทอม ค่าดำรงชีพประจำเดือน อุปกรณ์การเรียนการสอน คอมพิวเตอร์ กิจกรรม enrichment program ค่าหอพัก และค่ากิจกรรมเสริม เรารับผิดชอบหมด 

เด็กบางคนเข้ามาต้องซื้อทุกอย่างใหม่หมดเลยนะกระทั่งผ้าปูที่นอน  แต่ท่ามกลางความขาดแคลน เด็กกลุ่มนี้มี Growth Mindset มีความมุ่งมั่น เขาอดทนสู้ 

ในปฐมนิเทศครูรักษ์ถิ่นรุ่นแรก อาจารย์เหมือนเป็นครูใหญ่อยากบอกอะไรคุณครูคนใหม่กลุ่มนี้บ้าง

อันดับแรกเลยต้องขอบคุณที่เลือกมาเรียนครู เขาเรียนรู้มาเยอะ อยากให้เขามีความสุขกับการทำงาน อาชีพครูมีคุณค่า ทำประโยชน์ให้คนอื่น เรามีความสุข สร้างความสุข สร้างพลังให้ตัวเรา เด็กทุกคนมีชีวิตมีจิตใจ การที่เราได้มีโอกาสให้และหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งได้โตมาทั้งร่างกายจิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม อยากให้เขาภูมิใจที่ได้เป็นครู ที่เราตั้งชื่อว่าครูรัก(ษ์)ถิ่นเนี่ย เมื่อไหร่ที่เขารักในวิชาชีพครู แล้วก็รักถิ่นฐานบ้านเกิด จิตวิญญาณของเขาก็จะทำงาน เพราะเขามีความรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของ ความรู้สึกเป็นเจ้าของมันก็จะทำให้เขามุ่งมั่นในการที่จะสร้าง พัฒนา แล้วตัวเขาก็จะมีความสุขในการอยู่ด้วย

ระยะเวลา 6 ปี น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับครูรักษ์ถิ่นทุกคน บางคนก็ร้องไห้ เจอความยากลำบากที่โรงเรียนปลายทาง หลายคนน่าจะอยากได้คาถาจากอาจารย์

ถ้าเจอปัญหา ยึดเป้าหมายปลายทางเอาไว้ ฉันต้องจบ (หัวเราะ) ไม่จบไม่ได้ ปัญหามันมาแล้วเดี๋ยวมันจะไป จริงๆ เด็กกลุ่มนี้มีความอดทนมากกว่าพวกเราอยู่แล้ว แต่มันมีภาวะที่มีความเครียดสูง เพราะฉะนั้นการอยู่หอพักที่เขาทำให้เครือข่ายนักศึกษาเป็นเพื่อนกัน การใช้ชีวิตของเขาต้องมีที่ปรึกษา แล้วเราก็ฝึกนักศึกษาให้มีทักษะในการเป็นผู้ให้คำปรึกษา เขาจะเข้าถึงเพื่อนได้ก่อน ทักษะเหล่านี้เอาไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้

ย้ำว่าการลงทุนทางการศึกษาเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด คือเราเปลี่ยนคน โอกาสที่เขาได้ต่อไปคือมีงานทำ สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม ถ้าเราหล่อหลอมเขาดีๆ เขาก็จะเป็นกำลังสำคัญ กำลังสำคัญหนึ่งคนก็เปลี่ยนหมู่บ้านได้ 1,500 คนก็ 1,500 หมู่บ้าน 1,500 โรงเรียน มันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ 

แต่สิ่งหนึ่งที่งานวิจัยครูรัก(ษ์)ถิ่นที่นำเสนอออกมา คือ ตอนนี้ครูไม่ขาด แต่อยู่ไม่ถูกที่ เพราะฉะนั้น สพฐ. จะต้องวิเคราะห์อย่างจริงจังว่าเราต้องการครูอะไร และอยู่ที่ไหน ลงทุนแล้วผลิตเท่านั้นเลย ถ้าเราบอกว่าต้องการครูวิทยาศาสตร์ก็ส่งให้มหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญผลิตเลยในจำนวนเท่านี้ แล้วก็ให้ทุนเรียนเป็นระบบปิดเลย เพื่อให้เขาไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ได้

ในวันที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นทั้ง  5 รุ่นเรียนจบและบรรจุไปเป็นครูแล้ว อาจารย์อยากเห็นภาพอะไรตอนนั้

เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ที่จะไปพัฒนาเด็ก เรามองเห็นภาพเด็กที่เรียนหนังสือด้วยคุณภาพการเรียนรู้ที่ดีขึ้น มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของชุมชน แล้วก็มองเห็นเด็กเหล่านี้มีความภูมิใจในตัวเองที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลง 

หน้าที่ของครูทุกวันนี้มีหน้าที่ที่เยอะแยะเต็มไปหมด นอกจากการสอนแล้วคำว่าครูสำหรับอาจารย์คืออะไร หรือคือใคร

อาจารย์ก็จะใช้แทนตัวเองว่าครูเสมอ อยู่ที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย เราก็จะเป็นครูที่จะให้ความรัก ความอบอุ่น บ่มเพาะให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวตนของตัวเอง จริงๆ ครูในยุคปัจจุบันคุณสอนหนังสืออย่างเดียว คุณเป็นครูไม่ได้ อันนั้นต้องเป็นติวเตอร์ เด็กมีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นคนที่จะเป็นครูต้องเข้าถึงตัวเด็ก และให้ความรัก เคารพความเป็นตัวตนของเด็ก ให้เกียรติเด็ก อบรมบ่มเพาะให้เขามีความรู้สึกปลอดภัย ให้เขาภาคภูมิใจในตัวเอง 

ถ้าเด็กขาดสิ่งเหล่านี้ที่เป็นพื้นฐาน การดำรงชีวิตต่อไปของเขาจะยาก อาจารย์จะเน้นเสมอ ในเด็กเล็กช่วง 10 ปีแรกของชีวิตต้องวางพื้นฐานความเป็นตัวตนของเขา ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง เคารพตัวเอง แต่สิ่งเหล่านี้จะได้มา คนรอบข้างต้องให้เขา เวลาไปโรงเรียนครูต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก ให้เขารู้สึกว่ามาโรงเรียนแล้วรู้สึกปลอดภัย ครูเป็นที่พึ่งของเขาได้เสมอ เทคนิคการสอนก็สำคัญ เพราะงั้นการเป็นครูมันเป็นทั้งศาสตร์เป็นทั้งศิลป์ แล้วสิ่งเหล่านี้ถ้าเราถูกบ่มเพาะออกมาเป็นครูจริงๆ มันจะออกมาจากตัวตนของครู