ปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิรูปมโนทัศน์ เรียนจากชีวิต เลิกแยกส่วนท่องจำ

ปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิรูปมโนทัศน์ เรียนจากชีวิต เลิกแยกส่วนท่องจำ

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง  “ชีวิตกำพล วัชรพล ชี้ทิศทางอนาคตประเทศไทย” ในงาน  “๑๐๐ ปี ชาตกาล กำพล วัชรพล”  ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยระบุว่า ความพยายามปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จเพราะเป็นการปฏิรูปองค์กร ไม่ปฏิรูปมโนทัศน์ (Concept) โดยจะเห็นว่าการศึกษาไทยในรอบร้อยปีที่ผ่านมาใช้มโนทัศน์ที่ผิดจนทำให้ประเทศไทยอ่อนแอ

“คอนเซปต์ที่ใช้ในการศึกษาไทยมาร้อยกว่าปีเน้นการท่องวิชา เอาวิชาเป็นตัวตั้งเรียนวิชาอะไร สอบวิชาอะไร เรียนจบได้ปริญญาวิชาอะไรเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เทียบกับการเรียนรู้ของคุณกำพลไม่เหมือนกันเพราะคุณกำพลเรียนรู้มาจากชีวิต และความเป็นจริงของชีวิตเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้จากการทำงาน ต่างจากคนอื่นที่เรียนจากตำราแต่คุณกำพลเอาสถานการณ์จริงเป็นตัวตั้ง” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ กล่าว

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ กล่าวว่า ตรงกับหลักการทางพระพุทธศาสนา ซึ่ง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เคยพูดไว้นานมาแล้วว่าการศึกษาไทยผิดเพราะแยกส่วน ชีวิตก็อย่างหนึ่ง วิชาก็อย่างหนึ่ง แต่หลักการทางพุทธศาสนาชีวิต การศึกษาเป็นตัวเดียวกัน ​และอะไรที่คิดแบบแยกส่วนจะนำไปสู่วิกฤติเสมอ ที่ผ่านมาการศึกษาไทยเน้นการท่องวิชา ไม่ได้เน้นความจริงของชีวิตและสังคม ทำให้รอบร้อยปีที่ผ่านมาหรือ 4-5 เจนเนอเรชั่นที่ผ่านมา​คนไทยทั้งประเทศรู้แต่วิชา ไม่รู้ความจริง

ทั้งนี้ ความจริงกับวิชาไม่เหมือนกัน คนที่จบการศึกษามาแบบรู้วิชา ไม่รู้ความจริงของชีวิต ทำอะไรก็ไม่ถูก มีตำแหน่งทางราชการก็ทำไม่ถูกเพราะไม่รู้ความจริง ซึ่งเสาอโศกมีข้อความจารึกเป็นภาษามคธแปลว่า ความจริงมีชัยเหนือทุกสิ่ง ซึ่งคนไทยเรียนไม่รู้ความจริงต่างจากคุณกำพล ที่เรียนจากชีวิตจริง รู้จักผู้คน ต้องพิมพ์หนังสือยังไง ตัดสินใจอะไร หรืออะไรขายได้ไม่ได้ ทำให้คุณกำพลเก่งเพราะเรียนรู้แบบไม่ท่องวิชา หากไปดูการศึกษาไทยแบบท่องวิชาสร้างความยากจนให้กับทุกฝ่าย ทั้ง คนเรียน ครู ผู้ปกครอง จนหมด แต่คุณกำพล เรียนรู้จากความจริงชีวิตทำให้หายจน

อย่างไรก็ตาม ​การเรียนมี 6 ระดับ เริ่มจาก 1.จำ คือ จำได้ 2.ใจ คือ เข้าใจ 3. ใช้  คือ  ทำเป็น 4. วิ คือ วิเคราะห์ 5. สัง คือ สังเคราะห์ และ 6. ประ คือ ประเมิน ซึ่งการศึกษาไทยอยู่ในขั้นที่ 1 คือ จำ แต่การศึกษาของคุณกำพลไปถึงระดับสูงสุดคือ ขั้นประเมินตัดสินใจ ​ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิรูปมโนธรรมเอาชีวิตสถานการณ์จริงเป็นตัวตั้ง โดยมีตัวอย่างจากคุณกำพลที่สะท้อนให้เห็นว่าเรียนแล้วเก่งอย่างไร ประสบความสำเร็จอย่างไร

ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า ในพระไตรปิฏกมีคำว่า “หงายของที่คว่ำ”​หรือ อุตตานีกโรติ การศึกษาไทยที่ผ่านมาเป็นแบบคว่ำถูกครอบไว้ มีแต่นักเรียน ครูใอยู่ในห้องท่องหนังสือไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ไม่รู้ความจริง  แต่หากหงายของที่คว่ำเปิดให้ไปเชื่อมโยงกับเรื่องต่างๆได้ ซึ่งการปฏิรูปหากไม่ปฏิรูปมโนทัศน์ก็จะไม่สำเร็จ หากไปปฏิรูปองค์กรก็จะนำไปสู่การทะเลาะกัน ดังนั้นต้องเรียนรู้จากชีวิต ซึ่งจะสามารถสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ประชาธิปไตย จิตใจ วัฒนธรรม

ทั้งนี้ จากกรณีของคุณกำพล ถือเป็นการเรียนรู้จากการทำงาน Work-based learning ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยภาคธุรกิจต้องข้ามามีบทบาทร่วมด้วย เพราะ10 ปากว่าไม่เท่าตาเห็น 10 ตาเห็นไม่เท่ามือคลำ เพราะภาคธุรกิจเริ่มบ่นว่าคนจากระบบการศึกษาทำงานไม่เป็น ไม่อดทน ไม่รับผิดชอบ ​เพราะเรียนมาโดยท่องหนังสือ ปัจจุบันเรามีสถานประกอบการ 3-4 แสนแห่ง แต่ละแห่งประสบความสำเร็จได้เพราะ อดทน รับผิดชอบ เหมาะกับการเป็นสถานฝึกอบรม ซึ่งเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยมีรายได้ไปด้วย เป็นวิธีของ Work-based learning

“ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องรีบทำเพราะ 73 % เสี่ยงตกงานเนื่องจากเริ่มมีการนำโรบอท เอไอ มาใช้ หลักสูตรการศึกษาปรับตัวไม่ทัน วิธีการแก้ไขคือทำ Work-based learning หากไม่ปรับตัวก็เจ๊ง” ​ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ กล่าว