เมืองจะดีขึ้นได้ถ้าทุกคนร่วมมือกัน

เมืองจะดีขึ้นได้ถ้าทุกคนร่วมมือกัน

กสศ. สสส. จับมือ กทม. ภาคเอกชน ประชาสังคม และชุมชน ร่วมสร้าง ‘พื้นที่เรียนรู้’ ที่จะกระจายไปทุกชุมชนอย่างทั่วถึง เปลี่ยนสวนสาธารณะและที่พื้นที่ไม่ใช้งานให้เป็นแหล่งเรียนรู้ รวมความคิดสร้างสรรค์ ให้เด็ก ๆ ได้แสดงออกในสิ่งที่สนใจ เพื่อปลดล็อคภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ มุ่งผลักดัน กทม. สู่การเป็น ‘เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต’

“ในเรื่องการเรียนรู้ กทม. ไม่ได้เก่งเท่าเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้โดยตรง แต่เรามีหน้าที่ผลักดันให้พื้นที่ของประชาชนเปิดกว้าง รวมถึงต้องสอดคล้องกับความต้องการ ซึ่ง กทม. มีพื้นที่เยอะแยะ ทำได้ทุกเขต เรามีสวนสาธารณะ มีตึกที่มีพื้นที่เหลือใช้งาน หนึ่งในนั้นคือเราสามารถเปลี่ยนโรงเรียนเป็นศูนย์เรียนรู้ได้ในวันเสาร์อาทิตย์ ทั้งนี้ต้องไม่เป็นภาระของครู แต่เราให้คนในชุมชนมาใช้ ดูแลกันแบบพี่สอนน้อง มีอาสาสมัครมาช่วยดูแล กทม. ยืนยันว่าเรื่องนี้สำคัญและจะเต็มที่ทุกอย่าง เพราะสิ่งที่ทำวันนี้คือการเตรียมพร้อมให้กับเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่เขาจะเป็นเจ้าของเมืองเมืองนี้ต่อไปในอนาคต”

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า นโยบายผลักดันพื้นที่เรียนรู้ ต้องใช้ความร่วมมือของ 4 เกลียวการทำงาน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และกำลังหลักคือชุมชน เพื่อให้ได้ผลงานที่ตอบโจทย์จริง เพราะเมืองจะดีขึ้นไม่ได้ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือกัน

“หนึ่งเดือนที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า กทม. มีพลัง เราได้ต้นไม้ 1 ล้าน 3 แสนต้น ภายในเดือนเดียวโดยไม่ต้องใช้เงินสักบาท แค่ทุกคนมาร่วมมือกัน นี่เป็นแค่มิติแรก ๆ เท่านั้น ผมว่าเรามีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างกันทางมุมมอง ถ้าเราเอาส่วนที่เหมือนเป็นหลักคืออยากให้เยาวชนมีอนาคตที่ดี มีพื้นที่เรียนรู้คุณภาพ แล้วค่อยแก้ส่วนที่แตกต่างกัน ผมเชื่อว่าเราจะได้กรุงเทพ ฯ ที่ดีกว่าครับ”

อ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

“การผลักดันให้กทม.เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้นั้นสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเมืองในระดับนานาชาติ ที่ให้บทบาทท้องถิ่น มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ขณะนี้มีเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ 229 แห่งทั่วโลก ที่สามารถจัดการทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนให้เกิดการการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ มีการเรียนรู้ที่เสมอภาค และทั่วถึง และส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต”

