เวิล์ดแบงก์ เผยรายงานชี้ COVID-19 ทำคนยากจนทั่วโลกพุ่ง 60 ล้านคน

เวิล์ดแบงก์ เผยรายงานชี้ COVID-19 ทำคนยากจนทั่วโลกพุ่ง 60 ล้านคน

เวิล์ดแบงก์ เผยรายงานชี้ โควิด-19 ทำคนยากจนทั่วโลกพุ่ง 60 ล้านคน

ธนาคารโลก (เวิล์ดแบงก์) เผยรายงานการศึกษาภาวะความยากจนทั่วโลกในปี 2020 พบ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จะส่งผลให้มีคนยากจนเพิ่มขึ้น 40-60 ล้านคน ขณะที่คนที่ยากจนอยู่แล้วจะยิ่งยากจนมากขึ้นไปอีก 

รายงานระบุว่า ความพยายามตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาที่จะยุติความยากจนของธนาคารโลกและรัฐบาลนานาประเทศ เริ่มเห็นผลชัดเจนในช่วงไม่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ยืนยันได้จากจำนวนคนยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 61 บาท) ลดลงเหลือ 10% หรือราว 734 ล้านคนในปี 2015 เมื่อเทียบกับช่วงปี 1990 ที่มีประชากรยากจนถึง 36% หรือราว 1,900 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม การระบาดของไวรัสโคโรน่า บวกกับปัญหาราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มทำให้ความพยายามต่อสู้กับความยากจนในช่วงหลายทศวรรษนี้สูญเปล่า ไวรัสโคโรน่า จะส่งผลกระทบต่อคนยากจน ทำให้ตกงาน ขาดรายได้แต่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสินค้าที่แพงขึ้น อีกทั้งยังทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นอย่างระบบสาธารณสุขและการศึกษา

ธนาคารโลกระบุว่า ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1998 ที่ อัตราความยากจนปรับตัวเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่กำลังก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอย ตามมาด้วยรายได้ต่อหัวของประชากรที่ลดลง และหากสถานการณ์ COVID-19 ยังไม่คลี่คลายก็จะทำให้ความคืบหน้าที่จะทำให้ประชากรทั่วโลกอยู่ดีกินดีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาหายไปเกือบทั้งหมด

รายงานประเมินว่า ในปี 2020 จะมีประชากรราว 40-60 ล้านคนทั่วโลกเข้าข่ายคนยากจน เพราะ COVID-19  ซึ่งความรุนแรงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับภาวะช็อคทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่อัตราความยากจนขั้นสุด (รายได้ต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน) มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 9% ในปีนี้เช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น สัดส่วนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 3.20 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน (ราว 104 บาท) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 23% หรือจาก 40 ล้านคนมาอยู่ที่ 150 ล้านคน และสัดส่วนของประชากรที่มีรายได้น้อยกว่า 5.50 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน (ราว 178 บาท)จะเพิ่มขึ้น 42% หรือจาก 70 ล้านคน มาอยู่ที่ 180 ล้านคน โดยตัวเลขทั้งหมดเป็นเพียงการคาดการณ์ ซึ่งอาจมีผลแตกต่างมากน้อยในแต่ละประเทศ

ขณะเดียวกัน สืบเนื่องจากไวรัสโคโรน่า ทำให้ทางธนาคารโลกยอมรรับว่า เป้าหมายที่จะยุติความยากจนในปี 2030 อาจไม่สามารถบรรลุได้อีกต่อไป โดยรายงานฉบับใหม่ประเมินว่า ประมาณ 2 ใน 3 ของคนยากจนทั่วโลกจะต้องเผชิญกับสภาพทางเศรษฐกิจที่เปราะบางและขัดแย้ง 

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า เป้าหมายพิชิตความยากจนจะไม่สามารถบรรลุได้ หากปราศจาก “การลงมือ” อย่างจริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึง ธนาคารโลกด้วย โดยที่ผ่านมา ธนาคารโลกพบว่า หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในแอฟริกา แถบ ซับซาฮารา ยังคงมีประชากรยากจนมากกว่า 40% ของประชากรทั้งหมดในภูมิภาค

