ธนาคารโลกกระตุ้นรัฐบาลทั่วโลกอย่าละเลยการศึกษาในช่วง COVID-19 ระบาด

ธนาคารโลกกระตุ้นรัฐบาลทั่วโลกอย่าละเลยการศึกษาในช่วง COVID-19 ระบาด

ธนาคารโลก (World Bank) ออกโรงกระตุ้นรัฐบาลนานาประเทศทั่วโลก ให้หันมาใส่ใจกับการศึกษา ในระหว่างที่กำลังจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19  เนื่องจากการปิดโรงเรียน มีแนวโน้มสร้างความเสียหายอย่างมากไม่แพ้ความเสียหายทางเศรษฐกิจ

คำเตือนครั้งนี้ มีขึ้นหลังธนาคารโลกได้จัดทำรายงานคาดการณ์ความเป็นไปได้ของสถานการณ์ความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่อแวดวงการศึกษาโลก ในช่วงที่โรงเรียนต้องปิดตัวตามมาตรการล็อคดาวน์เพื่อสกัดกั้นการระบาดของไวรัส COVID-19  

รายงานระบุว่า แม้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจะเป็นกลยุทธ์จำเป็นที่จะต้องลดการระบาดของไวรัส COVID-19  แต่การปิดโรงเรียน ที่ทำให้เด็กนักเรียนราว 1,500 ล้านคนใน 175 ประเทศทั่วโลกไม่สามารถไปเรียนได้ ทำให้หลายฝ่ายต่างมีความวิตกมากขึ้นถึงผลกระทบในระยะยาวต่อการเรียนรู้ของเด็ก 

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลกมองว่า โลกในขณะนี้ได้ก้าวเข้าสู่วิกฤติทางการศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้ธนาคารโลก ได้จัดทำรายงานการศึกษาถึงผลกระทบดังกล่าวต่อ Learning curve หรือ ‘เส้นโค้งแห่งความรู้’ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวจะช่วยให้หน่วยงานด้านการศึกษาทั่วโลกสามารถมองเห็นปัญหาและมุ่งเน้นความสนใจไปที่เด็กกลุ่มเสี่ยงทั้งหลาย รวมถึงช่วยสรรหาแนวทางกลยุทธ์ หรือมาตรการที่จะมาบรรเทาความเสียหายและเป็นประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนมากที่สุด

สำหรับ Learning curve หรือ ‘เส้นโค้งแห่งความรู้’ คือ อัตราความก้าวหน้า หรือความเร็ว-ความช้าในการเรียนรู้ทักษะใหม่อย่างใดอย่างหนึ่งของเด็กนักเรียน ซึ่งเส้นโค้งแห่งความรู้นี้เป็นค่าดัชนีที่สร้างมาจากตัวชี้วัดสำคัญๆ ที่หน่วยงานด้านการศึกษาทั่วโลกนำมาใช้ประเมินความก้าวหน้าของผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็น National Assessment of Educational Progress – NAEP, Programme for International Student Assessment – PISA, Trends in International Mathematics and Science Study – TIMSS, และ Progress in International Reading Literacy Study – PIRLS

อย่างไรก็ตาม แม้ค่าเฉลี่ยของเส้นโค้งแห่งความรู้เหล่านี้จะนำไปใช้ในการเปรียบเทียบจัดอันดับการศึกษาของประเทศต่างๆ แต่ผลลัพธ์ของเส้นโค้งแห่งความรู้ ยังสามารถใช้บ่งชี้ถึงสถานการณ์ทางการศึกษาของแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี เช่น ความกว้างของเส้นโค้งจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเหลื่อมล้ำของระบบทางการศึกษา และลักษณะของเส้นโค้งยังสามารถนำไปจัดอันดับความก้าวหน้าของเด็กนักเรียนตามระดับความสามารถหรือสมรรถนะของผู้เรียน (โดยเป็นเส้นโค้งที่มีระดับคะแนนค่าเฉลี่ยที่ 500 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ 100) 

 

 

ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักการศึกษาทั่วโลกได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการทำให้เส้นโค้งแห่งความรู้สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้มากขึ้น โดยเฉพาะทำให้เห็นว่าระดับผลสัมฤทธิ์ที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานคือเท่าไหร่ (ซึ่งในกราฟเส้นโค้งตามภาพ เด็กคนใดที่อยู่ทำคะแนนต่ำกว่าระดับขั้นต่ำ จะจัดอยู๋ในพื้นที่สีเทาหลังเส้นแดง) โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ทางธนาคารโลก ตัดสินใจที่จะให้ความสำคัญกับปัญหา “สมรรถนะที่ต่ำ” ทางการศึกษา หรือนักเรียนที่มีระดับความสามารถต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ซึ่งเทียบได้กับเด็กที่ยังไม่สามารถอ่านหรือเข้าใจหนังสือเรียนระดับพื้นฐานได้ภายในวัย 10 ขวบ

ธนาคารโลกระบุว่า กลุ่มเด็กเหล่านี้ เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เรียนหนังสืออย่างเพียงพอและดีพอในช่วงปฐมวัย มักจะเป็นผู้ที่ต้องประสบความล้มเหลวมากที่สุดหากขยับขึ้นไปศึกษาต่อในระดับสูงหรือเมื่อต้องเข้าสู่โลกของการทำงานต่อไป

 

แผนภาพที่ 1 – สถานการณ์ความเป็นไปได้ 3 แบบ ที่เส้นโค้งแห่งความรู้จะเป็นไปในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า คือ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (a lower average), มีการเบี่ยงเบนจากค่ามาตรฐานมาก (a higher standard deviation) และ มีการเพิ่มขึ้นของกลุ่มอ่อนด้อยในระดับล่างสุด (a sharp increase in low learning at the bottom)

 

ทั้งนี้ ในรายงานที่ธนาคารโลกกำลังจัดทำอยู่นี้ ได้ประเมินถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ในแวดวงการศึกษาในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าออกมาเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน โดยแต่ละลักษณะของเส้นโค้งแห่งความรู้ เป็นผลจากการปิดโรงเรียนเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19  ซึ่งอาจจะส่งผลออกมาได้เป็นสามลักษณะ ดังนี้

สำหรับเส้นโค้งแห่งความรู้แบบแรก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ตรงไปตรงมาที่สุด โดยมีสาเหตุมาจากการลดลงของเวลาในการเรียนและช่องทางการเรียนที่โรงเรียน (เส้นโค้งสีฟ้า) ซึ่งเป็นสถานการณ์เลวร้ายขีดสุดที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ โรงเรียนทั้งหลายพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะจัดการเรียนการสอนทางไกล การลดลงของเวลาและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการเรียนมีผลอย่างมากต่อจำนวนเด็กนักเรียน ยืนยันได้จาก ช่วงวิกฤติการณ์ก่อนหน้านี้ อย่างเช่น วิกฤตการเงินในปี 2008-2009 ที่จำนวนผู้เรียน โดยเฉพาะในเขตที่มีเด็กยากจนหรือเด็กด้อยโอกาสอาศัยอยู่มาก ลดลงจนน่าใจหาย ขณะเดียวกัน ก็มีหลักฐานบ่งชี้ว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติ อย่าง น้ำท่วม ก็ส่งผลกระทบต่อผลการเรียนของเด็กในทุกระดับชั้นเช่นกัน โดยเด็กที่ไม่อยู่ในโรงเรียนจะเรียนได้น้อย แม้จะแสดงให้เห็นความตั้งใจเข้าร่วมห้องเรียนทางไกลอย่างสม่ำเสมอแล้วก็ตาม 

ในส่วนของสถานกาณ์ที่สอง ก็คือพิจารณาว่า เส้นโค้งแห่งความรู้จะแบนราบหรือเบี่ยงเบนไปมากแค่ไหนจากผลกระทบของวิกฤติไวรัส COVID-19 ที่เด็กได้รับไม่เท่ากัน (เส้นโค้งสีม่วง) กล่าวคือ เด็กนักเรียนที่อยู่ในระดับหัวกะทิจะยังคงก้าวหน้าไปได้ ขณะที่เด็กนักเรียนที่เรียนแย่ก็จะแย่ถอยหลังมากขึ้นไปอีก โดยแม้เชื้อไวรัส COVID-19  ส่งผลไปถึงเด็กในทุกกลุ่มฐานะ แต่เด็กที่มีสถานะทางบ้านที่ดีกว่า จะสามารถบรรเทาผลกระทบจากการปิดโรงเรียนได้ดีกว่าเพื่อนร่วมชั้นที่ยากจน เพราะครอบครัวที่มั่งคั่ง มีบ้านที่อาศัยอยู่ได้สะดวกสบาย มีการเชื่อมต่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างดี สามารถจ้างครูพิเศษส่วนตัวได้ และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเรียนจากบ้านเพราะพ่อแม่มีการศึกษามากกว่า 

