ผู้เรียนต้องเรียนรู้โดยการกำกับตัวเอง

ผู้เรียนต้องเรียนรู้โดยการกำกับตัวเอง

ม.ศรีปทุม​ เสนอแผนปรับหลักสูตร TSQP
รับมือ COVID-19 คงความเป็นชั้นเรียนคุณภาพ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือนและยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้ จนกระทรวงศึกษาธิการต้องเลื่อนการเปิดเรียนออกไปเป็นเดือน ก.ค. และอาจไม่สามารถเข้ามาเรียนตามปกติที่โรงเรียนได้นำมาสู่การคิดหาทางออกสำหรับรูปแบบการเรียนการสอนแนวใหม่ ที่มีทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์

แต่สำหรับโรงเรียนในถิ่นทุระกันดารปัญหาที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นอยู่ ยิ่งรุนแรงมากขึ้น และผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับโรงเรียนในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​ ที่ต้องปรับแผนรับมือสถานการณ์ที่เป็นอยู่

 

ผู้เรียนต้องเรียนรู้โดยการกำกับตัวเอง

รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ​หนึ่งในภาคีเครือข่ายโครงการ TSQP ระบุว่า​สำหรับโรงเรียนที่อยู่พื้นที่ทุระกันดาร เด็กจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึงไฟฟ้า ไม่มีอินเตอร์เน็ต ก็อาจต้องปรับไปใช้การศึกษาทางไกลคล้ายรูปแบบในอดีตที่ใช้การเรียนทางไปรษณีย์เป็นการเรียนแบบออฟไลน์ เช่น มีชุดบ็อกซ์เซ็ท​​  ซึ่งผู้เรียนต้องเรียนรู้โดยการกำกับตัวเอง หรือ Self-directed learning  ต้องมีวินัยในการเรียนรู้สูง

ในส่วนของที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมฯ รับผิดชอบนั้น ได้เตรียมที่จะจัดการเรียนการสอนแบบทางไกล ซึ่งมีทั้ง Digital Platform แบบออนไลน์​และ Analog แบบ Offline  โดยส่วนแรก แบบออนไลน์จะมีองค์ประกอบเรื่องอุปกรณ์เทคโนโลยีการออกแบบการจัดการเรียนการสอน​ทั้งเรื่องเนื้อหา วิธีการสอน ไปจนถึงเรื่องการสั่งงานเพื่อให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง โดยยังคงเน้นไปที่กิจกรรมที่ให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์และคิดสร้างสรรค์

 

ทำให้ห้องเรียน เป็น High Functioning Classroom

ที่สำคัญคือการให้นักเรียนได้นำเสนอผลงานของตัวเอง ซึ่งจะมีทั้งงานรายบุคคล และ งานกลุ่ม 2-3 คน ที่นักเรียนสะดวกติดต่อสื่อสารกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อ ทำให้ห้องเรียนออนไลน์มีลักษณะเป็น High Functioning Classroom

รศ.ดร.ธันยวิช ระบุว่า การสอนแบบออนไลน์มีทั้งหมด 4 รูปแบบ ทั้ง 1 การสอนแบบบรรยายทั้งรูปแบบไลฟ์สดหรืออัดคลิปวีดีโอในลักษณะ E-Learning โดยวัดผลจากการส่งงานแบบฝึกหัด การตั้งคำถาม แสดงความเห็นในกระดานสนทนา 2  การสอนแบบอภิปรายปัญหาให้เกิดการวิเคราะห์สังเคราะห์ 3 การสอนแบบโครงการหรือการสร้างนวัตกรรม และ 4 การสอนแบบเกมหรือสถานการณ์จำลอง

 

ครูต้องเปลี่ยนจากนักบรรยายเป็นนักออกแบบสื่อประสม

ส่วนการสอนแบบออฟไลน์ ซึ่งมีนักเรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์  จึงอาจใช้อุปกรณ์อนาล็อคเท่าที่มี เช่น โทรทัศน์ วิทยุ แต่ถ้าในพื้นที่ที่ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้า ก็จะใช้ชุดเรียนรู้ Paper based  แบบ Toolkit หรือ Package หรือทำเป็นบอร์ดเกม ซึ่งมีคู่มือเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยจะต้องมีความน่าสนใจ ท้าทาย และมีความหลากหลายกับผู้เรียนที่มีอายุแตกต่างกัน

“ครูจะต้องผันตัวเองจากการเป็นนักบรรยายมาเป็นนักออกแบบสื่อประสมที่สอดคล้องและสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายเนื้อหาวิชาและประสบการณ์ของหน่วยใดหน่วยหนึ่งโดยเฉพาะ มีสื่อการสอนที่อยู่ในรูปวัสดุ อุปกรณ์ หรือวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้เนื้อหาวิชาได้อย่างต่อเนื่องด้วยตัวเอง”

รศ.ดร.ธันยวิช กล่าวว่า สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือกลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่ปกติก็เข้าถึงการศึกษาปกติได้ยากอยู่แล้วเมื่อออกแบบการเรียนรู้ใหม่เป็นแบบออนไลน์ ยิ่งจะทำให้เด็กกลุ่มนี้เข้าถึงการศึกษาได้อยากยิ่งขึ้นดังนั้น เด็กกลุ่มนี้จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาที่ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน มิฉะนั้นช่องว่างของความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งห่างกว้างมากยิ่งขึ้น

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค