ส่องแนวทางเจียระไน”ครูรัก(ษ์)ถิ่น” จาก‘เด็กม้งยากไร้’ สู่ ‘ครูดอยหัวใจนักพัฒนา’

ส่องแนวทางเจียระไน”ครูรัก(ษ์)ถิ่น” จาก‘เด็กม้งยากไร้’ สู่ ‘ครูดอยหัวใจนักพัฒนา’

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กสศ. ไม่ได้ผลิตครูให้กลับมาเป็นครูในโรงเรียนอย่างเดียว แต่ต้องการให้กลับมาเป็นครูของชุมชน ดังนั้นการมีส่วนร่วมของชุมชนจึงมีความสำคัญ เพราะหากชุมชนอยากปั้นเด็กให้เป็นอย่างไร ชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านการทำงานกับสถาบันผลิตและพัฒนาครูได้ทุกขั้นตอน นับเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาครูรุ่นใหม่” ผศ.ดร.พิศมัย รัตนโรจน์สกุล ผู้จัดการโครงการฯ
กล่าวถึงเป้าหมายการผลิตครูที่เป็นหัวใจสำคัญของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

พื้นที่ อ.พบพระ จ.ตาก ขึ้นชื่อว่าเป็นถิ่นทุรกันดารมีปัญหาขาดแคลนครูที่มีหัวใจรักบ้านเกิด ครูที่เป็นคนต่างถิ่น เมื่อเข้ามาบรรจุโรงเรียนในพื้นที่ ก็จะโยกย้ายอยู่เป็นประจำ เพราะเป็นพื้นที่ชายแดน การเดินทางยากลำบาก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นหุบเขาสูง ห่างไกลความเจริญ จึงทำให้ไม่มีครูคนใดอยากมาเป็น “ครูดอย” เพราะครูไม่ใช่คนในท้องถิ่น จึงไม่มีใจรักและผูกพันกับเด็กในพื้นที่ที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กชนเผ่า “ม้ง” มีฐานะยากจน และ ขาดโอกาสทางการศึกษา

โรงเรียนและชุมชน จึงต้องการครูที่เป็นคนในพื้นที่จริงๆ เพราะ “ครูรุ่นใหม่” ไม่ใช่แค่เป็นครูสอนหนังสือเด็กแค่ในชั้นเรียน แต่ครูที่ต้องเข้ามาช่วยพัฒนาโรงเรียน พัฒนาชุมชน และเข้าใจวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชนเผ่าม้ง เพื่อมาร่วมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กที่ยากไร้

ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร กับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ภายใต้โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน หรือ โครงการ “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” ได้ลงทำงานร่วมกันในพื้นที่ ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก โดยโรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เข้าไป “ค้นหา คัดกรอง คัดเลือก” นักเรียนที่กำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีฐานะยากจน แต่ต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และมีจิตใจต้องการเป็นครูในชุมชนของตนเอง

สำหรับกระบวนการ “ค้นหา คัดกรอง คัดเลือก” เด็กที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่จะได้รับทุนจาก กสศ. นั้น จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง “มหาวิทยาลัย” “โรงเรียน” และ “ผู้นำชุมชน” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ในการผลิตครูตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือโรงเรียนที่เด็กจะกลับมาบรรจุ และชุมชนที่เป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของเด็ก และมหาวิทยาลัยซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บ่มเพาะความเป็นครูให้กับเด็ก

ส่วนเด็กนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือก จะได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชน เพื่อให้เด็กสามารถกลับสู่ชุมชนและกลับมาทำงานร่วมกับโรงเรียนและชุมชนได้ตลอดเวลาที่ศึกษาอยู่ อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังสามารถติดตามดูแลเด็ก และทำงานร่วมกับทั้งโรงเรียนและชุมชนไปพร้อมๆ กันได้ด้วย เมื่อเด็กเรียนจบแล้ว จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูเพื่อกลับมาเป็นครูนักพัฒนาท้องถิ่นในชุมชนของตนเอง ถือเป็นมิติใหม่ในการให้ทุนการศึกษาและผลิตครูรุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
และการโยกย้ายของครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล

