รมว.อว.คนใหม่ ช่วยบัณฑิตทุเลาว่างงาน มอบทุนเพิ่มทักษะพัฒนาพื้นที่

รมว.อว.คนใหม่ ช่วยบัณฑิตทุเลาว่างงาน มอบทุนเพิ่มทักษะพัฒนาพื้นที่

เมื่อวันที่ 17ส.ค. 63  ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์ ประเสริฐ ณ นคร  นายเอนก  เหล่าธรรมทัศน์  รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวแถลงนโยบายและแนวคิดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานขับเคลื่อน อว. ว่า การทำงานของ อว. ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่มีแผนการทำงานในระยะกลางและระยะยาว

ในฐานะ รมว.อว. ได้กำชับให้มหาวิทยาลัย ปรับให้มีการทำงานในรูปแบบเฉพาะหน้า ดูเรื่องที่กำลังเป็นผลกระทบอยู่ในสังคมและพื้นที่ที่มีความสำคัญและจำเป็น นำมาเป็นการขับเคลื่อนงานมหาวิทยาลัยด้วย อย่างเรื่องการทุเลาปัญหาการว่างงาน ซึ่งในปีการศึกษา 2563 จะมีบัณฑิตที่จบการศึกษา จำนวนหลายแสนคน อว.จึงได้มีโครงการเพิ่มทักษะบัณฑิตจบใหม่ ด้านทักษะดิจิทัลและเรียนรู้ในสถานที่ทำงานจริง

โดยจะให้ทุนการศึกษากับบัณฑิตจบใหม่ จำนวน 250,000 คน ที่สมัครใจเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพพิเศษ ที่เน้นพัฒนาทักษะการใช้ดิจิทัล เทคโนโลยี หรือ Digtal Literacy

โดยเป็นหลักสูตร 1 ปี จบแล้วเข้าทำงานโครงการบัณฑิตอาสาเพื่อพัฒนา Digtal Literacy ให้กับประชาชนในพื้นที่ หรือต่อยอดความรู้ไปสู่อาชีพใหม่ เน้นการปฏิบัติจริงกับภาคเอกชนที่ต้องการจ้างงานหรือรัฐวิสาหกิจชุมชน รวมถึงยังมีโครงการสตาร์ทอัพต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ตนยังได้สั่งการให้ ปลัด อว. ไปกำหนดแนวทางแผนการยกระดับ อว.ให้สูงขึ้น จากที่ปัจจุบัน ถือว่าเป็นอันดับ 2 ของเอเชียอาคเนย์ จะต้องขยับขีดความสามารถให้สูงขึ้นไปถึงในระดับเอเชียตะวันออกให้ได้

นายเอนก กล่าวต่อว่า และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ตนได้สั่งการให้ อว.ได้จัดทำแผน เปิดตลาดมหาวิทยาลัย คือ ให้มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยเศรษฐกิจในพื้นที่ และนำงบประมาณที่ได้รับไปช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น ทำโครงการแต่งชุดพื้นเมือง 1 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้มีการสนับสนุนสินค้าจากชุมชน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลได้มีนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน

โดยในส่วนของ อว.ได้รับมอบหมายให้ดูแลจังหวัดลำปางและเลย   แต่เราได้มีการตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ในทุกจังหวัด  เพื่อเป็นที่ปรึกษาด้านการให้ความรู้  และการพัฒนาทักษะต่างๆ ถ้า อว. ทำได้งบฯ ปีหน้าประมาณ 2 แสนล้าน ตนต้องให้เร็ว ทำอะไรให้เร็ว ดังนั้นแต่ละหน่วยงานจะต้องไปจัดระบบ เพื่อให้รัฐบาลและนายกฯ เห็นว่า อว. มีประโยชน์ วิจัยหรือทำอะไรแล้วใช้ได้จริง เป็นการสร้างผลงาน หันทิศทาง อว.ให้ตอบสนองงานเชิงปฏิบัติอย่างแท้จริง

“แม้ผมจะเป็นอาจารย์ในสายสังคมศาสตร์ แต่ก็เริ่มต้นการเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักเรียนแพทย์รุ่นเดียวกับนพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) คิดว่าจะทำงานร่วมกันได้อย่างดี นโยบายต่างๆ ก็จะต่อยอดจากของเดิม ไม่ไปรื้อนโยบายของอดีต รมว.อว. ดังนั้นไม่มีอะไรที่คนทำงานต่อเนื่องต้องหนักใจ ทั้งนี้ขอย้ำว่า นายกรัฐมนตรี เห็นความสำคัญ ของการศึกษา วิทยาศาสตร์และการวิจัย เห็นได้จากงบประมาณมากถึง 1.5 แสนล้านบาท เป็นอันดับ 4 และยังเป็นกระทรวงที่มีผู้ดำรงตำแหน่ง ดร. มากที่สุด ควรจะเป็นกระทรวงเกรดเอ แต่ก็ขึ้นอยู่ที่เวลา ว่าจะอยู่ในตำแหน่งนี้นานแค่ไหน ถ้าสัก 3 ปีก็น่าจะพอผลักดันได้“รมว.อว. กล่าว