นักการศึกษาทั่วโลกเห็นพ้อง ครูมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความเท่าเทียมการศึกษา

นักการศึกษาทั่วโลกเห็นพ้อง ครูมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความเท่าเทียมการศึกษา

ที่มาภาพ : unsplash-National Cancer Institute

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2563 ที่โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ ปทุมวัน กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย องค์การการศึกษา ยูเนสโก, องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ และ ธนาคารโลก จัดเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ “เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ปวงชนเพื่อการศึกษา” เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ของเด็กด้อยโอกาสในระดับนานาชาติ

การประชุมวันนี้ Andreas Schleicher ผู้ริเริ่มเเละผู้อยู่เบื้องหลังการประเมินทักษะนักเรียนนานาชาติหรือ PISA กล่าวในหัวข้อ “การทำให้การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้นได้” ว่า เมื่อพูดถึงเรื่องความเท่าเทียม ต้องนึกถึงคำว่าความเสมอภาค (equality) และความชอบธรรม (equity) จากนั้นมาประเมินทรัพยากรมนุษย์และเงิน ดังนั้นจะทำให้เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษาได้ จะต้องช่วยให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาโดยปราศจากเรื่องของฐานะ พื้นฐานทางสังคม ข้อจำกัดของโรงเรียนหรือแม้แต่เรื่องครู นักเรียนทุกคนต้องเข้าถึงครูที่เก่งได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องเข้าไปเรียนในโรงเรียนใหญ่ๆ เท่านั้น

จากการศึกษาข้อมูลพบว่า คุณภาพการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ หากทุกโรงเรียนสามารถตอบโจทย์ความต้องการของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนไกลๆ เพราะทุกโรงเรียนมีคุณภาพใกล้เคียงกัน 

ดังนั้น การพัฒนาให้โรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านที่สุดเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดก็จะช่วยลดหลายปัญหาในระบบการศึกษาได้ ขณะเดียวกัน ข้อมูลยังระบุด้วยว่า เด็กที่มีฐานะยากจนที่สุดหรือขาดโอกาสมากที่สุด กลับมีผลการเรียนที่ดีมาก ดังนั้นฐานะที่ยากจนไม่ได้เป็นตัวกำหนดชะตาชีวิต เพราะเด็กเรียนดีได้

เมื่อพิจารณาและวิเคราะห์เจาะระบบการศึกษาของประเทศที่ประสบความสำเร็จ จะพบว่า ครูเป็นปัจจัยสำคัญ บางประเทศกำหนดความก้าวหน้าของวิชาชีพครูจากวิธีการแก้ปัญหาเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ยกตัวอย่าง ในประเทศจีน ถ้าครูคนหนึ่งอยากเป็นผอ.โรงเรียน ระบบการศึกษาของจีนจะบอกว่าครูคนนี้ดีมีความทะเยอทะยาน แต่จะเป็นผอ.ได้ก็ต่อเมื่อ ครูคนนี้ไปแก้ปัญหาโรงเรียนที่มีผลการเรียนต่ำก่อน ซึ่งระบบการศึกษาแบบนี้ ใช้ความพยายามที่จะจัดสรรทรัพยากร ให้ครูที่เก่งไปแก้ปัญหาที่ท้าทาย เพื่อให้เกิดความสมดุลของระบบการศึกษา สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากคุณเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี แม้คุณไม่ได้เรียนดี แต่ก็ยังมีโอกาสที่ดีอีกหลายครั้งในชีวิต ขณะที่เด็กที่เกิดมาในครอบครัวยากจน มีโอกาสครั้งเดียวเท่านั้น คือการได้เจอครูเก่งๆและโรงเรียนที่มีคุณภาพ แต่ความเป็นจริงเด็กกลุ่มนี้จะถูกส่งไปเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมและคุณภาพมากนัก

ที่มาภาพ : unsplash-Jerry Wang

ยิ่งไปกว่านั้น การจัดสรรทรัพยากรได้ดีจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างทางสังคมได้อีกด้วย ทุกประเทศจะทำได้ โดยต้องตั้งใจลงทุนในด้านทรัพยากรและจัดสรรทรัพยากรให้ตรงกับความต้องการและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่จำเป็นว่าประเทศนั้นจะร่ำรวยหรือยากจนแต่ลงทุนอย่างคุณภาพหรือไม่

