จิตอาสา ‘ประกอบพิธีศพ’ ตอบแทนสังคม เด็กทุนนวัตกรรมสายอาชีพฯขอบคุณโอกาสใหม่

จิตอาสา ‘ประกอบพิธีศพ’ ตอบแทนสังคม เด็กทุนนวัตกรรมสายอาชีพฯขอบคุณโอกาสใหม่

บนข้อเท็จจริงของชีวิตอันขัดสนตั้งแต่ช่วงเรียน ปวช. ปี 2 ของเด็กคนหนึ่งที่กำลังเห็นทางบ้านมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นแต่รายรับยังเท่าเดิม จึงเป็นแรงเร้าตัดสินใจไปบอกพ่อว่าเพื่อขอหยุดเรียน และให้ส่งเสียพี่สาวให้เรียนจบก่อน แม้ทางครอบครัวจะปฏิเสธความต้องการของน้องว่าไม่เป็นไร เพราะอยากให้ลูกทุกคนได้เรียนหนังสือเท่ากัน นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กหนุ่อย่าง จีรวัฒน์ เกษร หรือ ‘จี’ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปวส.1 แผนกอิเล็กทรอนิกส์และเมคคาทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี ต้องจริงจังกับการทำงานพิเศษ เพราะอย่างน้อยยังได้เงินเล็กๆ น้อยๆ มาช่วยแบ่งเบาภาระพ่อลง

จีรวัฒน์ เล่าว่า ครอบครัวมีสมาชิก 8 คน คือพ่อ แม่ ปู่ ย่า ป้า ตัวเขา พี่สาว และหลานอีก 1 คน รายได้หลักมาจากพ่อเพียงคนเดียว เมื่อพี่สาวเข้ามหาวิทยาลัย พ่อต้องไปกู้เงินมาใช้เป็นค่าเทอมของเขากับพี่สาว และเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน นั่นทำให้ตัวเองตัดสินใจจะหยุดเรียนแล้วออกมาทำงานช่วยลดภาระทางบ้าน แต่พ่อของจีหยุดความคิดไว้ โดยบอกผมว่าตั้งใจเรียนให้ดี

จีรวัฒน์ ที่แต่เดิมมีงานพิเศษเป็นผู้ประกอบพิธีต่างๆ เช่น งานบวช งานแต่งงาน งานทำบุญจิปาถะ ไปจนกระทั่งงานศพ ก็ได้หันมามุ่งมั่นกับการรับงานมากขึ้น ด้วยคิดถึงรายได้เสริมที่จะมาช่วยให้พ่อเหนื่อยน้อยลง เพราะถึงแม้ว่างานบุญที่เขาเข้าไปช่วยจะมีเงินตอบแทนที่ไม่แน่นอน ถึงบางงานก็ไม่มีเลย แต่เงินจำนวนเล็กน้อยอันเป็นสินน้ำใจจากเจ้าภาพที่เขาจะได้รับมานั้น ก็ช่วยให้จีนำไปใช้จ่ายค่าเดินทาง ค่าอาหาร หรือแบ่งเบารายจ่ายของพ่อเมื่อต้องซื้อวัสดุอุปกรณ์ทำโครงงานที่วิทยาลัยได้

พ่อทำงานเป็นพิธีกรในงานประกอบพิธีมาตั้งแต่ผมยังเด็ก พวกงานบวช งานแต่งงาน แต่งานที่เห็นเขาทำบ่อยที่สุดจะเป็นพิธีเกี่ยวกับงานศพ ผมได้มีโอกาสติดตามพ่อไปช่วยงานเป็นประจำ แรก ๆ ก็แค่ไปวิ่งเล่นประสาเด็ก พอเริ่มโตขึ้น สัก ป.4 อายุราว 10 ขวบ ก็เริ่มช่วยงานจัดโต๊ะ จัดดอกไม้หน้าหีบศพ เตรียมสถานที่ในการทอดผ้าบังสุกุล แต่แรกก็ยังไม่ได้เข้าไปยุ่งอะไรกับศพ แต่พอผมรู้งานมากขึ้น ก็มีคุณปู่ที่รู้จักกันซึ่งเขาทำงานตรงนั้นอยู่แล้วเขาก็เริ่มให้เราไปช่วยงานเป็นลูกมือ ช่วยจัดดอกไม้จันทน์ ช่วยใส่ถ่านในเมรุตอนเผาศพ แล้วพอเริ่มชำนาญ จากเป็นลูกมือของปู่ ผมก็ได้เป็นคนทำพิธีเต็มตัว จนปีนี้อายุ 19 เกือบครบ 10 ปีแล้วที่ทำมา จีรวัฒน์ เล่าประสบการณ์

จีรวัฒน์ เผยว่า ปัจจุบันเป็นพิธีกรงานแต่งงาน พิธีกรงานบวช งานบุญต่างๆ งานขึ้นบ้านใหม่ งานทำบุญกระดูก และพิธีกรงานศพ รวมถึงเป็นเจ้าหน้าที่เมรุซึ่งต้องจัดเตรียมพิธีกรรมในงานศพทุกขั้นตอน งานเหล่านี้มีให้ทำทุกสัปดาห์ หรือบางครั้งก็หลายวันต่อสัปดาห์ เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระของพ่อ จึงรับงานจากหลายวัด