ในการคัดเลือกหาเด็กยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์ และ เป็นเด็กที่มีจิตใจรักวิชาชีพครู และรักบ้านเกิด นั้นนับเป็นภารกิจสำคัญของโรงเรียในชุมชน นายศักดิ์ดนัย พฤกษ์เจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 ในฐานะโรงเรียนในอนาคตที่เด็กจะมาบรรจุเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่น จึงต้องพิถีพิถันในการค้นหา “ช้างเผือก” เชือกงามทั้งกายและใจมาเป็นครู

ผอ.ศักดิ์ดนัย ได้เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนเปิดโอกาสทางการศึกษาให้เด็กๆ ในพื้นที่มาโดยตลอด เพราะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนห่างไกล เด็กส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าม้ง และมีฐานะยากจน ซึ่งตั้งแต่ร่วมโครงการกับ กสศ. ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่การวางแผน และประสานงานโดยมอบหมาย “ครูแนะแนว” ของโรงเรียนไปให้ความรู้แก่เด็กในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีฐานะยากจนและมีใจอยากเป็นครูให้มาสมัครกันเยอะๆ เพราะนี่คือโอกาสที่ดีทางการศึกษาสำหรับเด็กชายขอบ

ในการคัดเลือกเด็ก ผอ.ศักดิ์ดนัย กล่าวอย่างมั่นใจว่า ทางโรงเรียนมีข้อมูลเบื้องต้นที่จะทราบว่าเด็กคนใด จน หรือ ไม่จนจริง เพราะทุกปีทางครูประจำชั้นจะลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านเด็กอยู่บ่อยครั้ง จึงทราบว่าครอบครัวใดมีฐานะยากจนและขาดโอกาสทางการศึกษาจริงๆ ขณะเดียวกันโรงเรียนเปิดโอกาสให้เด็กได้จัด “กิจกรรมเพื่อสังคม” เช่น โครงการ “พี่ให้น้อง” เป็นกิจกรรมที่เด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมตัวกันเองทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม เช่น รับบริจาคเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ขนม และอาหาร ไปแจกเด็กๆ ในชุมชนที่มีฐานะยากจน หรือ โครงการ “ค่ายสานฝันพี่สู่น้อง” เป็นโครงการที่ศิษย์เก่าของโรงเรียนที่เรียนจบออกไปแล้ว ได้ดิบได้ดีแล้วกลับมาจัดกิจกรรมจิตอาสาร่วมกับรุ่นน้องที่ยังเรียนอยู่ในโรงเรียน

ดังนั้น ในกลุ่มเด็กที่เข้ามาสมัครโครงการครูรัก(ษ์) ถิ่น ครูจึงทราบว่าเด็กคนใดมาร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม และมีจิตใจชอบช่วยเหลือเพื่อนๆพี่ๆน้องๆในโรงเรียนบ้าง

สิ่งที่ทางโรงเรียนคาดหวัง คือ อยากเห็นเด็กที่เข้าร่วมโครงการ เรียนจบออกมาแล้วกลับมาเป็นครูที่ดีของโรงเรียน และกลับมาพัฒนาชุมชนของตัวเอง ในนขณะที่เด็กอยู่ที่มหาวิทยาลัย ก็อยากให้จัดกิจกรรมดีๆ ที่ปลุกจิตสำนึกสาธารณะแก่เด็กระหว่างอยู่ในมหาวิทยาลัย สำหรับ กสศ. ก็อยากให้มีโครงการดีๆ แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะยังมีเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาในพื้นที่ชายขอบแบบนี้อีกมาก” นายศักดิ์ดนัย กล่าว

ปัจจุบันมี “เด็กกลุ่มเป้าหมาย” จำนวนหนึ่งที่ยื่นใบสมัครขอรับทุน มาทางมหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร ทีมอาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร จึงได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจฐานะและสภาพความเป็นอยู่จริงของเด็กนักเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ พร้อมกับสัมภาษณ์พ่อแม่หรือผู้ปกครองของนักเรียน เพื่อให้ทราบข้อมูลเชิงลึกในพื้นที่ ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ รวมถึงสัมภาษณ์เด็กนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อให้รับทราบถึงความคิดและทัศนคติ ว่าหากได้รับคัดเลือกแล้ว จะกลับมาพัฒนาโรงเรียน ชุมชน และสืบสานวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของชนเผ่า “ม้ง” ให้ดำรงอยู่สืบไปได้อย่างไร