“ช่องว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่อย่างน้อยที่สุด ถ้าเราสามารถช่วยให้นักเรียนทุกคน มีความสามารถในระดับ 2 ของการประเมิน PISA ก็จะยิ่งจะเกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างมหาศาล ซึ่งในกรณีของประเทศไทย จะคิดเป็นประมาณกว่า 4 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 4 เท่าของขนาดเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน”

นอกจากนี้ มีข้อเท็จจริงที่หลายคนพูดว่า ห้องเรียนหรือโรงเรียนเล็กๆ จะดีสำหรับครูและนักเรียน แต่ความจริงแล้ว การจัดโรงเรียนขนาดเล็กที่มูลค่าสูงในเชิงที่ว่า ครูจะต้องทุ่มเวลาทั้งหมดผลัดกันเข้าไปสอนในห้องเรียน จนไม่มีเวลาไปใช้ในการพัฒนาเด็กนอกห้องเรียนหรือไปช่วยแหลือเด็กที่ขาดโอกาสได้เลย หากให้ตนเลือกระหว่างครูที่มีคุณภาพกับห้องเรียนขนาดเล็ก ผมเลือกครูที่มีคุณภาพ ซึ่งการทำงานของครูที่ดีนั้น คือต้องมีเวลาพัฒนาความเชี่ยวชาญของตนควบคู่กับการรู้ว่าเด็กแต่ละคนถนัดและเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งนี่ถือเป็น 1ในมิติสำคัญของความเท่าเทียม สำหรับประเทศไทยถือว่าจัดการความสมดุลของขนาดห้องเรียนและเวลาของครูได้ดี

“เพราะการศึกษาไม่ใช่การซื้อขายที่นักเรียนเป็นผู้บริโภคแล้วครูเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ การศึกษาเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์และสิ่งนี้ก็จะทำให้เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษาได้”

ทั้งนี้ ความเท่าเทียมทางการศึกษาไม่ใช่แค่ว่าชั่วโมงของการเรียนหนังสือเท่ากัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าได้ใช้เวลาที่มีอยู่เรียนรู้และได้ประสบการณ์ที่คุ้มค่าที่สุดได้อย่างไร มีการจัดสรรทรัพยากรให้ตรงกับความต้องการของเด็กทุกคนโดยเฉพาะที่เด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาหรือไม่

ขณะเดียวกัน เงิน ฐานะหรือระยะเวลาของการเรียนหนังสือไม่ได้เป็นสิ่งบ่งบอกคุณภาพหรือสมรรถนะของระบบการศึกษา สิ่งที่บ่งบอกคือทัศนคติที่นักเรียนมองว่าอุปสรรคไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นโอกาสที่ได้ลองสิ่งใหม่ (growth mindset) ยกตัวอย่าง เช่นนักเรียนในประเทศเอสโตเนีย ซึ่งเป็นประเทศที่ได้คะแนนสูงเป็นอันดับต้นๆในการสอบPISA

เมื่อถามนักเรียนว่าทำไมเราถึงประสบความสำเร็จในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ 9 ใน 10 คน จะตอบว่าเพราะเราทุ่มเท พยายามแล้วก็ครูก็ช่วยทำให้พวกเราประสบความสำเร็จได้ แต่ถ้าถามคำถามเดียวกันกับนักเรียนในประเทศอินโดนีเซีย เด็กส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า อ๋อผมไม่เก่งเลข ผมน่าจะไปเรียนอย่างอื่นดีกว่า เป็นต้น ดังนั้นหากเราต้องการปรับปรุงเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษาแล้ว จำเป็นต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อให้นักเรียนเปลี่ยนวิธีคิดว่าความสำเร็จเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความพยายามของเรา

แม้จะเป็นความท้าทายอย่างมากในการจัดระบบการศึกษาที่มีคุณภาพควบคู่กับการจัดสรรโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม แต่จากเท่าที่ผมดูในข้อมูลวันนี้ หลายประเทศสามารถทำได้

 