“เป็นงานที่ทำแล้วสบายใจครับ อาจเพราะว่าผมใกล้ชิดกับพิธีการต่างๆ ตั้งแต่ยังเด็กมาก เราเห็นมาตลอดว่าการทำพิธีกับศพต้องทำยังไง ไม่ว่าจะผูกผ้า นำศพลงหีบ หรือลำดับขั้นตอนต่างๆ ในการเผาศพ เหมือนว่าเป็นความเคยชินไปแล้ว งานจัดการหน้าเมรุเป็นงานที่ผมทำคนเดียวมาตลอด บางครั้งที่มีเผาศพหลายๆ วัดพร้อมกัน ตี 4-ตี 5 ผมก็ต้องตระเวนไป 2-3 เมรุคนเดียวเพื่อเก็บกระดูกทีละวัดๆ”

ส่วนเรื่องค่าตอบแทนที่ได้รับกลับมานั้น จีรวัฒน์ ระบุว่า เป็นวิถีปฏิบัติว่าผู้ประกอบพิธีจะไม่เรียกร้องค่าตอบแทนจากเจ้าภาพ รายได้ที่ได้รับจากงานประกอบพิธีแต่ละครั้งจึงไม่แน่นอน บางงานได้มาก บางงานได้น้อย หรือบางงานที่เจ้าภาพไม่มีทุนทรัพย์เขาก็ไม่ได้ให้ แต่เงินในส่วนนี้ก็พอช่วยให้เขาสามารถแบ่งเบาภาระของพ่อได้บ้างในช่วงเรียน ปวช. ขณะที่เมื่อขึ้นชั้น ปวส. ค่าใช้จ่ายในครอบครัวก็เพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่การได้เข้ามาเป็นนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 ของ กสศ. ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงทำงานประกอบพิธีที่เขาบอกว่าเป็นการทำเพื่อจิตอาสา ‘ตอบแทนสังคม’ ต่อไป

ในขณะที่ยังเรียน ปวช. งานตรงนี้ช่วยให้จีรวัฒน์พอมีเงินใช้จ่ายส่วนตัว ทั้งค่ากิน ค่าเดินทาง ค่าทำโครงงานที่วิทยาลัย แต่ค่าเทอมก็ยังเป็นส่วนที่พ่อต้องแบกรับอยู่ จนขึ้นมาเรียนระดับชั้น ปวส.1 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนก็เพิ่มขึ้นอีก ตอนนั้นเองที่อาจารย์ที่วิทยาลัยได้แนะนำให้ลองยื่นเรื่องเพื่อขอเป็นนักศึกษาทุนน วัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่สุดแล้วน้องจีรวัฒน์ก็ได้รับคัดเลือก ซึ่งทุนจาก กสศ. เข้าไปเติมเต็มครอบครัวได้มากขึ้น หลังจากนั้นค่าใช้จ่ายในครอบครัวของน้องจีรวัฒน์เบาลง เงินในส่วนนี้ถูกนำไปจ่ายค่าเทอม และยังเหลือเก็บออมไว้ใช้ในยามจำเป็นหรือเป็นทุนได้เรียนต่อในอนาคต

จีรวัฒน์ เผยก่อนจบบทสนทนาว่า แม้ภาระในครอบครัวจะเบาลง หากในเรื่องของการทำงานประกอบพิธี แต่ยังยังคงทำต่อเนื่องมาตลอด ตอนนี้มันเลยเรื่องรายได้ไปแล้ว เหมือนเป็นสิ่งที่ผูกพัน เป็นการทำด้วยใจเพื่อตอบแทนกับทุนที่ได้รับจาก กสศ. โดยตั้งใจว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่เคยคิดเลยว่าจะหยุดเมื่อไหร่ เงินค่าตอบแทนจากการทำงานก็ไม่เคยเรียกร้อง บางงานที่เราเห็นว่าบางคนเขาไม่มีผมก็เข้าใจ เพราะการที่เขาต้องสูญเสียคนในครอบครัว เขามีความทุกข์มา ถ้าเราปฏิเสธ เขาก็ต้องไปหาคนอื่น พอเจอคนที่มีเงินไม่มาก ถ้าผมมีเวลาทำได้ก็จะรับตลอด บางทีหลังเลิกเรียนก็มาทำด้วยความเต็มใจ ผมคิดอย่างนี้ตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะได้รับทุนการศึกษาของกสศ. แม้เงินจากการทำงานตรงนี้พอทำให้มีค่าข้าว ค่าเดินทางไปเรียน แต่สิ่งที่ทำให้สามารถทำงานมาตลอดได้จริงๆ คือความรู้สึกว่าตัวเองได้มีส่วนช่วยเหลือสังคม ได้ตอบแทนสำหรับสิ่งที่ผมได้รับมา