ทั้งหมดข้างต้น ล้วนตรงกันข้ามกับเด็กที่มีสถานะครอบครัวยากจน โดยเฉพาะ กลุ่มที่ยากจนในระดับแร้นแค้น ต้องอาศัยอยู่ในเพิงพัก ไม่มีไฟฟ้าน้ำประปาเข้าถึง ไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและสิ่งทันสมัย ปราศจากเทคโนโลยีในการเข้าถึงเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ไม่มีปัญญาจ้างครูพิเศษ และไม่สะดวกที่จะทำการบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมายจากที่บ้าน 

ธนาคารโลกระบุว่า ในสถานการณ์ที่ไวรัส COVID-19  ส่งผลกระทบกระเทือนต่อรายได้ และทำให้คนจนเหล่านี้ยิ่งจนลงเพราะขาดโอกาสในการทำงานหรือต้องตกงาน ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่เด็กที่เรียนดีมีฐานะจะยังสามารถเรียนรุดหน้าไปได้ ขณะที่เด็กยากจนกลับจะเรียนถอยหลังลง เกิดเป็นช่องว่างของความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา 

ด้านสถานการณ์ที่สาม คือ การพิจารณาว่าเส้นโค้งแห่งความรู้จะเปลี่ยนแปลงไปเพราะจำนวนเด็กนักเรียนที่ต้องหลุดออกจากโรงเรียน (เป็นกลุ่มประชากรสีเขียวที่เลิกเรียนถาวรแล้ว) โดยธนาคารโลกกล่าวว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิกฤตการณ์ต่างๆ ครั้งก่อน เช่น วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997-1998 และวิกฤตการระบาดของโรคโปลิโอในปี 1916 ก็คือ จำนวนการกลับมาสมัครเข้าเรียนของเด็กนักเรียนจะลดลงอย่างมากจนน่าตกใจ เนื่องจากเป็นผลกระทบตามระบบอุปสงค์อุปทาน

ทั้งนี้ ในส่วนของอุปทาน (Demand) หรือความต้องการเรียนจะลดลง อันเป็นผลมาจากรายได้ที่หดหายทำให้ครอบครัวจำเป็นต้องให้ลูกหลานเข้ามาช่วยทำงานหาเงินจุนเจือทางบ้าน เด็กจึงต้องเลิกเรียนไปโดยปริยาย และ เด็กผู้หญิง เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะมักจะเป็นกลุ่มแรกที่ต้องเลิกเรียนไป ขณะที่ในด้านของอุปสงค์ (Supply) ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า วิกฤตไวรัส COVID-19  อาจจะให้โรงเรียนหลายแห่งต้องปิดตัวลง เนื่องจากไวรัส COVID-19 ทำให้รัฐบาลขาดสภาพคล่องอย่างหนัก กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องตัดลดค่าใช้จ่ายด้วยการสั่งพักงานคุณครู ลดหรือควบรวมโรงเรียน และแม้หลายประเทศจะมีโครงการอุดหนุนค่าเล่าเรียนของโรงเรียนเอกชน แต่ธนาคารโลกก็ไม่แน่ใจว่า โครงการเหล่านี้จะสามารถรอดพ้นจากวิกฤตที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งก็อาจจะทำให้โรงเรียนเอกชนต้องปิดตัวลงไปเช่นกัน

แม้เราอาจต้องอาศัยเวลากว่าที่จะได้รู้อย่างชัดเจนว่า วิกฤติไวรัส COVID-19 จะมีผลกระทบต่อการศึกษาอย่างไร รูปแบบไหน กระนั้น ในระหว่างนี้ ธนาคารโลกระบุว่า เราคงไม่สามารถทำได้เพียงแค่รอดูสถานการณ์อยู่เฉยๆ  ได้ ดังนั้น ธนาคารโลกจะพยายามนำฐานข้อมูลที่มีมาใช้วิเคราะห์และสร้างแบบจำลองคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพื่อที่จะแสดงให้ประเทศต่างๆ เห็นว่า การศึกษาจะเลวร้ายลงอย่างไร หากเราไม่มีการลงมือทำอะไรเลย และรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะวางมาตรการด้านการศึกษาอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้น 

 

ที่มา :

Syedah Aroob Iqbal ที่ปรึกษา ฝ่ายปฏิบัติการการศึกษาโลก ธนาคารโลก
Joao Pedro Azevedo นักเศรษฐศาสตร์หัวหน้าโครงการ ธนาคารโลก
Koen Geven นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก
Amer Hasan นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ฝ่ายปฏิการการศึกษาโลก ธนาคารโลก
Harry A. Patrinos ผู้จัดการฝ่ายการศึกษา ธนาคารโลก

ข่าว : We should avoid flattening the curve in education – Possible scenarios for learning loss during the school lockdowns