ฟินแลนด์เผยสังคมเชื่อมั่นครู

ที่มาภาพ : unsplash-CDC

วันเดียวกัน นักการศึกษาจากทั่วโลก ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นผ่านหัวข้อ“ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง เราจะเปลี่ยนการศึกษาเพื่อความเสมอภาคให้เด็กทุกคนได้อย่างไร ” เริ่มจากสองนักการศึกษาจากฟินแลนด์ เมืองต้นแบบแห่งการเรียนรู้  Marjo Vesalainen  และ  Sanna Vahtivuori-Hanninen

Marjo Vesalainen กล่าวว่า อาชีพครูในประเทศฟินแลนด์เป็นอาชีพในสาขางานวิชาการ และปริญญาครูจึงเป็นเป็นปริญญาที่ดึงดูดนักเรียนที่มีความสามารถเก่งให้มาเรียนในสาขานี้ เราจึงสามารถเลือกนักเรียนที่ดีที่สุดมาเป็นครูได้

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยที่ทำการสอนคุณครูในประเทศฟินแลนด์มีประสิทธิภาพในการสอนอย่างมากจึงทำให้เราได้บุคลากรด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพในการสอนเด็กมาก

“เราไม่มีการสอบในการศึกษาภาคบังคับ เราไม่มีการเข้าไปตรวจสอบโรงเรียนไม่ว่าจะในระดับไหนก็ตาม นี่เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อครูและความสามารถของครูในการตัดสินใจพัฒนางานของตนเองและวัดผลนักเรียนของตน”

Marjo Vesalainen กล่าวต่อไปว่า  ครูในประเทศฟินแลนด์ จึงมีอิสรภาพมากและเป็นอาชีพที่ได้รับความเคารพและเชื่อถือในสังคม  การเปลี่ยนอาชีพจากครูไปทำอาชีพอื่นเราจึงค่อนข้างเห็นได้น้อย พูดได้ว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่ popular ในประเทศของเรา

เธอ เล่าว่า ครูในประเทศเราใช้เวลาทั้งหมดไปที่การเรียนการสอน คุณครูของเราจะได้ทำงานเอกสารที่น้อยและต่ำที่สุดในประเทศ oecd ดังนั้นคุณครูจึงมีเวลาที่จะออกแบบกระบวนการการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยในประเทศฟินแลนด์ก็มีอิสรภาพในการออกแบบหลักสูตรของตน อย่างมาก ดังนั้นแม้ว่าหลักสูตรครูในแต่ละมหาวิทยาลัยจะต่างกันแต่ก็มีแนวคิดที่อยู่ในกรอบเดียวกันที่มุ่งหวังเรื่องความสำเร็จและความสุขในการเรียนของเด็กเป็นหลัก

“คุณครูของประเทศเรามีความเป็นมือโปรและพัฒนาความสามารถตลอดชีวิตการทำงาน การพัฒนา อาชีพของครูจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรม และเนื่องจากการปฏิรูปการศึกษาเป็นการเป็นความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ท้องถิ่นและโรงเรียนจึงมีอิสรภาพอย่างมากในการจัดการศึกษารวมทั้งตัดสินใจในเรื่องการจัดการคุณภาพของการเรียนการสอนในท้องถิ่นของตนเองได้”  นักการศึกษาจากฟินแลนด์ กล่าว

ที่มาภาพ : unsplash-Science in HD

ด้าน Sanna Vahtivuori-Hanninen กล่าวว่า ประเทศฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการศึกษา จึงเริ่มต้นสนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพของครู ผู้ซึ่งต้องมาถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะให้กับนักเรียน อาชีพครูในฟินแลนด์เป็นอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝันและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่การเป็นครูในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยอมรับว่ามีความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ครูจึงไม่สามารถหยุดเรียนรู้หรือพัฒนาตัวเองได้

ปัจจุบันฟินแลนด์ได้ปฏิรูปการศึกษาโดยได้รับความร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยเน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาของครูและการเป็นครูที่มีคุณภาพ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความตระหนักว่า นอกจากจะพัฒนาครูให้มีประสิทธิภาพแล้ว ครูจำเป็นต้องพร้อมรับมือกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่มีพื้นฐานและความสามารถแตกต่างกัน