ดร.ไกรยสกล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราต้องปิดโรงเรียนเป็นเวลานาน ผลกระทบที่ตามมาคือเด็กมีความเครียด เกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ หรือ Learning Loss ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาบนความยั่งยืนนั้นไม่ใช่การอัดเนื้อหาทางวิชาการ แต่เราต้องปลดล็อคทักษะด้านอารมณ์สังคมของเด็ก ด้วยพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่กระตุ้นให้เด็กเยาวชนมีภูมิในการเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต มีมุมมองแง่บวก กระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นถ้าเรามีพื้นที่เรียนรู้ที่ดึงเด็กให้ออกจากบ้าน ก้าวข้ามความเครียด กังวล ความกลัว ความไม่มั่นใจต่าง ๆ แล้วออกมาแสดงความสามารถในสิ่งที่เขาทำได้ดี เด็กจะหลุดพ้นจากภาวะถดถอยแล้วกลับไปสู่การเรียนรู้ได้ ซึ่ง กสศ. จะเข้ามาร่วมทำงานกับ กทม. และทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน ประชาชน ในการดึงการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนไปด้วยกัน

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การสร้างพื้นที่เรียนรู้ คือสิ่งที่ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงในการทำให้เด็กก้าวทันโลกปัจจุบัน กทม. มีพื้นที่ที่ทำได้มากมาย เช่น สถานที่ราชการที่มีสนามหญ้า หรือสวนสาธารณะต่าง ๆ ที่สำคัญคือต้องมีกิจกรรมสร้างสรรค์ ทำเป็นประจำต่อเนื่อง มีความหลากหลาย และเข้าถึงวิถีชีวิต เพราะเคล็ดลับของพื้นที่เรียนรู้คือเด็กเยาวชนต้องได้คิดเองว่าต้องการอะไร แล้วผู้ใหญ่คอยช่วยจัดหาสิ่งจำเป็นมาให้เขาได้ลงมือทำ ได้เรียนรู้สนุกสนาน จากนั้นให้เขาสรุปและถอดบทเรียนจากสิ่งที่ทำ พื้นที่แบบนี้เราต้องทำให้มีทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน เพื่อให้เด็กไม่ต้องเดินทาง แค่ไม่กี่ก้าวจากบ้านเขาต้องไปถึง เราจึงอยากชักชวน กทม. มาช่วยกันร่วมมือคิดหาทางทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้กระจายไปยังพื้นที่เรียนรู้ให้กว้างขวาง ดึงเด็กมาทำกิจกรรมที่จะทำให้เขามีทักษะชีวิต ห่างไกลอบายมุข อยู่รอดปลอดภัยได้ในโลกยุคใหม่

นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ จากโครงการ ‘บางกอกนี้ดีจัง’ กล่าวว่า การเกิดขึ้นของพื้นที่เรียนรู้แห่งหนึ่ง จะเป็นต้นแบบความสำเร็จที่ขยายไปสู่ชุมชนอื่น ๆ และดึงความมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเข้ามาได้มากขึ้น ที่ผ่านมาเครือข่ายบางกอกนี้ดีจังได้ทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ฝั่งธน ฝั่งพระนคร และเขตอื่น ๆ เรามีคนในชุมชนที่เป็นผู้นำธรรมชาติ มีแกนนำเด็กเยาวชน มีพี่เลี้ยง มีกลุ่มและเครือข่ายเด็กเยาวชนที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ แข็งแรงในด้านภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ซึ่งมีอิทธิพลช่วยสื่อสารให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น

“นอกจากความร่วมมือของชุมชน เราได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิและหน่วยงานต่าง ๆ เพราะปัญหาบางอย่างแก้ด้วยคนในชุมชนไม่พอ ต้องมีการนำองค์ความรู้บางอย่างเข้ามาช่วย โดยตั้งอยู่บนฐานของการส่งเสริมศักยภาพเยาวชน พยายามเพิ่มมิติของแหล่งเรียนรู้ โดยถ้าหากชุมชนสามารถดึงคุณค่าภายในออกมาได้ ทุกอย่างจะหมุนไปได้โดยวิถีธรรมชาติ ชุมชนเรามีองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมค่อนข้างเยอะ เราต้องตั้งรับด้วยการทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้แนวคิดฝังอยู่กับชุมชน และองค์กรที่เข้ามาต้องรู้จักชุมชนเราพอสมควร ถึงจะทำงานร่วมกันได้”