ภาวะความยากจนที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงรายได้ขั้นต่ำต่อวันที่หาเลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเข้าถึงโรงเรียนที่ดี ระบบสาธารณสุขพื้นฐาน ไฟฟ้า น้ำประปา และบริการจำเป็นอื่นๆ ด้วย โดยในหลายประเทศทั่วโลก การเข้าถึงบริการต่างๆ เหล่านี้ ถูกตัดสินด้วยสถานะทางสังคมเศรษฐกิจ เพศ เชื้อชาติ และถิ่นที่อยู่อาศัย 

เรียกได้ว่า ความยากจน ทำให้เงื่อนไขการดำรงชีวิตทางสังคมของกลุ่มคนเหล่านี้ ยากลำบากและซับซ้อนมากขึ้น 

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าตระหนกยิ่งกว่าก็คือ ข้อเท็จจริงที่พบว่า แม้คนส่วนหนึ่งจะพยายามจนสามารถดิ้นรนออกจากความยากจนได้แล้ว แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะกลับเข้าสู่ภาวะยากจนได้ หากเกิดสถานการณ์วิกฤติร้ายแรงต่างๆ เช่น ภาวะช็อคทางเศรษฐกิจ ปัญหาขาดแคลนอาหาร หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจัยจากวิกฤติการณ์ที่ว่านี้ ล้วนสามารถปล้นเอาสิ่งที่คนเหล่านี้พยายามต่อสู้เพื่อยุติความยากจนของตนเองไปได้อย่างง่ายดาย 

ทั้งนี้ เพื่อยุติหรือสกัดกั้นแนวโน้มความเลวร้ายเกี่ยวกับภาวะยากจน ที่จะตามมาด้วยสารพัดปัญหาด้านการดำรงชีวิต และเกี่ยวพันต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากคำมั่นที่จะให้ความร่วมมือและช่วยเหลือประเทศที่ต้องการแล้ว ธนาคารโลกยังเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกเร่งออกเตรียมความพร้อมออกมาตรการรับมือหรือป้องกันปัญหาความยากจนที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังไวรัสโคโรน่า

ในส่วนของธนาคารโลก ที่ผ่านมา ได้อนุมัติจัดสรรงบแล้ว 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการทำงานร่วมกับรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนา วางแผนออกนโยบายชดเชยรายได้ที่หายไปของประชาชน บรรเทาปัญหาราคาอาหารแพง จัดส่งบริการความช่วยเหลือที่จำเป็น รวมถึงสนับสนุนภาคเอกชนในประเทศในการรักษาตำแหน่งงาน และช่วยในเรื่องของการฟื้นกิจการ

ขณะที่ในส่วนของรัฐบาลแต่ละประเทศ ธนาคารโลกแนะนำว่า สิ่งที่รัฐต้องทำก็คือ 1) การขยายมาตรการที่เอื้อประโยชน์ต่อแรงงาน เช่น การเพิ่มสวัสดิการ ค่าแรง กฎหมายคุ้มครอง 2) การลงทุนในทรัพยากรบุคคล เช่นการให้ความรู้ สนับสนุนการฝึกอบรมทักษะ และ 3) การหาหลักประกันป้องกันไม่ให้คนยากจนและคนด้อยโอกาสของสังคมมีชีวิตที่เลวร้ายมากขึ้นจากวิกฤติการณ์ต่างๆ เช่น สภาพอากาศเลวร้าย โรคระบาด ราคาอาหาร และวิกฤติเศรษฐกิจ

แน่นอนว่า การต่อสู้กับความยากจนไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นงานที่ต้องใช้เวลา ความทุ่มเทและความต่อเนื่องอย่างมากมายมหาศาล กระนั้น ธนาคารโลกระบุว่า ความยากจน ไม่ใช่สิ่งที่จะเอาชนะไม่ได้ และจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือในระดับโลก โดยเฉพาะจากประเทศร่ำรวย ในการแบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่ให้ทั่วถึงและเท่าเทียม

 

ที่มา : https://www.worldbank.org/en/topic/poverty/overview
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา