“ดีใจเป็นส่วนหนี่งให้เด็กมีอนาคต” เติมเต็มโอกาส เติมเต็มชีวิต มีความสุขกับโรงเรียน

“ดีใจเป็นส่วนหนี่งให้เด็กมีอนาคต” เติมเต็มโอกาส เติมเต็มชีวิต มีความสุขกับโรงเรียน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดสรรเงินช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษผ่านกลไกการคัดกรองที่เป็นระบบเพื่อที่จะสาสมารถให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่มีฐานะยากจนพิเศษตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ผ่านโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือนักเรียนทุนเสมอภาค เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้น แม้โรงเรียนจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลแค่ไหนก็ตาม

โรงเรียนบ้านบ่อพระ จ.สุราษฎร์ธานี ถือเป็นอีกโรงเรียนที่ได้รับทุนอุดหนุนจาก กสศ.โดยภาคเรียนที่ผ่านมาได้รับการทุนการศึกษา 22 ราย และ เทอมนี้ได้รับเพิ่มอีก 23 ราย ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจคือ โรงเรียนพบว่านักเรียนที่ได้รับทุนอุดหนุนจาก กสศ. กลับมาเรียนหนังสือมากขึ้นและในภาพรวมยังทำให้ผลการเรียนดีขึ้นตามไปด้วย

ครูธนัชนันท์ แสงอุไร ครูโรงเรียนบ้านบ่อพระ ระบุชัดเจนว่า ผลการเรียนของนักเรียนที่โรงเรียนดีขึ้นหลังจากได้รับทุนจาก กสศ. ทั้งผลสอบคะแนน O-NET และ NT (National test) อีกด้านหนึ่งคนที่ขาดเรียนบ่อยก็กลับมาเรียนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเด็กนักเรียนที่ได้รับทุนมีเงินมาโรงเรียน มีอาหารเช้ารับประทาน ไม่ต้องหยุดเรียนไปช่วยผู้ปกครองทำงานเหมือนแต่ก่อน

“ก่อนหน้านี้จะมี 2-3 คนที่ต้องหยุดเรียนบ่อยเพื่อไปช่วยพ่อแม่ตัดปาล์มรับจ้างขนทะลายปาล์ม แต่พอหลังจากได้ทุนอุดหนุนนี้เขาก็กลับมาเรียนกันมากขึ้น ไม่ขาดเรียนเหมือนก่อน เงินส่วนใหญ่เด็กนำไปใช้จ่ายในครอบครัว ซื้ออาหาร ซื้อชุดนักเรียน รองเท้ากระเป๋า อุปกรณ์การเรียนที่ยังขาดแคลน” ครูธนัชนันท์กล่าว

แม้ว่าก่อนหน้านี้นักเรียนบางคนที่ยังไม่ได้ทุนอุดหนุนของ กสศ. เด็กนักเรียนต้องใส่รองเท้าขาดๆ รองเท้าคับๆ ผู้ปกครองก็บอกว่ารอให้ได้เงินก่อนถึงจะมาซื้อให้ แต่พอมีทุนนี้เข้ามาก็สามารถไปซื้อรองเท้า กระเป๋านักเรียนได้ ถือว่าทุนนี้มีประโยชน์มากทำให้เด็กมาเรียนมากขึ้นผลการเรียนดีขึ้น และที่สำคัญเด็กมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น

ครูธนัชนันท์เล่าต่อว่า อย่างเงินห้าร้อยบาทสำหรับใครบางคนอาจจะดูไม่เยอะ แต่สำหรับนักเรียน ผู้ปกครองที่เขาได้รับเขารู้สึกดีใจ สามารถนำไปช่วยเหลือจุนเจือในครอบครัว บางทีเราเข้าไปเยี่ยมบ้านนักเรียนเจอสภาพบ้านเด็กถูกทิ้งให้อยู่กับตายาย รายหนึ่งไม่มีบ้านอยู่ต้องไปอยู่กับบ้านเฒ่าแก่ที่ไปรับจ้างกรีดยาง

ครูธนัชนันท์ เสริมว่า ในแง่ระบบการคัดกรองเด็กนักเรียนปกติทางโรงเรียนจะลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนอยู่แล้วเพื่อไปเก็บข้อมูล ครั้งนี้เมื่อมีการไปเก็บข้อมูลเด็กยากจนพิเศษก็ลงพื้นที่เพื่อสอบถามข้อมูลตรวจสอบความถูกต้อง ดูสภาพบ้าน ซึ่งทางโรงเรียนอยู่ใกล้กับชุมชนนก็จะนั่งรถไปเป็นชุดปีนี้แบ่งเป็น 3 ทีม แยกไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม บางบ้านก็จะเดินทางไกล ลำบากนิดหน่อย เพราะถนนเข้าสวนยางแต่ถ้าบางบ้านติดถนนใหญ่ก็ไม่ได้ลำบากอะไรมาก

“เราก็ดีใจเป็นส่วนหนี่งให้เด็กมีอนาคตกลับมาได้เรียนหนังสือ แต่ตอนแรกที่ไปก็สลดใจนิดหน่อยเราไปเจอสภาพเด็กที่บ้าน แต่ว่าพอเราได้ช่วยเหลือเด็กจนได้รับทุนเราก็รู้สึกดีใจภูมิใจที่ช่วยพาเด็กกลับเข้าโรงเรียนเหมือนเพื่อนๆ ของเขา” ครูธนัชนันท์เล่าอย่างภูมิใจ

ครูธนัชนันท์ อธิบายเพิ่มว่า ทุนอุดหนุนอีกส่วนหนี่งจะให้กับทางโรงเรียน ซึ่งทางโรงเรียนจะนำไปจัดการอบรมเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน ซึ่งเมื่อได้ผลผลิตก็นำมารับประทานใช้ประกอบอาหารในโรงเรียน เหลือจะใส่ถุงให้เด็กนำกลับไปกินที่บ้าน บางครั้งนำไปจำหน่ายเสริมรายได้ ส่วนหนึ่งแบ่งไว้เป็นต้นทุนซื้อของมาปลูกล็อตใหม่และอีกส่วนแบ่งปันผลให้นักเรียน ต่อไปเราคิดถึงขั้นจะให้เด็กกลับไปปลูกที่บ้านเพราะจะได้มีเห็ดมาประกอบอาหารบ่อยขึ้น ลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง

สำหรับเหตุผลทำไมโรงเรียนเลือกเพาะเห็ดเห็ดนางฟ้าภูฐาน เพราะ 1.มีประโยชน์ 2.ดูแลง่าย 3.ไม่ต้องใช้เวลามาก เรามีแค่โรงเรือนเพาะ ระบบน้ำก็ใช้แบบอัตโนมัติ ลดภาระส่วนนี้ให้กับนักเรียนได้มีเวลาไปเรียนหนังสือ ทำให้ผลการเรียนดีขึ้น เด็กนักเรียนแค่มาช่วยเก็บตัดโคนแล้วทำความสะอาด บรรจุลงถุง หรือนำไปแปรรูปเป็นเห็ดทอด และแหนมเห็ด