หลังจากได้ “ช้างเผือก” เชือกงามตามที่ กสศ. โรงเรียน และ มหาวิทยาลัยราภัฎกำแพงเพชร ต้องการ มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชรจะพาเด็กเข้าสู่กระบวนการปฐมนิเทศและเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.ศิริโสภา แสนบุญเวช หัวหน้าทีม ค้นหา คัดกรอง ที่โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 ได้ให้ข้อมูลว่า เด็กที่ได้รับทุนในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น นี้ ต้องผ่านกระบวนการบ่มเพาะวิชาชีพ และอุดมการณ์ความเป็นครูนักพัฒนา รวมถึงเสริมวิชาพื้นฐานทั่วไปโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และ เทคโนโลยี เพราะด้วยฐานะยากจนเข้าไม่ถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จึงขาดทักษะดิจิทัลและภาษาอังกฤษ และในระหว่างเรียน ทางมหาวิทยาลัยจะเสริมกิจกรรมทางสังคมผ่าน “ชมรมชนเผ่า” ที่จะรวมความหลากหลายของชนเผ่าในพื้นที่มารวมกัน เช่น ปกาเกอะญอ มูเซอ กระเหรี่ยง และ ม้ง เพื่อเป็นเวทีให้เด็กเหล่านี้ได้แสดงอัตลักษณ์และไม่หลงลืมรากเหง้าของชนเผ่าตัวเอง

เมื่อเด็กห่างไกลบ้านเข้ามาอยู่ในสถานที่ใหม่อาจจถูกวัฒนธรรมใหม่กลืน จนลืมวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเอง พอเรียนจบออกมาอาจจะไม่กลับไปเป็นครูในชุมชนตัวเองก็เป็นได้ ดังนั้นการปลูกจิตสำนึกด้านวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ” ผศ.ดร.ศิริโสภา กล่าว

นับว่ากิจกรรม “ชมรมชนเผ่า” ของมหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร ตรงกับความต้องการของชุมชน ชานน โชติคัดนานต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คีรีราษฎร์ ในฐานะเป็นผู้นำที่มีสายเลือดความเป็น “ชนเผ่าม้ง” ที่เข้มข้น เห็นด้วยกับแนวทางการบ่มเพาะของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของกสศ. เพราะทางชุมชนต้องการครูนักพัฒนาที่มีใจรักและห่วงแหนวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยเฉพาะภาษา การแต่งกาย หรือประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมต้องสืบสานให้คงอยู่ไม่ถูกกลืนหายไป

“ชุมชนอยากให้มหาวิทยาลัยและ กสศ. ช่วยปลูกฝังจิตสำนึกความภาคภูมิใจในตัวตน เพราะเดี๋ยวนี้เด็กๆ พอไปเรียนหรืออยู่ที่อื่นไม่กล้ายอมรับว่าตัวเองเป็นม้ง เพราะอายที่พูดไทยไม่ชัดซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่จะเป็นสิ่งน่าอายหากเราลืมรากเหง้าตัวเองว่าเรา คือใครต่างหาก” นายกฯอบต. กล่าวด้วยความคาดหวัง

ทั้งหมดคือแนวทางในการเจียระไน “เด็กยากไร้” ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ให้กลับมาเป็นครูนักพัฒนาบ้านเกิด ไม่ละทิ้งถิ่นฐานไปเป็นแรงงานรับจ้างต่างถิ่น สุดท้ายถูกความเจริญจอมปลอมกลืนกินทั้งร่างกาย และจิตวิญญาณ โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จึงเป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่สั่งสมมายาวนานในสังคมไทยให้เบาบางลง และยังเป็นมิติใหม่ทางการศึกษาในการผลิตครูรุ่นใหม่ เพื่อตอบโจทย์ชุมชน สังคม และ ประเทศชาติอย่างแท้จริง