ขณะเดียวกันรัฐบาลฟินแลนด์ได้เดินหน้าจัดทำโครงการ The Right to Learn เพื่อเสริมสร้างคุณภาพและความเท่าเทียมทางการศึกษาให้กับเด็กทุกคนหลังได้รับผลกระทบจากโควิด19 โดยมุ่งเน้นพัฒนาเด็กให้สามารถเรียนรู้ได้ตรงกับความถนัดที่แต่ละคนมี จัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นนำไปสนับสนุนโรงเรียนในช่วงที่ยังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด19 รวมถึงจัดการศึกษาพิเศษให้กับเด็กที่มีความต้องการเฉพาะอีกด้วย

 

ฟิลิปปินส์นำความรู้เข้าสู่ชุมชน

ที่มาภาพ : facebook-TulaKaalaman

ขณะที่ Sadat B. Minandang ครูรางวัลเจ้าฟ้ามหาจักรีปี 2019 จากประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า TulaKaalaman เป็นโครงการที่ผมเริ่มขึ้นเองในปี 2017 เพื่อส่งเสริมการศึกษาที่เท่าเทียม โดยนำความรู้จากโรงเรียน เข้าสู่ชุมชน เพื่อช่วยให้เด็กที่ไร้โอกาสโดยเฉพาะเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาและเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะต้องออกจากโรงเรียนเข้าถึงการศึกษา ในช่วงแรกของโครงการเราทำแบบเล็กๆ เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่มีโครงการแบบนี้เกิดขึ้น  ผมต้องจ่ายเงินเองทุกอย่าง แต่หลังจากที่โครงการเริ่มต้นไปได้ระยะหนึ่งแล้วก็ได้รับเสียงตอบรับจากชุมชนดีมากทำให้เราขยายโครงการได้ใหญ่ขึ้นโดยได้รับความช่วยเหลือจากทางโรงเรียนหน่วยงานราชการ และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ

ความท้าทายอย่างหนึ่ง ในการดำเนินโครงการเช่นนี้คือเรามีเวลาและทรัพยากรที่จำกัด แต่สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าโครงการนี้เป็นโอกาสที่ทำให้เด็กและครอบครัวได้เห็นความงดงามและความสำคัญของการศึกษา เพราะ การศึกษาเป็น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน หนึ่งในความสำเร็จของโครงการนี้คือ เมื่อตอนที่ผมเริ่มโครงการเด็กที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดอยู่นอกระบบโรงเรียน แต่ปัจจุบันเด็กเหล่านี้ได้เข้ามาเรียนเป็นประจำและเป็นนักเรียน ในระบบซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความสนับสนุนจากทุกภาคส่วน

ส่วน Chua-Lim Yen Ching  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้เชี่ยวชาญและอำนวยการบริหารของสถาบันครูแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวด้วยการยกตัวอย่างโรงเรียน NorthLight School ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กที่มีปัญหาการเรียนในระบบปกติ การเรียนการสอนจึงมีความแตกต่างและยากกว่าโรงเรียนทั่วไป ช่วงที่จัดตั้งโรงเรียน เราแจ้งกระทรวงศึกษาธิการว่าไม่ต้องส่งครูมาประจำที่โรงเรียน แต่จะให้ครูเป็นคนเดินเข้ามาสมัครเอง การเลือกครูเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แค่ครูที่มีความรักต่ออาชีพและมีคุณภาพเท่านั้น แต่ต้องเป็นครูที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ด้วย เรามองว่าหากมีคุณสมบัติตามที่กล่าวมาจะทำให้นักเรียนสนุก มีความสุขและมาสนใจกับการเรียน นั่นคือเป้าหมายของการมีโรงเรียนแห่งนี้

การทำงานของเราจึงตั้งอยู่บนหลักคิดที่ว่า เวลาที่ต้องการจะพัฒนาสิ่งใด จะหันกลับมาดูทรัพยากรที่มีอยู่และจะจัดสรรทรัพยากรตรงกับความต้องการจริง เด็กแต่ละคนจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค โดยเด็กทุกคนต้องได้รับการพัฒนาตามศักยภาพของตนสูงสุด ขณะเดียวกันเป้าหมายของโรงเรียน ไม่ได้มีไว้เพื่อเด็กเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นสถานที่ที่ให้ทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้และมีความสุขกับการเข้ามาทำงาน นำไปสู่การพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง