เด็กเก่งขึ้นได้ แม้ทำแคร็กเกอร์ไหม้! สอนสไตล์ OECD ในห้องเรียนไทย

เด็กเก่งขึ้นได้ แม้ทำแคร็กเกอร์ไหม้! สอนสไตล์ OECD ในห้องเรียนไทย

กว่าจะมาเป็นเมนู แคร็กเกอร์-ข้าว -ฟัก- ผัก ที่ถูกอกถูกใจของใครหลายๆ คน ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการลองผิด ลองถูก และคิดค้นสูตรกันหลายขนานกว่าจะมาถึงวันนี้ซึ่งมีรางวัลการันตีจากการแข่งขันประกวดทำอาหารระดับภูมิภาคและอยู่ระหว่างเตรียมตัวไปแข่งในระดับชาติต่อไป ​​

​น้องฟรม-ศิครินทร์ วงค์ษากัน นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนบ้านสามขา ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง อธิบายถึงที่มาที่ไประหว่างโชว์รีดแป้งเตรียมทำขนมแคร็กเกอร์​ ว่าลองมาหลายสูตรทั้งวัตถุดิบและกระบวนการทำ บางครั้งก็ไหม้กินไม่ได้ต้องเททิ้ง ต้องมาทบทวนแก้ไขกันหลายรอบกว่าจะเข้าที่เข้าทาง

การทำอาหารนี้ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบการเรียนการสอนที่สืบเนื่องมาจากโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่ใช้เครื่องมือส่งเสริมและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ ผ่านรูปแบบ High Functioning Classroom สร้างการเรียนรู้แบบ Active Learning ในการพัฒนาทักษะผู้เรียนผ่านการฝึกปฎิบัติและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

น้องเฟรม เล่าให้ฟังว่า คุณครูไม่ได้ต่อว่าที่ทำขนมไหม้ แต่สอนให้เราเรียนรู้ว่า ที่ไหม้เป็นเพราะอะไรและก็หาทางแก้ไข ซึ่งตอนนั้นก็เป็นเพราะทำแป้งหนาเกินไป อบนานไป เราก็ค่อยๆ ปรับ จนทำแป้งให้บางลงเพื่อให้กรอบอร่อย อบในเวลาที่พอเหมาะ ควบคู่ไปกับการปรับสูตร ส่วนผสมจนค่อยๆ ลงตัวเป็น แคร็กเกอร์ ข้าว -ฟัก-
ผัก

ส่วนกระบวนการเราเริ่มต้นจากการทำ Mind Mapping ที่นักเรียนแต่ละคนก็จะต้องมาคิดในหัวข้อ “แคร็กเกอร์”
ที่ต้องคิดแตกแขนงออกไปทั้งในแง่ วัตถุดิบ วิธีการทำ ประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งมาลงตัวกันที่ แคร็กเกอร์ ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่าง ข้าวกล้องงอก ฟักทองล้านนา2 และผักคะน้าแม็กซิโก ที่มีประโยชน์สูงมาก

ครูนก -พรนับพัน วงศ์ตระกูล ผู้ประสานงานโครงการมูลนิธิไทยคม หมู่บ้านสามขา และผู้ทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ อธิบายว่า รูปแบบการจัด​ห้องเรียนประสิทธิภาพ (High Functioning Classroom) ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น เมื่อเราได้ฟังเสียงเด็ก เราก็จะมีข้อมูลมากเพียงพอทำให้การตัดสินใจมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามความต้องการของเด็กที่จะเรียนรู้ร่วมกัน

“เราต้องสร้างพื้นที่ให้ได้ทดลองทำผิดบ้าง เขาจะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของเขาทดลองจากความผิดพลาดจากเขา หน้าที่ของครูคือต้องนำเสนอเครื่องมือต่างๆ ที่คิดว่ามีประโยชน์กับเด็กสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีให้กับเด็ก”ครูพรนับพัน ปรารภ

ครูพรนับพัน กล่าวเสริมว่า การนำ 5 Habits of Mind หรือ 5 ลักษณะจิตนิสัย สำหรับการเรียนรู้ที่สำคัญ 5 ประการ
มาใช้สามารถทำให้ชั้นเรียนเกิดประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องการทำงานร่วมกัน จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ความมุ่งมั่น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องหยิบมาใช้ให้ถูกต้องตรงเวลาและทันสถานการณ์เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

“สิ่งที่เด็กเปลี่ยนไปคือทัศนคติจากเด็กที่ไม่อยากมาโรงเรียน​ กลายเป็นรอว่าเมื่อไหร่จะได้มาโรงเรียน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ หรือจากปกติเด็กเรียนจบก็จะมาถามว่าหนูควรทำเรื่องอะไรต่อ เขาสนใจอยากเรียนเรื่องนี้ เขามีแรงบันดาลใจอยากเรียนรู้ แม้จะเสี่ยงเกิดความผิดพลาดไม่ประสบความสำเร็จก็พร้อมรับความเสี่ยงนั้น โดยเขาได้เรียนรู้พัฒนาตัวเองมากขึ้น กลายเป็นบทเรียนนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต ไม่ใช่แค่อ่านนหนังสือสอบจบก็จบ แต่นี่ยังสามารถสร้างนิสัยแห่งการเรียนรู้ได้อีก” ครูพรนับพันให้ความเห็นทิ้งท้าย

ขณะที่ Mr.Paul Collard ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แห่งสหราชอาณาจักร International Foundation ‘Creativity, Culture and Education’ (CCE) ที่ปรึกษา OECD กล่าวว่า ทางสถาบันได้เข้ามาช่วยพัฒนาอบรมคุณครูในประเทศไทย ซึ่งพบว่าสถานการณ์การศึกษาในประเทศไทยขณะนี้มีความน่าสนใจและมีค
วามท้าทาย ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

อย่างไรก็​ตาม สิ่งที่พบจากการลงพื้นที่ในโรงเรียนบ้านสามขาเห็นว่าการเรียนรู้ของเด็กไทยดีขึ้นจากคอนเซ็ปต์การพัฒนา High Functioning Classroom สร้างสิ่งแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก รวมทั้งการสร้าง 5 habit of mind ทั้งความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น การเรียนรู้จากความผิดพลาด การมีความคิดสร้างสรรค์ และมีระเบียบวินัย ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญและเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดี สิ่งสำคัญคือต้องเปิดพื้นที่ให้เด็กได้สามารถเรียนรู้ ให้พวกเขามีความรับผิดชอบ มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการจะเรียนรู้ไปสู่การพัฒนาเกิดจิตนาการ เกิดความคิดสร้างสรรค์